 |
สิงคาลกสูตร
เรื่องเริ่มต้นมีอยู่ว่า สิงคาลกมาณพเป็นบุตรของคหบดีมหาศาลผู้หนึ่งในกรุงราชคฤห์ คหบดีอันเป็นบุพการีนั้น นับถือศาสนาพุทธและเป็นพระโสดาบัน เพียรแนะนำผู้เป็นบุตรให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระเถระอื่นๆ เพื่อปลูกฝังศรัทธาในพระศาสนา แต่สิงคาลกมาณพมักบ่ายเบี่ยง เลี่ยงไปโดยว่าตนไม่มีกิจต้องไปหาสมณะนั้น การเข้าหาสมณะจะต้องไหว้ การน้อมตัวลงไหว้ ทำให้เจ็บหลัง ทั้งการนั่งคุกเข่าก็ทำให้เจ็บเข่า อีกการนั่งกับพื้น ทำให้เสื้อผ้าเก่า เศร้าหมอง รวมไปถึงการนั่งใกล้ทำให้ต้องสนทนากัน อันนำไปสู่ความสนิทสนม ทำให้ต้องสละทรัพย์เพื่อบำรุงสงฆ์ อันทำให้ต้องสิ้นเปลือง
ด้วยเหตุนี้ คหบดี จึงเลิกแนะนำ ต่อมาบิดาป่วย ก่อนตาย ได้สั่งสิงคาลกมาณพว่าให้หมั่นไหว้ทิศ โดยหวังว่าสิงคาลกะมาณพคงไหว้แบบบุคคลทั่วไปด้วยไม่เข้าใจความหมาย เมื่อพระพุทธเจ้า หรือพระเถระรูปใดมาเห็นเข้า คงแนะนำให้เขาเข้าใจตามเจตนาของตนได้
เช้าตรู่ของวันที่ทรงแสดงพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมู่สัตว์ที่ควรโปรด ทรงเห็นอุปนิสัยของสิงคาลกะมาณพ จึงเสด็จมาแสดงธรรมเทศนา ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามความมุ่งหมายของคหบดีผู้บิดา ยังทรงหมายให้เป็น คิหิวินัย คือข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ในสังคมชาวพุทธสืบไปอีกด้วย
เนื้อหาของพระสูตร พอจะแยกเป็น 3 ส่วนได้คือ
1การละเว้นความชั่ว ชำระกายใจให้สะอาดประดุจการอาบน้ำ โดยการละสิ่งชั่วร้าย 14 ประการ คือ
- กรรมกิเลส 4 (การเบียดเบียนร่างกายและชีวิตผู้อื่น,การลักทรัพย์,การประพฤติผิดในกาม,การพูดเท็จ)
-อคติ 4 (การลำเอียงเพราะชอบ,การลำเอียงเพราะชัง,การลำเอียงเพราะเขลา,การลำเอียงเพราะกลัว ทั้งนี้เพื่อให้ดำรงอยู่ในธรรม มีความเที่ยงธรรม)
- อบายมุข 6 (การเป็นนักเลงสุรา,การเป็นนักเที่ยว,การเป็นนักหมกมุ่นในการบันเทิง, การเป็นนักพนัน, การคบคนชั่วเป็นมิตร, การเกียจคร้านการงาน)
2เปิดโอกาสให้ตนเองได้รับสิ่งดีๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ที่ยิ่งขึ้น และรักษาสิ่งดีๆที่ได้นั้นไว้ อันประกอบด้วยการเลือกคบมิตร (พระพุทธองค์ให้ความสำคัญกับมิตรมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงชี้ให้เห็นว่า กัลยาณมิตร เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เป็นต้น แต่ไม่ใช่ไม่คบคนชั่วเสียเลย เพราะทรงมีคำสอนที่ว่า ไม่ให้คบคนชั่ว เว้นแต่จะช่วยเหลือเขา ซึ่งหากเรามีการชำระล้างกายให้สะอาด เที่ยงธรรม ตามขั้นที่ 1 สร้างสิ่งดีๆตามธรรมและรักษาสิ่งดีๆนั้นไว้ได้แล้ว ก็ย่อมเข้มแข็งพอที่จะช่วยผู้อื่นได้)
ประกอบอาชีพสุจริตเพื่อให้ได้โภคทรัพย์สำหรับการดำรงชีวิต แล้วพึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน คือส่วนหนึ่งใช้สอย 2 ส่วนใช้ประกอบการงานส่วนที่ 4 เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย
3ปฏิบัติหน้าที่ที่มีต่อบุคคลรอบข้าง และสังคม อย่างไม่บกพร่อง เพื่ออยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข และเพื่อพัฒนาตน พัฒนาจิต ให้ยิ่งๆขึ้นไป
การเปรียบบุคคลรอบข้างดุจทิศทั้ง 6 นั้นคนอินเดียบัญญัติทิศโดยยึดทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นหลัก เมื่อหันหน้าไปทางทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น ทิศนั้นก็เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนั้น ทิศเบื้องหน้าในพระสูตรนี้จึงหมายถึงทิศตะวันออก (ปุรัตถิมทิศ คือทิศบูรพา)
บุคคลที่มาก่อนเราคือพ่อแม่ ดังนั้น ทิศตะวันออกจึงเป็นทิศของพ่อแม่ และเนื่องจากบุคคลหรือสิ่งของที่เคารพ มักจะไว้ทางขวา ดังนั้นเมื่อยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขวามือจึงเป็นทิศใต้ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ที่เราเคารพ จึงให้ทิศใต้เป็นทิศของครูอาจารย์
ทิศเบื้องหลัง คือบุตรภรรยา ทิศเบื้องซ้าย คือมิตรสหายผู้ร่วมงาน ทิศเบื้อล่าง คือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และทิศเบื้องบน คือสมณะ
ทุกทิศต้องรู้จักปฏิบัติหน้าที่ที่มีต่ออย่างเหมาะสม นอกจากบุคคลใกล้ชิดเราแล้ว เรายังอยู่ในสังคม จึงต้องมีการปฏิบัติตนเพื่ออยู่อย่างเป็นสุข และเกื้อกูลสังคมด้วย ซึ่งได้ตรัสหลักสังคหวัตถุ 4 อันประกอบด้วยทาน (การให้ปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) ,ปิยวาจา (การใช้วาจาสุภาพ บอกสิ่งที่มีประโยชน์ต่อกัน), อัตถจริยา (การบำเพ็ญประโยชน์), สมานัตตา (การเอาตัวเข้าสมาน ร่วมทุกข์ร่วมสุข ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค เสมอต้นเสมอปลาย)
เมื่อบุคคลปฏิบัติตามพระสูตรนี้แล้ว เท่ากับปฏิบัติหน้าที่โดยเกิดผลดีทั้งต่อตนเอง และ ต่อผู้อื่น นำมาซึ่งทั้งประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ประโยชน์เลยตาเห็น (สัมปรายิกัตถะ) และอาจเลยไปถึงประโยชน์สูงสุด (ปรมัตถะ) ได้ในที่สุด...
จากคุณ |
:
นัยนะ
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ก.ค. 55 11:38:53
|
|
|
|
 |