 |
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1299657153&grpid=01&catid=no
มหากาพย์ "ผู้ค้าสยามฯและจุฬาฯ" แย่งเก็บค่าที่ปีละเกือบ 40 ล้าน..
ยังคงตกลงกันไม่ได้ กับข้อพิพาท "ย้าย-ไม่ย้าย" แผงลอยรอบสยามสแควร์ โดยเฉพาะใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม ริมถ.พระราม1 ซึ่งมีแผงลอยเกิดขึ้นตลอดวันหลายร้อยเจ้า เกิดปัญหาร้องเรียนว่ากีดขวางทางเท้าลามไปถึงกีดขวางถนน
แผงลอยหน้าสยามเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี เรียกว่าเป็นตลาดนัดแห่งสยามฯ ได้ ด้วยทำเลที่ดี อยู่ริมถนนและใต้สถานีรถไฟฟ้ามีคนเดินขวักไขว่ ประกอบกับราคาเสื้อผ้าที่ถูกกว่าร้านค้าในสยามฯ ปัจจัยหนึ่งมาจากแผงลอยเหล่านี้เสียค่าเช่าที่ (ซึ่งพวกเขาอ้างว่าได้จ่ายเงินให้กับมาเฟียนอกระบบ) วันละประมาณ 200 บาท หรือตกเดือนละ 6 พันบาทเท่านั้น ถูกกว่าร้านค้าข้างในอย่างมาก รวมทั้งมีสินค้าหลากหลาย เรียกว่าย่อส่วนสยามสแควร์มาไว้ที่นี่ก็ได้
ตลาดนัดแห่งนี้จึงกลายเป็นทำเลทองทั้งของผู้ค้าและลูกค้า..
แม้ทางจุฬาฯ ใช้ไม้แข็งอ้างสิทธิ์ว่าที่แห่งนี้เป็นของจุฬาฯ ทั้งแจกใบปลิว ติดป้ายประกาศ และพยายามจะวางต้นไม้กีดขวางทาง แต่ก็ไม่เคยได้ผล และถูกกลุ่มผู้ค้าต่อต้านทุกครั้ง หนำซ้ำยังถูกสังคมรุมประณามว่ารังแกประชาชน
เปลี่ยนมาใช้ไม้อ่อน จุฬาฯ เตรียมศูนย์การค้าจตุจักรสแควร์ไว้ให้แต่ก็ไม่มีใครสนใจ อ้างเป็นโครงการร้าง ล่าสุด สำนักทรัพย์สินฯ มีข้อเสนอ ให้ผู้ค้าทั้งหมดย้ายไปตึกใหม่ชื่อ "สยามกิตติ์" ตรงข้ามโรงแรมโนโวเทล ซึ่งได้ทางจุฬาฯ จัดเป็นโครงการ "ไนท์มาร์เกต" มีทั้งหมดเกือบ 500 แผงค้า เปิดให้ขายตั้งแต่ช่วงเย็นเป็นต้นไป รวมทั้งมีไฟให้ใช้ และห้องน้ำไว้บริการ พร้อมจะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบโดยทั่วถึง ทางจุฬาฯยังอ้างเพิ่มเติมว่าค่าตกแต่งพื้นที่และประดับไฟเพื่อความสวยงามเพื่อจูงใจเหล้าผู้ค้านั้น เสียไปแล้วกว่า 3 ล้านบาท
แต่ตึกสยามกิตติ์นั้น ทุกคนรู้ว่าเป็นมุมอับของสยามฯ ไม่ค่อยมีใครเดินผ่าน แม้จะย้ายจากที่เดิมไม่กี่ร้อยเมตร และติดถนนอังรีดูนังต์ ตรงข้ามสำนักงานนิติเวช และหน่วยงานอื่นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทางจุฬาฯอ้างว่ามีข้าราชการตำรวจจำนวนมาก แต่ตำรวจกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายเสื้อผ้าแฟชั่นอยู่ดี ขณะเดียวกันแต่ละแผงจะมีพื้นที่แคบขนาด 1.20 x 2 เมตร และบางล็อคยังอยู่บนทางขึ้น-ลงอันลาดเอียง แลกกับค่าเช่าวันละ 200 บาท เป็นจำนวนเท่ากับที่ผู้ค้าอ้างว่าจ่ายให้มาเฟียนอกระบบ
นอกจากนี้ ค่าเช่าวันละ 200 บาทนี้ มีสัญญานานแค่ 6 เดือนเท่านั้น หากตลาดแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา ทางผู้ค้าก็ยังไม่มั่นใจว่าจุฬาฯ จะเก็บค่าเช่าในจำนวนนี้ต่ออีกหรือไม่
สมมติว่า ถ้าผู้ค้าทั้งหมดย้ายเข้ามาด้านในจริง จุฬาฯ จะได้รายได้จากแผงค้าเกือบ 500 แผง วันละ 200 บาท เป็นเงินเกือบแสนบาทต่อวัน เดือนละเกือบ 3 ล้าน เท่ากับเงินค่าที่ของมาเฟียนอกระบบเก็บได้ บางคนจึงมองว่า ที่จุฬาฯไล่ที่ เนื่องจากอยากได้เงินส่วนนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
หันกลับมามองทางผู้ค้าแผงลอยกันบ้าง มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีไม่กี่แผง ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 500 แผงแล้ว ทั้งขายเสื้อผ้าและอาหาร แสดงจุดยืนต้องการปักหลักค้าขายในทำเลทองแห่งเดิม จนเกิดเรื่องบานปลาย มีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ค้าและเจ้าหน้าที่จุฬาฯ มาแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้ค้าไม่พอใจจุฬาฯ ไล่รื้อแผงต้นไม้จนเสียหาย และรวมตัวกันปิดถนนภายในสยามสแควร์ ระหว่างดิจิตอล เกตเวย์และบายพาส และตามมาด้วยปิดทางเข้าสยามสแควร์ ด้านตรงข้ามมาบุญครอง ประชันหน้ากับตำรวจที่ได้แต่มองด้วยตาปริบๆ แม้จะเป็นเวลาไม่กี่สิบนาที แต่ก็มีคำถามตามว่าผู้ค้าทำถูกหรือไม่
เปรียบเทียบว่า ผู้ค้าไปอยู่ในบ้านของจุฬาฯ เจ้าของบ้านเชิญให้ออกจากบ้านก็ไม่ออก เมื่อเตรียมห้องให้อยู่ก็ไม่ยอมเข้าไปอยู่ (แม้ห้องนั้นจะเล็กเท่าแมวดิ้นตายก็ตาม)
ผู้ค้าบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการประท้วงที่ผ่านมา แต่ก็ต้องจำยอม เนื่องจากมีเสียงขู่ว่าหากไม่เข้าร่วม จะไม่มีสิทธิ์ได้ขายอีกต่อไป
นอกจากนี้ แกนนำยังอ้างได้ไฟเขียวจาก "ผู้ใหญ่" ว่าช่วงนี้สามารถวางแผงค้าสินค้าได้ตามปกติ แต่ต้องเลื่อนให้ช้าลง เริ่มตั้งแต่ 1 ทุ่มเป็นต้นไป จากเดิมเริ่มตั้งแผงกันตั้งแต่บ่ายแก่ๆ เพื่อรอให้ร้านค้าในสยามสแควร์ปิดก่อน จะได้ไม่กระทบกัน หลายคนเชื่อว่า "ผู้ใหญ่"ที่ว่านี้อาจเป็นคนในเครื่องแบบ และอาจเกี่ยวข้องกับมาเฟียนอกระบบ ที่นอนกินเปล่าเดือนละเกือบ 3 ล้านด้วย
นอกจากเสียค่าที่เดือนละ 6 พันแล้ว ยังมีเสียงบ่นว่า ผู้ค้ารายใหม่หากต้องการมาวางแผงต้องเสียเงินแรกเข้า 25,000 บาท ให้"ผู้ใหญ่"ที่ว่า และจะได้แผงทำเลดี ทั้งที่ตรงนั้นมีผู้ค้าตั้งแผงอยู่แล้ว ผู้ค้าเจ้าเก่าก็ต้องรอให้เจ้าใหม่แต่เส้นใหญ่ เก็บร้านก่อน จึงค่อยตั้งร้านได้
จึงไม่น่าแปลกถ้าจะมีคำสั่งให้แกนนำปลุกระดมกลุ่มผู้ค้า ให้ไม่เอาด้วยกับโครงการไนท์ มาร์เกต อยู่ดีๆ ใครล่ะอยากจะเสียรายได้
ที่ผ่านมา เรื่องนี้เคยถูกร้องเรียนไปยังสภาทนายความ สุดท้ายสภาทนายฯ ก็ให้คู่กรณีไกล่เกลี่ยกันเอง รวมทั้งผู้ค้าแผงลอยได้พยายามประท้วงไปยังสภาผู้แทนราษฎร แต่เรื่องก็เงียบหาย ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้(9 มี.ค.) สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้นัดสำนักงานเขตปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสน.ปทุมวัน เจรจากลุ่มผู้ค้าแผงลอยที่โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ แต่กลับยกเลิกกะทันหัน อย่างไม่ปี่มีขลุ่ย ทิ้งเป็นปริศนาว่าเกิดอะไรขึ้นกับสำกนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ตอกย้ำภาพแห่งความคลุมเครือของหน่วยงานนี้หนักเข้าไปอีก
มหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างจุฬาฯ และผู้ค้าแผงลอยยังไม่ได้ข้อยุติ และยังไม่มีท่าทีจะได้ข้อยุติ รอวันปะทุได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อต่างฝ่าย ยืนอยู่กันคนละฝั่ง และพูดกันแค่ว่า "ย้าย" หรือ "ไม่ย้าย" ไม่เท่านั้น โดยมีผลประโยชน์อย่างน้อยก็ 3 ล้านบาทต่อเดือน ปีละ 36 ล้าน เป็นสิ่งจูงใจ..
จากคุณ |
:
DDEDDE
|
เขียนเมื่อ |
:
11 มี.ค. 54 14:08:34
|
|
|
|
 |