 |
รูปแบบความเชื่อในเรื่อง ?ทวด ที่เชื่อว่าเป็นรูปสัตว์? หรือ ?ทวด ในรูปสัตว์? ถือกันว่าเป็นรูปแบบทางความเชื่ออีกรูปแบบหนึ่ง ที่กล่าวกันว่ามีเทวดาอารักษ์ประจำถิ่นในรูปสัตว์ชนิดต่างๆคอยป้องปกรักษาอยู่ซึ่งในเรื่องนี้ สมบัติ พลายน้อย ได้แสดงทรรศนะเอาไว้ว่า ในการศึกษาประวัติของมนุษยชาติและพงศวดารของมนุษย์ต่างๆ เรามักจะพบความจริงอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ในสมัยโบราณนั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับสัตว์มาอย่างใกล้ชิดมาก บางชาตินับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า บางชาตินับถือสัตว์เป็นต้นตระกูลของตน ความเชื่ออันนี้ได้สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานแม้ในเวลานี้ก็ยังมีคนเชื่อถือกันอยู่(สมบัติ พลายน้อย.2541 : 3) ดังที่กล่าวมาว่า ?บางชาตินับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า? นี้เองอาจเข้าเค้ากับคติความเชื่อในรูปแบบที่ว่ามีดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ในสัตว์หรือสิ่งที่ตนนับถือ สอดคล้องกับที่ สุจิตรา อ่อนค้อม ได้ศึกษาไว้สรุปได้ว่า การเข้าใจและถือว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่ในสิ่งที่ตนนับถือ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ใหญ่ ภูเขา เป็นต้น เป็นความเชื่อที่มีมาก่อนยุคพระเวทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กล่าวกันว่าเป็นลักษณะของ ?วิญญาณนิยม? (animism) วิญญาณเช่นนี้เองที่สามารถจะให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้(สุจิตรา อ่อนค้อม.2542 : 13) ?ทวดงู? (sacred snake) เป็นเวลาเนิ่นนานมากแล้วที่มนุษย์ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาบนพื้นพิภพแห่งนี้พร้อมๆกันกับความเชื่ออันมีรากฐานมาแต่ครั้งกาลก่อนว่า ?งู? เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์อันมีมาพร้อมกับโลก ดังนั้นแล้วจึงไม่ผิดแปลกแต่ประการใดเลยที่จะปรากฏพบตำนาน พงศาวดาร หรือนิทานพื้นบ้านของชนชาติต่างๆปรากฏมีเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวข้องกับงูอย่างแพร่หลาย ในทางตอนใต้ของประเทศไทย และในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียเองก็ปรากฏความเชื่อเรื่องงูอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งนั่นก็คือเรื่องของ ?ทวดงู? หรือ ?งูทวด? ที่ซึ่งทวดงูนี้เองก็คืองูใหญ่ในอีกรูปลักษณะหนึ่งอันถือเป็นความเชื่อเฉพาะของชาวไทยถิ่นใต้และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย อันมีบริบททางความคิดความเชื่อร่วมกันว่าเป็น ?งูศักดิ์สิทธิ์? หรือ ?sacred snake? ทวดงู จึงเป็นดั่งกระแสธารทางความคิดความเชื่ออันมีบริบทในแนวทางคิดร่วมกันเข้าใจตรงกันของกลุ่มชนทั้ง 2 อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง
ทวดงู คืออะไร? ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกงูว่า ?snake? แต่ ?งู? ในที่นี้เป็นมากกว่างูธรรมดาสามัญโดยปกติทั่วไป ในความเชื่อของชาวไทยถิ่นใต้เรียกว่า ?ทวดงู? หรือ ?งูทวด? บ้างก็เรียกกันว่า ?งูเจ้าที่? หรือ ?งูเจ้า? และอธิบายตรงกันว่าเป็น ?งูศักดิ์สิทธิ์? (sacred snake) มีรูปแบบทางความเชื่อที่คล้ายกันของชาวไทยถิ่นใต้ และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย อันเรียกตนเองว่า ?ไทยสยาม? กล่าวร่วมกันว่า งูทวดคืองูศักดิ์สิทธิ์อันถือกำเนิดเกิดขึ้นมาจากดวงวิญญาณของบรรพชนอันประกอบกรรมดีหรือกรรมขาวเอาไว้อย่างแรงกล้าในภพก่อน ประกอบกับมีความเป็นห่วงลูกหลาน วงศ์ตระกูล รวมถึงคนในรุ่นต่อมา พอดวงวิญญาณดังกล่าวมาเกิดในชาติใหม่ภพใหม่ ด้วยความผูกพันรวมถึงบุญกุศลที่ได้สร้างไว้จึงดลบันดาลให้เกิดเป็นทวดงู คอยเฝ้าดูแลปกป้องคุ้มครองคนในรุ่นต่อๆมา หรือเผ่าพันธุ์ของตนให้บังเกิดแต่ความสุข สงบ และเจริญรุ่งเรืองสืบไปในวันข้างหน้า ซึ่งความเชื่อที่ว่า ?ทวดงู คือดวงวิญญาณของบรรพชน? นี้เองจึงเข้าเค้ากับลักษณะการแบ่งจำพวกของผี หรือดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ว่าด้วยการเซ่นสังเวยบูชาว่า ผีที่เป็นดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือบรรพชนอันล่วงลับดับสูญไปแล้วก่อให้เกิดการเซ่นสังเวยบูชา ให้เรียกว่า ?คติบูชาผีบรรพบุรุษ? (ancestor worship) ซึ่งคติบูชาผีบรรพบุรุษหรือผีบรรพชนนี้มีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มีอยู่โดยทั่วทุกภาค ทางภาคเหนือ เรียกว่า ?ผีปู่ย่า? ทางภาคกลาง เรียกว่า ?ผีปู่ย่าตายาย? ทางภาคอีสาน เรียกว่า ?ผีปู่ตา? ทางภาคใต้ เรียกว่า ?ผีตายาย? แม้นไทยสยามในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียเองก็เรียก ?ผีตายาย? เช่นเดียวกันที่ว่า ทวดงู หรืองูทวด คืองูบรรพชนอันมีหน้าที่ในการป้องปกลูกหลานในรุ่นต่อมา เป็นงูศักดิ์สิทธิ์ที่จักเนรมิตสิ่งต่างๆให้ได้สมดั่งใจมุ่งหวังแต่มีข้อแม้ว่าคนผู้นั้นจะต้องหมั่นสร้างกรรมดี และนับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น อนึ่ง ในเรื่องการถือกำเนิดของ ?ทวดงู? นี้เองผู้เขียนเคยเดินทางไปสอบถามจากทรรศนะนักวิชาการท่านหนึ่งคือ ท่าน ผศ. จำเริญ แสงดวงแข อาจารย์สอนวิชาภาษาไทย และไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ท่านได้แสดงทรรศนะเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ?ทวดงู หรืองูทวด นี้เป็นความเชื่อที่มีมานานแล้ว เชื่อกันว่าทวดงู เป็นงูศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทำการเซ่นสรวงบูชาเอาใจจึงจะเป็นคุณ แต่หากกระทำการลบหลู่ดูหมิ่นก็จะได้รับผลเสียตามมา ทวดงูเกิดขึ้นมาจากดวงวิญญาณของบรรพชนจริงหรืออันนี้ไม่สามารถทราบได้แน่ชัด แต่ที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่ากันว่าทวดงู เป็น อจินไตย คือเกิดขึ้นเอง และมีมานานแล้ว? ลักษณะของทวดงูที่สำคัญ เชื่อกันว่าทวดงูมีลักษณะที่สำคัญๆ 7 ประการด้วยกันดังนี้คือ 1.ทวดงู คืองูจงอางขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่างูจงอางในแบบปกติธรรมดามาก 2.ทวดงู ส่วนใหญ่มีสีดำ แต่บางจำพวกก็แสดงสีที่ไม่แน่นอน อาทิ สีขาว สีแดง สีน้ำตาล บ้างก็ปรากฏเป็นลายพาดดั่งงูจงอางปกติสามัญ เป็นต้น 3.ทวดงู ส่วนใหญ่มีหงอนเป็นรูปเปลวเพลิงสีแดงสดตั้งอยู่บริเวณตรงกลางหัว 4.ทวดงู มีดวงตาสีแดงเพลิงอันบ่งบอกถึงพลังอำนาจ 5.ทวดงู มีปากและลิ้นเป็นสีแดง 6.ทวดงู มีปลายหางเป็นสีแดงเพลิง เช่นเดียวกับหงอนแดงบนกลางหัว ทวดงู ตนที่มีอายุมากจะมีเครางอกออกมาบริเวณใต้คางด้วย
ภาพประกอบ ทวดงู หรืองูทวด ภาพจากหนังสือ คตินิยมและ คุณค่าที่ปรากฏในงานประติมากรรมรูปสัตว์ในวัดในพระพุทธศาสนานิกายหินยาน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (a study of popular beliefs as appeared in the sculptured creatures in the hinayana Buddhist temples in amphoe hatyai,changwat songkhla) หน้า 99 ของ คุณาพร ไชยโรจน์
ภาพวาดดรออิ้ง : ทวดงู สมบัติส่วนตัวของ : พณฯ ท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี
จากคุณ |
:
ความเงียบที่บ้าคลั่ง
|
เขียนเมื่อ |
:
12 ก.ย. 54 14:04:35
|
|
|
|
 |