 |
อรูปพรหม หรือ อรูปาวจรภูมิ สมัยที่โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา บรรดาโยคี ฤๅษี ชีไพรดาบส ที่บำเพ็ญตบะเดชะภาวนา รำพึงว่าอันว่าตัวตน กล่าวคืออัตภาพร่างกายนี้ไม่ดีเป็นนักหนา กอปรไปด้วย ทุกข์โทษหาประมาณมิได้ ควรที่ตูจะปรารถนากระทำตัว ให้หายไปเสียเถิด แล้วก็เกิดความพอใจเป็นนักหนา ในภาวะที่ไม่มีตัวตนไม่มีรูปกาย ปรารถนาอยู่แต่ในความไม่มีรูป อรูปภูมิมี 4 ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมในชั้นนี้ไม่มีรูปร่าง มีแต่จิตเจตสิก เพราะเห็นว่าหากมีร่างกายอยู่นั้นจะมีแต่โทษ อาจจะไปทำร้ายซึ่งกันและกันได้ จึงบริกรรมด้วยความว่างเปล่า ยึดเอาอากาศซึ่งเป็นความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ จนได้ฌานที่มีอากาศเป็นอารมณ์เรียกว่า อากาสานัญจายตนภูมิ ซึ่งมีอายุอยู่ได้สองหมื่นกัปป์ จากนั้นก็อาจภาวนาเพื่อจะได้ไปอยู่ในพรหมโลกขั้นสูงต่อไปอีกได้ อายุของพรหมเหล่านี้จะยืนอยู่ได้สี่หมื่น หกหมื่น และแปดหมื่นสี่พันกัปป์ ตามลำดับ
อรูปพรหม ชั้นที่ 17 อากาสานัญจายตนภูมิ
ชั้นที่ทรงอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอา อากาศ เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งอยู่แห่งพระพรหม ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติ ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ตั้งอยู่พ้นจากอกนิฏฐสุทธาวาสพรหมโลกไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 20000 มหากัป
ชั้นที่ 18 วิญญาณัญจายตนภูมิ
ชั้นที่ทรงภาวะวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึด วิญญาณ เป็นอารมณ์ พ้นจากอากาสัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ วิญญาณัญจายตนภูมิ เป็นที่อยู่ แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย วิญญาณบัญญัติ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยวิญญาณัญจายตนวิบากจิต มีอายุแห่งพรหมประมาณ 40000 มหากัป
ชั้นที่ 19 อากิญจัญญายตนภูมิ ชั้นที่ทรงภาวะไม่มีอะไรเลย ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้ยึดเอาความไม่มีอะไรเลย เป็นอารมณ์ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัย นัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ พระพรหมผู้วิเศษไม่มีรูป และปฏิสนธิด้วยอากิญจัญญายตนวิบากจิตพ้นจากวิญญานัญจายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 60000 มหากัป
ชั้นที่ 20 เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ชั้นที่ทรงภาวะที่มีสัญญาไม่ปรากฏชัด ที่สถิตแห่งพระพรหมผู้ได้เข้าถึงภาวะมี สัญญา ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้เกิดจากฌานที่อาศัย ความประณีตเป็นอย่างยิ่ง พระพรหมวิเศษแต่ละองค์ในชั้นสูงสุดนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สำเร็จยอดแห่งอรูปฌาน คืออรูปฌานที่ 4 มาแล้ว มีอายุยืนนานเป็นที่สุดด้วยอำนาจแห่ง อรูปฌานกุศลอันสูงสุดที่ตนได้บำเพ็ญมา เพราะเหตุที่ตนปฏิสนธิด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิตทั้ง อยู่พ้นจากอากิญจัญญายตนภูมิขึ้นไปอีก 5 ล้าน 5 แสน 8 พันโยชน์ มีอายุแห่งพรหมประมาณ 84000 มหากัป
นิตย์ จารุศร (รวบรวม และ เรียบเรียง). สารธรรม. กรุงเทพฯ : เหรียญบุญ การพิมพ์, 2547.
พระพานิช ญาณชีโว. ไตรภูมิพระร่วง (ฉบับย่อความ) . กรุงเทพฯ : ตรงหัว, 2539.
เสฐียรโกเศศ. ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพญาลิไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2545.
เสฐียรโกเศศ. เล่าเรื่องในไตรภูมิ. ธนบุรี : โรงพิมพ์อักษรเพชรเกษม, 2512.
จากคุณ |
:
venture
|
เขียนเมื่อ |
:
14 ก.ย. 55 22:48:06
|
|
|
|
 |