พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก
เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
คติของพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ
ข้ามเครื่องผูกคือกามและโอฆะได้แล้ว
ถึงแล้วซึ่งความสุขอันหาความหวั่นไหวมิได้ ไม่มีเพื่อจะบัญญัติ
เหมือนคติแห่งไฟลุกโพลงอยู่ที่ภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นต้น
อันนายช่างเหล็กตีด้วยค้อนเหล็ก ดับสนิท ย่อมรู้ไม่ได้ ฉะนั้น ฯ
...........
ในคาถาทั้งหลาย มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้
บทว่า อโยฆนหตสฺส ความว่า วัตถุชื่อว่า อโยฆนะ
เพราะเป็นเครื่องตีเหล็ก ได้แก่ค้อนเหล็กและทั่งเหล็ก
ของพวกช่าง แห่งไฟที่ถูกค้อนเหล็กนั้นตี คือทุบ.
แต่อาจารย์บางพวกกล่าวอธิบายว่า บทว่า อโยฆนหตสฺส ได้แก่
ตีก้อนแท่งเหล็ก.
ก็ เอว ศัพท์ในคำว่า อโยฆนหตสฺส นั้น ได้แก่ ไฟที่ไหม้อยู่.
บทว่า ชลโต ชาตเวทโส นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถว่า อนาทร.
บทว่า อนุปุพฺพูปสนฺตสฺส ความว่า เมื่อไฟสงบคือมอดลง ได้แก่ดับสนิทโดยลำดับ.
บทว่า ยถา น ญายเต คติ ความว่า เหมือนคติของไฟนั้น รู้ไม่ได้.
ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ว่า เมื่อไฟถูกค้อนเหล็กใหญ่
มีทั่งเหล็กและค้อนเหล็กเป็นต้นกระทบอยู่
คือขจัดอยู่ หรือลุกโพลงติดภาชนะสำริดเป็นต้น.
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเสียงที่เกิดขึ้นก็อย่างนั้น สงบ
คือเข้าไปสงบด้วยดีโดยลำดับ
คติของไฟหรือเสียง ย่อมไม่ปรากฏในที่ไหนๆ ในทิศทั้ง ๑๐
เพราะดับสนิทโดยหาปฏิสนธิมิได้โดยการดับปัจจัย.
บทว่า เอวํ สมฺมา วิมุตฺตานํ ความว่า คติของพระขีณาสพทั้งหลาย
ชื่อว่าผู้หลุดพ้นโดยชอบ เพราะหลุดพ้นจากอุปาทาน ๔ และอาสวะ ๔ โดยชอบ คือโดยเหตุ โดยญายธรรม ได้แก่ด้วยอริยมรรค
อันมีตทังควิมุตติและวิกขัมภนวิมุตติเป็นประธาน
ลำดับนั้นนั่นแล ชื่อว่าผู้ข้ามโอฆะอันเป็นเครื่องผูกคือกาม
เพราะข้ามกาโมฆะ
กล่าวคือเครื่องผูกคือกามและโอฆะที่เหลือต่างด้วยภโวฆะเป็นต้น
ชื่อว่าผู้ถึง คือบรรลุความสุขอันเข้าไปสงบสังขารทั้งปวง
กล่าวคืออนุปาทิเสสนิพพาน อันชื่อว่าไม่หวั่นไหว
เพราะสงบระงับกิเลส อันเป็นเหตุดิ้นรนด้วยดีเสียได้
และเพราะไม่สะเทือนด้วยลมคืออภิสังขาร
ได้แก่กิเลส ย่อมไม่มี
คือย่อมไม่ได้เพื่อจะบัญญัติโดยไม่มีข้อที่จะพึงบัญญัติว่า นี้ชื่อว่าคติ
ในบรรดาคติต่างโดยเทวดาและมนุษย์เป็นต้น.
อธิบายว่า ก็ท่านพระทัพพมัลลบุตรนั้นไปสู่ภาวะที่หาบัญญัติมิได้นั่นเทียว
เหมือนไฟตามที่กล่าวแล้วฉะนั้น.
จบอรรถกถาทุติยทัพพสูตรที่ ๑๐