พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๙. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยพกพรหมมีทิฏฐิอันลามก
[๕๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. [๕๕๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายสมัยหนึ่ง เราอยู่ ที่โคนต้นรังใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐา. ก็สมัยนั้นแลพกพรหมมีทิฏฐิอันลามกเห็นปาน ฉะนี้ เกิดขึ้นว่า พรหมสถานนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้แล ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งนอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี ดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เรารู้ความปริวิตกแห่งใจ พกพรหมด้วยใจแล้ว จึงหายไปที่โคนต้นรังใหญ่ ในสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหม โลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พกพรหมได้เห็นเราผู้มาแต่ไกล แล้วได้พูดกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญมาเถิด ท่านมาดีแล้ว นานทีเดียวที่ท่านเพิ่งทำปริยายเพื่อจะมาในที่นี้ ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ พรหมสถานนี้ เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้แลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะพกพรหมว่า ดูกรท่านผู้เจริญ พกพรหมไปในอวิชชาแล้วหนอ พกพรหมไปในอวิชชาแล้วหนอ เพราะว่าพกพรหมกล่าวสิ่งที่ไม่ เที่ยงนั่นแลว่า เที่ยง กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนนั่นแลว่า ยั่งยืน กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงนั่นแลว่า มั่นคง กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงนั่นแลว่า แข็งแรง กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดานั่นแลว่า มีความ ไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา ก็แหละสัตว์ทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งตาย ทั้งจุติ ทั้งอุบัติอยู่ในพรหมสถานใด พกพรหมก็กล่าวพรหมสถานนั้นอย่างนั้นว่า พรหมสถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นอันมีอยู่ว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่นไม่มี.
มารเข้าสิงกายพรหม
[๕๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มารผู้ลามกเข้าสิงกายของพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่ง แล้ว กล่าวกะเราว่า ดูกรภิกษุๆ อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย ดูกรภิกษุ เพราะว่า พรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ (ปกครองคณะพรหม) อันคณะพรหมไม่ฝ่าฝืนได้ โดยที่แท้เป็นผู้ดูทั่วไป ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วและกำลังจะ เกิด. ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้ติเตียนดิน เกลียดดิน เป็นผู้ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม เป็นผู้ติเตียนสัตว์ เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียนปชาบดี เกลียดปชาบดี เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหมในโลก (ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกายแตกขาดจากลมปราณ ต้องไปเกิดในหินกาย. (จตุราบาย) ดูกรภิกษุ ส่วนสมณพราหมณ์ พวกก่อนท่าน เป็นผู้สรรเสริญดิน ชมเชยดิน เป็นผู้สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม ชมเชยลม เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญ เทวดาชมเชยเทวดา เป็นผู้สรรเสริญปชาบดี ชมเชยปชาบดี เป็นผู้สรรเสริญพรหม ชมเชยพรหม สมณพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกายแตกขาดจากลมปราณ ก็ไปเกิดในกายที่ประณีต. (พรหมโลก) ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้น เราจึงขอบอกกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำ ตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ดูกรภิกษุถ้าท่านจักฝ่าฝืน คำของพรหม. โทษจักมีแก่ท่าน เปรียบเหมือนบุรุษเอาท่อนไม้ตีไล่ศิริที่มาหา หรือเปรียบเหมือน บุรุษผู้จะตกเหวที่ลึก ชักมือและเท้าให้ห่างแผ่นดินเสีย ฉะนั้น. ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ดูกรภิกษุท่านย่อม เห็นพรหมบริษัทประชุมกันแล้วมิใช่หรือ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารผู้ลามกย่อมเปรียบเทียบเรากะ- *พรหมบริษัทดังนี้แล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะมารผู้ลามก นั้นว่าแน่ะมาร เราย่อมรู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า พระสมณะไม่รู้จักเรา แน่ะมาร ท่านเป็นมาร พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหมปาริสัชชะก็ดี ทั้งหมดนั่นแลอยู่ในมือของท่าน ตกอยู่ในอำนาจของท่าน และท่านมีความดำริว่า แม้สมณะก็ต้องอยู่ในมือของเราต้องตกอยู่ ในอำนาจของเรา ก็แต่ว่า เราไม่ได้อยู่ในมือของท่าน ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจของท่าน
มารในพระสูตรนี้ คือมารตนไหน ที่สามารถไปสิงในกายของพรหมได้
แสดงว่าต้องอยู่ในภพที่สูงกว่าพรหม