 |
มีของหลวงพ่อสรวง สอนไว้หน่อยน่ะครับ
==================================================== เมื่อฌานที่ ๔ เริ่มจับเราที่มือชาดีแล้วเกือบถึงข้อมือ หรือริมฝีปากเหน็บหรือลิ้นเหน็บ เราก็เริ่มเข้าอรูปฌานที่ ๑ อรูปฌานที่ ๑ อรูปฌานนี้ต้องเข้าเป็นตัว ๆ ไปให้ชัด อรูปฌานที่ ๑ ก็อัดลมหายใจเข้าให้เต็มที่แล้วพร้อมกับน้อมตัวไปข้างหน้า ถ้าเข้าได้ตัวของเราจะเหมือนกับพุ่งไปข้างหน้าแล้วยืดขึ้นข้างบนคล้าย ๆ กับว่าพ้นจากเขตตรงนี้ เมื่อถึงที่นั้นแล้ว อรูปฌานที่ ๑ เราถึงแน่แล้วก็จะปรากฏเห็นอากาศทั่วไป...แจ้งทั่วไปหมดเหมือนกับเราดูท้องฟ้า แต่ไม่ใช่เป็นสีเขียว มันเป็นสีขาว มองไปในทิศไหนเวิ้งว้างไปหมดที่จะขึ้น...(เข้า) อรูปฌานน่ะต้องบริกรรมภาวนาด้วย อรูปฌานที่ ๑ ใช้คำบริกรรมว่า "อากาโส อะนันโต" อากาโส อะนันโต อากาโส อะนันโต นั่งภาวนาอย่างนี้ เมื่อจิตตั้งดีแล้วจิตมันเป็นอุเบกขาอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อไปเข้าอรูปฌานอีกจิตนั้นยิ่งละเอียดกว่าอุเบกขาฌาน ๔ อีก ฉะนั้นจึงต้องอัดเข้าไป เมื่อถึงก็จะพบนิมิตเห็นอากาศเหมือนกับท้องฟ้าเว้งว้างไปหมด แล้วก็แจ้งทั่วไป หมายความว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่ออยู่อรูปฌานที่ ๑ นี้แล้วเราจะขึ้นไปอรูปฌานที่ ๒ ก็บริกรรมภาวนาอีก...ภาวนาว่า วิญญาณัง อะนันตัง วิญญาณัง อะนันตัง วิญญาณัง อะนันตัง แปลเป็นภาษาไทยก็ว่าวิญญานไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเราภาวนาว่า วิญญาณัง อะนันตัง ภาวนาอยู่อย่างนี้จิตแนบดีแล้ว เราก็อัดลมหายใจอีก...ไปข้างหน้าอีก ไปข้างหน้าน้อย ๆ แล้วก็เหยียดขึ้นไม่หนัก อรูปฌานที่ ๒ นี้ไม่หนัก...ไม่เหมือนอรูปฌานที่ ๑ เพราะเรามีกำลังของอรูปณานที่ ๑ มาอยู่ที่จิตเราแล้ว อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัง อะนันตัง หรือชื่อเต็มเรียกว่าวิญญานัญจายตนะ...ตามหลักพระปริยัติท่านเรียกชื่ออย่างนั้น ถ้าเราเข้าได้ถึงอรูปฌานที่ ๒ ก็จะมีนิมิตอีกเราเพ่งอยู่ข้างหน้าจะเห็นนิมิตเป็นเหมือนกับว่าแสงหิ่งห้อยมากมายเหลือเกิน หรือดวงไฟในท้องฟ้ายิบ ๆๆๆ อยู่ข้างหน้า มีแสงเป็นประกายแพรวพรายไปหมด นิมิตอันนั้นท่านหมายความว่า เปรียบเสมือนดวงวิญญาน ความจริงวิญญานของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมันไม่มีตัวไม่มีตน แต่นิมิตที่เกิดให้เห็นอย่างนั้นคือจิตเห็นจิตนั่นเอง วิญญานเราเห็นผู้อื่นนั่นเอง ความละเอียดของจิตเห็นกันได้
เมื่ออยู่ที่อรูปฌานที่ ๒ ดูพอควรแล้ว ตอนนี้มือของเราก็ชาขึ้นมา เท้าก็ชาแต่ตัวไม่แข็งยังอ่อนไหวได้ เราก็บริกรรมภาวนาอรูปฌานที่ ๓ อรูปฌานที่ ๓ ชื่อว่าอากิญจัญญายตนะ แต่คำบริกรรมไม่ได้บริกรรมตามชื่อของฌาน (คำภาวนา)...บริกรรมภาวนาว่า นัตถิ กิญจิ นัตถิ กิญจิ นัตถิ กิญจิ คือแปลว่าไม่มีอะไรแม้นิดหนึ่ง...แปลเป็นภาษาไทย เราบริกรรมอยู่อย่างนี้แล้ว เห็นว่าพอสมควรแล้ว เราก็อัดไปข้างหน้า...อัดลมหายใจ ต้องอัดลมหายใจทุกครั้ง อัดลมหายใจไปข้างหน้าแล้วมันก็พุ่งไปข้างหน้า...แล้วก็หยุดกึกถ้าถึงอรูปฌานที่ ๓ นี้แล้วจะมีลักษณะเห็นแจ้งอยู่ข้างหน้าหน่อยหนึ่ง...ไม่มาก คือนี่แปลว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดหนึ่งคือเห็นแต่เพียงมีความแจ้งอยู่ข้างหน้าแต่ไม่ใช่แจ้งเหมือนตะเกียงเจ้าพายุ...แจ้งธรรมดา ๆ เท่านั้น
เมื่อถึงอรูปฌานที่ ๓ ดีแล้วจะขึ้นอรูปฌานที่ ๔ ชื่อของอรูปฌานที่ ๔ ชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ เราบริกรรมว่า สันตัง ปะณีตัง ๆๆ ว่าเรื่อยไป ฌานนี้หนักมากเพราะละเอียดที่สุดและวังเวงเหลือเกิน รู้สึกว่าไม่รู้อยู่อยู่ที่ไหน วังเวงไปหมด จะรู้สึกมีความกลัวมีความหวาดเสียวเกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ละกิเลสได้แล้วไม่มีที่กลัวอะไร ที่จะกลัวกันมากที่สุดไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็คือกลัวตายนั่นเอง แต่สำหรับผู้ที่หมดกิเลสไม่มีกิเลสแล้วเป็นพระอรหันต์เจ้าแล้ว ความตายเป็นสิ่งธรรมดาไม่ได้มีครั่นคร้ามไม่มีหวาดเสียวไม่มีกลัวอะไรทั้งสิ้น การเข้าอรูปฌานที่ ๔ นี้ ถ้าเข้าถึงจะรู้สึกหายเข้าไปหมด ไม่รู้อยู่ที่ไหน และเดี๋ยวก็ถอยออกมา รู้สึกมีสัญญาจำนั่นได้นี่ได้นิดหน่อยว่า ที่เราเข้าไปนี้คืออรูปฌานที่ ๔ และเมื่อภาวนาอยู่เรื่อย ๆ เดี๋ยวก็หายอีก สัญญาไม่มี เวทนา...จะเป็นทุกขเวทนา สุขเวทนาต่าง ๆ ไม่มี...ดับสิ้น นี่สำคัญมาก...นี่เป็นอรูปฌานที่ ๔ เมื่ออยู่ที่นี่แล้วเราจะรู้สึกเดี๋ยวหายไป...เดี๋ยวคืนมา...รู้สึกตัว รู้สึกว่าเราอยู่ที่ฌานนั้นจำได้แล้วพอเราบริกรรมเรื่อย ๆ เดี๋ยวหายหมด ไอ้เรื่องลมหายใจหรือเรื่องรูปของเราไม่มีคำนึงถึงแล้วตอนนั้นเมื่อเข้าอรูปฌานแล้วรูปของเรานี้เราไม่ได้คำนึงถึงแล้ว จิตมันละไปในตัวจึงเรียกว่าอรูป อรูปคือไม่มีรูป
แล้วการออกก็เช่นเดียวกัน ลักษณะของการออกจากสมาบัติต้องถอยตั้งแต่อรูปฌานตัวที่ ๔ มาตัวที่ ๓ ถอยจากตัวที่ ๓ มาตัวที่ ๒ ถอยจากตัวที่ ๒ มาตัวที่ ๑ ถอยจากตัวที่ ๑ อรูปฌานออกมารูปฌานตัวที่ ๔ คืออุเบกขา และถอยตามลำดับลงมาเหมือนที่เราทำฌาน ๔ นี่เป็นอย่างนี้...ถ้าเราไม่ถอยออกมาตอนแรก ๆ เมื่อมาถึงที่อรูปฌานที่ ๑ จะมาสู่รูปฌานตัวที่ ๔ ของฌาน ๔ ถอยไม่ออก ตรงนี้เมื่ออาจารย์ทดลองทำตอนที่ยังมีกิเลสยังไม่หมดกิเลส ทดลองทำอรูปฌานดูเข้าได้ ๑, ๒, ๓ ถึงอรูปฌานที่ ๓ ตัวที่ ๔ ไม่กล้าเข้า เพราะมันวังเวงมากและกลัวตาย กลัว...ไม่รู้...ไม่รู้อยู่ที่ไหน และไม่รู้มันจะเป็นอะไรกลัวไปต่าง ๆ อาจารย์เคยถอยกลับมาถึงอรูปฌานตัวที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนะ และถอยออกมา...จะออกรูปฌานตัวที่ ๔ ถอยไม่ออก...ถอยติดเหมือนกับหลังติดกำแพง ถอยติด ๆๆ ทีนี้ก็นั่งเฉยอยู่...นั่งเฉย จิตมันก็มีความคิดบ้างนิด ๆ ว่า นี่มันจะบ้าหรือจะตายแน่...บางที ถ้าอยู่ตรงนี้ออกไม่ได้ แล้วเดี๋ยวมันก็ดับพรึบเพราะจิตนี้มีอุเบกขาเต็มที่ และมีรูปฌานด้วย มัน...โอกาสที่จะนึกคิดน่ะน้อยมาก เพราะจิตมันตั้งดิ่งแน่ว แต่มีความรู้สึกบางครั้ง...สติมันระลึกขึ้นมาได้ และจิตมันก็รับรู้...มันก็ว่านั่นแหละมันว่าคือจะบ้า ไม่บ้าก็ตายอะไรอย่างนั้นแหละตามที่นึกคิดขึ้นมา ขณะที่นั่งอยู่ประมาณ ๑๐ นาที ก็ได้ยินเสียงเกิดขึ้นมา เสียงนี้ก็คือเสียงของเราภายในนั่นเอง หรือธรรมในธรรมนั่นเองสอนให้เรา เสียงดังว่าเข้ามาอย่างไรก็ออกไปอย่างนั้น...รู้ทันที ปัญญา...ตัวปัญญาก็รู้ทันที คือเมื่อเวลาเราเข้าจากอุเบกขาฌาน คือฌาน ๔ ไปสู่อรูปฌานที่ ๑ เราอัดลมหายใจเข้าไป ฉะนั้นเมื่อเราจะออกเราก็อัดลมหายใจกระแทกออกมาถอยหลังออกมา พอคิดได้เช่นนั้นก็ทำดังที่คิด ก็ออกได้จริง ๆ เมื่อออกจากฌาน ๔ มาถึงข้างนอกรู้สึกเสียใจตนเองว่าไม่เรียนอะไรเสียให้มันละเอียดลออ เข้าไปนี่ถ้าออกไม่ได้ อย่างนั้นไม่กี่วันมันก็ตาย ก็เลยไปถามท่านอาจารย์ดู...อาจารย์ที่สอนกรรมฐานให้ว่า อรูปฌานถ้าเราออกไม่ได้จะทำอย่างไรอาจารย์ ท่านอาจารย์บอกว่ามันอยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน มันออกเอง ทีนี้ไอ้ตอนเราอยู่สี่ห้าวันน่ะ กินก็ไม่ได้กิน นอนก็ไม่ได้นอน ขี้อุจจาระปัสสาวะก็เหลวทั้งสิ้นมันจะอยู่อย่างไรเป็นเรื่องน่าคิด แต่อยู่น่ะอยู่ได้แน่เพราะตามพระสูตรก็กล่าวไว้ว่าพระที่เข้าสมาบัติ ๘ อยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน ไม่ต้องกินข้าวไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน นั่งเฉยอยู่เหมือนกับหลักปักอย่างนั้น ใครจะเอาไฟไปจี้ก็ไม่มีสะดุ้งเพราะตอนนี้ละ ทิ้ง ซึ่งรูปเสียแล้ว
================================================
ตัวเต็มๆจากที่นี่ครับ http://www.wattham.org/samabud.php
จากคุณ |
:
เกียดเกียด
|
เขียนเมื่อ |
:
1 พ.ย. 55 22:46:47
|
|
|
|
 |