Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
มัชฌิมาปฏิปทาที่แท้จริง!!! ติดต่อทีมงาน

  ไม่เคร่งครัดในศีล (1 คน)
  รักษาศีล พูดดี คิดดี ทำดี (5 คน)
  ไม่ทำผิดศีลอยากคิดอะไรก็คิด (0 คน)
  ชอบดูถูกผู้อื่นเสมอ (0 คน)
  ด่าผู้อื่นประจำ (0 คน)
  ยกตนข่มท่าน (0 คน)
  ชอบพูดโกหก (0 คน)
  เครียดเสมอ (0 คน)

 16.67%
  ไม่เคร่งครัดในศีล (1 คน)
 83.33%
  รักษาศีล พูดดี คิดดี ทำดี (5 คน)
 0.00%
  ไม่ทำผิดศีลอยากคิดอะไรก็คิด (0 คน)
 0.00%
  ชอบดูถูกผู้อื่นเสมอ (0 คน)
 0.00%
  ด่าผู้อื่นประจำ (0 คน)
 0.00%
  ยกตนข่มท่าน (0 คน)
 0.00%
  ชอบพูดโกหก (0 คน)
 0.00%
  เครียดเสมอ (0 คน)

จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 6 คน


ในฐานะที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชน       ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นและสำรวจดูว่าท่านมีคุณสมบัติ   ข้อไหนในนี้บ้างพร้อมทั้งเลือก    ข้อที่ท่านเห็นว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา   ที่แท้จริง(ทางสายกลาง)    
   
      ขออธิบายสักหน่อยว่าคำว่าทางสายกลางที่แท้จริงนั้น     หมายถึงการไม่มีกาย  วาจา  ใจ  ที่เคร่งเครียดเกินไป    เช่นการทรมานร่างกายของ  โยคีสมัยโบราณ   รวมไปถึงทรมานจิตใจด้วย    แต่ยกเว้น  กรณีของการทำความเพียรของพระป่ากรรมฐาน    ที่ท่านงดฉันอาหารเพื่อทำความเพียรในใจ 1 วันบ้าง  2  วันบ้าง  หรือหลายๆวันบ้าง  บางท่านงดฉันได้หลายวันแต่ท่านอยู่ได้ยิ้มได้เพราะจิตใจท่านไม่เครียด    ท่านอาศัยปีติที่เกิดจากสมาธิเป็นอาหารแทน  หรือที่เรียกกันว่า  "เสพปีติเป็นอาหาร"    ดังที่พระเจ้าพิมพิสารเคยทำในอดีตดังเรื่องข้างล่างนี้
                 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙    

 ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร

อชาตศัตรูราชกุมารทรงกระทำปิตุฆาต

   พระเทวทัตได้หมั่นไปเฝ้าอชาตศัตรูราชกุมาร   แล้วถวายคำแนะนำยุยงเนืองๆว่า สมัยก่อนคนเราอายุยืน  แต่สมัยนี้คนอายุสั้น ด้วยเหตุนี้อชาตศัตรูราชกุมารอาจจะสิ้นพระชนม์เสียก่อนที่ได้ขึ้นครองราชย์ก็ได้   ดังนั้นพระองค์จึงน่าจะปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วยึดครองราชสมบัติเสีย  ส่วนตนเองก็จะปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วปกครองสงฆ์แทนเสียเอง

  ด้วยเหตุที่อชาตศัตรูราชกุมาร ทรงหลงเลื่อมใสพระเทวทัตมากมายเพียงไรก็ตามแต่ด้วยความผูกพันเกรงกลัวในฐานะพระโอรสที่ทรงมีต่อพระราชบิดา อชาตศัตรูราชกุมารก็ไม่อาจ สะกดความหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวไว้ได้ ทรงส่ออาการเป็นพิรุธ ครั้นเมื่อถูกเหล่ามหาอำมาตย์จับได้ อชาตศัตรูราชกุมารจึงทรงสารภาพความจริงว่า ทรงประสงค์จะปลงพระชนม์พระราชบิดาเพื่อราชสมบัติ ตามคำแนะนำของพระเทวทัต

  มหาอำมาตย์เหล่านั้นมีความเห็นแตกแยกออกเป็น 3 พวก คือ พวกที่หนึ่งเห็นว่า ควรปลงพระชนม์อชาตศัตรูราชกุมาร และฆ่าพระเทวทัตกับลูกศิษย์ทั้งหมดเสีย พวกที่สองเห็นว่าไม่ควรฆ่าพวกพระผู้ไม่มีส่วนร่วมกระทำผิด ควรฆ่าเฉพาะพระเทวทัตและปลงพระชนม์อชาตศัตรูราชกุมารก็พอ ส่วนพวกที่สามเห็นว่า ควรกราบทูลเรื่องทั้งหมดนี้ให้พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทราบและขอให้อยู่ในพระราชวินิจฉัยของพระองค์เอง ผลปรากฏว่า พวกที่สามเป็นฝ่ายชนะ จึงพากันนำอชาตศัตรูราชกุมารเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ

  พระเจ้าพิมพิสารแทนที่จะทรงพิโรธโกรธแค้น กลับทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสด้วยความเต็มพระทัยยิ่ง แล้วทรงมีรับสั่งให้ถอดยศมหาอำมาตย์พวกแรก ทรงให้ลดตำแหน่งมหาอำมาตย์พวกที่สอง และทรงเลื่อนตำแหน่ง พร้อมทั้งปูนบำเหน็จรางวัลให้มหาอำมาตย์พวกที่สามตามลำดับ อชาตศัตรูราชกุมารจึงขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระเจ้าอชาตศัตรูตั้งแต่นั้นมา

  การปฏิบัติของพระเจ้าพิมพิสารต่อมหาอำมาตย์ทั้ง 3 พวกนั้น ย่อมจะก่อให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจแก่มหาอำมาตย์พวกที่ 1 และ 2  อย่างแน่นอน ทั้งนี้ย่อมหมายความว่า ความแตกสามัคคีและความอาฆาตพยาบาท ระหว่างหมู่มหาอำมาตย์แห่งกรุงราชคฤห์กับพระราชาองค์ใหม่ ได้ฟักตัวขึ้นอย่างเงียบๆ รอเวลาที่จะปะทุขึ้นมาเท่านั้น
  แม้พระเจ้าอชาตศัตรูจะเป็นพระราชาผู้มีอำนาจเต็มที่แล้ว เรื่องก็ยังไม่ยุติเพียงเท่านั้น เพราะพระเทวทัตยังปลุกปั่นพระองค์ให้ทรงหวาดระแวงพระราชบิดาต่อไปอีกว่า หากปล่อยพระเจ้าพิมพิสารไว้ก็จะเป็นอันตรายต่อการครองราชบัลลังก์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้สั่งให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ด้วยการทรมานอย่างสุดแสนโหดร้ายทารุณ ครั้งนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูทรงสั่งให้ขังพระราชบิดาไว้ในห้องแล้วรมควัน สั่งห้ามส่งพระกระยาหารและห้ามเยี่ยมโดยเด็ดขาด แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันบุคคล ดังนั้นแม้จะขาดพระกระยาหาร ทั้งยังถูกรมด้วยควันไฟ ก็ยังสามารถดำรงพระชนม์ชีพอยู่ได้ โดยอาศัยปิติสุขอันเกิดจากมรรคผลด้วยวิธีเดินจงกรม มิหนำซ้ำพระวรกายยังเปล่งปลั่งยิ่งขึ้นอีกด้วย เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ช่างตัดผมเอามีดโกนกรีดฝ่าพระบาททั้งสองข้างของพระเจ้าพิมพิสารเอาน้ำมันผสมเกลือทา แล้วย่างด้วยถ่านไม้ตะเคียนที่กำลังคุแดงอีกต่อหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงเกิดทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าไม่นานนักก็สวรรคต  กล่าวกันว่า ในภพชาติหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารทรงลบหลู่ดูถูกพระรัตนตรัย ด้วยการทรงฉลองพระบาทเข้าไปยังลานพระเจดีย์ และเอาพระบาทที่เปรอะเปื้อนเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่งฟังธรรม บาปกรรมในครั้งนั้นรวมกับผลกรรมที่ทรงเคยก่อเวรปาณาติบาตจากการศึกสงครามในอดีตได้ตามมาสนองพระองค์ในที่สุด

  ในวันที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคต พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติ เมื่อได้ทรงทราบข่าวการประสูติของพระโอรสจากอำมาตย์ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงบังเกิดความรักพระโอรสอย่างลึกซึ้ง ทั้งทรงตระหนักในพระทัยว่า พระราชบิดาของพระองค์ก็ทรงมีความรักต่อพระองค์ไม่แตกต่างกับที่พระองค์ทรงมีต่อพระโอรส



  พระเจ้าอชาศัตรูทรงสำนึกในทันทีว่า พระองค์ได้ทำความผิดอย่างใหญ่หลวง จึงมีรับสั่งให้ปล่อยพระราชบิดา แต่อำมาตย์ได้ถวายรายงานว่า พระเจ้าพิมพิสารสวรรคต เสียแล้ว ข่าวนี้ทำให้พระเจ้าอชาตศรัตรูทรงทุกข์โทมนัสอย่างสุดซึ้ง ถึงกับทรงกันแสงคร่ำครวญ น้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์ขณะเสด็จไปเฝ้าพระราชมารดา

  หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตแล้ว พระนางเวเทหิ พระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นขนิษฐภคินของพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงรู้สึกอดสูเกินกว่าจะอยู่ร่วมกับพระราชโอรสอกตัญญู จึงเสด็จกลับไปประทับอย่างถาวร ณ กรุงสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล ต่อมาไม่นานก็สวรรคตด้วยความตรอมพระทัย

  เมื่อพระญาติและสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ทราบเรื่องความโหดร้ายทารุณและอกตัญญูของพระเจ้าอชาตศรัตรู  ต่างก็พากันเคียดแค้นเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับทรงกรีฑาทัพบุกยึดหมู่บ้านกาลิกคามของแคว้นมคธ ส่วนพระจัณฑปัชโชติแห่วแคว้นอวันตี ซึ่งเป็นแคว้นมหาอำนาจด้านตะวันตก ก็ทรงเตรียมทัพบุกมคธเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าอำมาตย์ราชบริพารยังแตกความสามัคคีกันอีกด้วย พระเจ้าอชาตศรัตรู  จึงต้องผจญศึกทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร

  นับแต่วันที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา  ครั้งใดที่พระเจ้าอชาตศรัตรูหลับพระเนตรลงด้วยความหวาดระแวงภัยทุกครั้ง พระองค์จึงไม่อาจบรรทมหลับได้เลยไม่ว่ากลางคืนหรือกลางวัน ได้แต่ประทับนั่งเพื่อบรรเท่าความง่วงเท่านั้น  



               ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือการย่อหย่อนในศีล   โดยส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า"อย่าไปเคร่งมากเอาแต่พอดีๆ"  เช่นการ  ผิดศีลในบางครั้ง  เช่น  ไม่ดื่มเหล้าแต่ดื่มเบียร์   พูดเล่นเสมอๆพอๆกับการพูดโกหก   ด่าผู้อืนเป็นประจำและยังชอบดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นด้วย    ลบหลู่คุณท่าน    ชอบคิดแต่เรื่องอกุศลเป็นประจำ   คนพวกนี้มักเข้าใจผิดโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า "นี่คือทางสายกลาง"      
และโจมตีผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่เสมอ   ว่าเป็นการเคร่งเครียดหรือสุดโต่งเกินไป    แต่แท้จริงแล้วควรที่จะพิจารณาที่สีหน้าแววตาและจริตของผู้ปฏิบัติเสียมากกว่าการกล่าวหากัน      เช่น   ประวัติของหลวงตามหาบัวตอนหนึ่งดังนี้

        คราวหนึ่งของการออกวิเวกในป่า ท่านไม่ออกฉันอาหารเป็นเวลาหลายต่อหลายวันเข้าจนเป็นที่ผิดสังเกตของชาวบ้านถึงขนาดหัวหน้าบ้านต้องตีเกราะประชุมลูกบ้านพากันไปดู ก็พบว่าท่านอยู่เป็นปกติ แต่ก็ดูซูบซีดผ่ายผอมมาก เหตุการณ์ตอนนี้ท่านเล่าว่า

"...กระทั่งชาวบ้านเขาแตกบ้านไปดู เรายังไม่รู้อีกว่าเจ้าของจะตาย แต่ชาวบ้านเขารู้ เขาตีเกราะประชุม เคาะ ก็อกๆ พวกลูกบ้านก็พากันมาประชุม

"ใครๆ ว่ายังไง ? ใครเห็นว่ายังไง ? พระองค์นี้ที่มาอยู่บ้านเราเวลานี้ มาได้หลายเดือนแล้วนะ พระองค์นี้มาอยู่ที่นี่ ตั้งแต่มาไม่ได้เห็นมาบิณฑบาต หกวันเจ็ดวันด้อมๆ มาสักวันแล้วหายเงียบ หายเงียบ หายมาอย่างนี้ตลอด

ท่านไม่ตายแล้วเหรอ ? พวกเรากินวันหนึ่งสามมื้อสี่มื้อยังทะเลาะกันได้ ทะเลาะเพราะไม่มีอาหารกิน มันกินข้าวเปล่าๆ ไม่ได้มันจะทะเลาะกัน แต่นี่ท่านไม่เห็นกินเลยนี่ ท่านไม่ตายแล้วเหรอ?"

ผู้ใหญ่บ้านถามลูกบ้าน "ถ้าท่านไม่ตาย ท่านไม่โมโหโทโสอยู่เหรอ ? ไปดูซิ เราก็ไม่เคยเห็นตั้งแต่เกิดมา พระไม่กินข้าว" เขาก็พูดขนาดนั้นละ

"เราก็ไม่เคยเห็นพระไม่กินข้าว เพิ่งเห็นนี่แหละ ลองไปถามท่านดูซิ แต่มีข้อแม้อันหนึ่งนะ" เขาก็ฉลาดพูดอยู่

"เวลาจะไปต้องระวังนะ พระองค์นี้ไม่ใช่พระธรรมดานะ พระองค์นี้เป็นมหานะ" เขาว่า "แล้วไปเดี๋ยวท่านจะเขกหน้าผากเอานะ ไปสู้ท่านไม่ได้ท่านจะเขกหน้าผากเอานะ ให้ระวังนะ ถ้าเป็นพระธรรมดาเราก็พอจะพูดอะไรต่ออะไรกันได้ นี่ท่านเป็นมหาเสียด้วย ท่านทำอย่างนั้นนี่นะ เราไปว่าสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะ เดี๋ยวท่านจะตีหน้าผากเอา"

เขาเตือนลูกบ้านเขา พอมาถึงเราก็เอาจริงๆ หลั่งไหลกันมานี่

"โอ้โฮ นี่มาอะไรนี่ จะมาแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองเหรอ ? อาตมาไม่ใช่พระเวสสันดรนะ"

"ไม่ใช่ๆ"

"อย่างนั้นมาอะไร ?"

เขาก็มาเล่าตามเรื่องนี่แหละ ให้ฟังมันก็มีอยู่ 2 จุด จุดหนึ่งว่า

"ท่านไม่ตายแล้วเหรอ ? ถ้าท่านไม่ตายท่านไม่โมโหโทโสอยู่เหรอ ?"

พอเขาพูดจบลง เราก็มีอยู่ 2 จุด เราก็ถาม

"แล้วเป็นยังไง ? ตายแล้วยังล่ะ"

"เอ๊ ก็ไม่เห็นท่านตาย ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ ไม่เห็นมีอะไรน่าตาย"

"แล้วเป็นยังไง โมโหโทโสอยู่ไหม ?"

"ก็ไม่เห็นท่านโมโหโทโส ท่านยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา"

"เอาละ ให้เข้าใจนะ การอดอาหารนี่อาตมาอดไม่ใช่เพื่อฆ่าตัวเองนะ อดเพื่อฆ่ากิเลสซึ่งมันฆ่ายาก กิเลสนี่มันอยู่ภายในหัวใจนี่ ต้องใช้การอดอาหารช่วย แล้วความโมโหโทโสก็เป็นกิเลส จะโมโหโทโสไปหาประโยชน์อะไร มีเท่านั้นเหรอ ?"

"มีเท่านั้นแหละ"

"ไป ไล่กลับ ยังไม่ถึง 10 นาทีนะ ไล่กลับ..."

มีครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการอดอาหารในระยะที่ท่านยังคงออกวิเวกบำเพ็ญเพียรอยู่คือในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีอุบาสกมาพูดอวดภูมิต่อท่าน อุบาสกผู้นี้เคยบวชเรียนมาก่อนหลายพรรษา และมีความรู้จบนักธรรมตรี จึงมีความคุ้นเคยกับชีวิตพระพอสมควร

แกเห็นท่านอดอาหารมาหลายวันแล้ว รู้สึกคัดค้านอยู่ในใจว่าไม่เห็นเป็นประโยชน์อันใด นอกเสียจากจะทำให้ทุกข์ยากลำบาก และเสียเวลาโดยเปล่าเท่านั้นเอง วันหนึ่งแกเลยยกเอาเรื่องในพุทธประวัติมาพูดกับท่านว่า

"ท่านจะอดทำไม ? ก็ทราบในพุทธประวัติว่า พระพุทธเจ้าอดข้าวตั้ง 49 วันก็ยังไม่ได้ตรัสรู้เลย แล้วท่านมาอดอะไร มันจะได้ตรัสรู้หรือ ?"

ในเรื่องนี้ท่านก็เคยรู้เคยศึกษาในตำรามาก่อนแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่หากเป็นไปเพื่อการโอ้อวด ท่านทรงปรับอาบัติทุกขณะการเคลื่อนไหว หรือการอดอย่างหาเหตุผลไม่ได้ คือสักแต่ว่าอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ฝึกฝนด้านจิตตภาวนาเลย อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด นอกเสียจากทำให้ทุกข์ยากลำบากเปล่าเท่านั้น

การอดอาหารของท่านมีความหมายตามตำราที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ด้วยเหตุผลคือท่านสังเกตพบว่าจริตนิสัยของท่านนั้นถูกกับการอดอาหาร เพราะช่วยให้การบำเพ็ญจิตตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ ท่านได้พิจารณาอย่างรอบคอบและเห็นผลประจักษ์กับตนเองเป็นลำดับไปเช่นนี้ ทำให้ท่านจึงยังมั่นคงที่จะใช้อุบายวิธีนี้เพื่อการภาวนา และถึงแม้จะมีผู้มาพูดคัดค้านต้านทานอย่างไร ก็ไม่ทำให้ท่านลังเลใจคิดเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้

ครั้นจะอธิบายเหตุผลให้เป็นที่เข้าใจ ก็ดูว่าเป็นเรื่องยืดยาวเสียเวลาโดยเปล่า เหตุนี้เองท่านจึงชอบที่จะตอบเป็นอุบายให้ได้นำไปคิดอ่าน สำหรับอุบาสกผู้นี้ก็เช่นกัน ท่านตอบกลับไปว่า

"แล้วโยนกินทุกวันเหรอ ?"

"กินทุกวันนะซิ ผมไม่อดหรอก"

ว่าดังนั้นแล้ว ท่านก็พูดใส่ปัญหาแก่อุบาสกผู้เข้าใจว่าตัวรู้เรื่องในตำราเป็นอย่างดีว่า

"...แล้วโยมได้ตรัสรู้ไหม ???..."


          เพราะฉะนั้นสรุปความได้ว่าการปฏิบัติแบบมัชฌิมาปฏิปทาหรือ "ทางสายกลางที่แท้จริงคือ   การปฏิบัติทางจิตที่ไม่ทำให้จิตได้รับความทุกข์จนเกินไป     และไม่เป็นการหย่อนในธรรมจนเป็นที่ปรนเปรอแก่จิตจนเกินไป   คือทำอะไรด้วยความคะนองใจจนเกินไป


        ขออนุโมทนาสาธุ     ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม  _/l\_

แก้ไขเมื่อ 04 ส.ค. 55 22:41:27

จากคุณ : wutthitham
เขียนเมื่อ : 4 ส.ค. 55 22:19:33




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com