Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปรากฏการ์จากClimate Change และคาดการโลกอีก 65 -100 ปีข้างหน้า ติดต่อทีมงาน

สรุปก็คือโลกแย่ลงร้อนขึ้นแน่ อีก20ปีอาจจะเพิ่มสัก5-10 องศาC
และอีก65ปี น้ำทะเลสูงน้ำแข็งขั้วโลกละลายตาม
ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มละลายจนสัตว์ตายสูญพันธุ์บ้างแล้ว
และอีก100ปี จะร้อนโครตๆร้อนกว่าเดิมมาก น้ำแห้งแล้ง  
เกิดโรคประหลาดมากมาย ฝนกรด รวมทั้งภัยธรรมชาติ
มรสุม พายุและอุทกถัย จะมีมาอย่างต่อเนื่อง

และส่วนตัวคิดว่ายากนักที่จะลดโลกร้อนให้ชะงัก
ทุกวันนี้มีแต่เพิ่ม โรงงาน อุตสากรรม ตึก การเกษตร
พลาสติก รถไฟฟ้า แอร์ คอม แบท ถ่าน ฯลฯ
มันเป็นสิ่งคู่กับปัจจุบันซะแล้ว ไม่ใช่แค่ไทยแต่เรียกว่าแทบทั้งโลก
มนุษย์ก็ต้องยอมรับในผลแห่งการกระทำ
บางทีพวกเราๆอาจจะอยู่ไม่ถึงหรือทันได้ประสบค่ะ เพราะอาจจะเดส
กันไปก่อน บางทีโลกอาจจะยังอยู่ค่ะ แต่เป็นงี้ไปเรื่อย
ร่างกายคนอาจทนไม่ไหว ก็ตายกันไปจากโรคและภัยต่างๆ
...........................................................................

[ก่าและ ได้จากFW]  

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แทบทุกคนคงได้รับทราบข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกจาก สื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ พายุถล่ม น้ำท่วม และไฟป่า ทำให้ผู้คนที่ไม่เคยสนใจธรรมชาติมาก่อนก็ต้องหันมาพิจารณาถึงสิ่งที่เกิด ขึ้นด้วยความหวาดวิตกกังวล เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบแล้ว ยังมีระดับของความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยในหลายภูมิภาคทั่วโลกต้องเผชิญกับความเลวร้ายทางธรรมชาติอย่างที่ไม่เคย คาดคิดมาก่อนจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายท่านเสนอทฤษฎีต่างๆ เพื่ออธิบายสาเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ทฤษฎีโลกร้อนโลกเย็น ทฤษฎีแกนโลกเอียง เป็นต้น ซึ่งทุกทฤษฎีล้วนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า "มนุษย์ ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดี เมื่อธรรมชาติเสียความสมดุลก็ย่อมเกิดการทำลายจากธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนจากธรรมชาติเท่านั้น ภัยพิบัติธรรมชาติแท้จริงนั้นคาดว่าน่าจะรุนแรงและเลวร้ายกว่านี้หลายเท่า"

การ วิจัยศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติต่างคาดการณ์ปรากฏการณ์ที่จะเกิด ขึ้นในอนาคตไว้มากมาย เช่น องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพของประเทศออสเตรเลียระบุ ว่า โลกอาจจะร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส ในราวปี พ.ศ.2573 โดย เฉพาะทางตอนเหนือของปากีสถาน อินเดีย และจีน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่แห้งแล้ง องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพของประเทศออสเตรเลีย ยังได้ระบุอีกว่า นอกจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นแล้ว ยังจะถูกซ้ำเติม ด้วยลักษณะของฝนที่ตกผิดปกติ รวมทั้งพายุหมุนเขตร้อนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ลมมรสุมรุนแรงที่ก่อให้เกิดอุทกภัย ทำให้ประชาชนหลายล้านคนต้องตกเป็นเหยื่อของโรคติดต่อต่างๆ นอกจากนี้ประชากรที่มีถิ่นฐานอยู่ตามชุมชนริมฝั่งในบังคลาเทศ เวียดนาม จีน และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก อาจจะต้องละทิ้งถิ่นฐาน เพราะน้ำทะเลล้นฝั่ง โดยน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีกราว 20 นิ้ว ในระยะเวลา 65 ปีข้างหน้า

จากรายงาน การศึกษาของสำนักการศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปได้คาดการณ์ไว้ว่า ปรากฏการณ์ของภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นทั่วโลกเป็นลำดับในปัจจุบัน ทำให้ยุโรปอาจจะต้องเผชิญกับคลื่นอากาศร้อนและอุทกภัยบ่อยครั้งกว่าเดิม จนน้ำแข็งที่ปกคลุมตามยอดเขาแอลป์ของสวิสเซอร์แลนด์อาจละลายไปถึง 3 ใน 4 จากปริมาณน้ำแข็งที่มีอยู่ทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2593 การศึกษาดังกล่าวยังพบว่าในรอบ 100 ปีมานี้อุณหภูมิของอากาศในยุโรปได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7 องศาฟาเรนไฮต์ และอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกในรอบศตวรรษนี้เป็นระหว่าง 3.6 - 11.3 องศา ฟาเรนไฮต์ ซึ่งถือว่าสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกนอกจากนี้ ยังระบุอีกว่าอุณหภูมิของโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น อาจจะเป็นผลให้ยุโรปปราศจากฤดูหนาวโดยสิ้นเชิงในราวปี พ.ศ. 2603 เมื่อ ถึงฤดูร้อนก็จะร้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม เกิดความแห้งแล้ง และเกิดปรากฏการณ์พายุลูกเห็บและฝนตกหนักบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งแม้แต่กรณีของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีก เลี่ยงได้เช่นเดียวกัน ผลกระทบต่อไทยนั้นไม่ต่างจากปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อประเทศไทยในทางกายภาพเท่านั้นหากแต่ยัง ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติด้วยเช่นกัน

จากสาเหตุของการยุบตัวของพื้นที่ชายฝั่ง สภาพภูมิอากาศแปรปรวน โรคระบาดรุนแรง และผลกระทบอื่นๆอีกมากมาย ได้ส่งผลให้ประชากรโลกบาดเจ็บล้มตาย ทิ้งที่ทำกิน และไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ประชาชนยังอาจจะได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มที่ถูก สุขลักษณะระหว่างภาวะน้ำท่วม และความเสียหายที่เกิดกับระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งโดยมาก ผู้ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะเป็นคนยากจน และไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะป้องกันผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้ แต่กระนั้น เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของกิจกรรมของมนุษย์เอง โดยนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่18 การ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ได้ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้ว 0.76 องศาเซลเซียส และในอนาคตก็คาดการณ์กันว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิม

ความพยายามในการแก้ปัญหาและจำกัดผลกระทบของสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนิน มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยอาจกล่าวได้ว่านานาชาติได้หันมาให้ความสนใจในประเด็นนี้ นับแต่มีการก่อตั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิ อากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change –UNFCCC) ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ถือเป็นพันธกรณีร่วมกันของประชาคมโลกในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดย UNFCCC ได้จัดการประชุมเป็นประจำอย่างต่อเนื่องโดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 3 (COP-3) ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการเจรจาในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งพิธีสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงในปี พ.ศ. 2548 เพราะมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่า พิธีสารเกียวโตจะมีผลบังคับใช้ได้ ต้องมีการดำเนินการ 2 ประการ โดยประการแรกจะต้องมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมให้สัตยาบันไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ และประการที่สองจะต้องมีประเทศพัฒนาแล้วได้ร่วมให้สัตยาบันด้วย โดยประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์สู่บรรยากาศ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของประเทศพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งเงื่อนไขประการแรกไม่เกิดอุปสรรคแต่ประการใด เพราะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายได้ร่วมลงนามให้สัตยาบันมากกว่า 55 ประเทศ

ขณะที่เงื่อนไขประการที่สองได้รับการต่อต้านจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่ ปฏิเสธจะร่วมลงนามให้สัตยาบัน โดยอ้างว่าจะทำให้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของประเทศอย่างไม่เป็นธรรมเพราะ พิธีสารนี้ไม่ได้กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดียต้องเข้าร่วมให้สัตยาบันด้วย ทั้งๆที่จีนและอินเดียก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากมายและได้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จำนวนมาก พิธีสารนี้จึงยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 รัสเซียได้ให้การลงนามรับรองสัตยาบัน เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์มากถึงร้อยละ 61.6 พิธีสารเกียวโตจึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาก็ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์สู่บรรยากาศเช่นกัน แม้จะมีปริมาณไม่มากก็ตาม ด้วยเหตุนี้พิธีสารเกียวโตจึงได้กำหนดปริมาณสูงสุดของการปล่อยก๊าซคาร์บอน มอนอกไซด์ของแต่ละประเทศไว้ด้วย เช่น กรณีของประเทศไทยได้ถูกกำหนดให้มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ได้ไม่ เกินร้อยละ 80 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปี พ.ศ. 2533 ซึ่งในขณะนี้ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 65 ของปี พ.ศ. 2533 แต่ทั้งนี้ พิธีสารเกียวโตนั้นมุ่งให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 5 ของการปลดปล่อยในปี 2553 ภายในปี พ.ศ. 2551 – 2555 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปี เท่านั้นที่จะสิ้นสุดพันธกรณีช่วงแรก

ตั้งแต่ที่มีการประชุมของประเทศสมาชิกในพิธีสารเกียวโตครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2548 จึงได้มีมติจัดตั้ง Ad Hoc Working Group on Further Commitments for Annex-I Parties under Kyoto Protocol (AWG-KP) ขึ้นมาเพื่อพิจารณาพันธกรณีช่วงต่อไป จนมาถึงในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2550 ซึ่งมีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา UNFCCC ครั้งที่ 13 (COP13) และประเทศภาคีในพิธีสารเกียวโตครั้งที่ 3 (COP/MOP 3) ที่เกาะบาหลี มีมติรับรอง Bali Roadmap ซึ่งเป็นแผนและกรอบเจรจา 2 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปทั้งในเรื่องพันธกรณีช่วงต่อไปหลังปี พ.ศ. 2555 ตามพิธีสารเกียวโต และข้อสรุปเกี่ยวกับความร่วมมือระยะยาวในการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้อนุสัญญาUNFCCC โดยจะต้องเจรจาทั้งสองเรื่องให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 นี้ ซึ่งจะมีการประชุม COP 15 และ COP/MOP 5 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ตามแนวทางของ Bali Roadmap ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเรียกว่า Ad Hoc Working Group on Long-Term Cooperative Action (AWG-LCA) เป็นการยกระดับการเจรจาจากเดิมที่อยู่ในรูปการจัด Workshop มาเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งมีสถานะเป็นทางการมากขึ้น ซึ่งเป็นการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงอยู่ในกระบวนการเจรจาด้วยแม้ว่าจะไม่ได้เป็นภาคีพิธีสารเกียวโต


ในช่วงวันที่ 1 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการประชุม AWG-KP ครั้งที่ 8 และ AWGLCA ครั้งที่ 6 ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดทำเอกสารตัวบทเจรจา (Negotiating Text) ออก มา หลังจากมีการจัดประชุมเจรจาในลักษณะรวบรวมประเด็นและทดสอบจุดยืนท่าทีของ กลุ่มประเทศต่างๆ มาหลายครั้งนับตั้งแต่การประชุมที่บาหลี ในเอกสาร

เจรจาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติu3617 .พิธีสารเกียวโตของกลุ่ม AWG-KP และเอกสารเจรจาของกลุ่ม AWGLCA ครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยวงเล็บและทางเลือกมากมาย ตัวอย่างเช่น ช่วงระยะเวลาสำหรับพันธกรณีช่วงที่สองของพิธีสารเกียวโต ได้มีข้อเสนอหลายแบบ เช่น พ.ศ. 2556 -2560, 2556 - 2563 หรือกรณีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก (Shared Vision) ก็มีข้อเสนอหลายแบบ เช่น ต่ำกว่า 400 หรือ 450 ppm. ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือบางข้อเสนอไปที่ระดับต่ำกว่า 350 ppm. ซึ่งเป็นระดับที่เข้มงวดมาก

นอกจากนี้ ในเอกสารเจรจาของกลุ่ม AWG-LCA ยังได้เสนอหัวข้อการลดก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยใช้กลไกใหม่ๆ เช่น การลดก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศอย่างเหมาะสม (Nationally Appropriate Mitigation Action: NAMA) การลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Countries: REDD) เป็นต้น และหลังการเจรจาที่กรุงบอนน์ครั้งนี้ ยังจะมีการเจรจาระดับ AWG-LCA และ AWG-KP อีก 3 ครั้ง ก่อนที่จะไปหาข้อสรุปสุดท้ายของกติกาโลกฉบับใหม่ (Post-Kyoto Regime) ที่เดนมาร์กในต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 นี้

ตลอดเวลานับตั้งแต่การก่อตั้ง UNFCCC ในปี พ.ศ. 2535 ตามมาด้วยพิธีสารเกียวโต ในปี พ.ศ.2540 ผู้ นำจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีบทบาทมากในการผลักดันประเทศในยุโรปด้วยกันเอง และประเทศอื่นๆ ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเนื่อง จากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตระหนักดีว่าตนได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมา ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในปริมาณที่สูงมาก ประเทศในยุโรปจึงได้พยายามผลักดันนโยบายที่จะต่อสู้กับปัญหานี้อย่างจริงจัง อาจกล่าวได้ว่า สหภาพยุโรปเป็นผู้สนับสนุนพิธีสารเกียวโตอย่างจริงจัง โดยสามารถเห็นการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังของสหภาพยุโรปในการจัดการเกี่ยวกับ สภาวะอากาศมาโดยตลอด เช่น การจัดตั้งโครงการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของยุโรปขึ้น (European Climate Change Programme: ECCP) ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายและการดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ EU’s emissions trading scheme ในอุตสาหกรรมหลัก 6 ประเภท คือ พลังงาน เหล็ก ซีเมนต์ แก้ว การทำอิฐ และกระดาษ โดยจะมีค่าปรับสำหรับประเทศที่ไม่สามารถปฎิบัติตามเกณฑ์ได้ โดยค่าปรับคือ 40 ยูโรต่อตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2548 และ 100 ยูโรต่อตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะลดลงจากปี พ.ศ. 2533 ถึงร้อยละ 4.7

ตั้งแต่พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2548 สหภาพยุโรปได้ดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่สำคัญคือ การเสนอให้มีตลาดคาร์บอนเครดิต ในปี พ.ศ. 2548 และในปี พ.ศ.2550 สหภาพ ยุโรปก็ได้ตั้งเป้าหมายในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่สูงมาก กล่าวคือ ตั้งเป้าหมายที่ต้องการให้ทุกประเทศพยายามหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของ พื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยประเทศที่เป็นกำลังหลักในการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่สำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยสหราชอาณาจักรในสมัยรัฐบาลของนายโทนี่ แบร์ล ถือว่ามีส่วนร่วมสำคัญในการเจรจาเรื่องการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศในเวทีระดับโลกอยู่ไม่น้อย โดยได้พยายามผลักดันให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมการประชุม G8 และสหราชอาณาจักรเองก็เป็นต้นแบบของ European Emission Trading Schemes อีกด้วย ส่วนฝรั่งเศสนั้น แม้จะเป็นประเทศที่มีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะพลังงานกว่าร้อยละ 80 มา จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ฝรั่งเศสเองเตรียมใช้พลังงานแสงอาทิตย์และมีการเพิ่มภาษีต่อผู้ใช้รถยนต์ ที่มีการปล่อยมลพิษ โดยเป็นนโยบายเพื่อลดอุณหภูมิของโลก และยังมีการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเพื่อการประหยัดพลังงานภายในบ้านเรือนอีก ด้วย โดยประธานาธิบดีชีรัคได้เสนอให้ฝรั่งเศสลดการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี และมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 75 จากระดับก๊าซเดิมในปี พ.ศ. 2533

สำหรับ เยอรมนีนั้นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก รัฐบาลเยอรมันได้เล็งเห็นและผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศมาโดยตลอด เช่น ในปี พ.ศ. 2533 ได้มีนโยบาย 100000 Roofs ให้บ้านเรือน 1 แสน หลังเช่าแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดปริมาณความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าและพลังงานที่ ใช้ผลิตน้ำอุ่น นอกจากนี้ พลังงานลมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาโดยตลอด แม้ตามพิธีสารเกียวโต เยอรมนีจะมีพันธะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 8 แต่ รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยนางแองเจลา เมอร์เคล ก็ได้ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศอย่างท้าทายที่สุด คือ ต้องลดให้ได้ร้อยละ 40 จากระดับปี พ.ศ. 2533 ภายในปี พ.ศ. 2563 นี้ และทั้งนี้ยังผลักดันให้ประเทศต่างๆ หันมายอมรับข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนมาโดยตลอด

อาจกล่าว ได้ว่า พิธีสารเกียวโตและการประชุมระดับนานาชาติอื่นๆ สนับสนุนให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อพัฒนา ประสิทธิภาพของพลังงาน การปรังปรุงด้านพลังงานและระบบการขนส่ง พลังงานในรูปที่ใช้แล้วไม่หมดไป ลดระบบการเงินที่ไม่เหมาะสมและตลาดที่ไม่สมบูรณ์ จำกัดก๊าซมีเทนที่เกิดจากระบบกำจัดขยะและระบบพลังงาน และการรักษาป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน ฯลฯ อย่างไรก็ดี เป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมาตรการแก้ปัญหาสภาพการ เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย หากประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย หรือประเทศกำลังพัฒนา อย่าง อินเดียและจีน ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และให้ความร่วมมือกับนานาประเทศอย่างจริงจัง สหภาพยุโรปในฐานะผู้นำการผลักดันการแก้ปัญหานี้ก็คงไม่บรรลุเป้าประสงค์ระหว่างประเทศนี้ได้เพียงฝ่ายเดียว


ข้อมูลโดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายใต้โครงการติดตามพัฒนาการในยุโรป
ปีงบประมาณ 2552 ของกรมยุโรป

จากคุณ : Much the same
เขียนเมื่อ : 11 มี.ค. 54 21:25:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com