ดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล แล้วเหตุใดจึงมีธรรมะบางหัวข้อ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงห้ามไม่ให้คิด เพราะถ้าคิดแล้วจะเกิดความฟุ้งซ่านแห่งจิต มีส่วนแห่งความเป็นบ้า ซึ่งพระองค์ทรงใช้คำว่าเป็นเรื่องอจินไตย ฟังแล้วเหมือนจะขัดแย้งกันอยู่ในตัว ระหว่างความมีเหตุผลในพระพุทธศาสนากับการไม่ให้คิดเรื่องเหตุผลในบางเรื่อง ความจริงแล้วเรื่อง ดังกล่าวไม่ขัดแย้งกัน แต่เนื่องจากบางเรื่องเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง จะใช้การพิจารณาด้วยปัญญาขั้นธรรมดา ไม่ได้ เพราะความคิดของมนุษย์นั้นมีขอบเขตจำกัด ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรมที่เพียงพอจึงจะรู้เห็นเรื่องนี้ได้ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องแหล่งที่มาของความรู้เรื่องจักรวาลวิทยา
เรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอจินไตย มีปรากฏใน อจินติตสูตร13) ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบาก เปล่า อจินไตย 4 คืออะไรบ้าง คือ
1. พุทธวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับ ความลำบากเปล่า
2. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่ง ความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
3. วิบากแห่งกรรม เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความ เป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
4. โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก) เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล อจินไตย 4 ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่ง ความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า
จากพระสูตรนี้ นักศึกษาจะเห็นว่า เรื่องใครเป็นผู้สร้างโลก การเกิดขึ้น แตกทำลายของโลกนั้น เป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิด คิดแล้วก็จะมีส่วนแห่งความเป็นบ้า เพราะโลกที่เราอยู่อาศัยนั้น ใช้ระยะเวลา การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกทำลายนั้น นานมากเป็นอสงไขยกัป อสงไขยชาติ ยากที่จะใช้เครื่องมือใดๆ ไป ตรวจสอบให้เห็นตามความเป็นจริงได้ ดังนั้นหากยิ่งใช้ความคิดในการพินิจพิเคราะห์ด้วยแล้ว ยิ่งเกิดความ ฟุ้งซ่านแห่งจิต เป็นการเสียเวลาและโอกาส ในที่สุดอาจจะเป็นบ้าไปได้
แต่เรื่องที่เราควรคิด คือ เรื่องทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากโลกใบนี้ไปได้ หรือคิดเรื่องความเสื่อม การเกิดขึ้นของโลก เพื่อเป็นคติสอนตัว ไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลก จะได้เร่งทำความดี หนีจากโลกนี้ไป เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาใคร่ครวญ หรือเราควรเร่งจะฝึกจิต ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆขึ้นไป เพื่อจะได้ไปตรวจสอบ พิสูจน์ความจริง หลังจากที่เราดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว
พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่มุ่งเน้นให้ทุกคนได้สร้างความดี แก้ไขตนเองในเรื่องที่ทำให้พ้นทุกข์ก่อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต คือ พระนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในโลกใบนี้อีกต่อไป เพราะเรามีเวลาในโลกนี้จำกัด
เรื่องจักรวาลวิทยา พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนอย่างละเอียด แต่พระองค์ทรงสอนแบบ ตัดตอน พอให้เห็นภาพการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปของคน สัตว์ สิ่งของ จะได้เบื่อหน่ายคลายกำหนัด เร่งปฏิบัติธรรมเท่านั้น ดังเรื่องย่อใน จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร14)
ในครั้งนั้น พระมาลุงกยบุตรได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านอยากจะทราบคำตอบ เรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกนี้ โลกหน้า พระมาลุงกยบุตรคิดว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาเรื่อง ความเห็น 10 ประการ เช่น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด เป็นต้น จึงเข้าไปเฝ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงตอบปัญหานี้ให้ได้ ถ้าพระองค์ทรงทราบก็ขอให้ตอบให้ หายข้องใจ ถ้าพระองค์ไม่ทรงทราบคำตอบ ก็ขอให้ตรัสตรงๆ ว่าไม่ทราบ แต่ถ้าพระองค์ไม่ตอบอะไร ท่านก็จะสึก
ในครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามพระมาลุงกยบุตรว่า เราเคยชวน ให้เธอมาบวชเพื่อจะตอบปัญหานี้หรือ พระมาลุงกยบุตรตอบว่า ไม่เคย พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า ผู้ใด กล่าวว่าเราจะสึก ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ตอบปัญหาเหล่านี้ ผู้นั้นคงจะตายเปล่า เพราะเราจะไม่ตอบปัญหานั้น เปรียบเสมือนคนถูกยิงด้วยธนูอาบยาพิษ ญาติพี่น้องไปตามหมอมาช่วยรักษา แต่ถ้าคนไข้ไม่ยอมให้ หมอผ่าตัดเอาลูกศรออกจนกว่าจะมีใครบอกว่า ใครเป็นผู้ยิง มีชื่ออย่างไร สูงหรือต่ำ ดำหรือขาว อยู่ที่ไหน ธนูที่ใช้ยิงทำด้วยอะไร เป็นต้น คนไข้นี้ก็คงจะตายเปล่า เพราะมัวแต่ถามถึงสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ซึ่งประโยชน์ เบื้องหน้าคือการรักษาอาการบาดเจ็บ และสุดท้ายพระพุทธองค์ทรงสรุปว่า พระองค์จะทรงตอบปัญหา ความเห็นที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อให้เบื่อหน่ายคลายความกำหนัด เพื่อความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน
พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงตอบ อย่างเรื่องที่ พระมาลุงกยบุตร ถามเรื่องโลกนี้ โลกหน้ามี ก็เป็นอจินไตย และเป็นเรื่องที่ยังไกลตัว ควรศึกษาเรื่องที่ เกี่ยวกับตัวเราที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้ก่อน โดยลงมือปฏิบัติทันที หากปฏิบัติจนเป็นผลสำเร็จแล้ว จึง จะไปเรียนรู้เรื่องราวที่นอกเหนือจากตัวเราออกไป เหมือนกับคนถูกยิงด้วยลูกธนู จะมัวถามหาคนยิง ถามถึงอุปกรณ์ที่ใช้ยิง การถามอย่างนี้มีแต่จะตายเปล่า ควรจะรักษาชีวิตก่อนแล้วจึงสืบค้น
เรื่องจักรวาลวิทยาก็เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์นำมาตรัสเล่าให้ฟังเพื่อเป็นข้อเตือนใจ ให้เกิด ความเบื่อหน่ายในความเสื่อมของโลก และเพื่อไม่ให้มนุษย์ตกอยู่ในความประมาท จะได้ใช้วันเวลาที่มีอยู่ อย่างจำกัด และเต็มไปด้วยอันตรายจากการเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และมีความตายเป็นที่สุดนี้ เร่งสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยค้นหาความจริงของชีวิตด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม
13) อจินติตสูตร, อังคุตตรนิกาย จตุกนิกาย, มก. เล่ม 35 ข้อ77หน้า 235.
14) จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 20 ข้อ 147-152 หน้า 298-305.
จากหนังสือ จักรวาลวิทยา