Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สำหรับผู้ปฏิบัติแล้ว เคร่งเครียต แน่น เกร็งไปหมด - พระครูเกษมธรรมทัต ติดต่อทีมงาน

"…ปัญหาของผู้ปฏิบัติบางท่านก็เช่น
อาจเกิดความเคร่งเครียดทางร่างกาย
ร่างกายมีความเคร่งตึง
โดยเฉพาะถ้าปฏิบัติมาหลาย ๆ วัน
จะรู้สึกว่าบางคนก็มีความเคร่งตึงที่ศีรษะ
ใบหน้า ลำคอ บางคนจะแน่นตึงหน้าอก



นี่ก็เกิดจากการที่การเจริญสตินั้นขาดความเป็นปกติ
คือการเจริญสติด้วยการเข้าไปบังคับเข้าไปจดจ้อง
เช่น บังคับลมหายใจโดยไม่รู้ตัวก็จะเกิดความอึดอัดแน่น
บางคนก็เจ็บที่ทรวงอกเจ็บที่หัวใจ
หรือบางคนเพ่งจิตแต่ไปจับที่หัวใจ
หรือบางคนกำหนดลมหายใจโดยไม่ได้ผ่อนคลาย
ลมเข้าไปก็ไปค้าง ลมเข้าไปใหม่ก็ไปอัด ทำให้เกิดความเจ็บ
หรือแม้แต่เรื่องของการกำหนดดูที่ไม่ได้ปล่อยวาง
ซึ่งการดูด้วยการบังคับจับจ้องจะเอาให้ได้
โดยไม่รู้ตัวว่านั่นคือการบังคับ
การพยายามที่จะจับอารมณ์
จับสภาวะจะให้เท่าทันก็เกิดความเข้าไปเข้มงวด
ระบบสมองก็เกิดความบีบตัวให้เกิดความตึง
เกิดความเกร็งในสมองกลายเป็น
ยิ่งปฏิบัติแล้วยิ่งเครียด
นั่นเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง



ที่จริงการเจริญวิปัสสนาเป็นเรื่องของ
การคลี่คลายความเครียด
ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้วสมองจะต้องคลี่คลาย
จะต้องโปร่งจะต้องเบา
ถ้าปฏิบัติแล้วเคร่งตึงแสดงว่า
มีความไม่ถูกต้องในการวางท่าทีของสติสัมปชัญญะ
มีความไม่ถูกต้องคือมีตัณหาเข้าไปบงการ
เมื่อตัณหาเข้าไปบงการก็จะเข้าไปล้ำหน้า
ไปจ้อง ไปจับ ไปบังคับ ทำให้สมองเกร็ง
พอสมองเกร็งก็ยิ่งปล่อยวางไม่เป็น
พอเกิดทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็จะดึงเอาจิตเข้าไปหาตัวมัน
เข้าไปรู้ ก็เกิดทุกข์ เกิดทุกข์ แล้วปล่อยวางไม่เป็น
ก็ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ ก็จะทำให้เกิดการปวดศีรษะได้
เพราะฉะนั้นการแก้ก็ต้องมีความละเอียดมาก
คืออย่าเผลอไปบังคับ อย่าเผลอไปเพ่งจ้อง



ยังปฏิบัติมาไม่มากก็ยังไม่เกิด
ถ้าปฏิบัติมามากแล้วเคยเป็นแล้ว
ผิดพลาดนิดเดียวก็จะเกิดอาการทันที
หรือถ้ากายเคร่งตึงก็จะเกิดขึ้นทันที
ถ้าปฏิบัติใหม่ ๆ เกิดเผลอบังคับมันก็ยังไม่เป็นไร
เพราฉะนั้น เมื่อเกิดอาการเคร่งตึงเคร่งเครียด
จะต้องมีความแนบเนียนมากในการปล่อยวาง
คือพลาดไม่ได้ เผลอบังคับนิดหนึ่งก็เกิดแล้ว
หากว่าเราปล่อยวางไม่เป็น
วางเฉยไม่ถูก ก็จะกลายเป็นปัญหา
แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าใครจะมาแก้ได้
ไม่มีใครมาทำให้เราได้
เราฟังคำสอนให้เข้าใจแล้วก็ต้องแก้ไขเอง
ต้องคลี่คลายต้องวางให้นุ่มนวล
ถือหลักว่าจะต้องไม่ฝืน
ไม่มีการเข้าไปบังคับโดยเด็ดขาด



ถ้ามีการบังคับนิดหนึ่งก็จะเกิดความเครียด
ถ้าเรามีอาการที่ติดอยู่ ยึดอยู่
จะต้องเริ่มต้นวางท่าทีตั้งแต่ต้นเสียใหม่
ทำเหมือนไม่ได้ทำ คือทำเหมือนไม่ตั้งใจจะทำ
ปล่อยวางทุกอย่าง ทำอย่างธรรมดา
ค่อย ๆ เป็น  ค่อย ๆ ไป  ถ้าหากว่ามันเกิดความเคร่งตึง
สติเข้าไปรู้ความเคร่งตึง ผ่อนตามไป ผ่อนตามไป
รู้สึกว่ามันจะเคลื่อนไปตรงไหน ก็ผ่อนตามไป
ความรู้สึกว่าจิตจะเคลื่อนไปตรงไหน
ก็รู้ไปตรงนั้นผ่อนตามไปตรงนั้น
ไม่มีการฝืน ไม่ฝืนทั้งทางกายและทางจิตใจ
ไม่มีการบังคับจิตว่าจะต้องมาดูเฉพาะตรงนี้
ความรู้สึกมันเคลื่อนไปตรงนั้นก็ต้องผ่อนไปตรงนั้น
ก็เหมือนกับเราคลาย สะสางสิ่งที่ยุ่งเหยิง
ผ่อนไปผ่อนมาก็หลุดไปหมด ต้องสังเกตว่าต้องไม่ฝืน



วิธีแก้อีกอย่างหนึ่งคือ
น้อมใส่ใจดูเฉพาะจิตเท่านั้นไม่ดูกาย
แบบนี้ก็ต้องเข้าใจในการดูจิต ต้องดูจิตเป็น
น้อมเข้าไปดูที่จิต มีการน้อมไปหน่อย
คือเลี่ยงทางกายเพราะเอาจิตไปดูกายแล้วมันไปบังคับ ไปสะกด
ก็เลี่ยงมาดูที่จิต การดูจิตใจเหมือนทิ้งความรู้สึกทางกายไป
จนกระทั่งรู้สึกมีสมาธิขึ้น เบาขึ้น กายเบา สมองคลี่คลาย
จิตใจคลี่คลาย ก็ปรับผ่อนมาดูกายดูจิตเหมือนเดิม
ทำเช่นนี้อาการเหล่านั้นก็จะคลี่คลายไปเช่นเดียวกัน
แต่การน้อมเข้าไปดูจิตก็ไม่ใช่การไปกดข่ม
ต้องน้อมรู้เบาๆ สัมผัสเบาๆ
เพียงแต่ไม่ดูกายนี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง



ถ้าใครเป็นน้อย ๆ ที่แน่นตึงหน้าอก
อาจใช้คำสมมติมาช่วยก็ได้ ถ้ายังวางไม่เป็น
คำที่มาช่วยได้คือคำว่าปล่อยวาง
คำว่าไม่เอาอะไร คำว่าปกติ คลี่คลาย เป็นต้น
คำไหนถนัดก็เอาคำนั้น ทำความรู้สึกในใจ
สอนใจตัวเองว่าไม่เอาอะไร
ปล่อยวาง ปล่อยวาง คลี่คลาย คลี่คลาย
อาการเหล่านั้นก็จะคลี่คลายได้



แต่การเจริญวิปัสสนาโดยมาก
ก็ไม่มีการหลบเลี่ยงอะไรทั้งหมด
ไม่มีคำบริกรรมอะไรทั้งหมด
แต่รับรู้รับทราบสภาวะที่เกิดขึ้นด้วยความปล่อยวาง
ด้วยความปกติ วางเฉย
เช่น ตึงก็รับรู้ว่าตึง รับรู้กายรู้ใจ
แต่ไม่ฝืนไม่บังคับ ปล่อยวางคลี่คลาย
ไม่หลบไม่หนี แต่ไม่บังคับ ไม่ยินดียินร้าย
ก็จะเป็นวิปัสสนาไปในตัว
เรียกว่าสติกำหนดดูสภาพธรรม
ความตึง ความแข็ง
ความทุกขเวทนาเหล่านั้น แต่ก็วางได้
สิ่งเหล่านั้นก็คลี่คลายพร้อมด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น
เห็นสภาวะเห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้น
ว่ามีความเปลี่ยนแปลง มีความเกิด มีความดับ
มีสภาพบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน…"






เนื้อหาข้อความ ตัดทอนจากพระธรรมเทศนาเรื่อง
"วิถีสู่ความดับทุกข์" โดยพระครูเกษมธรรมทัต (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)
ซึ่งอยู่ในครึ่งหลังของหนังสือเรื่อง "ชีวิตนี้เพื่อสิ่งใด" (หน้า ๓๐-๖๙)

อ่านแบบออนไลน์ได้ที่นี่
http://dhammaway.wordpress.com/2012/01/24/way-of-no-sadness/

หรือดาวโหลด pdf ได้ที่นี่
http://www.kanlayanatam.com/Mybookneanam/cheevitnee.pdf




.

แก้ไขเมื่อ 18 ก.ย. 55 10:47:06

 
 

จากคุณ : อาณาจักรสีเขียว
เขียนเมื่อ : 18 ก.ย. 55 10:46:41




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com