Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วันนี้คุณมี"กระปุกออมบุญ"ไว้ในบ้านแล้วหรือยัง!?! อยากรู้ว่ากระปุกออมบุญเป็นอย่างไรลองคลิ๊กอ่านกันดูนะคะ น่ามีไว้มากๆค่ะ [ย้ายจาก : ] [ย้ายจาก : ข่าวประชาสัมพันธ์] ติดต่อทีมงาน

"การทำทานเป็นการทำกุศลอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในหลักศาสนาพุทธ
เพราะอานิสงส์ของการทำทานนั้น นอกจากจะเป็นไปเพื่อความมั่งมีศรีสุขในปัจจุบันชาติ และอนาคตชาติแล้ว
การทำทานยังเป็นอุบายอย่างหนึ่งในการช่วยให้เรารู้จักละวางสิ่งที่มีอยู่ในชีวิต
ยิ่งละวางได้มากเท่าไหร่ จิตใจก็จะยิ่งเบาสบายมากขึ้นเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ถ้าจะให้ดียิ่งไปอีก เราควรหาวิธีที่จะทำให้การทำทานเป็นเรื่องสนุก เบิกบานใจ ไม่น่าเบื่อ
ทำทานอย่างไรจึงไม่สร้างความทุกข์ใจให้ตนเอง ทำทานแบบไหนจึงเรียกได้ว่า "บุญเป็นบุญ"
นอกจากต้องคิดวิธีที่ทำให้การทำทานเป็นเรื่องสนุกแล้ว เรายังต้องทำให้การทำทานเป็นเรื่องที่ง่ายด้วย
อยู่ตรงไหน ที่ไหนก็ทำได้ ไม่ต้องหิ้วสังขารไปที่วัดก็ทำได้ การทำทานควรเป็นเรื่องที่ง่าย สะดวก และสนุก
ด้วยความคิดเช่นนี้เองจึงเป็นมาของ การทำทานแบบง่ายๆ แต่ได้อานิสงส์สูงด้วย "กระปุกออมบุญ"
กรรมวิธีของการทำทานด้วยกระปุกออมบุญที่ว่า ก็ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด สามารถทำได้ตามลำดับดังนี้
๑. ซื้อกระปุกออมสินมาหนึ่งอัน
๒. อธิษฐานจิตว่า "เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หยอด จะนำไปทำบุญเท่านั้น"
๓. จากนั้นก็หยอกกระปุกทุกวันโดยนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา
ตรงนี้ก็เท่ากับว่าเราได้ทำบุญทุกวันโดยไม่ต้องไปวัด หรือที่อื่น ทำที่บ้านได้เลย
เป็นการน้อมจิตให้เป็นกุศล จิตใจก็จะเบาสบายทุกวัน มีเมตตามากขึ้น
๔. เมื่อมีโอกาสทำบุญ จะเป็นการใส่บาตรก็ดี ถวายสังฆทานก็ดี ใส่ซองทำบุญก็ดี
ทำบุญกับโรงพยาบาล สถานเด็กกำพร้า หรือไปเที่ยววัดก็ดี
ให้นำเงินที่เราหยอดกระปุกไว้ไปทำได้เลย เพราะตรงนี้เราเตรียมไว้เพื่อทำบุญอยู่แล้ว
คราวนี้จะรู้สึกดีเวลาทำบุญเพราะไม่เกิดความเสียดายเงิน ทำด้วยความสุข ด้วยเจตนาที่ดี
ใจเบาสบาย สนุกกับการทำบุญ มีความอยากทำบุญเพิ่มขึ้น
๕. เมื่อได้เงินมาจากการทำงานทุกครั้ง ส่วนหนึ่งก็กันไว้สำหรับหยอดกระปุก
จะหยอดไปเท่าไหร่ก็ได้ นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่ขอให้กันเงินส่วนหนึ่งใส่ลงไปเพื่อแสดงเจตนาดีๆของเรา
ที่ต้องการสละความยึดมั่นถือมั่นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
จึงเท่ากับว่า การงานใดๆของเราก็ตาม เงินส่วนหนึ่งจะนำเข้าส่วนรวม เข้าศาสนา
ถือว่าเป็นเงินที่เข้ามาช่วยค้ำจุนศาสนา งานของเราจึงเป็นงานที่มีความเป็นมงคล
และเท่ากับเราได้ทำงานให้ศาสนาด้วย
๖. การทำอะไรบ่อยๆ ถือเป็นอาจิณกรรม คือกรรมที่ส่งผลต่อเรามาก
เพราะเป็นกรรมที่ย้ำซ้ำๆ การทำเช่นนี้จึงเท่ากับเราได้สร้างอาจิณกรรมในด้านดีไว้กับตนเอง
เพราะจิตจะเป็นกุศลทุกวัน พูดง่ายๆว่า เราได้ทำบุญเป็นปกติ
๗. การอธิษฐาน จะอธิษฐานให้พ่อแม่ ผู้มีพระคุณ หรือเจ้ากรรมนายเวร
หรือผู้ที่เราต้องการแผ่บุญกุศลไปให้ด้วยก็ได้
อันนี้ก็จะได้ประโยชน์ในแง่ความกตัญญูรู้คุณคนด้วย เป็นการยกระดับจิตใจไปอีกทาง
๘. ถ้าหาพระพุทธองค์เล็กๆมาตั้งไว้ตรงกระปุกด้วย ก็จะเป็นการเสริมกำลังใจอีกแรง
ว่าเราได้ทำบุญต่อหน้าพระพุทธเจ้าทุกวัน ถือเป็นพุทธานุสติ และจาคานุสติ
เป็นการตัดความโลภและเสริมสร้างสัมมาทิฐิของตนได้เป็นอย่างดี
๙. ถ้ากระทำทุกวันก็มีความรู้สึกว่า ตนมีจิตใจที่ดีขึ้น เกิดกำลังใจอยากเป็นคนดี
อยากมีศีลมีธรรม อยากเสียสละ จิตใจจะสูงขึ้นทีละน้อย ส่งผลดีต่อการปฏิบัติธรรมในภาพรวมทั้งสมถะและวิปัสสนา
๑๐. การทำบุญวิธีนี้เท่ากับได้กุศลถึงสองครั้ง คือครั้งแรกในเวลาที่เราหยอดกระปุก
และอีกครั้งคือในเวลาที่เรานำเงินไปบริจาค หรือทำบุญจริง
แต่นั่นยังไม่เท่ากับว่า เราได้ฝังจิตอยู่ในสิ่งที่เป็นมงคล ซึ่งจะทำให้ใจโปร่งโล่งสบาย
ความเป็นกุศลนั้นสำคัญที่จิต ถ้าจิตเป็นกุศลแม้จะกระทำเพียงครั้งเดียว กุศลที่ได้ก็จะไม่จำกัด
เหมือนว่ามีกระดาษต้นฉบับอยู่แผ่นเดียวแต่เราสามารถถ่ายเอกสารได้หลายชุด

วิธีการการออมเงินกับกระปุกออมบุญทั้ง 10 ข้อนี้
ใครทำแล้วรู้สึกดี มีความสุข อยากบอกต่อ
ก็นำสามารถวิธีนี้ไปแนะนำกัลยาณมิตรท่านอื่นๆให้ปฏิบัติตามได้ตามใจชอบ
แต่ข้อสำคัญที่สุดของการทำบุญอีกอย่างที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือ
เราต้องท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า อย่าทำบุญเพราะอยากรวย
ให้ทำบุญเพื่อฝึกตนให้รู้จักสละละวาง
วางได้น้อย ย่อมสุขน้อย
วางได้มาก ย่อมสุขมาก
วางได้ทั้งหมดก็ย่อมบรรลุอรหันต์ พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง

ป.ล. วิธีนี้ ถ้านำกระปุกออมบุญไปตั้งไว้ที่บ้าน เช่นห้องรับแขก
คนในครอบครัวก็จะมีโอกาสได้ทำบุญทุกวันไปด้วย
บางครอบครัวมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย วิธีนี้เหมาะมาก
เพราะทำให้ท่านเหล่านั้นได้ทำบุญทุกวัน
จิตใจของท่านก็จะเบาสบายจับอยู่กับบุญกุศล
ซึ่งมีผลเป็นอย่างมากต่อสุขคติภูมิในภายภาคหน้า"

ที่มาจาก คอลัมน์'เรื่องจากปก'วารสาร'บ้านอารีย์'ฉบับเดือนกรกฎาคม๒๕๕๕
เขียนโดย พศิน อินทรวงค์  http://www.facebook.com/Talktopasin
เจ้าของผลงานหนังสือ"สมถะเท้าขวา วิปัสสนาเท้าซ้าย"
และ"พระพุทธเจ้าสอนเศรษฐี"

แก้ไขเมื่อ 29 ก.ค. 55 16:11:34

 
 

จากคุณ : ธิลักษ์
เขียนเมื่อ : 29 ก.ค. 55 07:22:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com