Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
การกินเจ เป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ? อย่างไร ? ติดต่อทีมงาน

การกินเจเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมา โดยเชื่อว่าเป็นการทำดีที่ทำให้ได้บุญอย่างหนึ่ง  เรียกกันติดปากว่าถือศีลกินเจ  ซึ่งก็มีผู้ให้ความเห็นว่า เพียงการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่ส่งผลให้ได้บุญแต่อย่างใด หนักกว่านั้นคือเห็นว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิกระทั่งส่งผลให้เป็นบาปไปเลยก็มี

การจะสรุปว่ากินเจเป็น "สัมมาทิฏฐิ" หรือไม่นั้น คงต้องทำความเข้าใจกับความหมายของคำๆ นี้ก่อน

ทิฏฐิ คือความเห็น และ/หรือ ความเชื่อที่โน้มนำไปสู่การปฏิบัติ หากเป็นความเหมาะสมนำไปสู่ความเจริญ เป็นมงคล ก่อเกิดประโยชน์สุข โดยไม่เกิดผลต่อเนื่องหรือผลข้างเคียงอันเป็นโทษ ก็นับเป็นความเห็นชอบหรือ "สัมมาทิฏฐิ"  อันมีที่มาได้จากสองทางคือ โดยศรัทธาและโดยปัญญา

ศรัทธาชอบ ในทางพุทธศาสนาก็ได้มีการแจกแจงเป็นตัวอย่างให้เห็น เช่น ความเชื่อในเรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น จัดได้เป็น สัมมาทิฏฐิ ระดับชาวบ้าน

ปัญญาชอบ เป็นการศึกษาหาความรู้ (อาจรวมถึงปฏิบัติ) และพิจารณาโดยปัญญาให้เห็นว่าสิ่งใดชอบ เหมาะควร อันอาจพัฒนาไปกระทั่งถึงระดับโลกุตระ หรือได้มรรคผล

...............................................................
"สัมมาทิฏฐิ" มิเพียงยึดคัมภีร์
จะกี่ทีก็ออกกางตำราอ้าง
เป็นเช่นนี้ย่อมมีแต่จะหลงทาง
ให้เวิ้งว้างเมื่อได้เห็นเป็นห่วงใย

แท้ประกอบด้วยสองส่วนล้วนธรรมดา
"ความรู้" มากอปรกับ "ความเห็น" ที่ใช่
สิ่งนี้ต้องใช้ปัญญาโปรดแน่ใจ
เป็นพื้นฐานขยายให้ได้เพิ่มพูน

ปัญญาปลูกปัญญาพาถูกต้อง
หากมัวท่องไม่เพียงพร่องปัญญาสูญ
สามแนวทางอย่างแนวธรรมปัญญาคูณ
ย่อมจำรูญผุดผ่องดังทองแท้

(หนึ่ง) "สุตะ" คือการเรียนฟังเขียนอ่าน
(สอง) "จินตา" การพิจารณาอย่างแน่วแน่
(สาม) ปฎิบัติอบรมอย่าเชือนแช
ข้อนี้แง่ลงมือทำย้ำ "ภาวนา"

เมื่อหมั่นปลูกปัญญาในทางควร
ที่มีล้วนแต่เป็นสิ่งที่เข้าท่า
อันเรียกว่า "สัมมัปปัญญา" (ปัญญาที่ถูกต้อง)
เป็นที่มา "สัมมาทิฏฐิ" เอย
...................................................................

สิ่งที่เป็นปัญหาในการใช้ธรรมะข้อนี้ คือ การตีความว่าความเห็นชอบ ต้องเป็นความเห็นที่เป็นจริง ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในการสนทนาหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่มีศรัทธาต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศาสนา(และทางการเมือง) ด้วยเชื่อในความจริงของสิ่งที่ตนมีศรัทธาอยู่

แม้ชีวิตควรดำเนินอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง  แต่โดยที่เวลาและสติปัญญาของมนุษย์มีจำกัด  หลายสิ่งหลายอย่างจึงไม่อาจจะรู้ได้ว่าความจริงคืออย่างไรกันแน่  พุทธศาสนาได้กำหนดเอาไว้ว่า "อจินไตย" นั้นยากที่จะรู้จะเข้าใจ  ทั้งไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต จึงควรเว้นการหาความจริงในเรื่องเหล่านั้น

...................................................................
อจินไตยตั้งไว้ให้รู้ว่า
อย่าไปหาคำตอบช่างยากเหลือ
แม้ผู้รู้มีจิตคิดจุนเจือ
โปรดได้เชื่อว่าบอกไปไม่เข้าใจ

สองอย่างแรกคือสภาวะยากหยั่งรู้
ลองตรองดูอย่างไรก็ไม่ได้
ทั้งความรู้ความรู้สึกคละกันไป
ยังไม่ใช่หนทางอย่างที่เป็น

ส่วนอีกสองประการยิ่งงานยาก
สุดลำบากเกินปัญญาจะแลเห็น
เราดังอยู่ในกระลาทั้งมืดเย็น
จะไปเค้นความจริงได้...จากทางใด​..............................

(อจินไตย ๔ ..ได้แก่...พุทธวิสัย ฌานวิสัย กรรมวิสัย โลกวิสัย)
...................................................................

"สัมมาทิฏฐิ" จึงควรเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิดความเชื่อสอดคล้องในทางเดียวกันเท่านั้น !  และความคิดความเชื่อที่ต่างแม้กระทั่งตรงข้าม ก็ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิเสมอไป !!  กระทั่งอาจเป็นสัมมาทิฏฐิได้เช่นกัน !!!

ความเชื่อเรื่องวิบากกรรม พระเจ้ามีจริง หรือกินเจแล้วได้บุญ  ก็อาจนับว่าเป็น สัมมาทิฏฐิได้ทั้งสิ้น  ขึ้นอยู่กับบุคคลที่เชื่อที่จะต่อยอดไปในทางที่ดีที่ควรต่อไป

สัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นชอบนี้ ไม่ควรเชื่อว่ามีแต่ในหมู่ผู้นับถือพุทธศาสนาเท่านั้น  แต่มีอยู่ทั่วไปแม้ในศาสนาหรือลัทธิอื่นๆ  เช่นเดียวกับเรื่องกรรม หรือบาปบุญ ฯลฯ ที่แม้จะไม่มีในกล่าวไว้ในหลายศาสนา แต่หากชาวพุทธเราเชื่อว่าจริงและนั่นเป็นความจริง ความจริงนั้นก็จะยังคงเป็นความจริงอยู่อยู่เสมอ  แม้กับผู้ที่ไม่ทราบหรือไม่เชื่อก็ตาม

มาว่าถึงการกินเจ (เฉพาะประเด็นไม่กินเนื้อสัตว์) กัน

การกินเนื้อสัตว์นั้นบาปไหม ? แน่นอนว่ามีคำตอบให้ไม่ยากเลยว่าไม่ใช่เรื่องบาปแน่  เพราะแม้พระภิกษุที่ถือศีลมากถึง ๒๒๗ ข้อ ก็ไม่มีข้อใดห้ามในเรื่องนี้เลย  การกินเนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งปกติของทั้งทางโลกและทางธรรม  เช่นนี้แล้วการกินเจจะได้บุญหรือ ?

การไม่กินเนื้อสัตว์ หากคิดว่าเป็นการไม่ทำร้ายหรือไม่ส่งเสริมให้ทำร้ายสัตว์แล้วจะได้บุญ  ก็ต้องเปรียบเทียบกับศีล ๕ ที่ให้ละเว้นการทำชั่ว  ซึ่งการไม่ทำชั่วไม่ได้หมายความว่าเป็นการทำดี  แต่เป็นกลางๆ คือไม่ดีไม่ชั่วเท่านั้น  แต่หากทำแล้วจิตใจผ่องใสมีความสุข ก็อาจนับได้ว่าทำตามหลักหัวใจของพุทธศาสนาถึง ๒ ใน ๓ ประการ คือ การเว้นชั่วและทำใจให้ผ่องใส  ซึ่งก็ดีเหมือนกัน  เป็นการดีต่อตัวผู้ปฏิบัติ

และหากคิดในแง่ของการช่วยเหลือสัตว์แล้ว  การไม่กินเนื้อสัตว์น่าจะเป็นช่วยเหลือสัตว์ได้มากยิ่งกว่าการไถ่ชีวิตโคกระบือจากโรงฆ่าสัตว์  เพราะแม้การกระทำดังกล่าวจะช่วยรักษาชีวิตสัตว์ได้บางตัว  แต่ก็จะมีตัวอื่นในจำนวนเท่ากันที่ต้องถูกฆ่าอยู่ดี  

เมื่อการกินเจเป็นการปฏิบัติตามศีลข้อหนึ่ง และทำให้มีจิตใจผ่องใสตรงกับแนวของพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่นับว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิแต่อย่างใด  และเมื่อเป็นสิ่งที่ทำแล้วห่างไกลจากอบาย ก็อาจนับได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิได้ด้วย

อาจมีข้อแย้งว่า การกินเจไม่มีทางเป็นสัมมาทิฏฐิไปได้  เพราะไม่เป็นการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่มรรคผล  ก็ต้องเข้าใจว่าสัมมาทิฏฐิเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น  เช่นเดียวกับ สัมมาอาชีวะ หรือสัมมาวาจา ฯ ที่ไม่มีข้อใดข้อหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่แนวคิดและความตั้งใจที่จะนำไปใช้ว่าอยู่ในระดับใด

และต้องเข้าใจอีกว่า องค์ประกอบทั้งแปดประการของมรรคนั้น  สามารถนำไปปฏิบัติและส่งผลดีได้ทั้งในระดับโลกียะ และโลกุตระ

จากคุณ : นายแจม
เขียนเมื่อ : 25 ต.ค. 55 23:08:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com