รายละเอียดและข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน

    สำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน เนื่องจากหลายๆท่านต้องการที่จะไปปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ แต่ติดด้วยปัญหาหลายๆประการเช่น บางท่านยังไม่เคยรู้จักวัดแห่งนี้มาก่อน ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวได้ถูก, ไม่รู้จักทาง, ไม่ทราบข้อปฏิบัติในแต่ละวัน เกรงว่าจะทำไม่ได้ หรือปัญหาอื่นใดก็แล้วแต่ กระทู้นี้จะแนะนำรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้ให้ จะได้เดินทางไปปฏิบัติอย่างไร้ปัญหาใดใด ผมจะเขียนเป็นข้อๆเป็นอันดับจากการเริ่มต้นไปจนถึงสิ้นสุดก่อนกลับบ้านนะครับ

    1. การเตรียมพร้อมภายในจิตใจก่อนเดินทาง

    จุดเริ่มแรกสำหรับผู้ที่มีความต้องการจะไปปฏิบัติธรรม คือ ต้องระลึกเสมอว่า การไปครั้งนี้ เราไปเพื่อปฏิบัติธรรม, เพื่อลดกิเลส, เพื่อทำตนให้ดีพร้อม.. ไม่ใช่เป็นการไปเพื่อมุ่งหาความสบาย.. ดังนั้นขอให้อดทนและตั้งมั่น เพราะเมื่อสำเร็จการปฏิบัติภายใน 3/7 วันกลับมาแล้ว นั่นหมายถึงความสำเร็จที่รออยู่เบื้องหน้า ทุกๆอย่างในชีวิตจะสว่างสดใส มีคุณอนันต์มากมายสุดที่จะบรรยาย ที่ร้ายกลับกลายเป็นดี ที่เคยผิดหวังกลับสมหวัง ที่ต้องเคยทุกข์กลับมาสุขและชุ่มชื่น ขอเพียงแค่อดทนและตั้งใจปฏิบัติจริงเท่านั้น ไม่ใช่ไปเพื่อลองหรือทำเล่นๆ เพราะจะทำให้คุณเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ และก่อนมาควรละความกังวลทิ้งให้หมดเสียก่อน จะได้ไม่มาขัดขวางขณะปฏิบัติธรรม..

    2. สิ่งที่ควรทราบสำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิธีอื่นมาก่อน

    วัดอัมพวัน สอนกรรมฐานโดยใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป คือการเดินจงกรมกำหนดรู้การย่างก้าว และการกำหนดยุบหนอพองหนอขณะนั่ง ทำสลับกันไปอย่างละเท่าๆกัน ดังนั้นผู้ที่เคยฝึกปฏิบัติวิธีอื่นๆมาก่อนเช่น การนับลมหายใจ หรืออื่นๆ เมื่อมาถึงที่วัดนี้ คุณควรจะปรับการฝึกของตนเองให้สอดคล้องกับทางวัด ในตอนเริ่มแรกอาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย เช่นหลงลืมกำหนดการยุบหนอพองหนอ หันไปนับลมหายใจแทน ซึ่งเป็นปรกติสำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิธีอื่นมาก่อน แต่หลังจาก 1-2 วันมาแล้ว ก็จะเคยชินกับวิธีปฏิบัติของทางวัดเอง ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะปฏิบัติไม่ได้ รายละเอียดการปฏิบัติขั้นพื้นฐาน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://www.jarun.org/basic01.htm

    3. เริ่มเก็บของ, สิ่งที่ควรนำติดตัวไปและไม่ควรนำติดตัวไป

    สิ่งที่ควรนำติดตัวไป
    3.1 เสื้อผ้า : ขณะปฏิบัติธรรมที่วัด ผู้ปฏิบัติพึงใส่ชุดขาว โดยชุดของผู้ชายจะเป็นเสื้อแขนสั้นและกางเกงขายาว (ยางยืด / ผูกเชือก) ส่วนผู้หญิงจะเป็นเสื้อแขนยาว นุ่งผ้านุ่งพร้อมด้วยผ้าคาดบ่า.. ชุดปฏิบัตินั้นหาซื้อได้ตามร้านสังฆทานทั่วไปราคาไม่แพง หรือภายในวัดก็มีจำหน่ายเช่นกันโดยเอกชน และทางวัดเองก็มีบริการให้ยืมชุดปฏิบัติฟรีสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการซื้อ โดยจะต้องนำมาคืนก่อนกลับบ้าน.. การซักทำความสะอาดเสื้อผ้านั้น สามารถซักได้เองหรือฝากให้เอกชนทำแทนให้ โดยตกชุดละ 10 บาท โดยร้านเอกชนที่รับทำความสะอาดเสื้อผ้านั้น จะอยู่หน้าตึกที่สักการะแม่ใหญ่
    3.2 ยารักษาโรค : ถ้ารู้ว่าตนมีโรคประจำตัว ควรนำยาเหล่านั้นติดตัวไปด้วย อย่างไรก็ตามทางวัดมีตู้ยาสามัญประจำบ้านไว้บริการอยู่แล้วโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    3.3 นาฬิกาปลุก : ถ้ารู้ตนเองว่าเป็นคนนอนตื่นสายหรือไม่ตรงเวลา สามารถนำนาฬิกาปลุกไปช่วยปลุกได้ และไม่ต้องเกรงใจผู้ที่นอนร่วมอยู่ในห้อง เพราะเท่ากับเป็นการช่วยปลุกผู้อื่นไปในตัวด้วย
    3.4 เงิน : นำติดตัวไปเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แนะนำให้นำแต่เงินมาโดยไม่ต้องนำกระเป๋าสตางค์มาด้วย (เพราะอาจเกิดปัญหาทีหลังได้) เพื่อเป็นค่าชำระหนี้สงฆ์ก่อนกลับบ้าน ซึ่งแล้วแต่ความศรัทธาและกำลังทรัพย์
    3.5 บัตรประชาชน / บัตรอื่นๆที่ทางราชการออกให้ : เพื่อใช้ในการลงทะเบียนเข้าปฏิบัติธรรมกับทางวัด
    3.6 ของใช้ส่วนตัว : แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, แชมพู, แป้งทาตัว แต่พึงจำไว้เสมอว่า สิ่งของเหล่านี้ใช้เพื่อทำความสะอาดหรือเพื่อเหตุผลทางด้านสุขอนามัยเท่านั้น อย่าติดหรือหลงที่กลิ่นเพราะจะทำให้ผิดศีล 8 และสิ่งของเหล่านี้มีขายที่วัดเช่นกัน

    สิ่งที่ไม่ควรนำติดตัวไป ได้แก่ทรัพย์สินมีค่าต่างๆ มีบางครั้งอาจทำให้เกิดความกังวลได้
    3.7 พวกสร้อยคอ, สร้อยพระ, กำไล หรือแหวนต่างๆ ควรนำเก็บไว้ที่บ้าน เพราะขณะฝึกหลวงพ่อท่านจะแนะนำไม่ให่ใส่ จะเก็บไว้ที่กระเป๋าก็ทำให้กังวล ดังนั้นจึงไม่ควรใส่มา
    3.8 โทรศัพท์มือถือ ไม่ควรนำมา ที่วัดมีตู้โทรศัพท์สาธารณะให้เพื่อใช้สำหรับติดต่อภายนอก การพูดคุยระหว่างฝึกกรรมฐาน จะทำให้การฝึกไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะจิตจะฟุ้งซ่าน
    3.9 เครื่องประทินโฉมต่างๆสำหรับผู้หญิง เครื่องสำอางและสิ่งต่างๆเพื่อการแต่งหน้า ไม่ควรนำมาและไม่สามารถใช้ได้ขณะถือศีล 8 ที่วัด

    ต่อ -

    จากคุณ : นายประทีป - [ 11 ต.ค. 46 19:05:41 ]