CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    คำตอบ....ของคนโง่ กับ คำถาม....ของคนฉลาด

    สิ่งที่ท่าน จะได้อ่านต่อไปนี้เป็น มุมมอง ความเข้าใจ ของคนโง่คนหนึ่ง ถ้าท่านอยากจะอ่านมันอย่างสบายใจ ขอแนะนำให้ปรับจิตปรับใจ ให้โง่พอๆกัน หรือ โง่กว่าเสียก่อน มิฉะนั้น ท่านผู้รู้ ผู้ฉลาดทั้งหลาย จะเกิดทุกข์ตามมาเป็นแน่ (แต่จะรู้ว่าเป็นทุกข์ หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ถ้าท่านปรับจิตปรับใจให้โง่ไม่ได้ ท่านก็..ไม่ควร...ที่จะอ่าน

    1. นิพพาน อัตตา อนัตตา

    ปัญหา Top Ten อันมีที่มาจาก การที่ผู้คนพยายาม ที่จะนำสมมติภาษาไปแทนตัวสภาวะ โดยคิดว่า คำๆนั้น อธิบายสภาวะนิพพาน ได้ถูกต้องมากกว่า ซึ่งมันแทนกันได้ในการสื่อสารเท่านั้น แต่ไม่ตรงกับตัวสภาวะ 100 %

    ถ้าท่านแปล “อัตตา” ว่า มีตัวตน และแปล “อนัตตา” ในทางตรงกันข้าม

    ผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง จะไม่มอง คำสองคำนี้ในลักษณะ ของคู่ตรงกันข้าม แต่คนเหล่านั้นรู้ว่า สภาวะนั้น "มีตัวตน" แต่เป็นตัวตนในลักษณะของสภาวะทางจิตใจ และการที่จิตใจจะเปลี่ยนไปเป็นสภาวะ ดังกล่าวนั้น จะต้องผ่านกระบวนการ “ทำตน ให้ไม่มีตัวตน” เสียก่อน (ซึ่งคำๆนี้ก็เป็นสมมติภาษาเช่นกัน ที่ใช้อธิบายโดยสรุป วิธีปฏิบัตแบบกว้างๆ)

    บุคคลผู้มีปัญญาเหล่านั้นรู้ว่า ไม่ว่า อัตตา หรือ อนัตตา ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน ยิงไปสู่จุด จุดเดียวกัน แต่สมมติภาษานั้น อธิบายมาจาก คนละด้านของจุดจุดนั้น

    ถ้าท่านแปล คำสองคำนี้ไปในความหมาย อย่างอื่น ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย ก็จะไปติดกับ ความหมาย ของสิ่งที่ท่านแปลอยู่ดี ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร ต่อการทำจิตทำใจ ให้เข้าถึงสภาวะนั้น เพราะหัวใจมันอยู่ที่ การปฏิบัตอันถูกต้อง แม้จะประกาศปาวๆว่า เป็นไปเพื่อสอนบุคคลอื่นก็ตาม หรือเพื่อ ทำความเข้าใจให้ตรงกันก็ตาม ในเมื่อตัวเองยังไม่รู้ รู้ไม่ตรง จะไปสอนคนอื่นได้กระนั้นหรือ อาจมีบางท่านกล่าวว่า ท่านถึงแล้ว จึงต้องการนำมาบอก ผู้ที่ถึงแล้วนั้นจะเลยระดับการหลุดสมมติไปแล้ว 2 ขั้นใหญ่ๆ พวกเขาจึงไม่มานั่งเถียงกันเรื่องสมมติภาษาเช่นนี้หรอกท่าน

    ขอเตือนอีกครั้ง ข้อความนี้ เหมาะ กับบุคคลบางประเภทเท่านั้น  บุคคลเหล่านั้น จะใช้สมมติ เหมือนคนทั่วไป แต่ใจของเขาเหล่านั้น จะไม่เข้ายึด เข้าจับกับสมมติอีกแล้ว โดยเฉพาะ สมมติภาษา กับ สมมติพูด

    2. ปฏิจจสมุปบาท

    เมื่อมีผู้ถามถึงสิ่งนี้ จะมีบางคนตอบว่า “ไม่ได้เข้าใจ ยากเย็นอะไร” จากนั้นมักจะมีผู้หวังดี แย้งขึ้นมาทำนองว่า “ดูก่อนธรรมนี้ลึกซึ้งยิ่งนัก ปรากฏไว้ชัดในตำรา”

    ปฏิจจสมุปบาท.....อวิชา.....โมหะ.....บาป.....โง่  ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นการอธิบายลงลึกไปที่ สิ่งเดียวกัน
               โมหะ คือ ไม่รู้ตัว ไม่รู้ใจ ตัวเอง
               อวิชา คือ ไม่รู้ความคิดตัวเอง ไม่รู้ ที่เกิด ของต้นตอทั้งหมด ของทุกข์ และ ไม่
                             รู้วิธี ที่ทำให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้
    ปฏิจจสมุปบาท คือ การอธิบายสภาวะ อันเกิดจาก จิตใจ มี โมหะ และ อวิชาเต็ม ผู้ใดยังขบคิดเกี่ยวกับธรรมนี้ ถือว่าอยู่ในวงจรของปฏิจจสมุปบาท เพราะไม่รู้จริงนั่นเอง และ ตัวจริงของมัน คือตัวสภาวะ ไม่ใช่ตัวหนังสือ หรือตัวความคิดความเข้าใจ ที่อยู่ในสมองคนที่พิจารณา

    สมการทางช้างเผือก ของไอสไตน์ ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้ให้ขบคิด แต่มีไว้ เพื่ออธิบายความจริง ของทางช้างเผือก แต่ละบรรทัดที่แสดงคือ การอธิบาย ไม่ใช่ตัวทางช้างเผือก ไม่ใช่ตัวจริงของสภาวะของมัน แต่คนไปเข้าใจว่าเจ้าสมการนั้นคือ ตัวทางช้างเผือก จึงติดอยู่ตรงนั้น

    ผู้ที่เข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท จะไม่มองในรายละเอียด แต่สัมผัสแบบองค์รวม สัมผัสที่หัวใจของมันทันที และจะ รู้ขึ้นมาเอง รู้ขึ้นมาเฉยๆ   รู้จาก การผ่านการปฏิบัตอันถูกตรง มิได้รู้จากการขบคิด พิจารณาเอาเอง และเมื่อรู้สิ่งนี้ขึ้นมา เขาคนนั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คนอื่นๆ เรียกมันว่า ปฏิจจสมุปบาท และมีเขียนไว้ในตำรา ว่า ลึกซึ้งยิ่งนัก

    3. ปัญญา

    ปัญญาที่ 1 คือ ความสามารถในการจัดการกับสภาวะทุกข์ อันเป็นไปเอง เกิดขึ้นโดยทันทีพร้อมกับสภาวะทุกข์เสมอ  จัดการรวดเร็ว เด็ดขาด แม่นยำ ไม่มีการออมมือ ไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน เพราะมันเตรียมพร้อมจะจัดการอยู่แล้วตลอดเวลา ปัญญาแบบนี้ ใช้จัดการทุกข์ได้ 100 %

    ปัญญาที่ 2  คือ ความรู้ในลักษณะการสังเกตจากปฏิบัต ปัญญาแบบนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในเรื่องนั้นๆ ครั้งต่อๆมา จะเป็นเพียง การคิดถึงในสิ่งที่ได้รู้ไปแล้วเท่านั้น เมื่อทุกข์เกิด จึงทำได้เพียง คิด หรือบอก กับตัวเองถึง สิ่งที่รู้ในหัวเท่านั้น ปัญญาแบบนี้ ใช้จัดการทุกข์ได้ 10 % แต่ปัญญาตัวนี้จะพัฒนาตัวเองไปเป็นปัญญาที่ 1 และปัญญาตัวนี้ เป็นต้นตอของ วิปัสสนูอาการ

    ปัญญาที่ 3  คือ ความรู้ที่ได้มาจาก การอ่านมาก ฟังมาก คิด พิจารณา เทียบเคียง เอาเอง จากตำรา หรือครูบาอาจารย์ คนส่วนใหญ่มีปัญญาลักษณะนี้ คนที่มีลักษณะปัญญาแบบนี้ เป็นคนที่สังคมมักเรียกว่า ฉลาด รอบรู้ เก่ง แต่คนแบบนี้ มีอยู่ทั่วไป และมักยึดติดในความรู้ของตนเอง ว่าถูกต้อง เมื่อมีการถกเถียงในเรื่องที่ตนรู้มาก่อน จึงมักจะกระโจนลงไปเล่นด้วย โดยไม่รู้ว่าก่อทุกข์ให้ตน บุคลิกทั่วไปคือ วางตนในลักษณะสอนคนอื่น ปัญญาแบบนี้ ใช้จัดการทุกข์ได้ 1 %

    ทุกข์ในบทความนี้คือ ทุกข์แท้ๆ มิใช่ ทุกข์ตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน

    4. สมถะ วิปัสนา

    ลักษณะของสมถะ  “พยายามทำจิตทำใจให้สงบ ”  แล้วเริ่ม “คิด พิจารณาเอาเอง ”  ถ้าไม่สงบ จะทำไม่ได้ เมื่อมีความรู้ใดเกิดขึ้นมา ไม่มีความมั่นใจ ต้องคอยถามคนโน้น คนนี้ เพื่อยืนยัน ความถูกต้อง  ผลของการทำสมถะ คือความอดทน ต่อสิ่งแวดล้อมในขณะปฏิบัตเป็นยอด แต่ไม่เกิดปัญญา เมื่อเผชิญโลกภายนอก มักสู้อารมณ์ไม่ได้

    ลักษณะของวิปัสนา  มุ่งไปที่ “รู้ ” แต่ไม่ใช่ “เพ่งให้รู้ ” ไม่จำเป็นต้องสงบ เพราะ มันเป็นการสงบ อยู่บนสภาวะที่สงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ ไม่ต่างกัน และ ไม่พยายามทำให้ สิ่งใดๆเกิดขึ้นมา ไม่คาดหวังสิ่งใด เพียงแต่รู้เฉยๆ รู้ล้วนๆ รู้เพรียวๆ ผลของการทำวิปัสนา คือเกิดปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริง มั่นใจในสิ่งที่รู้ ไม่ต้องถามใคร  ไม่ต้องอาศัยสติปัญญา เพราะสติปัญญามันมีมาเอง

    5. ปริศนาเซน และการสอน โดยการไม่สอน ไม่พูด

    ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้  เกิดปัญหาขัดแย้งมากมาย นั่นเพราะท่านไปติด อยู่กับสมมติของภาษา ติดอยู่กับสิ่งที่รู้อยู่ก่อน มองไม่ออกถึงแก่น ของสิ่งที่เป็นจริง “การรู้ของจริง กับการจำของจริงมาพูด ” มันเป็นคนละเรื่องกัน ของจริงจะต้องรู้อย่างเดียวกัน  (ของจริงในที่นี้คือ สภาวะ) แต่อาจอธิบายด้วยสำนวนภาษาที่ต่างกัน ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะเข้าใจกันได้

    ผู้รู้ใช้ภาษาสมมติ แบบไม่แยแส เป็นตัวของตัวเอง  เพราะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง มิได้จำคำที่ไหนมาพูด เมื่อจะสอนใครจึงรู้ถึงข้อจำกัด และ ความสามารถของสมมติภาษา จะสร้างความสับสนทางการตีความมากกว่า จะเกิดประโยชน์ในการปฏิบัต

    ปริศนาธรรมของเซน  ไม่ได้ให้มีไว้หาคำตอบเป็นสำคัญ แต่มีไว้สำหรับช่วงท้ายที่สุดในการตระหนักรู้ ว่าทำไม คนสอนถึงให้ปัญหานี้มา เพราะ  ณ. จุดนั้น ผู้เรียนจะเข้าใจว่า อะไรคือ ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวง

    ปริศนาธรรมมีไว้เพื่อเปลี่ยนคนให้เป็น โสดาบัน ด้วยตัวของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อทำผู้ขบคิดให้เป็น อรหันต์ แต่หลังจากเป็นโสดาบันแล้ว จะพอมองออกเองว่า จะเดินไปจนสุดทางทำได้เช่นไร  เมื่อนั้นปริศนาธรรมก็จะทำหน้าที่ต่อคนๆนั้นโดยสมบรูณ์


    6. สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ

    ใครเป็นผู้กำหนดสิ่งนี้ ครู? ตำรา? คิดเดาเอาเอง?

    ทางใดก็ตามที่ทุ่มเทปฏิบัต แล้ว ยังผลให้เกิดปัญญา จัดการสภาวะทุกข์ได้ ทางนั้นนั่นแหละ สัมมาทิฐฐิ ท่านต้องเห็นผลของการทำด้วยตัวเอง มิใช่ไปจำคำใคร ข้อความจากไหนมาพูด หรือรอให้คนอื่นมาบอกมาทัก

    ทางใดก็ตามที่ปฏิบัตแล้ว  ไม่เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ตัน มืด ไม่ก้าวหน้า  (ก้าวหน้า หมายถึง สามารถจัดการสภาวะทุกข์ได้ลึกลงไปเรื่อยๆ) เมื่อรู้แล้วมัวแต่เอาไปคุย ไปโม้ให้คนอื่นฟัง นั่นแหละมิจฉาฑิฐิ จัดการทุกข์ได้แบบ ถู ไถ

    สองทิฐินี้ ไม่มีใครบอกได้ ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างไหนถูกอย่างไหนผิด ท่านต้องประจักษ์ด้วยตัวเอง รู้ด้วยตัวเอง พิสูจน์เอาเอง  แต่บางคนไปเชื่อคนอื่น  เพราะคนนั้นเป็นอาจารย์ เค้าดัง ใครๆก็ไปหาเค้ากัน เค้าอาจจะถูก แต่ถูกแบบของเค้า ใช่ได้กับเ้ค้า ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับท่านด้วย
    หรือเพราะตำราว่าไว้ เขียนมาแล้ว เป็นพันๆปี เคยมีปรากฏมาก่อนกระนั้นหรือ ว่า พระพุทธเจ้า, เว่ยหล่าง หรือคนอื่นๆที่ไปถึงแล้ว ณ.ที่แห่งนั้น  อ่านตำรา เอาของในตำรามาฝึก จนเกิดสภาวะไร้ทุกข์  ถ้าท่านรู้จักสังเกต ท่านจะเห็นว่า คนเหล่านั้นเรียนจากตนเอง คิดค้นเทคนิคเอาเอง รู้เห็นเอง เข้าใจเอง รู้จักพลิก ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาอ่านตำรา หรือตั้งหน้าตั้งตาตอบคำถามให้คนอื่น และ คนที่เข้าใจสิ่งนี้ จะไม่ทุ่มเถียงกับผู้ใด จะไม่สอนอะไรอย่างอื่น นอกจากการชี้ไปที่แก่นของการปฏิบัต เพื่อการดับทุกข์

    สิ่งที่อยู่ในตำราเป็นเพียงผลของความรู้ ที่เกิดตามมาจากการปฏิบัติ ของผู้ที่ทำมันจบไปแล้ว ไม่ใช่หัวใจของธรรมะ ไม่ใช่ว่าจำได้ทุกคำ ทุกหน้า แล้วจะหมดซึ่งทุกข์ ถ้ามันง่ายเฉกเช่นนั้น คงไม่มีปัญหาใดๆหรอก ที่มันมีก็เพราะว่า ของในตำรา คำสอนของครูบาอาจารย์ กับ การปฏิบัตจริงมันเป็นคนละเรื่องกัน

    คำส่งท้าย

    ไม่ต้องแปลกใจถ้าท่านอ่านแล้วไม่เข้าใจ เกิดคำถาม หรือต้องการโต้แย้ง รับไม่ได้ ไม่มีเหตุผลอื่นใด จะอธิบายได้ดีไปกว่า ท่านฉลาดเกินไป เฉียบแหลมเฉียบคมเกินไป ลึกล้ำเกินไป และมีความสามารถมากเกินไป และมันยากเกินไป ที่จะเข้าใจได้ใน เรื่องโง่ๆ

    จากคุณ : koknam - [ 5 ต.ค. 48 22:22:28 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป