บทความ ปัญหาที่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
|
 |
พอดีเจอในเว็บแห่งหนึ่ง จึงนำมาให้เพื่อนๆได้อ่านกันครับ
(ช่วงนี้มีเพื่อนนอกห้องศาสนามาเยี่ยมบ่อย )
-----------------------
ปัญหาที่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาไม่ใช่เพียงแค่การสนทนาโต้ตอบหาเหตุผลทางความคิดทางปรัชญา แต่มุ่งที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ
เมื่อถูกถามปัญหาเกี่ยวกับอภิปรัชญา (Metaphysics) พระองค์จะปฏิเสธไม่ตอบเงียบเฉย นิ่งเสีย และบอกว่าไม่ควรถาม การนิ่งไม่ยอมตอบ ไม่ใช่เป็นเพราะความไม่รู้ แต่ถือว่าเป็นความฉลาดอย่างยิ่งต่างหาก เพราะแม้ตอบแล้วก็จะยังไม่จบอยู่ดี ปัญหาทางอภิปรัชญาที่นักคิดสมัยนั้นชอบโต้แย้งกันโดยถามหาที่สุดโลก เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ตอบเรียกว่า อัพยากฤตปัญหา 10 อย่าง คือ
1. โลกเที่ยง 2. โลกไม่เที่ยง 3. โลกมีที่สุด 4. โลกไม่มีที่สุด 5. สรีระ (ร่างกาย) และชีพ (วิญญาณ) เป็นอันเดียวกัน 6. สรีระ (ร่างกาย) และชีพ (วิญญาณ) เป็นคนละอย่างกัน 7. ตถาคตจะเกิดใหม่อีกเมื่อตายไป 8. ตถาคตจะไม่เกิดใหม่อีกเมื่อตายไป 9. ตถาคตทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป 10. ตถาคตไม่ใช่ทั้งจะเกิดใหม่และไม่เกิดอีกหลังจากตายไป
ข้อสังเกต ข้อ 1 - 4 โต้เถียงในเรื่องเกี่ยวกับโลก หรือ วัตถุ (รูปธรรม)
ข้อ 5 - 6 โต้เถียงในเรื่องสภาวะของชีวะ (วิญญาณ) ที่เรียกว่า อาตมัน (นามธรรม)
ข้อ 7 - 10 โต้เถียงในเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิด การเกิดใหม่ ( อ้างอิง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530), เล่ม 12 ข้อ 309 หน้า 308. )
เหตุผลที่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนพระทัย ไม่ตอบปัญหา, การโต้เถียงปัญหาทางอภิปรัชญา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ
1.ไม่เป็นประโยชน์ คนพูดโต้เถียงกัน กว่าจะได้คำตอบก็ตายก่อน ทั้งนักคิด ชาวตะวันตก และนักคิดชาวตะวันออกได้พยายามมาตั้งหลายพันปีจนถึงทุกวันนี้ก็ยังตอบไม่ถูกสักคน 2. ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ คิดไปก็เสียเวลาเปล่า (อจินไตย)
3. ไม่ใช่เรื่องรีบด่วน มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่าที่จำต้องรีบคิดแก้ไข คือทุกคนมีทุกข์ต้องรีบดับทุกข์ก่อน
4. ไม่ใช่เพราะพระองค์ไม่รู้คำตอบ
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าครั้นถูกถาม พระองค์จะนิ่งเฉยเสีย หรือปฏิเสธตรง ๆ หรือให้ยกคำถามไว้ก่อนว่ายังไม่สมควรตอบ การไม่ตอบเป็นความฉลาด ถ้าตอบ "ใช่" ก็ต้องตกอยู่ในข่ายของสัสสตวาทะ (ความเห็นว่า วิญญาณเที่ยง) ถ้าตอบ "ไม่ใช่" ก็จะอยู่ในข่าย อุจเฉทวาทะ (ความเห็นว่าวิญญาณขาดสูญ) ผู้ใดมีศักยภาพสามารถรู้อดีต และอนาคตไม่มีขีดจำกัดจะรู้ และตอบปัญหานี้ได้ดี
ท่าทีในการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า 4 วิธี เมื่อมีปัญหาถามมา พระพุทธเจ้ามีวิธีจัดการกับคำถาม สามารถจำแนกวิธีตอบของพระพุทธเจ้าได้ 4 แบบ คือ
1. ตอบตรงๆ (ใช่ หรือไม่ใช่) เรียกว่า เอกังสพยากรณ์ 2. ตอบแบบวิเคราะห์ (แยกตอบ) เรียกว่า วิภัชชพยากรณ์ 3. ตอบแบบย้อนถามว่าหมายถึงอะไร เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์ 4. บางคราวปัญหาต้องยกเอาไว้ก่อน เรียกว่า ฐปนียพยากรณ์
( อ้างอิง ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, เล่ม 11 ข้อ 225 หน้า 241. )
คำตอบต่ออัพยากฤตปัญหาเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ และจากฐานความคิดทางปรัชญาเอง นักปรัชญาก็ยังหาไม่พบคำตอบอันสุดท้ายเป็นที่ยอมรับกันได้โดยทั่วไป เพราะคิดแล้วไม่รู้จักจบสิ้นดังกล่าว ดังนั้น พระองค์ จึงไม่ตอบปัญหานี้
ที่มา http://wemahidol.mahidol.ac.th/comm/space.php?uid=36&do=thread&id=370
จากคุณ |
:
ต่อmcu
|
เขียนเมื่อ |
:
23 ส.ค. 55 17:10:04
|
|
|
|