ความเห็นผิดสุดโต่ง ๒ สาย

    จากหนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ ที่อธิบายถึงความเห็นผิดที่เกิดจากการเข้าใจเรื่องกรรมที่ผิดจนกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ และเข้าใจหลักอนัตตา ผิดๆ จนกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ ไป
    ---------------------------------------------------
    ซึ่งผมเห็นว่าส่วนหนึ่งก็เกิดจากคำสอนของอาจารย์ต่างๆที่ตั้งตน มาตัดสินพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์นั้นเอง
    -----------------------------------------------
    หน้า ๗๐/๒๔
    ------------ความหลงผิดอีกอย่างหนึ่งที่มักชักพาคนให้เข้าไปติด ก็คือ การแล่นจากสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่งไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ คนพวกหนึ่งยึดติดถือมั่นในตัวตนว่าเป็นของจริงแท้คงที่ถาวร สัตว์บุคคล เป็นตัวตนอย่างนั้น ซึ่งมีจริง มิใช่สิ่งสมมติ สัตว์ บุคคล มีตัวจริงตัวแท้ที่ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าคนจะตาย ชีวิตจะสิ้นสุด ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวตน ดวงชีวะ อาตมัน หรืออัตตา (soul) นี้ ก็จะคงอยู่อย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลายไปด้วย บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้ไปเวียนว่ายตายเกิด บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้รออยู่เพื่อไปสู่นรกหรือสวรรค์นิรันดรสุดแต่คำตัดสินของเทพเจ้าสูงสุด ความเห็นของคนพวกนี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ หรือ สัสสตวาท แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตาเที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป ส่วนคนอีกพวกหนึ่งก็เห็นว่ามีตัวตนเช่นนั้นอยู่ คือยึดถือสัตว์ บุคคล เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่สัตว์ บุคคลนั้น ไม่เที่ยงแท้ถาวร สูญสลายไปได้ เมื่อคนตาย ชีวิตจบสิ้น สัตว์บุคคล ก็ขาดสูญ ตัวตนก็หมดไป ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ หรือ อุจเฉทวาท แปลว่า ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่าสัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตาไม่เที่ยงแท้ถาวร ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วก็สูญสิ้นไป แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในทิฏฐิ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ (เวียนว่ายตายเกิด) ถ้าเข้าใจพลาดก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง ** ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ จุดพลาดที่เหมือนกันของทิฏฐิสุดโต่งทั้งสองอย่าง ก็คือ ความเห็นว่า หรือยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคลที่เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่พวกหนึ่งยึดถือว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนนั้นคงตัวอยู่ยั่งยืนตลอดไป ส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นไปว่า สัตว์ บุคคล ตัวตนที่มีอยู่นั้นมาถึงจุดหนึ่งตอนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกายแตกสลาย ชีวิตนี้สิ้นสุด สัตว์ บุคคล ตัวตน หรืออัตตา ก็ถูกตัดขาดสูญสิ้นไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกพวกหนึ่งที่เห็นเลยเถิดไปอีกทางหนึ่งว่า ความไม่มีตัวตนก็คือ ไม่มีอะไรเลย ความไม่มีสัตว์ บุคคล ก็คือไม่มีผู้รับผล เมื่อไม่มีใครรับผล การกระทำใดๆก็ไม่มีผล ทำก็ไม่เป็นอันทำ ไม่มีความรับผิดชอบต่อกรรม หรือพูดง่ายๆว่ากรรมไม่มีนั่นเอง ความเห็นและความยึดถือแนวนี้ ถ้าแยกละเอียดออกไปก็มี ๓ ทิฏฐิ คือ พวกหนึ่งเห็นว่าทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือว่าการกระทำไม่มีผล เรียกชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ หรือ อกิริยวาท พวกหนึ่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอย สุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย พูดง่ายๆ ว่าเห็นว่าไม่มีเหตุ เรียกชื่อว่า อเหตุกทิฏฐิ หรือ อเหตุวาท และพวกหนึ่งเห็นว่าหรือถือว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักสาระได้ เรียกชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ หรือ นัตถิกวาท

     
     

    จากคุณ : เฉลิมศักดิ์1 - [ 25 ม.ค. 47 06:18:54 ]