ความคิดเห็นที่ 35
รายงานกรณีวัดพระธรรมกาย ของ คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
ตอนที่ 1
1. ด้านศาสนา
1.1วิชชาธรรมกาย
วัดพระธรรมกายได้ยึดหลักคำสอนรากฐานเรื่อง วิชชาธรรมกาย ซึ่งพระมงคลเทพมุน (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2460
โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของวิชชาธรรมกายนี้ และนับแต่พระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว 500 ปี วิชชานี้ยังมีผู้ปฏิบัติรักษากันต่อมาดีอยู่ แต่หลังจาก 500 ปีแล้ว วิชชานี้หายไปเพราะไม่มีผู้ปฏิบัติสืบต่อมา ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก แต่ยังเป็นบุญของเราอยู๋ ที่พระคุณท่านค้นคว้าคืนมาได้ นำมาบอกไว้ให้แก่พวกเรารักษากันต่อไป
วิชชาธรรมกาย ที่วัดพระธรรมกายใช้เป็นหลักการปฏิบัติธรรมอยู่ปัจจุบันนี้ ถือแนวทางการสอนว่า ในร่างกายของเรามีกายต่าง ๆ ซ้อน ๆ กันอยู่ตั้งแต่หยาบสุดจนละเอียดสุดอยู่ 18 กาย ธรรมกายเป็นกายในกายที่ละเอียดที่สุดของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นรูปพระพุทธปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม บริสุทธิ์ใสเป็นกระจก ธรรมกายเป็นอัตตาแท้ วิธีปฏิบัติให้เริ่มดูโดยนึกกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใส ให้ดวงแก้วนั้นมาอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดเหนือสะดือ 2 นิ้ว บริกรรมว่า สัมมา อะระหัง และปฏิบัติไปเรื่อยจนกว่าจะถึงธรรมกาย อรหัต ละเอียด [ พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว), พระแท้,มูลนิธีธรรมกาย, 2540, หน้า 300 365 ; ประวัติผลงานและธรรมเทศนา 63 กัณฑ์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ; พระมงคงเทพมุนี (สด จันทสโร), ทางมรรคผลนิพพาน, 2522, หลังใบรองปก]
(**อรหัตหมายถึง ความเป็นพระอรหันต์ : ผู้ได้ อรหัตผล คือผู้บรรลุแล้วเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสและอาสวะทุกประการ**)
ในพระไตรปิฎกเถรวาท ไม่มีวิชชาธรรมกายดังมีหลักการและวิธีปฏิบัติที่กล่าวอ้างข้างต้น มีแต่คำว่า ธรรมกาย ดังพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 13 มกราคม 2542, หน้า 2 และหน้า 3 ดังนี้ คำว่า ธรรมกาย แปลว่า พระนามของพระพุทธเจ้าอันเป็นที่รวมและหลั่งออกมาของธรรม ซึ่งมีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกเพียง 4 แห่งเท่านั้น ครั้งแรกเพื่อใช้แยกให้เห็นชัดเจนระหว่างศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพราหมณ์ถือว่าพรหมสูงสุด แต่ศาสนาพุทธถือว่าธรรมสูงสุดและพระภิกษุคือทายาทของธรรมและเกิดจากปากของตถาคตคือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงวางหลักการนี้ ซึ่งก็คือเกิดจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมกาย ... และเป็นคำที่ไม่ได้วิเศษอะไรนอกเหนือจากเป็นการตรัสขึ้นมาเพื่อแยกให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างศาสนาพุทธและพราหมณ์เท่านั้น ต่อมาคำว่า ธรรมกาย ก็มาใช้ในเชิงคำกวีคำประพันธ์และคำอุปมาอุปไมยเพื่อให้เกิดความไพเราะ... ; สรุปตามนัยอรรถกถา ธรรมกายก็คือโลกุตตรธรรม 9 หรืออริยสัจ [พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538 , หน้า 106]
ต่อมา พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าทำไมถึงไม่มีวิชชาธรรมกายในพระพุทธศาสนาตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ในหนังสือ กรณีธรรมกาย (เอกสารเพื่อพระธรรมวินัย, บริษัทสหธรรมิก จำกัด, กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 95-97) ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
คำว่า ธรรมกาย มีความหมายอย่างที่กล่าวมานี้ คือเดิมนั้นไม่ได้เป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่เป็นการกล่าวขึ้นในสถานการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะในเชิงเปรียบเทียบ และข้อสำคัญก็คือ ไม่ใช่เป็นหลักธรรมอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการกล่าวรวม ๆ เช่น อย่าง โลกุตรธรรม ก็หมายถึงโลกุตตรธรรมที่พูดแบบคลุม ๆ รวม ๆ ทั้งหมดทั้งชุด
อนึ่ง การเห็นธรรมกายที่ว่านี้ ท่านก็อธิบายว่าได้แก่การเห็นอริยสัจจ์ 4 นั่นเอง ต้องเห็นด้วยปัญญาจักษุ คือ ด้วยตาปัญญา เราเห็นรูปกายด้วยตาเนื้อ แต่จะเห็นธรรมกายด้วยตาปัญญา ไม่ใช่เห็นด้วยสมาธิ ถ้าเห็นด้วยสมาธิก็จะเป็นการเห็นนิมิตอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
สมาธินั้นเราใช้เพียงเป็นตัวช่วยทำให้จิตพร้อมที่จะทำงานในทางปัญญา ซึ่งจะทำให้มองเห็นธรรมกายด้วยปัญญานั่นอีกทีหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีคำว่า วิชชาธรรมกาย เพราะธรรมกายเป็นเพียงถ้อยคำอย่างที่กล่าวมาแล้ว ใช้เฉพาะในบางกรณี และใช้เชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งเป็นคำกล่าวคลุม ๆ รวม ๆ
ในหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น คำว่า วิชชา ท่านมีหลักวางไว้แล้ว ในคำวิชชา 3 ซึ่งหมายถึง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จตุปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ หรือวิชชา 8 ประการ ที่ขยายออกไปอีก ซึ่งก็ไม่มีคำว่าวิชชาธรรมกายนี้ หมายความว่า คำว่า วิชชา ของท่านมีอยู่แล้ว และวิชชาเหล่านี้ก็ยังปรากฏในคำสอนอยู่ครบถ้วน และเป็นตัวหลักที่แท้ของการที่จะให้บรรลุธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนาตลอดจนบรรลุนิพพาน ไม่มีวิชชาอะไรที่หายไป จึงไม่ต้องมีวิชชาอะไรมาเพิ่มเติมอีก
จะต้องย้ำว่า ธรรมกาย เป็นคำพูดรวม ๆ หมายถึงองค์ธรรมหลายอย่าง ประมวลเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะมรรค ผล นิพพาน
หลักธรรมสำคัญ ๆ เหล่านั้น มีวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุหรือเข้าถึงชัดเจนจำเพาะอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกายซ้อนขึ้นมาอีก
อนึ่ง พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ได้เลิกการปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกาย และได้มาปฏิบัติตามแนวยุบหนอ พองหนอ กับพระอุดมวิชาญาณเถร (โชดก ญาณสิทธิ) สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2498 [พระเทพสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทธิ), บันทึกคำถาม-คำตอบเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน, 2529]
ทางวัดพระธรรมกายได้ส่งเอกาสรชี้แจงมายังคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ) อดีตสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงมีพระนิพนธ์สนับสนุนวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสด ไว้นั้น ซึ่งประเด็นนี้พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์ดังกล่าว ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับการวินิจฉัยพระธรรมวินัยที่เรียกว่า มหาปเทส 4 จัดว่าพระนิพนธ์นั้นเป็นหลักฐานอันดับที่ 4 หรืออันดับสุดท้าย จึงไม่สามารถลบล้างหลักฐานซึ่งมีความสำคัญเรียงตามลำดับ 3 อันดับต้นได้ ดังที่ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน ในหนังสือ กรณีธรรมกาย(อ้างแล้ว, หน้า 74-75) ดังนี้
ในการวินิจฉัยว่า อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัยอย่างนี้ ท่านมีหลักเกณฑ์วินิจฉัย ซึ่งเป็นเครื่องรักษาพระศาสนาตลอดมาเป็นเครื่องตัดสิน ... มหาปเทส 4 ทั้ง 3 ชุด
สำหนักกรณีอย่างนี้ ก็ใช้ชุดที่ 3 อันได้แก่ 1. สุตตะ คือ พระไตรปิฎก 2. สุตตานุโลม คือ มหาปเทส (ยอมรับอรรถกถาด้วย) 3. อาจริยวาท คือ อรรถกาถา (พ่วงฎีกา อนุฎีกา) 4. อัตตโนมัติ คือ มติ ทัศนะ ความเห็นของท่านผู้รู้ เป็นต้น
ข้อ 1. ตัดสินข้อ 2-3-4 ข้อ 2. ตัดสินข้อ 3-4 ข้อ 3. ตัดสินข้อ 4
ทัศนะ ความเห็น คำอธิบายของพระเถระ และพระมหาเถระทั้งหลาย เป็นต้น จัดเป็นอัตโนมัติ (ท่านไม่ยอมรับเป็นอาจริวาทเพราะอาจริยวาทนั้นจับเอาขั้นเป็นอาจริยวงศ์)
ในการวินิจฉัยเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เมื่อมีสุตตะจนถึงอาจริยวาทอยู่แล้ว ก็นำมาตัดสินทีเดียว ไม่ว่าจะมีทัศนะของพระเถระ พระมหาเถระ เป็นต้น กี่ร้อยกี่พันอย่าง ก็จบทีเดียว และไม่มีประโยชน์ที่จะยกมาอ้างต่อไป
มติ ทัศนะ ความเห็น คำอธิบายของพระเถระ พระมหาเถระ ครูอาจารย์นั้น มีไว้สำหรับเป็นเครื่องช่วย หรือเป็นเครื่องร่วมในการศึกษาพระธรรมวินัยแก่เรา แต่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์วินิจฉัยพระธรรมวินัยไม่ได้ มีแต่ต้องเอาธรรมวินัยมาวินิจฉัยครูอาจารย์
จากคุณ :
สุธี
- [
29 มี.ค. 48 09:21:18
]
|
|
|