ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555
การเสียชีวิตของนายคริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำลิเบีย จากเหตุโจมตีสถานกงสุลในเมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับสองของลิเบีย เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุความโกรธแค้นตัวอย่างภาพยนตร์ลบหลู่ศาสดาศาสนาอิสลามที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูบ หรือเป็นเพราะเป็นการโจมตีที่มีการวางแผนล่วงหน้าโดยอาศัยการประท้วงบังหน้า ยังไม่ชัดเจน
แต่ที่ชัดคือ การฉายภาพปัญหาในลิเบียต่อสายตาชาวโลกในยุคกำลังสร้างรัฐใหม่หลัง พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ขณะต้องจัดการกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ขึ้นแก่กัน อาวุธเกลื่อนเมือง และเหตุรุนแรงจากกลุ่มนิยมความรุนแรงในนามศาสนา
ทั้งยังเป็นโจทย์ใหญ่ว่า การสูญเสียเอกอัครราชทูตสหรัฐคนแรกจากการถูกสังหารในรอบกว่า 30 ปี ทั้งยังเป็นนักการทูตที่เข้าไปทำงานร่วมกับฝ่ายกบฏเพื่อปลดปล่อยจากระบอบเก่าตั้งแต่แรกเริ่ม พร้อมกับนักการทูตอีก 3 คนรวดจากเหตุการณ์เดียวกัน จะเป็นเรื่องที่เกิดเฉพาะในลิเบียแล้วจบไป หรือว่าจะเป็นการเปิดตัวของสิ่งท้าทายที่เรียกว่า การปฏิวัติของกลุ่มเคร่งจารีตอิสลามในยุคหลังอาหรับสปริง
ภาวะไร้ขื่อแปในลิเบีย ส่อเค้ามาตั้งแต่การทำสงครามโค่นล้ม พ.อ.กัดดาฟีที่ลุล่วง แต่ทิ้งอาวุธไว้มากมายในมือของกลุ่มติดอาวุธทั้งหลาย และจำนวนมากไม่คิดจะส่งคืน บางกลุ่มมีการจัดองค์กรเพื่อป้องศาสนา บางกลุ่มเป็นแก๊งอาชญากรรม แต่ที่ทางการลิเบียวิตกคือ กลุ่มศาสนานิยมกำลังค่อยๆ เปลี่ยนโฉมเป็นสถาบันความมั่นคงที่มีวาระการเมืองไม่ชัดเจน
ความอ่อนแอของรัฐบาลในตริโปลี ถูกตอกย้ำอย่างชัดเจนเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีมหาดไทย นายฟอว์ซี อับเดล อาล ประกาศว่ารัฐบาลจะไม่เสี่ยงงัดข้อหรือต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์สุดขั้ว "ซาลาฟี" ที่ใช้รถไถทำลายมัสยิดและสุสานของนิกายซูฟี ที่มุสลิมซาลาฟีส่วนมากไม่ถือว่าเป็นอิสลาม แล้วก็เป็นกลุ่มซาลาฟีเช่นกันที่เคยโจมตีสถานกงสุลในเบงกาซีมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน และเหตุวางระเบิดกับโจมตีสำนักงานกาชาดสากลหลายแห่งในลิเบีย
ขณะเดียวกัน เหตุรุนแรงขนาดทำให้เอกอัครราชทูตเสียชีวิต ยากจะเลี่ยงไม่ถูกตีความได้ว่า เป็นจุดอ่อนในนโยบายต่างประเทศของประเทศที่มาของนักการทูตท่านนั้น โศกนาฏกรรมครั้งนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณการเมืองที่ชัดเจน และอาจรวมถึงการประเมินต่ำไปของฝ่ายสหรัฐเองด้วย
รายงานของนิวยอร์กไทม์สระบุว่า คลิปวิดีโอเจ้าปัญหาโพสต์เมื่อสองเดือนที่แล้ว แต่เพิ่งพากย์เสียงอาหรับเมื่อราว 8 วันก่อนเกิดเหตุ และเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อในอียิปต์และเผยแพร่ทางทีวีอียิปต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนนักการทูตอเมริกันในไคโรรับรู้ถึงสัญญาณไม่สู้ดีและได้แจ้งกระทรวงต่างประเทศในวอชิงตัน ก่อนวันครบรอบ 11 กันยายน แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร
ขณะที่รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา สนับสนุนการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยในแอฟริกาเหนือและอาหรับที่เรียกกันว่า อาหรับสปริง ด้วยการเลิกหนุนหลังพันธมิตรอย่างประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอาหรับอย่างอียิปต์ เข้าไปสนับสนุนกลุ่มกบฏที่จับอาวุธขึ้นโค่นล้ม พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผ่านทางนาโต ช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำเยเมนที่ตัวเองเคยหนุนหลังแต่ประชาชนไม่ชอบให้ยอมลงจากอำนาจ
และล่าสุด ก็เข้าข้างกลุ่มกบฏซีเรียที่พยายามโค่นประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด แต่ยังไม่สำเร็จอยู่นั้น สหรัฐก็มีความวิตกไปด้วยว่า อะไรจะมาแทนที่ผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมที่เคยยึดเก้าอี้และกดทับเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็นมาอย่างยาวนาน
นักการทูตสหรัฐคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในการดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกกับโลกมุสลิม อย่างที่เบงกาซี สหรัฐกำลังเตรียมเปิดศูนย์วัฒนธรรมและการศึกษาแห่งใหม่ แต่การจะออกไปจัดกิจกรรมอะไรข้างนอกเพื่อเข้าถึงคนเพื่อทัดทานกลุ่มสุดโต่งและต่อต้านอเมริกัน เกรงว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐตั้งมั่นอยู่ในอาคารสถานทูต ไม่รู้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นข้างนอก
เจ้าหน้าที่สหรัฐยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่การปฏิรูปประชาธิปไตยแบบตะวันตก จะพ่ายแพ้ต่อกลุ่มเคร่งจารีต กลุ่มภักดีต่อชนเผ่าและชาติพันธุ์ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจลำเค็ญ การคอร์รัปชั่นของระบบ ความเหลื่อมล้ำที่กระพือความไม่สงบในสังคมขึ้นมาได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่าการปฏิวัติไม่ได้ช่วยยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นแต่อย่างใด
กระนั้นสหรัฐอเมริกาไม่สามารถถอยหลังกลับได้ เพราะนั่นถือเป็นความล้มเหลวอย่างที่สุด
นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ พูดชัดระหว่างแถลงสดุดีนายสตีเวนส์ว่า การโจมตีสถานกงสุลสหรัฐ ควรโทษว่าเป็นฝีมือของคนป่าเถื่อนเล็กๆ กลุ่มเดียว ไม่ใช่รัฐบาลหรือประชาชนชาวลิเบีย
อย่างไรก็ดี ภาพความสูญเสีย สถานกงสุลถูกไฟเผา และภาพที่สถานทูตสหรัฐในกรุงไคโร ถูกกล่มผู้ประท้วงนับพันบุกปีนขึ้นไปปลดธงชาติสหรัฐลงมาเปลี่ยนเป็นธงสีดำ และเสียงตะโกนสรรเสริญโอซามา บิน ลาเดน ที่สหรัฐปลิดชีพ ตอกย้ำถึงสิ่งท้าทายต่อผลประโยชน์และการทูตสหรัฐอย่างไม่อาจเลี่ยงได้
แม้ประชาชนในภูมิภาคอาจเข้าใจได้ว่าเป็นการกระทำของคนส่วนน้อย แต่ชาวอเมริกันคงต้องตั้งคำถามอย่างมากทีเดียวว่าเหตุใด
ในลิเบีย ประชาชนยังแคลงใจในการคบค้าอเมริกา แม้ว่าการโจมตีทางอากาศที่ทุ่มทุนโดยอเมริกาได้ช่วยให้ฝ่ายต่อต้านโค่นล้มกัดดาฟี และให้ความช่วยเหลือลิเบียนับจากต้นปีที่แล้วกว่า 200 ล้านดอลลาร์ จำนวนนี้ 89 ล้านดอลลาร์เป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ 40 ล้านดอลลาร์เป็นค่าลดหย่อนอาวุธ
ในอียิปต์ กระแสชิงชังลัทธิอเมริกันนิยมยังซึมลึก แม้สหรัฐให้คำมั่นต่อประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มูร์ซี เรื่องการให้ความช่วยเหลือพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งยกหนี้ แต่ความล้มเหลวในการอารักขาสถานทูตจากผู้ประท้วง สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับผู้นำใหม่ภายใต้มุสลิมภราดรภาพในระดับหนึ่งว่า ไม่ได้แน่นแฟ้นเหมือนก่อน
คงเป็นเรื่องยากสำหรับสหรัฐที่ไม่ได้มียุทธศาสตร์ส่งเสริมประชาธิปไตยในตะวันออกกลางแต่ไหนแต่ไร แล้วจะให้ผู้คนในภูมิภาคต่างความเชื่อและศาสนาเห็นดีเห็นงามในเวลาอันสั้น นอกจากนี้ นักวิจารณ์มองว่า รัฐบาลโอบามาหนุนกระแสปฏิรูปประชาธิปไตยก็จริง แต่ปฏิเสธทุ่มทรัพยากรอย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางหลังการปฏิวัติมวลชน แต่กลับหันมาเน้นนโยบายและทุ่มความสนใจเอเชีย-แปซิฟิกแทน
บทบรรณาธิการโกลบอลไทม์ในจีน แสดงความเห็นอย่างน่าสนใจว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนต่อสหรัฐและโลกตะวันตกอย่างลึกซึ้ง และบ่งชี้ว่า การปะทะทางอารยธรรมระหว่างตะวันตกกับโลกอาหรับ มิได้ลดน้อยลงหลังการปฏิวัติมวลชน ตรงกันข้าม เมื่อไร้เงาผู้นำกำปั้นเหล็ก กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อตะวันตกกลับยิ่งเติบโตโดยปราศจากการเพ่งเล็ง
โดยเฉพาะในยุคอินเทอร์เนตและสังคมออนไลน์ที่ช่วยฉายภาพการกระทำเชิงดูหมิ่นไม่เคารพจากคนบางกลุ่มในสหรัฐต่อโลกอาหรับ จนเป็นชนวนเหตุการประท้วงรุนแรงและรวดเร็วหลายต่อหลายครั้ง
เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นฝีมือชาวอาหรับ มาวันนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐถูกสังหารในประเทศอาหรับ ล่วงเลยมานับทศวรรษแล้วนับจาก 9/11 แต่ดูเหมือนประวัติศาสตร์ยังไม่ขยับไปไหนเท่าใดนัก
ภาพซ้ายบน: เอกอัครราชทูต คริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ (ที่มา: