Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บอกเล่าแนวการปฏิบัติและผลที่ได้รับจากการฝึก พุทธานุสสติ ติดต่อทีมงาน

ผมเป็นนักปฏิบัติคนนึงที่สนใจและศึกษาธรรมะมา 10 กว่าปี แล้ว
แต่เมื่อก่อนฝึกเท่าไหร่ก็ไปไม่ถึงไหน ฝึกเองบ้าง ขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่บ้าง แต่ก็ไม่เห็นความก้าวหน้าชัดเจน จนกระทั่งได้พบกับอาจารย์ฆราวาสท่านนึงซึ่งท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนการปฏิบัติแนวพุทธานุสสติ เพ่งรูปและระลึกถึงภาพพระพุทธรูป ผมได้รับความอัศจรรย์ใจในความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเห็นว่านาจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังหาทางพ้นทุกข์ จึงได้นำเรื่องราวการฝึกของตนเองมาบอกเล่าไว้ในกระทู้นี้...

มรรควิธีสู่ความรู้แจ้ง

ผล คือความวิมุติหลุดพ้นอันเป็นสิ่งที่ได้รับจากการปฏิบัติ
มรรค คือวิธีการปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงความหลุดพ้น

วิมุติคือผล
มรรคคือเหตุ

แล้วมรรคหรือเหตุอะไรเล่าที่จะนำไปสู่ผลคือวิมุติ...

มรรคที่นำไปสู่ผลที่ถูกต้องนั้น คือการเอา สติ ตามรู้ ดู แล้ววาง สภาวะและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วใช้ปัญญาสรุปสิ่งนั้นลงที่กฏไตรลักษณ์ เพื่อให้ จิต ให้เรียนรู้ซึมซับถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน อยู่เรื่อยๆ เนือง ๆ

สติกับปัญญา ต้องทำงานพร้อมกันอยู่ตลอด จิตไม่ต้องทำอะไร เพราะจิตเป็นธาตุรู้ คือเขารู้อย่างเดียวไม่คิดไม่วิเคราะห์ไม่อะไรทั้งนั้น รู้อย่างเดียว จึงต้องเอาปัญญาอมรบจิตอยู่บ่อยๆ นี่จึงเป็นมรรควิธีที่ถูกต้องอันนำไปสู่ผล คือจิตเกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเสียได้ เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ก็ถึงวิมุติหลุดพ้น

แต่กระบวนการนี้มันต้องเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ คือ สติ ปัญญา และจิต ทำงานของเขาเองอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ได้ไปน้อมนึกหรือบังคับให้คิด

การจะเป็นเช่นนี้ได้จิตต้องทรงฌานไว้ตลอดเวลาทุกขณะที่ตื่นอยู่ เพราะจิตที่ทรงฌานนั้นเป็นจิตที่ว่างจากกิเลสสิ่งปรุงแต่ง เวลารู้ก็จะรู้ตามความเป็นจริง รู้แบบซื่อๆ ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอุปาทาน

แล้วฌานคืออะไร มีกี่ประเภท ฌานคือสภาวะที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ทิ้งไม่ละไม่วาง ว่างจากกิเลสคือความฟุ้งซ่าน ความโกรธเกลียดพยาบาท ความลังเลสงสัย ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น

ตามตำราท่านว่าไว้ ฌานมีสองประเภท คือ อารัมมณูปนิชฌาน ๑ และลักขณูปนิชฌาน ๑

อารัมมณูปนิชฌาน คือฌานที่เกิดจากการเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอารมณ์ เช่นคำภาวนาต่างๆ หรือภาพกสิณเป็นต้น จนกระทั่งอารมณ์เป็นหนึ่ง คือเอกัคคตารมณ์ ฌานประเภทนี้อารมณ์จะนิ่งดำดิ่งลงไปอยู่กับความสงบ สงัด ไม่นึกไม่คิดไม่รับรู้อะไรใด ๆ ทั้งสิ้น เบาสบายเบิกบานอยู่อย่างนั้น อันนี้หลายท่านก็ว่าเป็นฌานฤาษี เป็นฌานที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้ใดๆ แต่สามารถนำไปสู่การเป็นผู้มีฤทธิ์มีอภิญญาได้

ลักขณูปนิชฌาน คือฌาณที่เพ่งอยู่ในลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่มันเกิด-ดับ ตามความเป็นจริง ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นฌานที่ก่อให้เกิดวิปัสสนาญาณนั่นเอง ลักขณูปนิชฌานนี้มีสติเป็นพระเอก ต้องทำงานมากก ทำงานตลอดเวลา ฌานตัวนี้มีสติเป็นตัวกำกับ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จะนั่งจะพูด จะคุยหรือจะกินจะขับถ่ายก็ได้ทั้งนั้น ได้ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ไม่จำเป็นว่าจะมีได้เฉพาะเวลานั่งหลับตา

หากใครมีประสบการณ์นั่งสมาธิมาแล้ว ลองย้อนกลับไปพิจารณาและเทียบเคียงดูได้ว่าที่ตัวเองทำมานั้นเป็นอย่างไร ถ้ามันเคยสงบนิ่งแช่อยู่เฉยๆ นุ่มเนียนละเอียด เบาสบาย ไม่มีความคิดใดๆ แทรกเข้ามาเลย อันนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน ดีนะ ดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้จิตได้พักผ่อนได้เติมพลัง แต่บางครั้งเคยสังเกตมั้ยว่ามันไม่ยอมนิ่งเลย มันคอยแต่จะฟุ้งออกไปข้างนอก คิดสาระพัดเรื่อง แต่ไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ จิตยังเบาๆสบายๆ เฉยอยู่ รู้ว่าคิดแต่ไม่เกิดอารมณ์ ที่รู้คือสติมันตามรู้ดูอยู่ตลอด ที่ไม่เกิดอารมณ์ก็คือจิตไม่ปรุงแต่งนั่นเอง หากเกิดความคิดแล้วสติตามรู้ดูแล้ววาง จิตมันก็รู้อยู่ในทีว่าความคิดเกิดแต่ไม่ปรุงแต่ง อันนี้เรียกว่าลักขณูปนิชฌานล่ะนะ แต่ถ้าเกิดความคิดฟุ้งแล้วเกิดความอึดอัดรำคาญด้วยแสดงว่าไม่ใช่ฌาน เพราะจิตมันปรุงแต่งไปแล้วนั่นเอง ถ้าเป็นฌานตัวนี้นะ คิดก็คิดไปเห่อะแต่ฉันไม่เดือดร้อน อุปมาเหมือนมีคนต่างชาติมาด่าว่าเราเสียใหญ่โต แต่เราไม่เดือดร้อนเพราะฟังไม่รู้เรื่อง "มันบ่นอะไรของมันหนักหนา บ้าหรือเปล่า"

ความคิดใดที่สติตามรู้ได้ทัน ความคิดนั้นคือปัญญา ไม่ใช่ความฟุ้งซ่าน นี่แหล่ะที่เรียกว่าปัญญาในสมาธิ

ก็สติอีกนั่นแหล่ะ สติเป็นพระเอกนะ ปัญญาเป็นพระรอง มีจิตเป็นเสมือนลูกที่ถูกเลี้ยง ต้องอบรมให้ดีและให้ถูกทางอีกด้วย

ลักขณูปนิชฌาน ตัวนี้แหล่ะนะที่เราต้องการมาก ต้องทรงอารมณ์ฌานตัวนี้ไว้ให้ได้ตลอดทั้งวัน จะทำกิจกรรมอะไรก็ตามให้มีสติรู้อยู่เรื่อย ๆ เนือง ๆ แต่ต้องบอกก่อนนะว่ามันไม่ใช่เราเป็นคนกำหนดรู้ กำหนดดู แต่สติมันรู้ ดู แล้ววาง ของมันเองต่างหากนะ ที่พระท่านเรียกว่า สติอัตโนมัติ นี่จึงจะเรียกว่าให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อสติรู้ ดู แล้ววางอารมณ์ต่างๆ ปัญญาก็จะเข้ามาทำงานต่อโดยสรุปสิ่งนั้นลงที่ไตรลักษณ์ ให้จิตได้รู้ได้เห็นว่าอารมณ์ต่างๆ นั้นมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ซ้ำๆ ย้ำๆ เห็นบ่อยๆ จิตจะเบื่อหน่ายของมันเองนะ จิตไม่ต้องทำอะไรนะ รู้อย่างเดียว เพราะจิตเป็นธาตุรู้อย่างที่บอกไปแล้ว ความหิวเกิดแล้วความหิวก็ดับ ความโกรธเกิดขึ้นแล้วความโกรธก็ดับ ความอยากได้เกิดขึ้นแล้วความอยากได้ก็ดับ มันวนๆๆๆๆๆ อยู่แค่เนี้ยนะ เมื่อจิตรับรู้อยู่แค่นี้ กี่ครั้งต่อกี่ครั้งมันเกิดแล้วมันก็ดับ จิตก็ละอารมณ์เหล่านั้นและไม่ตกเป็นทาสอีกต่อไป คือไม่ตกเป็นทาสของความหิว ความโกรธ ความอยากและอะไรต่อมิอะไร เพราะจิตมันยอมรับแล้วว่าไม่ว่าอะไรเกิดเดี๋ยวมันก็ดับ ไม่มีตัวไม่มีตนให้จับต้องได้เลย จะต้องไปดิ้นรนเพื่อมันทำไม ดังคำภาษิตที่ว่า "ยงฺกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ" สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา นี่เป็นธรรมะที่ทำให้พระอัญญาโกณฑัณญะได้ดวงตาเห็นธรรมนะ...

ทรงฌานไว้ให้ได้ตลอด แต่ชีวิตเราก็ดำเนินไปตามปกตินะ อารมณ์อะไรเกิดก็ให้สติตามรู้ ดู แล้ววาง ต่อด้วยปัญญาเข้ามาทำงานให้จิตได้รู้ได้เห็น ให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ มันจึงจะเป็นวิปัสสนาที่แท้จริง ไปเดินตลาดเห็นผู้คนมากมาย อยู่ดีๆ มันก็นึกคิดไปว่าดูซิชีวิตช่างวุ่นวายต้องดิ้นรนหากิน หาเงินมาเลี้ยงมาปรนเปรอร่างกาย แต่ร่างกายนี้มันก็อยู่ไม่นานเดี๋ยวก็ตาย อุตส่าห์ปรนเปรอดูแลอย่างดีสุดท้ายก็เป็นศูนย์ ช่างน่าสลดใจ ถ้าอยู่ดีๆ มันคิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้น้อมนึกหรือบังคับให้คิด แบบว่าแว๊บขึ้นมา นั่นล่ะนะวิปัสสนาญาณเกิดแล้ว ญาณรู้เกิดแล้ว ก็สุดแล้วแต่ว่ามันจะไปรู้เรื่องอะไรเวลาไหน ช่างเขานะปล่อยให้เขาคิดให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ สติรู้ดูความคิดเกิดดับ ปัญญาเข้ามาบอกว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่คงสภาพ เห็นมั้ยเดี๋ยวก็ตาย จิตได้เรียนรู้สภาวะของชีวิตตามความเป็นจริงและยอมรับตามนั้น (ขณะที่ทรงฌานด้วยนะ) ก็ถึงบางอ้อ....ล่ะทีนี้ ให้จิตมันอ้อ...บ่อยๆๆๆๆๆ บ่อยขนาดไหนไม่รู้ แต่เมื่อบ่อยจนพอแล้วจิตจะละวางสิ่งนั้นเอง ก็เบื่อนั่นแหล่ะ ใช้คำว่าเบื่อน่าจะเข้าใจง่ายกว่านะ

ทีนี้มันไม่ใช่ครั้งสองครั้ง วันสองวันแล้วบรรลุธรรมหรอกนะ ต้องปล่อยให้ สติ ปัญญา และจิต ได้ทำงานของเขาไปเรื่อย ๆ ให้เขาได้พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้เยอะขึ้น ให้รอบด้านทุกแง่ทุกมุม จิตต้องทรงฌานไว้ตลอดทั้งวันและทุกๆ วันด้วยนะ อย่าลืมว่าจิตที่ทรงฌานนั้นเป็นจิตที่ปราศจากกิเลสเครื่องปรุงแต่ง ถ้ารู้อะไรจะรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้เพราะอุปาทาน

จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร หลายๆ คนก็เคยอ่านเคยศึกษากันมาแล้วทั้งนั้น บ้างก็ได้ลงมือปฏิบัติ แต่ไปได้ถึงไหนล่ะเราเองก็รู้อยู่แก่ใจนะ ที่จบกิจกันยังไม่ได้ซะทีมันเป็นเพราะเราท่านทั้งหลายไม่สามารถนำเอาสมาธิที่ฝึกมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน สมาธิที่ฝึกนั้นมันสงบมันนิ่งก็เฉพาะเวลาที่นั่งอยู่ พอออกจากสมาธิมาเจอสิ่งกระทบจิตก็หวั่นไหวเสียแล้ว จิตฟุ้งกระจายไปตามกิเลส นี่ก็เพราะไม่สามารถทรงอารมณ์สมาธิหรือฌานไว้ได้นานๆ นี่เอง จะคิดพิจารณาอะไรมันกลายเป็นวิปัสสนึกไป ไม่ใช่วิปัสสนาที่มันเป็นเองโดยธรรมชาติ

ฌานที่พูดถึงนี้คือลักขณูปนิชฌานนะ จริงๆ แล้วพระท่านเรียกว่า ฌาน 4 ใช้งาน มันเป็นฌานที่ไม่ได้เพ่งอยู่เฉย ๆ แต่มันมันฌานที่ทำให้จิตสงบระงับจากกิเลสไม่ฟุ้งซ่านปรุงแต่ง แล้วยังทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันได้ ท่านจึงเรียกว่าฌาน 4 ใช้งาน ต้องทรงไว้ให้ได้ ทรงไว้ตลอดทั้งวัน แล้วสติปัญญาจิตจะทำงานโดยอัตโนมัติเป็นธรรมชาติ

แล้วจะทำอย่างไรให้จิตทรงฌานไว้ได้ตลอดทั้งวันล่ะ....

มีวิธีง่าย ๆ ได้ผลดีมาก คือการเอาจิตจับภาพพระพุทธรูป จะว่าเป็นกสินก็ได้นะ เอาจิตจับภาพพระไว้ให้ทรงตัว นึกถึงบ่อย ๆ นึกเมื่อไหร่เห็นทุกครั้ง ชัดด้วยสวยด้วย จะมองมุมไหนก็ได้ จะย่อจะขยาย จะหมุน 360 องศา ได้ทั้งน้านนน ทำไม่กี่วันหรอก อย่างมากสัปดาห์นึงก็ได้แล้ว แต่ต้องมีความเพียรนะจึงจะได้ ไม่ใช่ทำๆ เลิกๆ จับภาพพระได้ทรงตัวแล้ว จิตจะเป็นฌานเองโดยไม่รู้ตัว จะยืนเดินนั่งนอนทำกิจกรรมอะไรก็ตามหากจิตคอยแต่จะนึกถึงพระ ประเดี๋ยวก็ไปนึกถึงพระอีกแล้ว นั่นล่ะจิตเป็นฌานแล้ว การระลึกอยู่อย่างนี้คือพุทธานุสติกรรมฐาน แต่เราไม่ได้ทำแค่ตอนนั่งหลับตา เราทำในทุกๆ อิริยาบท จิตอยู่กับพระตลอดเวลาอานิสงค์คือ จิตเป็นสมาธิ และอีกอย่างคือเมื่อเรานึกถึงท่าน ท่านก็นึกถึงเราแล้วท่านก็จะแผ่บารมีมาฉุดดึงจิตเราให้สูงขึ้นอีกด้วย นี่เรียกว่าพึ่งบารมีพระ ลำพังตัวเราเองมีดีอะไรเล่าก็ต้องอาศัยบารมีพระพุทธองค์นี่แหล่ะ ทำง่ายได้ผลเร็ว...

จะว่าไปแล้วแทบจะไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นอีกเลยนะ แค่เอาจิตจับภาพพระไว้เรื่อยๆ อย่าได้ทิ้ง สติปัญญาและจิตจะดำเนินของเขาไปเองอัตโนมัติอย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น มากๆ เข้า จิตจะละวางตัวตนและความยึดมั่นในขันธ์ห้า อันมีรูป ๑ นาม ๔ เมื่อตัดขันธ์ห้าได้แล้ว รัก โลภ โกรธ หลง ก็สงบลงไป สังโยชน์ ๑๐ ประการทั้งหลายมันก็รวมลงอยู่ในขันธ์ห้าทั้งสิ้น

หลวงปู่ปานท่านกล่าวว่า "นิพพานไปไม่ยาก ตัดขันธ์ห้าตัวเดียวไปได้เลย"

ขออาราธนาบุญบารมีของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ได้โปรดแผ่ลงมาฉุดช่วยดวงจิตของพี่น้องทุกท่าน ขอให้ดวงจิตของท่านจงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบุญพลังปัญญาเพื่อความรู้แจ้งในพระสัทธรรมคำสอน มีดวงตาเห็นธรรมเข้าถึงนิพพานภายในปัจจุบันชาตินี้ โดยทั่วกันทุกๆ ดวงจิต ด้วยเทอญ.

จากคุณ : บูรพาฟ้าสว่าง
เขียนเมื่อ : 17 ก.ค. 55 17:40:49




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com