ซื้อยากับเภสัชกรให้อะไรมากกว่าที่คิด
|
 |
ซื้อยากับเภสัชกรให้อะไรมากกว่าที่คิด ผศ. ภก. สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอในรายการคลินิก 101.5 วันที่ 9 ตุลาคม 2552
1. ยาคือสินค้าคุณธรรมที่พึงระวัง ยาถือได้ว่าเป็นปัจจัย 4 ที่ต้องบริโภคเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยาจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ว่ายากดีมีจน ทุกคนต้องเคยใช้และมีประสบการณ์ในการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นทางด้านดีหรือไม่ดี ยาเป็นสินค้าพิเศษที่ผู้บริโภคขาดความรู้ที่สมบูรณ์ในการตัดสินใจเลือกใช้ยา ทั้งชนิดและจำนวนเหมือนดังเช่นการซื้อสินค้าทั่วไป จึงต้องพึ่งพาแพทย์หรือเภสัชกรให้เป็นผู้ตัดสินใจแทน สังคมจึงได้จัดให้ยานั้นเป็น “สินค้าคุณธรรม” ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบดูแลซึ่งก็คือ “เภสัชกร” นั่นเอง เพราะหากมีการใช้ยาไม่ถูกต้องแล้วก็จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคได้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน ประชาชนยังขาดความตระหนักรู้ในบทบาทของเภสัชกร ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเวลาไปโรงพยาบาลจะต้องพบแพทย์ให้ได้ไม่ว่าจะต้องรอนานสักเพียงใด ในขณะที่เมื่อเวลาไปซื้อยาจากร้านยามักไม่เรียกหาหรือรอพบเภสัชกร และไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้จ่ายหรือขายยาให้ ประชาชนจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อความปลอดภัยด้วยตนเองในการซื้อยา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยต้องสร้างความตระหนักในบทบาทของวิชาชีพเภสัชกร ซื้อยาหรือใช้ยาโปรดถามหาเภสัชกร ยามีคุณประโยชน์และโทษมหันต์หากใช้ไม่ถูกต้อง ซื้อยาอย่าเพียงพิจารณาแค่ราคายาเท่านั้น ต้องดูบริการที่ได้รับด้วย
2. ซื้อยา...จะซื้อกับใคร ร้านยาถือเสมือนว่าเป็นสถานบริการพื้นฐานที่ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” เป็นที่พึ่งพายามเจ็บป่วยที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับอย่างถ้วนหน้าแล้วก็ตาม ด้วยระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีความเสรี และการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน จึงมีร้านขายยาต่างๆให้เลือกซื้อได้ตามสะดวกมากมาย ทั้งร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร ร้านยาที่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาหรือทั้งวัน และร้านยาที่มีเภสัชกรอยู่เฉพาะบางเวลาหรืออาจจะไม่มีอยู่จริง มีเพียงป้ายที่แขวนบอกไว้เท่านั้น
ผู้สั่งจ่ายยาหรือขายยา จึงมีเพียงคน 2 กลุ่มเท่านั้น คือ เภสัชกรโดยตรง กับผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกรหรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า “หมอตี๋” ด้วยเหตุนี้ ในการซื้อยาแต่ละครั้ง ประชาชนจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะซื้อกับใคร “หมอตี๋” หรือ “เภสัชกร” เพราะยาคือสินค้าคุณธรรมถ้าหากได้รับยาและใช้ยาไม่ถูกต้องแล้วก็ย่อมส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. “หมอตี๋” กับ “เภสัชกร” ต่างกันอย่างไร ความแตกต่างที่สำคัญนอกจากในเรื่องของการมีปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตแล้ว ก็ยังแตกต่างกันในเรื่องของ “ความเป็นวิชาชีพ” กล่าวคือ “หมอตี๋” เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการยา รู้เรื่องดีเกียวกับยา โดยอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติซ้ำๆ (ครูพักลักจำ) การจ่ายยาจึงอาศัยประสบการณ์และความจดจำเป็นสำคัญ ในขณะที่ “เภสัชกร” จ่ายยาด้วยปัญญาและความรู้จากการวิเคราะห์ปัญหาของโรคและการใช้ยา ตามที่ได้ร่ำเรียนมา การจ่ายยาโดย “เภสัชกร” จึงให้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด
4. ความเป็นวิชาชีพ บริการที่แตกต่าง ความแตกต่างที่สำคัญเมื่อท่านเลือกซื้อยาจากเภสัชกรก็คือบริการทางวิชาชีพที่ได้รับ อันเป็นหลักประกันหรือมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ใช้ยาได้รับประโยชน์สูงสุดในการใช้ยาคือ “ถูกโรค ถูกคน ถูกขนาด ถูกวิธี” ซึ่งเป็นสิ่งที่เภสัชกรทุกคนได้รับการปลูกฝังว่าจะต้องรับผิดชอบในการส่งมอบยา เพราะหากมีการใช้ยาไม่ถูกต้องแล้วโรคก็จะไม่หายซ้ำยังอาจเกิดความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาได้ คือ - การแพ้ยา เกิดขึ้นได้กับทุกคน อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ผื่น แดง คัน จนเป็นอัตรายถึงชีวิต เช่น หายใจไม่ออก ช๊อก หมดสติ - อาการข้างเคียงจากยา ยาทุกชนิดมีฤทธิ์ข้างเคียง มากบ้าง น้อยบ้าง เช่น รับประทานแล้วง่วงนอนไม่ควรขับรถ ระคายเคืองกระเพาะ บวมน้ำ กระดูกผุ - อันตรายจากยาตีกัน เนื่องจากกินยาหลายๆตัว อาจเสริมฤทธิ์กันทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ - อันตรายจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น กินยาปฏิชีวนะไม่ครบขนาด ทำให้เชื้อดื้อยา คุณภาพและมาตรฐานในการจ่ายยาของเภสัชกร เป็นบริการขั้นต่ำที่ผู้ใช้ยาพึงได้รับ ทุกท่านจะได้รับการซักประวัติอาการของโรค การเจ็บป่วยในอดีต การแพ้ยาต่างๆ พร้อมได้รับคำแนะนำในการใช้ยาอย่างถูกต้องและวิธีปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ เภสัชกรยังต้องให้บริการในด้านอื่นๆ ในด้านการติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน และป้องกันโรค ทั้งในส่วนของบุคคลและชุมชน ดังนี้ (1) การดูแลให้บริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง การให้บริการที่ครอบคลุมครบวงจร ทั้งในเรื่องของ ยา โรค และพฤติกรรมการปฏิบัติตัว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ อาหาร ที่อยู่อาศัย การออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้การดูแลติดตามรักษาโรคเป็นไปอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้บางร้านยายังมีบริการออกเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามการใช้ยาในครัวเรื่อนว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำหรือไม่ (2) การคัดกรองโรค ซึ่งเป็นการดูแลและป้องกันโรคแต่เนิ่นๆ ทั้งในเรื่องของโรคติดต่อตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 และโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง (3) การให้บริการเติมยาในโรคเรื้อรัง ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคเรื้องรังมีความจำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต เภสัชกรร้านยาก็สามารถเข้ามามีบทบาทร่วมกับแพทย์ผู้รักษาในการให้บริการเติมยาตามกำหนดระยะเวลา พร้อมติดตามความเป็นไปของโรคด้วย ทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกกว่าการไปรับยาที่โรงพยาบาล มีผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง และหากจำเป็นก็จะทำการส่งต่อแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (4) การส่งเสริมสุขภาพ เป็นการรักษาเชิงรุกเพื่อการป้องกันโรค เภสัชกรมีบทบาททั้งการให้สุขศึกษา และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น คลินิกอดบุหรี่ เป็นต้น
5. จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “เภสัชกร” ซื้อยากับเภสัชกรให้อะไรมากกว่าที่คิด แต่ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาคือเภสัชกร เพราะเภสัชกรไม่ได้มีอยู่ในทุกร้านยาตลอดเวลา ตามมาตรฐานวิชาชีพร้านยาแล้ว เภสัชกรจะต้องสวมใส่เสื้อกาวน์ ที่มีตราสภาเภสัชกรรม หรือปักชื่อคำว่าเภสัชกร พร้อมกันนี้ก็อาจมีรูปถ่ายและหมายเลขใบประกอบวิชาชีพติดแสดงอยู่หน้าร้าน ซึ่งจะสังเกตุเห็นได้ชัดเจนในร้านยาที่เรียกว่า “ร้านยาคุณภาพ” แต่หากเภสัชกรไม่ได้แสดงตนอย่างชัดเจนในร้านยาแล้ว ก็คงต้องใช้การสอบถามโดยตรงว่าท่านคือเภสัชกรใช่หรือไม่
6. บทบาทของผู้บริโภค ความปลอดภัยจากการใช้ยาและการจัดการโรคอย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ คือความรับผิดชอบ หรือความเป็นวิชาชีพของเภสัชกร ที่จะต้องดูแลร่วมกับทีมวิชาชีพอื่นๆเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ประเด็นสำคัญก็คือผู้บริโภคยังขาดความเข้าใจและยอมรับในบทบาทของเภสัชกรเท่าที่ควร ผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมการซื้อยาเหมือนเช่นสินค้าอื่นๆ คือ - นึกอยากได้ก็ซื้อ - ซื้อโดยบังเอิญ - ไม่จำเป็นก็ซื้อ - เห็นราคาถูกก็ซื้อ - เห็นคนอื่นซื้อก็ซื้อบ้าง - ซื้อเพื่อให้ทันสมัย - ตนก็มีเงินซื้อเหมือนกัน - ซื้อไปเก็บ แต่ยาคือ “สินค้าคุณธรรม” จึงต้องร่วมกันสร้างระบบความร่วมมือระหว่างเภสัชกรและผู้บริโภค เมื่อเลือกซื้อยาจึงควรซื้อยาจากเภสัชกร
“ซื้อยากับเภสัชกรให้อะไรมากกว่าที่คิด”
-------------
ขอขอบคุณ เครดิตดีๆจาก บทความรายการคลินิก ที่ให้ความรู้ดีๆ แก่ประชาชน
แก้ไขเมื่อ 17 มี.ค. 54 09:22:34
แก้ไขเมื่อ 17 มี.ค. 54 09:09:37
จากคุณ |
:
cinrrr
|
เขียนเมื่อ |
:
17 มี.ค. 54 09:08:11
|
|
|
|