อนุโมทนาสาธุกับหลายๆท่านส่วนใหญ่ในที่นี้ด้วยนะครับ
สำหรับคำถามของ คุณ สุทธิธรรม#3 นั้น
ขอยกความจากคู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทที่ ๗ มาแสดงไว้นะครับ
โดยก่อนอื่นจะยกความหมายตามนัยทั่วไปมาแสดงก่อน
คือ รวมความถึง มรรค ๘ ที่เกิดขึ้นใน โลกียกุศลธรรม และโลกุตตรกุศลธรรม
หมายความว่า ในโลกียกุศลธรรมนั้น ก็มีมรรค ๘ เกิดขึ้นอยู่ได้โดยตลอด แต่ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๘ ในเวลาเดียวกัน
เช่น ในเวลาเว้นจากการฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็มีสัมมากัมมันตะเจตสิกเกิดขึ้น
ในเวลาเว้นจากการกล่าวมุสา ขณะนั้นก็มีสัมมาวาจาเจตสิกเกิดขึ้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่า สัมมากัมมันตะ และสัมมาวาจาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน
ส่วนใน อริยมรรคจิต ๔ มีโสดาปัตติมรรคจิตจนถึง พระอรหัตตมรรคจิต
เมื่อใดที่พระโยคาวจรเจ้าได้เจริญวิปัสสนาญาณจนถึง สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ
และเข้าถึง มรรคญาณ ในอริยมรรคจิตดวงใดดวงหนึ่ง มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่นั้น
อริยะมรรคมีองค์ ๘ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดในชั่วขณะนั้น ทำหน้าที่ประหารกิเลสโดยสิ้นเชิง
เป็นลำดับไป โดย อรหัตตมรรคจิต จะทำลายกิเลสและอวิชชาทั้งหมดโดยสิ้นเชิง
(คำว่า มรรคจิต หมายถึง จิตขณะที่บรรลุธรรมมี โสดาปัตติมรรคเป็นต้น
ส่วน มรรคมีองค์ ๘ คือ ตัวเจตสิกทั้ง ๘ ที่เป็นองค์มรรค)
ถามว่า กิเลส ที่ถูกทำลาย เกิดขึ้นในขณะอรมัคคจิตด้วยหรืออย่างไร
ในเมื่อ โลกุตรกุศลจิต ย่อมไม่มีกิเลสเกิดขึ้น แล้วกิเลสที่ถูกทำลายไปอยู่ตรงไหนในขณะนั้น ?
ข้อนี้ก็อธิบายด้วยนัยของ คัมภีร์ยมก ที่ได้แสดงเรื่อง อนุสัยกิเลสไว้
คือ อนุสัยกิเลสต่างๆที่เป็น สันตานานุสัยนอนดองสืบเนื่องในขันธสันดานนั้น
อันถือว่าเป็นกาลวิมุตติกิเลส คือตามปกติยังไม่ปรากฏเป็นสภาวะขึ้นมา
แต่ก็มีโอกาสปรากฏขึ้นมาเป็นวิถีจิตต่างๆใน จิตของปุถุชน
ตัว อนุสัยกิเลสเหล่านี้ ย่อมถูกประหารโดยสิ้นเชิง ด้วยอรหัตตมรรคญาณ
หลังจากที่ อรหัตมรรคจิต อรหัตผลจิต เกิดขึ้นกระทำกิจ และดับลงไปแล้วนั้นเอง
จิตที่ดับไปนั้น ก็จะเป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้ บรรดากิเลสต่างๆจักไม่เกิดขึ้นอีกเลย
(คำว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย มาจากเรื่อง ปัจจัย ๒๔ ในคัมภีร์ปัฏฐาน)
ต่อไปก็จะเป็น ความจากคู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทที่ ๗ ตามนัยโดยทั่วไป
คือรวมทั้ง โลกียกุศล และโลกุตตรกุศล ดังนี้นะครับ
------------------------------------------
๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้องตรงกับเหตุผลแห่ง สภาวธรรมตามความเป็นจริง
มีอริยสัจจธรรมเป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ ปัญญา เจตสิก ที่ในติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ๓ ประการ ได้แก่
ก. เนกขัมมสังกัปปะ ดำริที่จะออกจากกิเลสและขันธ์ เป็นความคิดที่จะ ออกจาก
ความระคนด้วยหมู่คณะ เพื่อออกบรรพชาไปเจริญสมถะและวิปัสสนา ปรารถนาให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ข. อพยาปาทสังกัปปะ ดำริที่จะละความโกรธ ความพยาบาท ปองร้าย มีการล้างผลาญ
ทำให้ชีวิตสัตว์ตกไป เพื่อให้เกิดความเมตตาปรานี
ค. อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริที่จะออกจากวิหิงสา ความเบียดเบียนสัตว์ ให้เดือดร้อน
เพื่อให้เกิดความไม่เบียดเบียน มีความกรุณาอารี
ความดำริอยู่ในอารมณ์ ๓ ประการนี้ เป็นความดำริชอบ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
องค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ที่ในกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ รวม ๓๕
๓. สัมมาวาจา คือ การกล่าววาจาชอบ ไม่กล่าววาจาอันเป็นวจีทุจริตทั้ง ๔ มีการพูดปดหลอกหลวง,
ส่อเสียดยุยง, หยาบคาย, เพ้อเจ้อไร้สาระ, การเว้นจาก วจีทุจจริตเหล่านี้เรียกว่า
สัมมาวาจา องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก ที่ในมหากุสลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘
หรือ ๔๐ รวม ๑๖ หรือ ๔๘
๔. สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบ เป็นการงานทางกายที่ไม่เนื่องด้วย การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ล่วงประเวณี การเว้นจากกายทุจจริตเหล่านี้ เรียกว่าสัมมากัมมันตะ
องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตะเจตสิก ที่ในมหากุสล ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
๕. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ มีความเป็นอยู่ชอบ ไม่เนื่องด้วย วจีทุจจริต ๔ และไม่เนื่องด้วย
กายทุจจริต ๓ การหาเลี้ยงชีพที่ไม่เป็นไปด้วยทุจจริต ธรรมทั้ง ๗ นี้ เรียกว่า
สัมมาอาชีวะ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก ที่ในมหา กุสล ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ให้ตั้งหน้าพยายามในความพากเพียร ชอบ ๔ ประการ ได้แก่
ก. เพียรที่จะละบาปอกุสล ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป
ข. เพียรที่จะไม่ก่อบาปอกุสลที่ยังไม่เกิด โดยไม่ทำให้เกิดขึ้น
ค. เพียรที่จะก่อบุญกุสลที่ยังไม่เกิด โดยทำให้เกิดขึ้น
ง. เพียรที่จะเจริญบุญกุสลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ภิญโญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ความพากเพียร ๔ ประการนี้ เรียกว่า สัมมาวายามะ องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙
หรือ ๙๑
๗. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ เป็นการระลึกอยู่แต่ในอารมณ์ที่เป็นกุสล
มีอนุสติ ๑๐ หรือสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิก
ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
๘. สัมมาสมาธิ คือ การตั้งใจมั่นโดยชอบ เป็นความตั้งมั่นของจิตในอารมณ์ ของสมถกัมมัฏฐาน
หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน การที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุสล เช่นนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ
องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑
ใน สัมมามัคค ทั้ง ๘ องค์นี้ เป็นตัวเหตุแห่งสุคติและพระนิพพาน อันเป็น ทางที่จะนำไปสู่สุคติ และเป็นทางที่จะให้บรรลุถึงพระนิพพานด้วย จึงเรียกสัมมา มัคค ๘ องค์นี้ ว่า อัฏฐังคิกมัคค คือ มัคคมีองค์ ๘
--------------------------------------------------------------------
ส่วนต่อไป จะเป็น ความจากคู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะปริเฉทที่ ๗ ตามนัยที่เป็นเครื่องให้ตรัสรู้.....
--------------------------------------------------------------------
กิเลเส มาเรนฺโต นิพฺพานํ คจฺฉนฺติ เอเตนาติ มคฺโค ฯ
ธรรมใดที่ประหาร กิเลสและย่อมเข้าถึงพระนิพพาน ฉะนั้นธรรมที่เป็นเหตุแห่งการฆ่ากิเลส
และเข้าถึง พระนิพพาน ชื่อว่า มัคค ได้แก่องค์มัคค ๘ รวมกัน
มคฺคสฺส องฺโค มคฺคงฺโค ฯ
ธรรมอันเป็นเครื่องประกอบของธรรมที่เป็นเหตุ แห่งการฆ่ากิเลส และเข้าถึงพระนิพพาน ชื่อว่า มัคคังคะ
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือเห็นรูปนามโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒. สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ คือ คิดให้พ้นทุกข์ เพราะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๓. สัมมาวาจา พูดชอบ คือ พูดโดยมีสติ ไม่เผลอพูดชั่ว เพราะการพูดชั่ว จะไม่พ้นทุกข์
๔. สัมมากัมมันตะ ทำชอบ คือ ทำด้วยความมีสติ ไม่เผลอทำชั่ว เพราะ การทำชั่วจะไม่พ้นทุกข์
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ มีความเป็นอยู่โดยชอบ โดยมีสติไม่เผลอ
ให้ดำรงชีพอยู่โดยความชั่ว เพราะมีความเป็นอยู่ชั่ว จะไม่พ้นทุกข์
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ พยายามไม่นึกถึงความชั่ว พยายามไม่ทำ ความชั่ว
พยายามทำชอบ พยายามทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะพยายามเช่นนี้ จึงจะพ้นทุกข์
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกถึงเฉพาะรูปนามที่มีความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระลึกเช่นนี้
โลภ โกรธ หลง จึงจะไม่เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าโลภ โกรธ หลง ยังเกิดมีอยู่ ก็จะไม่พ้นทุกข์
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นโดยชอบ คือ ให้แน่วแน่ในสติปัฏฐาน ในอันที่จะ พ้นทุกข์ ดังนี้จะเห็นได้ว่า
--------------------
การที่มีความตั้งใจมั่นโดยชอบ ระลึกชอบ เพียรชอบ มีความเป็นอยู่ชอบ ทำชอบ พูดชอบ
และคิดชอบ เหล่านี้ ก็เพราะมีความเห็น ชอบ คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นรากฐาน
ในการแสดงมัคคมีองค์ ๘ นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดง สัมมาทิฏฐิ ก่อน เพราะถือว่าเป็นองค์ที่มีอุปการะ
ยิ่งเป็นเบื้องต้น(บุพพภาค) แก่ผู้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุ มัคคผล จนเปรียบไว้ว่า
ปญฺญาปโชต ประทีปคือปัญญา
ปญฺญาสตฺถ ศัสตราคือ ปัญญา
เพื่อพระโยคาวจรจะได้กำจัดมืด คืออวิชชา และประหารโจร คือกิเลสเสีย ด้วยสัมมาทิฏฐิ
รองจากนั้นก็ทรงแสดง สัมมาสังกัปปะ ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างช่างเงิน ผู้ชำนาญในการดูเงิน
พลิกกหาปณะไปมาด้วยมือและดูด้วยจักษุ ย่อมรู้ว่ากหาปณะนี้ แท้หรือเทียม ฉันใด
แม้ พระโยคาวจร ณ กาลบุพพภาคเบื้องต้นย่อมตรึก นึก รำพึง ด้วยวิตก และใช้ปัญญา
เพ่งพินิจธรรมนั้น ๆ อยู่ ย่อมรู้ว่าธรรมนั้น ๆ เป็นรูป เป็น นาม เป็นต้น ก็ฉันนั้น
บุคคลย่อมตรึกก่อน จึงเปล่งวาจาออกมาภายหลัง จึงได้ทรงแสดง สัมมาวาจา
เป็นลำดับต่อจากสัมมาสังกัปปะ ตามปกติ ชนทั้งหลายย่อมกล่าวด้วยวาจาก่อนว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
แล้วจึง ประกอบกิจการงานต่าง ๆ เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงนับว่าวาจามีอุปการะแก่การงาน ต่าง ๆ
ที่ทำด้วยกาย ดังนั้นจึงได้ทรงแสดง สัมมากัมมันตะ เป็นลำดับรองลงมาจากสัมมาวาจา
อาชีวมัฏฐกสีล สีลมีอาชีวะเป็นที่ครบ ๘ ย่อมบริบูรณ์แก่ผู้ละวจีทุจจริต ๔ ประการ
และละกายทุจจริต ๓ ประการ บำเพ็ญแต่กายสุจริตและวจีสุจริต ๒ ประการนั่นเทียว
สีลนั้นไม่บริบูรณ์แก่ชนอื่นใดที่นอกจากนี้เลย เหตุนี้จึงทรงแสดง สัมมาอาชีวะ ต่อจากสัมมากัมมันตะ
ผู้มีอาชีวะ คือความเลี้ยงชีพ หรือความเป็นอยู่โดยบริสุทธิเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควร ที่จะมีความยินดีอยู่ว่า
อาชีวะของเราบริสุทธิ์แล้วเท่านั้น และเป็นผู้ประมาทอยู่ แต่ ควรจะปรารภความเพียรในอิริยาบถทั้งปวง
โดยแท้ ดังนั้นจึงได้ทรงแสดงสัมมาวายามะ ต่อจากสัมมาอาชีวะ
ผู้ปรารภความเพียรดังกล่าวแล้ว พึงตั้งสติให้มั่นคงดำรงอยู่ด้วยดีในวัตถุธรรม ๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยประสงค์ดังนี้ จึงได้ทรงแสดง สัมมาสติ ต่อจาก สัมมาวายามะ
ก็และสติดำรงอยู่แล้วด้วยดีดังนี้ ย่อมองอาจแสวงหาคติธรรมทั้งหลายที่เป็น อุปการะ และละทิ้งสิ่ง
ที่ไม่เป็นอุปการะแก่สมาธิ แล้วก็ตั้งจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์ที่ กำหนดเพ่งพินิจอยู่นั้น ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อไปเป็นอื่น
จึงได้ทรงแสดง สัมมาสมาธิไว้เป็น อันดับสุดท้ายแห่งมัคคมีองค์ ๘ นี้
--------------------
มัคคมีองค์ ๘ นี้มีได้ทั้งโลกียและโลกุตตร มีสิ่งที่แตกต่างกันอันเป็นส่วน สำคัญ ดังจะกล่าวต่อไปโดยย่อ คือ
๑. มัคคมีองค์ ๘ ที่เป็นฝ่ายโลกียนั้นประกอบไม่พร้อมกันหมดทั้ง ๘ องค์ เพราะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
คือ วิรตี ๓ นี้เป็นอนิยตโยคี เจตสิกประเภทนานากทาจิ ประกอบเป็นบางครั้งบางคราว
และประกอบได้ทีละดวง เท่านั้น
แต่ว่ามัคคมีองค์ ๘ ที่เป็นฝ่ายโลกุตตรนั้น วิรตี ๓ เป็นนิยตเอกโต คือต้องประกอบพร้อมกัน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้ง ๓ อย่างแน่นอน ดังนั้นมัคคมีองค์ ๘ ที่เป็นฝ่ายโลกุตตร
ต้องประกอบพร้อมกันหมดทั้ง ๘ องค์
๒. มัคคมีองค์ ๘ ที่เป็นฝ่ายโลกุตตร มีนิพพานเป็นอารมณ์แต่อย่างเดียว เท่านั้น
ส่วนมัคคที่เป็นฝ่ายโลกียนั้น ไม่ได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่มีอารมณ์เป็น อย่างอื่น กล่าวโดยเฉพาะ
วิรตี ๓ นี้ก็ต้องมีวิรมิตัพพวัตถุ คือวัตถุอันพึงเว้นมา ปรากฏเฉพาะหน้า
ส่วนโลกุตตรวิรตีไม่ต้องมีวัตถุอันพึงเว้น เพราะโลกุตตรวิรตีนี้ เป็นองค์แห่งมัคค มีหน้าที่ประหารกิเลส
ไม่ใช่มีหน้าที่เว้นจากการทุจจริต
๓. มัคคมีองค์ ๘ ที่เป็นฝ่ายโลกุตตร ประหารกิเลสได้เด็ดขาดอย่างที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน แต่
โลกียมัคคประหารกิเลสได้เพียงชั่วคราวชั่วขณะอย่างที่เรียกว่า ตทังคปหาน
อย่างมากก็ข่มไว้ได้นานหน่อยแค่ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เท่านั้น
--------------------
(สติปัฏฐาน กับ อัฏฐังคิกมัคค)
สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นกองแรกของโพธิปักขิยสังคหะนี้ ก็แสดงว่าเป็นไปเพื่อ ให้แจ้งพระนิพพาน
โดยอธิบายว่า ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุพระนิพพานต้องประพฤติ ดำเนินไปในสติปัฏฐาน ๔ นี้
และ อัฏฐังคิกมัคค คือ มัคคมีองค์ ๘ อัน เป็นกอง สุดท้ายของโพธิปักขิยสังคหะนี้
ก็ว่าเป็นไปเพื่อให้แจ้งพระนิพพาน โดยอธิบายว่า
ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานต้องดำเนินทางสายกลาง คือ มัคคมีองค์ ๘ นี้ ความทั้ง ๒ ข้อ นี้
สงเคราะห์เข้ากันได้ มีอธิบายไว้ว่าในอริยมัคค หรืออัฏฐังคิกมัคค คือ มัคคมีองค์ ๘ นั้น
มีองค์หนึ่งชื่อว่า สัมมาสติ ก็คือ สติปัฏฐานนี่เอง
ดังนั้นเมื่อเห็นในสติปัฏฐานก็ชื่อว่าเห็นชอบ
ดำริ ในสติปัฏฐานก็ชื่อว่าดำริชอบ
พูดเรื่องสติปัฏฐาน ก็ชื่อว่าพูดชอบ
การงานของใจ เป็นไปในสติปัฏฐาน ก็ชื่อว่าการงานชอบ
มีความเป็นอยู่ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ก็ชื่อว่าเป็นอยู่ชอบ
เพียรในสติปัฏฐาน ก็ชื่อว่าเพียรชอบ
ระลึกในสติปัฏฐาน ก็ชื่อ ว่า ระลึกชอบ
ตั้งจิตมั่นในสติปัฏฐาน ก็ชื่อว่าตั้งใจมั่นชอบ
ดังนี้จะเห็นได้ว่า เป็น การดำเนินสติปัฏฐานกับเจริญอัฏฐังคิกมัคคพร้อมกันไปในตัวทีเดียวด้วยแล้ว
แม้สติปัฏฐานจะเป็นจุดเริ่มต้น และอัฏฐังคิกมัคคเป็นจุดที่สำเร็จผล
แต่ในขณะที่บรรลุแจ้ง พระนิพพานนั้น โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ
ย่อมประกอบพร้อมกัน.....
พระธรรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมาย ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เปรียบเหมือนเถาวัลย์ขึ้นพันต้นไม้
บุคคลจะจับตรงไหนและฉุดกระชาก ย่อม กระเทือนไหวไปตลอดทั้งเถา ดังนั้นจึงได้ทรงแสดงว่า
สติปัฏฐานเป็นไปเพื่อทำ พระนิพพานให้แจ้ง ชื่อว่าไม่แย้งไม่ขัดต่อต่ออริยมัคค
ซึ่งเป็นมรรคาทางแห่งพระ นิพพานตามนัยแห่งอริยสัจจนั้นแต่ประการใดเลย............
แก้ไขเมื่อ 17 ส.ค. 55 23:17:29