การเห็นทุกข์นั้นมิใช่หมายความว่าเห็นในขณะที่มีทุกขเวทนา เช่น ในเวลาที่เหน็ดเหนื่อย หรือในเวลาที่ต้องอยู่ในที่ร้อนไป หนาวไป ในเวลาที่ต้องมีทุกขเวทนาต่างๆ จากอาพาธป่วยไข้ การเห็นทุกข์ดั่งนี้ ทุกๆคนเมื่อประสบทุกขเวทนาก็ต้องเห็นทั้งนั้น คือต้องเสวยทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็ต้องเห็นทุกข์ดังนั้นทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อเห็นก็ยังจมอยู่ในกองทุกข์ ยังต้องตกอยู่ในทุกข์ พรากจิตออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกข์อย่างที่เห็นๆ กันนี้ผู้เห็นจึงไม่เชื่อว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกข์นั้นจะต้องเห็นว่าแม้ทุกขเวทนาที่กำลังประสบอยู่ก็เป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งต้องเกิดต้องดับ แม้ในเวลาที่ประสบสุขเวทนาต่างๆ มีความสุขสบายต่างๆ ก็ต้องเห็นว่า สุขที่กำลังประสบอยู่นั้นเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่เกิดดับ แม้ในขณะที่กำลังประสบหรือเสวยอุเบกขาเวทนา เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ต้องรู้จักว่านั้นเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งก็ต้องเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง จะต้องเห็นดั่งนี้ จึงจะชื่อว่า "เห็นทุกข์"
เพราะฉะนั้น ก็หัดพิจารณาจับดูที่จิตใจ ว่าจิตใจที่มีความทุกข์โศกก็ดี มีภัยคือความกลัวต่างๆอยู่ก็ดี เกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งโดยปกตินั้นก็มัก จะไปเข้าใจว่าเกิดจากเหตุภายนอกต่างๆ เช่น เกิดจากบุคคลบ้าง สิ่งต่างๆบ้าง ซึ่งถ้าเป็นที่รักบุคคลหรือสิ่งนั้นๆก็ต้องพลัดพรากไป ถ้าไม่เป็นที่รัก บุคคลหรือสิ่งนั้นๆ ก็กล้ำกรายเข้ามา มักจะไปเพ่งดูดั่งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยิ่งทับถมทวีความโศก ทับทบทวีภัยคือความกลัวความหวาดระแวงต่างๆยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาจับเหตุดั่งนี้ เรียกว่า เป็นการจับเหตุไม่ตรงกับผล
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้จับเหตุให้ตรงกับผล คือตรัสสอนให้จับเข้ามาดูเหตุที่เป็นตัวเหตุภายใน คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในใจของตนเอง ซึ่งตรัสว่าเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดของทุกข์ เพราะตัณหานี้เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือความยึดถือ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ยึดถือว่าเป็นของเรา ยึดถือว่านั้นเป็นที่รัก ยึดถือว่านั้นไม่เป็นที่รัก ตัณหาอุปาทานนี้เป็นตัวเหตุที่สร้างบุคคล และสิ่งที่เป็นที่รักบ้าง ไม่เป็นที่รักบ้าง สร้างตัวเราของเราขึ้น ในสิ่งทั้งหลายโดยรอบ เพราะฉะนั้น ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอุปาทานคือความยึดถือนี้เอง จึงเป็นตัวเหตุที่มีอยู่ในจิตใจนี้เอง
จากคุณ |
:
Neothank
|
เขียนเมื่อ |
:
26 มิ.ย. 55 23:00:50
|
|
|
|