 |
#2 ริมฝั่ง http://larndham.org/index.php?/topic/24946-พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการส/
ตอบ: 24/02/2007 - 04:01
คราวนี้มาดูพระสูตรสูตรหนึ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิดูบ้าง สำหรับหลักในการสอนของพระองค์ท่านนั้นผมไม่แน่ใจว่าจะใช้หลักเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรนี้ทุกครั้งหรือไม่นะครับ
ขอยกมาจากพระไตรปิฎกฉบับประชาชนนะครับ เพราะอ่านง่ายและสั้นกว่า ถ้าต้องการอ่านต้นฉบับในพระไตรปิฎกสามารถดูได้ที่นี่ครับ กูฏทันตสูตร
. . . . . . . . . . . . . . . . . .
เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์ เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๑) หน้า ๓ ๕ กูฏทันตสูตร สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ ( พราหมณ์ฟันเขยิน )
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพลัฏฐิกา ( สวนมะม่วงหนุ่ม).
สมัยนั้นกูฏทันตราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้. อนึ่ง กูฏทันตพราหมณ์เตรียมประกอบยัญญพิธี เอาโคผู้ ๗๐๐ , ลูกโคผู้ ๗๐๐, ลูกโคเมีย ๗๐๐ , แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ผูกติดไว้กับเสา เพื่อเตรียมบูชายัญ.
พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะได้ทราบเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา และเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เดินไปเป็นหมู่ ๆ เพื่อเฝ้า กูฏทันตพราหมณ์เห็นเข้า ( เช่นเดียวกับเรื่องโสณทัณฑพราหมณ์) ถามทราบเรื่องก็สั่งให้รอ ตนจะร่วมไปเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา ( เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญคัดค้าน และกูฏทันตพราหมณ์โต้ตอบ ( เช่นเดียวกับเรื่องโสณทันฑพราหมณ์) ในที่สุดจึงร่วมกันไปเฝ้าทั้งหมด.
กูฏทันตพราหมณ์จึงกราบทูลถามให้ทรงอธิบายถึงยัญญสัมปทา ( ความถึงพร้อม คือสมบูรณ์แห่งยัญ ๓ ประการ อันมีส่วนประกอบ ( บริขาร) ๑๖ อย่าง).
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาลผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะปฐมมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชามหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้ช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น.
พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าก็จะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง ( ตัวตายตัวแทน) โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย ( ด้วยวิธีจัดการทางเศรษฐกิจให้ดี) คือแจกพืชแก่กสิกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้าให้อาหาร และค่าจ้างข้าราชการ ( ให้ทุกคนมีอาชีพมีรายได้) พระราชทรัพย์ก็เพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน.
เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตะทรงทำตามคำแนะนำนั้นก็ได้ผลดี จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมา ขอให้สอนเรื่องการบูชามหายัญ. พราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะนำให้ขออนุญาตบูชามหายัญ โดยแจ้งให้กษัตริย์ผู้น้อยกว่าที่อยู่ในนิคมชนบท, อำมาตย์ ข้าราชการบริพารที่อยู่ในนิคมชนบท, พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมชนบท , คฤหบดีที่อยู่ในนิคมชนบทได้ทราบเรื่อง และอนุญาตให้บูชามหายัญ. เมื่อทรงปฏิบัติตามนั้นก็ได้รับอนุญาตจากบุคคลทั้งสี่ประเภทเหล่านั้น . นี้นับเป็นฝ่ายอนุมัติ ๔ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.
องค์พระเจ้ามหาวิชิตะเอง ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ ๑. มีชาติดี ๒ มีรูปร่างงาม ๓. มีทรัพย์มาก ๔. มีกำลังรบ ๕. มีศรัทธาบริจากทาน ๖. สดับตรับฟังมาก ( มีการศึกษาดี) ๗. รู้ความหมายของภาษิตนั้น ๆ ( อธิบายความหมายได้) ๘. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา. คุณสมบัติ ๘ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.
คุณสมบัติพราหมณ์ปุโรหิตอีก ๔ คือ ๑. มีชาติดี ๒. ท่องจำมนต์ได้ ๓. มีศีล ๔. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา คุณสมบัติ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น. ( รวมเป็น ๑๖ คือฝ่ายอนุมัติ ๔ คุณสมบัติของราชา ๘ คุณสมบัติของปุโรหิต ๔).
ต่อไปพราหมณ์จึงแสดงปุโรหิตจึงแสดงถึง ยัญ ๓ ประการ คือต้องไม่มีความเดือดร้อนใจว่า โภคทรัพย์เป็นมาก ๑ . จักหมดไป ๒. กำลังหมดไป ๓. หมดไปแล้ว.
แล้วพราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงถึงการบันเทาความเดือดร้อนใจของผู้บูชายัญที่จะพึงมีในฝ่ายผู้รับทาน ๑๐ ประการ คือผู้ฆ่าสัตว์, ผู้ลักทรัพย์. ผู้ผิดในกาม, ผู้พูดปด, ผู้พูดเสียด, ผู้พูดคำหยาบ, ผู้พูดเพ้อเจ้อ. ผู้ละโมภบอยากได้ของคนอื่น , ผู้พยาบาทปองร้ายผู้อื่น , ผู้เห็นผิดทำนองคลองธรรม อาจมาสู่ยัญญพิธี โดยตั้งใจว่ายัญนี้อุทิศผู้ที่ปฏิบัติดี ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว ๑ ประการ.
เมื่อมีเครื่องประกอบยัญ ๑๖ ประการดั่งต่อไปนี้ ก็ไม่มีผู้ใดกล่าวติเตียนได้โดยธรรม.
ครั้นแล้วได้แสดงวิธีบูชาต่อไป ในยัญนั้น ไม่มีการฆ่าโค , แพะ , แกะ, ไก่ , สุกรและวัตว์ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องถึงความพินาศ, ไม่มีการตัดต้นไม้ เพื่อสร้างปราสาท ( ต้อนรับผู้มาดูพิธี) ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อแวดวงประดับโรงพิธี หรือเพื่อปูลาดกับพื้น พวกทาสีกรรมกรก็ไม่ต้องถูกขู่เข็ญลงโทษ มีหน้านองด้วยน้ำตาทำงาน ใครปรารถนาจะทำก็ทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ เพราะยัญนั้นสำเร็จด้วยเนยใส, น้ำมัน, เนยข้น,น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.
ผู้ที่เดินทางมาในการนี้ นำเครื่องบรรณาการมาถวาย พระเจ้ามหาวิชิตะก็ไม่ทรงรับ กลับตรัสให้นำของพระองค์เพื่มให้กลับไป แต่บุคคลเหล่านั้นไม่นำกลับ กลับสละตาม (คือแจกทานตามพระเจ้ามหาววิชิตะ) . ต่างตั้งยัญศาลาขึ้น ๔ ทิศ ( กษัตริย์ทิศบูรพา , อำมาตย์ทิศทักษิณ, พราหมณ์มหาศาลทิศประจิม, คฤหดีทิศอุดร) แจกทานร่วมในการนี้.
กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมียัญอื่นที่มีการเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ายัญ ๓ บริขาร ๑๖ ที่กล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี ก็ถามต่อไปอีกถึงยัญที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่า เป็นการถามตอบหลายวาระ. สิ่งที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ากันโดยลำดับ ซึ่งผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้ :- ๑. การให้ทานเป็นนิตย์ อุทิศผู้มีศีล. ๒. การสร้างวิหาร ( ที่อยู่) อุทิศสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ. ๓. การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ. ๔. การสมาทานศีล ๕ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย. ๕. การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ประเภท บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ๔ บำเพ็ญปัญญาจนได้วิชชา ๘ ( ดั่งกล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร).
กูฏทัตพราหมณ์มีความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ปล่อยสัตว์อย่างละ ๗๐๐ หลายประเภทนั้นให้เป็นอิสระ และเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาต่อไป ( อนุบุพพกถาและอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน).
( พระสูตรนี้ทำให้เห็นว่า เพียงการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะหรือการรักษาศีล ๕ ก็ยังผลมากกว่าการบำเพ็ญมหายัญใหญ่โต จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้คิดทำบุญซึ่งมักจะบ่นว่าไม่มีทุนทำบุญ ให้ทราบว่าบุญนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนเอาทรัพย์แลกเสมอไป เพียงแต่การรักษาศีล ๕ ก็เป็นบุญอันสูงกว่านนั้น).
. . . . . . . . . . . . . . . . . .
หลักในการสอนผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิในพระสูตรนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรับแนวคิดการบูชามหายัญของพราหมณ์ ซึ่งเดิมเป็นแนวคิดของผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ ให้กลายมาเป็นวิธีการบูชายัญที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ตั้งแต่อามิสบูชาจนไปถึงปฏิบัติบูชา จนพราหมณ์เลื่อมใสศรัทธา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตในที่สุด
จากคุณ |
:
เกี่ยวกับยัญ น่าสนใจ (ปล่อย)
|
เขียนเมื่อ |
:
18 ส.ค. 55 00:27:31
|
|
|
|
 |