|
ความคิดเห็นที่ 69 #68 1. คำถามความเห็นว่า ธรรม 2 อย่างในข้อ 383 ทำไมจึงมาคู่กัน? [๓๘๓] ธรรม ๒ อย่างที่เป็นไปในส่วนข้างวิเศษเป็นไฉน คือความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ --> เพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้สั่งสอน อีกฝ่ายเป็นผู้รับฟังอย่างว่าง่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นมิตรที่ดีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง การมีมิตรดีคอยช่วยเหลือ แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องถือว่าโชคดีมาก ยิ่งถ้าเราเป็นคนว่าง่าย อดทนต่อคำตักเตือน สั่งสอน และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้มีคุณธรรมนั้น ด้วยความเคารพอ่อนน้อม จะส่งผลให้ชีวิตของเราเจริญก้าวหน้า ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตวฺา ภเชยฺยฺตุตมปุคุคเล โอวาเท จสฺส ติฏเฐยฺย ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย พึงคบบุรุษผู้สูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน (สำหรับลิงค์ หาในพระไตรปิฎกยังไม่พบค่ะ)
ตอบได้ดีครับ ข้อนี้ขอเสริมว่า เพราะว่าหากไม่เป็นผู้ว่าง่าย คือเป็นผู้ว่ายาก เมื่อสัตบุรุษผู้เป็นมิตรทำการตักเตือนแล้ว ผู้นั้นไม่เชื่อฟัง เพราะความเป็นผู้ว่ายาก ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากการตักเตือนของสัตบุรุษผู้เป็นมิตร. ดังนั้น ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑ จึงมาคู่กัน เหมือนทรัพย์ใดๆ ควรประกอบพร้อมด้วยการรู้จักใช้รู้จักรักษาทรัพย์นั้นๆ. สำหรับลิงค์ที่หาไม่พบนั้น คือลิงค์นี้ วิมลเถรคาถา ว่าด้วยสุภาษิตสอนการคบมิตร http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=26&item=322&Roman=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=6171&Z=6190 http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=322 ------------------------------------------------------------------------
2. หากให้เทียบเคียงความหมายของอตีตังสญาณและอนาคตังสญาณ กับอัตถปฏิสัมภิทาและธัมมปฏิสัมภิทาในหมวดปฏิสัมภิทา 4 ขอให้จัดหมวดหมู่ในข้อที่ความหมายใกล้เคียงกันว่า ข้อใดเข้ากันได้กับข้อใด ปฏิสัมภิทา ๔ ๑. อัตถปฏิสัมภิทา เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล << อนาคตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้อนาคต) ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา เห็นผลอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ << อตีตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้อดีต) ถูกต้องครับ ------------------------------------------------------------------------
3. ขอให้บรรยายเนื้อความของธรรมกระทำที่พึ่ง 10 อย่าง พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบด้วย โดยสมมติตนเองว่า ได้รับการขอร้อง ให้ช่วยเรียบเรียงคำบรรบายเรื่องนี้ เพื่อใช้บรรยายนานประมาณ 15-20 นาที. ธรรม ๑๐ อย่างที่มีอุปการะมาก หรือนาถกรณธรรม มี ๑๐ ประการ เหตุที่เรียกว่ามีอุปการะมากหรือพหุการธรรม เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณธรรม ต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวาง นาถกรณธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นที่พึ่งของคนในโลกนี้ อันเป็นหลักการสำคัญของ การครองชีวิตตามหลักของ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ๑. ศีล คือการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย การรักษาศีลนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว ยังเป็นการไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย ระดับฆราวาส สามารถสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ได้
ถูกต้องครับ ควรบรรยายอานิสงส์ของศีลไว้ด้วย เช่น ผู้มีศีลย่อมไม่เดือดเนื้อร้อนใจ อันมีการทุศีลเป็นเหตุ, เมื่อไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ย่อมได้ความสงบ พอที่จะบำเพ็ญกุศลธรรมอื่นๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปได้, ผู้มีศีลย่อมเป็นที่รักของผู้มีศีล ไม่เป็นที่น่ารังเกียจของผู้มีศีล โดยความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน [สีลสามัญญตา] ผู้มีศีล หากแม้ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป ตายลงไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ อันพอสามารถฝึกฝนต่อไปได้. กล่าวได้ว่า ผู้มีศีล แม้ในปัจจุบันก็ไม่เดือดร้อน ทั้งยังหวังได้ว่า อาจสามารถบรรลุคุณวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป หากไม่บรรลุในปัจจุบัน ก็ยังได้โอกาส ฝึกฝนต่อไปในอนาคต. กิมัตถิยสูตร http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=24&A=1 โทษแห่งศีลวิบัติของคนทุศีล และอานิสงส์แห่งศีลสมบัติของคนมีศีล http://84000.org/tipitaka/read/?10/79-80 อากังเขยยสูตร http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=1024&Z=1135
๒. พาหุสัจจะ คือเป็นผู้ได้ยิน ได้ฟัง รู้เห็นมาก เรียกบุคคลผู้มีภาวะอย่างนี้ว่า เป็นหพูสูต พาหุสัจจะประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก เจนใจ ขบได้ด้วยทฤษฎี หัวใจนักปราชญ์คือ "สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถัง โส ปํณฑิโต ภเว" แปลว่าผู้ปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร สุ ย่อมาจาก สุตะ แปลว่า ฟัง จิ ย่อมาจาก จินตะ แปลว่า คิด ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา แปลว่า ถาม ลิ ย่อมาจาก ลิขิต แปลว่า จด ถูกต้องครับ ควรบรรยายผลดีของความเป็นผู้สดับมากไว้ด้วย เช่น ผู้ได้ฟังธรรมมามาก ทรงจำได้มาก เมื่อได้ยินคำกล่าวของผู้ใดก็ตาม ก็สามารถนำพระธรรมที่ตนได้ฟังมามาก เป็นเครื่องพิจารณาว่า สิ่งที่ผู้นั้นกล่าวมา ควรถือไว้เพราะกล่าวถูกต้อง หรือควรทิ้งไปเสีย เพราะกล่าวผิด. แม้เมื่ออยู่ผู้เดียว ก็สามารถตรึกตรองใคร่ครวญพระธรรมที่ได้สดับมามาก ก็อาจสามารถหลุดพ้นได้ การตรึกตรองใคร่ครวญพระธรรมที่ได้สดับมามากนั้นเอง เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔. วิมุตติสูตร http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=461
๓. กัลยาณมิตตตา คือเป็นผู้มีเพื่อนดีงาม พระผู้มีพระภาคตรัสความสำคัญของผู้มีมิตรดีว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น คือสามารถทำให้อริยมรรคสมบูรณ์ได้ ถูกต้องครับ แต่ว่าคำบรรยายนี้เข้าใจได้ยาก ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ย่อมทำให้ได้โอกาสฟังสิ่งที่ดี ได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติที่ได้ดี ได้รับการตักเตือนที่ดี เมื่อเกิดความสงสัยในข้อธรรม ก็สามารถไต่ถามจากมิตรดีอันบรรเทาความสงสัยเสียได้. ดังนั้น ความเป็นผู้มีมิตรดี ย่อมสามารถทำกุศลธรรมทั้งปวงให้สมบูรณ์ได้.
คำว่า กัลยาณมิตรธรรม http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กัลยาณมิต#find2
๔. โสวจัสสตา คือเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย คนเป็นอัมพาต แม้จะมีของดีวางอยู่รอบตัว ก็ไม่อาจหยิบฉวยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ฉันใด คนหัวดื้อว่ายาก แม้จะมีครูอาจารย์ดีวิเศษแค่ไหน ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเอาวิชาและคุณความดีมาใส่ตัวฉันนั้น คนว่าง่าย คือ คนที่อดทนต่อคำสั่งสอนได้ เมื่อมีผู้รู้แนะนำพร่ำสอนให้ ตักเตือนให้โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมปฏิบัติตามคำสอนนั้นโดยความเคารพนอบน้อม ไม่คัดค้าน ไม่โต้ตอบไม่แก้ตัวด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ถูกต้องครับ ขอแก้เล็กน้อยว่า ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเอาวิชาและคุณความดีมาใส่ตัวฉันนั้น ควรแก้เป็น ก็ไม่สามารถรับเอาวิชาและคุณความดีมาใส่ตัวฉันนั้น
๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา คือขยันเอาใจใส่ช่วยกิจผู้อื่น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจกันของคนในสังคมนั้น นอกจากจะทำให้สังคมของเรา น่าอยู่แล้ว ยังจะช่วยให้ชีวิตของเราโปร่งโล่งเบาสบายขึ้นอีกด้วย ถูกต้องครับ ข้อนี้น่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของเพื่อนๆ ได้ กล่าวคือ อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ คำว่า อัตถจริยา http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อัตถจริยา&detail=on
๖. ธัมมกามตา คือใคร่ในธรรม ธรรมะกาโม พวังโหติ ผู้มีความใคร่ในธรรม เป็นผู้เจริญ เป็นคุณสมบัติที่ควรถือเป็นแบบอย่างข้อหนึ่งในพระนาคเสน เพราะท่านมีฉันทะใคร่รู้ใคร่ศึกษา เริ่มตั้งแต่เรียนจบคัมภีร์ไตรเพทของศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วพิจารณาเห็นว่า เป็นเหมือนลอมฟาง ว่างเปล่าไม่มีแก่นสาร เมื่อบวชในพุทธศาสนาแล้วได้ศึกษาพระอภิธรรมจากพระโรหณะ จนเชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ทั้งยังศึกษาพระพุทธวจนะ (พระไตรปิฎก) ในสำนักของพระธรรมรักขิต โดยใช้เวลาไม่นานก็เรียนจบพระไตรปิฎก ซึ่งความสำเร็จ ทั้งหมดนี้เป็นผลเนื่องมาจากความเป็นผู้ใฝ่รู้นั่นเอง. ขอเสริมดังนี้ :- ธัมมกามตา คือใคร่ในธรรม ย่อมขวนขวายศึกษาพระธรรม ย่อมขวนขวายในข้อปฏิบัติ อันให้ถึงความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปได้ ย่อมประพฤติในแนวทางอันให้ถึงความเจริญ กล่าวคือ ย่อมใฝ่รู้ ใฝ่ดี เมื่อใฝ่รู้ใฝ่ดี ย่อมดำเนินไปในทางที่ดี ย่อมดำเนินไปทางของผู้รู้.
๗. วิริยะ คือเพียรละความชั่ว ประพฤติความดี เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลย เป็นพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ขอเสริมดังนี้ :- ความเพียรนั้นเป็นข้อสำคัญ หากแม้รู้อยู่ว่า ความชั่วควรละ ความดีควรเจริญ แต่ทอดธุระในการเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเสีย ย่อมไม่สามารถละความชั่ว เจริญความดีได้.
๘. สันโดษ คือพอใจในเครื่องบริโภค อุปโภคเท่าที่ตนสามารถหามาได้ ความสันโดษ เป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิต การรับและการได้มาหากไม่มีสติก็อาจลุ่มหลง ไปตามอำนาจของความโลภอย่างไม่มีขอบเขต ความรู้จักพอก่อสุขทุกสถาน จึงเป็นคำเตือนสติให้ตนรู้จักความสุขที่แท้จริง ดังคำพูดที่ว่า คนที่รวยที่สุดคือ คนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี และ คนที่จนที่สุดคือ คนที่ไม่รู้จักพอ. ขอเสริมดังนี้ :- คำพูดที่ว่านั้น น่าจะมาจากพระพุทธพจน์ที่ว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=25&item=25&Roman=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=25&A=799&w=ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง
๙. สติ คือการระลึกจำได้ถึงการที่ทำ คำที่พูดมาแล้ว สติ เป็นคุณธรรมที่เกิดเองไม่ได้ ต้องทำให้เกิดขึ้นด้วยการฝึกฝนรวบรวมจิตใจให้นิ่งแน่ว ด้วยวิธีต่างๆ เช่นการเจริญวิปัสสนาคือการฝึกตามมหาสติปัฏฐานสูตร ทำสมาธิ สวดมนต์ ภาวนาคือให้มีความรู้สึกตัวผ่านอายตนะทั้ง ๖ สติใช้เพื่อที่จะรู้เท่าทันในสังขาร 3 - รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหว(กายสังขาร) ในอันที่จะการสร้างกรรมใดๆ นั่นคือศีล - รู้เท่าทันในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต(จิตสังขาร) จนจิตเป็นอิสระจากอารมณ์ นี่คือสมาธิ - รู้เท่าทันความคิดทั้งหลาย(วจีสังขาร) ว่าความคิดเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่(โยนิโสมนสิการ) นี้คือปัญญา
ขอยกเนื้อความในข้อนี้มาแสดงก่อน ดังนี้ :- อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตน อย่างยอดเยี่ยม แม้สิ่งที่ทำแล้วนาน แม้คำที่พูดแล้วนาน ก็นึกได้ระลึกได้ ผู้มี อายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตน อย่างยอดเยี่ยม แม้สิ่งที่ทำแล้วนาน แม้คำที่พูดแล้วนาน ก็นึกได้ระลึกได้ นี้ก็ เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง ฯ http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=11&A=7016#466 9. สติ ความมีสติ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำคำที่พูดไว้ได้ ไม่มีความประมาท http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นาถกรณธรรม_10
การบรรยายข้อนี้ แทบไม่เห็นโครงเค้าเดิมเลย. ควรแสดงคุณของการระลึกได้ถึงสิ่งที่ทำแล้ว คำที่พูดแล้ว แม้นานได้. เช่น เคยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เคยพูดสิ่งนั้นสิ่งนี้ หากระลึกไม่ได้ ย่อมกลายเป็น คนสติเสื่อม แต่หากระลึกได้ ก็สามารถยืนยัน ทบทวน เพ่งพิจารณาสิ่งเหล่านั้นได้. และแม้สิ่งที่เคยคิด สิ่งที่เคยเล่าเรียน หากระลึกไม่ได้ ก็ไม่อาจสามารถ นำสิ่งที่เล่าเรียนมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หากระลึกได้ ก็สามารถได้ประโยชน์จาก สิ่งที่เล่าเรียนมาได้.
๑๐. ปัญญา คือความรอบรู้ในความคิดนึก ปรุงแต่งในจิตตามความเป็นจริง ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย ปัญญา ทำให้เกิดได้ 3 วิธี คือ - โดยการสดับตรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน (สุตมยปัญญา) - โดยการคิดค้น การตรึกตรอง (จินตามยปัญญา) - โดยการอบรมจิต การเจริญภาวนา (ภาวนามยปัญญา) ปัญญาที่เป็นระดับ อธิปัญญา คือปัญญาอย่างสูง จัดเป็นสิกขาข้อหนึ่งใน สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา.
ตอบว่า ข้อนี้การเรียงลำดับปัญญา 3 ผิดพลาดไป ควรเรียงลำดับให้ถูกต้อง เพราะมีผลต่อการจัดลำดับความสำคัญได้. คำว่า ปัญญา 3 http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปัญญา_3 ขยายความ ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, ย่อมทำให้อาจสามารถระงับเหตุ อันเป็นปัจจัยแก่ผลอันเป็นทุกข์ ย่อมทำให้อาจสามารถส่งเสริมเหตุหรือปัจจัย อันอำนวยผลเป็นสุข. รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, ย่อมรู้ว่าบาปเป็นโทษเพราะมีทุกข์เป็นผล เมื่อไม่ปรารถนาทุกข์ก็พึงเว้นบาป ย่อมรู้ว่าบุญเป็นคุณเพราะมีความสุขความเจริญเป็นผล เมื่อปรารถนาความสุข ความเจริญ พึงทำบุญอันอำนวยผลที่ปรารถนานั้น. รู้สิ่งที่ควรทำ ควรเว้น ย่อมรู้ว่ากุศลธรรมและสิ่งที่เอื้อแก่กุศลธรรม ควรทำควรเจริญ เช่น สุจริตหรือศีลเป็นกุศลธรรม จึงควรทำให้เจริญขึ้น, การฟังธรรม การคบมิตรดี เป็นต้นเป็นกุศลธรรมและหรือเอื้อแก่กุศลธรรม จึงควรทำ. ย่อมรู้ว่าอกุศลธรรมหรือบาปธรรมและสิ่งที่เอื้อแก่อกุศลธรรม ควรเว้น เช่น ทุจริตหรือการล่วงศีลเป็นอกุศลธรรม ควรเว้น, การคบคนชั่วเป็นมิตร ความเกียจคร้านในการฟังธรรม หรือความเกียจคร้านในการศึกษาพระธรรม เอื้อต่ออกุศลธรรม จึงควรเว้น.
คำบรรยายนี้โดยรวมๆ ก็นับว่า พอใช้ได้. ควรปรับในส่วนของการอยู่ในประเด็นหรือโครงเค้าของข้อธรรม, ความถูกต้องของข้อมูล เช่นการเรียงลำดับข้อธรรมเป็นต้น.
แก้ไขเมื่อ 02 ต.ค. 55 15:04:34
จากคุณ |
:
ฐานาฐานะ
|
เขียนเมื่อ |
:
2 ต.ค. 55 14:39:08
|
|
|
|
|