Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
++++++ ข้อแนะนำในการเขียนตอบข้อสอบ "อัตนัย" ++++++ vote  

การเขียนตอบข้อสอบแบบอัตนัยนั้นเป็นศิลปะแบบหนึ่งซึ่งเป็น เหมือนปริศนาที่นักศึกษาจำนวนมากค้นหาไม่เจอว่าควรเขียนอย่างไรดี นักศึกษาจำนวนมาก (ร่วมถึงพวกเรียน ป.เอก) หลาย ๆ คนต่างขยันขันแข็งในการอ่านหนังสือช่วงสอบพร้อมกับตั้งใจเรียนมาทั้งเทอม แต่ก็มาตกม้าตายเมื่อเจอข้อสอบเขียนเพราะเขียนเล่าเรื่องไม่เป็น

ผม เองเคยเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหากับการเขียนตอบข้อสอบ สอบวิชาอะไรก็ตามมักจะเขียนน้อย เขียนไปเรื่อย และออกห้องสอบเร็วมาก ส่งผลให้เกรดที่ได้มีแต่แมว ๆ หมา ๆ เสียส่วนใหญ่ ทว่าเมื่อได้เรียนปริญญาโทจนทุกวันนี้เป็นครูบาอาจารย์ก็ได้พัฒนาทักษะการ เขียนของตนเองและคิดสรุปเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ใครหลายคนที่เขียนไม่เก่งได้นำไปใช้

ข้อเขียนชิ้นนี้เป็น ไกด์นำทางสำหรับคนที่อ่านหนังสือมาแล้วแต่เขียนไม่ค่อยแล่น หากใครไม่ได้อ่านหนังสือมาแล้วหวังแต่ไปแถในห้องสอบ ข้อเขียนชิ้นนี้ช่วยไม่ได้นะจ๊ะ


                                                                                              -------------------------


1. คิดเสมอว่าไม่ได้เขียนให้อาจารย์อ่าน

แม้ว่างานที่เรากำลังทำจะ เป็นการเขียนตอบข้อสอบเขียนให้คุณครูอ่าน แต่อยากให้เปลี่ยนความคิดว่า เรากำลังเขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ โดยมีโจทย์ (ข้อสอบ) เป็นตัวกำหนดว่าให้เขียนเรื่องอะไร โดยคนที่กำลังอ่านเรื่องของเรานั้น เป็นคนอ่านที่ไม่มีพื้นความรู้ในสิ่งที่เราเขียนเลย

สมัยเรียน ป.ตรี ผมมักติดคิดเสมอว่าเราเขียนให้อาจารย์อ่าน อาจารย์ย่อมรู้เรื่องอยู่แล้ว ดังนั้นเราจะเขียนขยายไปให้เยอะทำไม

การที่เราพึงระลึกเสมอว่าคนอ่าน คือคนที่ไม่รู้ในศาสตร์ของเราเลย จะทำให้เราเขียนโดยมุ่งหวังให้คนอ่านเข้าใจ เราจะเขียนขยายหลักการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเพิ่มขึ้น เพื่อหวังให้คนอ่านได้เข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อ

2. อย่าคิดไปเขียนไป

เด็กหลาย ๆ คนมักคิดไปเขียนไป ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือภาวะหลงประเด็น หลงทาง เขียนไปสักพักหยุดนิ่งเพราะเขียนต่อไม่ได้เหตุด้วยคิดไม่ออก รวมถึงเขียนวกวนและจบไม่ลง

การคิดไปเขียนไปเป็นอันตรายอย่างยิ่ง วิธีแ้ก้ง่าย ๆ คือ เมื่ออ่านโจทย์แล้วให้นั่งใคร่ครวญคิดคำตอบเสียก่อน ต่อจากนั้นให้ลองร่างโครงออกมาดูว่าเราจะเขียนเรื่องอะไรบ้างในคำตอบข้อนั้น (อย่าลืมว่าให้นึกอยู่เสมอว่ากำลังเขียนบทความ ไม่ใช่ตอบข้อสอบ)

โครง เรื่องของเราก็ควรมีการเกริ่นเริ่มต้น นำเสนอเนื้อหา แสดงความคิดเห็น ยกตัวอย่างมาประกอบ เพื่อเป็นโครงร่างให้เราใช้ในการเขียนขยายออกมาเป็นข้อเขียน การทำโครงเรื่องอาจจะทำให้เสียเวลาเพิ่มอีกนิด แต่ก็คุ้มค่าที่จะทำ

ขอ ยกตัวอย่างเช่น ผมได้โจทย์จากอาจารย์ให้อธิบายว่า เพลงกระแสหลัก หมายความว่าอย่างไร ผมจะเขียนโครงคร่าว ๆ ให้ดูดังนี้

เพลงกระแสหลัก

- เกริ่นนำ (สภาพแวดวงดนตรีบ้านเรา)
- เพลงกระแสหลักแปลว่าอะไร
- ความหมาย 1 + ตัวอย่าง (2-3 ตัวอย่าง)
- ความหมาย 2 + ตัวอย่าง (2-3 ตัวอย่าง)
- ความคิดเห็นเรื่องเพลงกระแสหลัก + ตัวอย่างสนับสนุนความคิดเห็น
- สรุป

อันนี้เป็นตัวอย่าง คร่าว ๆ ถ้าโจทย์ยากก็อาจจะต้องเพิ่มเรื่องและรายละเอียดมากขึ้น อย่าลืมว่าต้องทำทุกครั้งเพื่อไม่ให้ตัวเองเขว งงเมื่อไหร่ให้กลับมาดูโครงทุกครั้ง

3.ตัวอย่างสำคัญที่สุด

หลายคนคงสงสัยว่าครูอาจารย์ให้คะแนนข้อสอบต่างกันได้อย่างไร ผมเฉลยให้ว่านอกจากจะดูว่าหลักการเขียนมาถูกไหมแล้ว คุณครูสามารถรู้ได้ว่าเด็กเข้าใจหลักการจริง ๆ หรือเปล่าได้จากตัวอย่างที่ยกมาประกอบ

การยกตัวอย่างเป็นการแสดงให้ เห็นถึงการเชื่อมโยงหลักการกับเรื่องจริงว่าเป็นเช่นไร ยิ่งหากนักศึกษายกตัวอย่างได้เยอะ (2-3 ชิ้น ต่อหนึ่งหลักการหรือความคิดเห็น) และเป็นตัวอย่างที่ไม่ได้ถูกยกมาจากในห้องเรียน พูดง่าย ๆ ก็คือคิดเอาเอง จะช่วยทำให้คนตรวจเห็นว่า เราเข้าใจเรื่องนั้นจริง ๆ (แต่ถ้ายกตัวอย่างมาผิดอันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

การจะนึกถึง ตัวอย่างได้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ปุ๊บปั๊บ แต่ต้องหมั่นอาศัยการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ออกมา ซึ่งต้องเริ่มจากการใคร่ครวญและตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียน ตรงนี้อาจจะยากนิดสำหรับเด็ก ๆ ทุกคนที่ไม่ค่อยสงสัย หรือ สงสัยแต่ไม่กล้าถามหรือถกเถียงกับครู อย่างไรก็ตามลองฝึกคิดดูกันครับ

4. อย่าลืมสรุป

ข้อเขียนที่ดีควรมีสรุป เพื่อเป็นการประมวลว่าทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมากำลังพูดถึงเรื่องอะไร เสนอแนวความเห็นไปแนวทางไหน นอกจากนั้นยังเป็นการทิ้งท้ายให้คนอ่านได้เข้าใจเรา รวมถึงเป็นการทำให้คนอ่านฉุกคิดได้ การเขียนสรุปเป็นเสน่ห์แบบหนึ่งที่ำทำให้คนอ่านติดตรึงใจกับงานของเรา (อาจารย์มีโอกาสให้คะแนนพิศวาสมากขึ้น)

5. หมั่นฝึกเขียน

คุณ ไม่มีวันเขียนได้ดีเลยถ้าไม่ฝึกเขียน ยิ่งถ้าชีวิตนี้เขียนแต่ข้อความสั้น ๆ จากการคอมเมนต์เพื่อนในไฮไฟว์ หรือพิมพ์สเตตัสในเฟซบุ๊คที่กำหนดความยาวเพียง 420 ตัวอักษรด้วยแล้ว คุณอาจจะงงเวลาต้องเขียนอะไรยาว ๆ เลยทีเดียว

การฝึกเขียนไม่จำเป็น ต้องเขียนเรื่องเครียดและเปิดเผยต่อสาธารณชน การฝึกเขียนไดอารี่ในสมุดผ่านทางปากกาและดินสอเป็นวิธีที่ดีอย่างยิ่งเพราะ นอกจากเราจะชินกับการเขียนด้วยมือแล้ว เรายังได้ฝึกสมาธิในระหว่างการเขียนด้วย

การเขียนไดอารีนั้น ให้ลองเขียนแบบเล่าเรื่องประหนึ่งเหมือนว่ามีคนกำลังตามอ่านงานของเรา ไม่ใช่เขียนให้ตัวเองอ่านคนเดียวเท่านั้น พยายามลองหารูปแบบการเล่าเรื่องใหม่ ๆ (เช่น วันหนึ่ง ผมเคยลองเขียนแบบเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลา สไตล์ภาพยนตร์เรื่อง Pulp fiction พบว่าสนุกดีเหมือนกัน)

การได้ลองเขียนบ่อย ๆ จะทำให้เราคุ้นชินกับการเขียนและสนุกที่จะเขียนมันออกมาแม้ว่าจะเป็นข้อสอบ ก็ตาม



สุดท้ายนี้หวังว่าใครที่ได้อ่านและชีวิตยังต้องผูกพันกับการเขียนตอบข้อสอบอยู่น่าจะได้ประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ

แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 53 09:40:28

จากคุณ : I will see U in the next life.
เขียนเมื่อ : 28 ก.พ. 53 09:39:52




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com