 |
นี่คือเหตุผลฝ่ายการเมือง
ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เกิดขึ้นจากการรวมพลัง ของบัณฑิตจบใหม่ นิสิตนักศึกษาชมรมพุทธฯ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อสร้างเยาวชนให้เป็นคนดี จุดเริ่มต้นของชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 จากชมรมพุทธฯ 6 สถาบัน ที่รวมตัวกันจัดนิทรรศการ "ทางก้าวหน้า" ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดียิ่งจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้มีการจัดตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ มา
โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์ได้เติบโตขึ้นจาก 7 สถาบัน 9 สถาบัน 18 สถาบันจนถึง 50 สถาบัน ในพ.ศ.2530 โดยมีชมรมพุทธศาสตร์และประเพณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ประสานงานส่วนกลาง จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 พี่ศิษย์เก่าชมรมพุทธศาสตร์จำนวนหนึ่ง ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ได้รวมกลุ่มกัน อุทิศตนเพื่อรองรับภารกิจในการประสานงานส่วนกลาง ต่อจากชมรมพุทธศาสตร์ฯจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับความเมตตาจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต ป.ธ.๗, พ.ศ. 2463-2537) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ รับเป็นองค์อุปถัมภ์ จึงใช้ชื่อชมรมว่า “ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระพุทธชินวงศ์”
จนถึงวันที่ 17 พ.ย. 2540 ได้กราบอาราธนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นองค์อุปถัมภ์ และได้ใช้ชื่อ "ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" มาจนถึงปัจจุบัน
ระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีนั้น ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้ดำเนินโครงการต่างๆมากมาย แต่ละโครงการได้มีการพัฒนาและขยายงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังคุณธรรมตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาให้หยั่งลึกในใจของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทุกคนทุกระดับชั้น เพื่อให้เยาวชนมีความรู้อย่างแท้จริง
จากจุดเริ่มต้นที่มีนักเรียนเข้าสอบเพียง 382 คน ก็ได้ขยายไปสู่หลักล้านในปัจจุบัน โครงการอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน แต่เดิมที่มีเฉพาะธรรมทายาทชาย ก็ได้มีการขยายเพิ่มเป็น โครงการอบรมธรรมทายาทหญิง เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้มีเวลาศึกษาธรรมะ และฝึกฝนอบรมตนเอง ตามแบบอย่างวัฒนธรรมชาวพุทธ มาเป็นเวลาหลายสิบปี รวมไปถึงโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลกที่มุ่งสร้างเยาวชนต้นแบบด้านศีลธรรมหรือ เด็กดี V-Star ให้กับสังคม โดยมีวัดพระธรรมกาย และมูลนิธิธรรมกายเป็นผู้สนับสนุนโครงการ
ธรรมะดังกล่าวมิใช่มีประโยชน์เฉพาะนิสิต นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่า ต่อนักเรียนในโรงเรียนขั้นพื้นฐานอีกด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้จัดการตอบปัญหาธรรมะ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรับสมัครเฉพาะโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 80 โรงเรียนทีมละ 2 คน ในครั้งนั้นมีผู้เข้าสอบถึง 191 ทีม รวม 382 คน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ชี้ให้เห็นถึงความสนใจในพระพุทธศาสนาของเยาวชนไทย ในการจัดนิทรรศการครั้งที่ 2 คณะกรรมการฯ ได้ขยายขอบเขตการสอบไป ในระดับมัธยมทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ทีมละ 2 คน ซึ่งมีนักเรียนได้ให้ความสนใจเข้า ร่วมสอบถึง 608 ทีม (จำนวน 1,216 คน) จาก 250 โรงเรียนทั่วประเทศ
การตอบปัญหาธรรมะ“ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2529 ได้ยกเลิกการสอบแบบทีมละ 2 คน เป็นการสอบรอบเดียว เพื่อความสะดวกในการจัดห้องสอบ ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มรางวัลโล่พระราชทาน เป็น 10 ประเภท เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีโอกาสได้รับโล่พระราชทานมากขึ้น ในปีนั้นมีผู้เข้าสอบทั้ง สิ้น 6,470 คน อนึ่ง ได้มีการสอบระดับนักเรียนทหาร-ตำรวจ ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 1 - 5 จัดโดยคณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์สถาบันต่างๆ โดยใช้สถานที่สอบเพียงแห่งเดียว คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เรียนรู้ปัญหาหลายประการ อาทิ ด้านอาคารสถานที่ การเดินทางของอาจารย์และนักเรียน การต้อนรับ และการคุมสอบ เป็นต้น
ดังนั้นในการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 6 เป็นต้นมา คณะกรรมการฯ จึงได้เปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดโดยจัดให้มีการสอบรอบคัดเลือก ณ ศูนย์สอบฯ ทั้งในกรุงเทพฯ 4 ศูนย์สอบ และศูนย์สอบฯ ต่างจังหวัด 6 ศูนย์สอบรวม 10 ศูนย์สอบ ผู้ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงจะสามารถสอบรอบชิงชนะเลิศ โดยมอบรางวัลในระหว่างการจัดนิทรรศการ “ทางก้าวหน้า” ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การตอบปัญหาธรรมะได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนถึงครั้งที่ 10 ได้เพิ่มรางวัล จากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สำหรับประเภทพิเศษ พระภิกษุ - สามเณร และในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการจัดตั้งชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ขึ้น เพื่อดำเนินการจัดสอบตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์สถาบันการศึกษาต่างๆ การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 11 ได้ปรับการสอบจาก 2 รอบ เหลือเพียงรอบเดียว เพื่อสะดวกต่ออาจารย์ และนักเรียนจำนวนมาก ผู้ซึ่งไม่มีงบประมาณเพียงพอในการเดินทางหลาย ๆ ครั้งในแต่ละปี ตั้งแต่การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 8 เป็นต้นมามีนิสิตจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ลงทะเบียน และทำคะแนนสอบ ทำให้ทุกอย่างเป็นระบบและถูกต้อง รวดเร็วขึ้น และในครั้งที่ 16 ได้มีการนำกระดาษคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสอบทุกประเภทพร้อมกับได้ทำการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมดังกล่าวที่ทวีเพิ่มมากขึ้น
การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2540 มีผู้สนใจสมัครสอบถึง 92,554 คน จาก 655 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยจำนวนนี้เป็นผู้สมัครจาก 5 จังหวัดภาคใต้ถึง 27,000 คน การตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2541 นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของทางก้าวหน้า ด้วยเพราะมีผู้เข้าร่วมสอบจำนวนถึง 1,350,000 คน จากกว่า 5,000 โรงเรียนทั่วประเทศ มากกว่าครั้งที่ 6 ถึง 13 เท่า สร้างความตื่นตัวให้กับแวดวงการศึกษาเป็นอย่างมาก ด้วยไม่เคยมีการสอบครั้งใดในประเทศ ที่ผู้เข้าร่วมโครงการมากขนาดนี้ ทั้งยังเป็นการสอบตอบปัญหาธรรมะอีกด้วย จึงเป็นการปลุกกระแส ให้เยาวชนยุคใหม่หันมาสนใจธรรมะกันอย่างกว้างขวาง จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการขยายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก 1 ล้านคนเป็น 2 ล้านคนใน การตอบปัญหาธรรมะ“ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2542 เป็น 3 ล้านคน ในครั้งที่ 19 พ.ศ. 2543 และ 4 ล้านคน ในครั้งที่ 20 พ.ศ. 2544 และเข้าสู่หลัก 5 ล้านคนในปัจจุบัน
โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ได้กลายเป็นโครงการส่งเสริมธรรมะสู่เยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโครงการหนึ่ง จนเป็นที่การยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและ วัฒนธรรม วุฒิสภา, กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในโครงการวัฒนธรรมสันติภาพของ “องค์การ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)” หรือยูเนสโก
จากคุณ |
:
venture
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ก.ค. 55 18:47:58
|
|
|
|
 |