CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    Logistics เพลินๆกับนายหรั่ง : Lead Time.

    Lead time

           ในกระบวนการเก็บสินค้าคงคลัง (Inventory) นั้น ถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของ Logistics ซึ่งเป็นกระบวนการเก็บรักษาสินค้าหรือวัตถุดิบก่อนนำไปผลิตเป็นสินค้าหรือส่งมอบให้ลูกค้าต่อไป ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องทราบก่อนว่า เราจะเก็บสินค้าคงคลังไว้ปริมาณเท่าไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการจัดเก็บสินค้าคงคลังนั้นมีต้นทุนสูง ยิ่งเก็บมากหรือเก็บนานก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น การเก็บสินค้าคงคลังนั้นจำเป็นต้องประสานงานกับฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายผลิตด้วย เนื่องจากปริมาณการจัดซื้อและปริมาณการผลิตได้ในแต่ละงวดนั้นมีความสัมพันธ์กับวัตถุดิบที่เก็บในคลังสินค้า หากจัดซื้อมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็จะมีผลต่อการผลิตที่อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการสูญเสียการจำหน่ายสินค้า และกำลังการผลิต ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยไร้ประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อและจัดเก็บก็จะไร้ประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

                ระยะเวลาในการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละงวดนับตั้งแต่ออกใบสั่งสินค้าจนถึงเวลาที่สินค้าเข้ามานั้น เราเรียกว่า Lead time หรือ ช่วงเวลานำ หรือ ระยะเวลาที่ต้องการล่วงหน้าในการทำธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทราบในขบวนการทำ Inventory ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นแล้วเรายังต้องรู้ถึงต้นทุนต่อหน่วยในการเก็บสินค้า (H), ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้ง (Q), ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง (S) และ ความต้องการสินค้าตลอดปี (D) สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถคำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อสินค้าที่เหมาะสมที่สุดได้ และสามารถคำนวณหาเวลาในการสั่งซื้อที่เหมาะสมได้อีกด้วย

                 ต้นทุนในการจัดเก็บสินค้านั้นมาจากสองกรณี กรณีแรกมาจากต้นทุนในการเก็บสินค้า กรณีที่สองเกิดจากต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้า ดังนั้น ต้นทุนในการเก็บสินค้านั้นเกิดจากการนำเอาปริมาณการสั่งซื้อสินค้าต่อครั้ง คูณกับค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าต่อหน่วยต่อปีถั่วเฉลี่ย ซึ่งเท่ากับ H/2 ซึ่งต้นทุนในการเก็บสินค้าคงคลังตลอดปีจะเท่ากับ QH/2 นั้นเอง (อาจคิดได้จาก การสั่งสินค้าตอนต้นปี และปลายปีคูณด้วยค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อสินค้าและนำเอา 2 มาหารเป็นถั่วเฉลี่ยก็ได้ ซึ่งเป็นแนวความคิดจากทางบัญชี)

           สำหรับค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อสินค้านั้นหาได้จากการนำเอาความต้องการสินค้าตลอดปีนั้นหารด้วยปริมาณการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งซึ่งจะเท่ากับ D/Q คูณด้วยค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง (S) ซึ่งจะเท่ากับ DS/Q ซึ่งจะเท่ากับค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อตลอดทั้งปีครับ

                   ดังนั้น ต้นทุนรวมตลอดปี (Total Cost) = QH/2 + DS/Q นั้นเองครับ
                   จากสมการดังกล่าว เราสามารถหาต่อไปได้ดังนี้คือ…
            Q^2 H= 2DS,     Q = (2DS/H)^1/2  นั่นเองครับ

            สมการดังกล่าวเรียกว่า สมการกำหนดปริมาณสั่งซื้อที่ประหยัดที่สุด (Economic Order Quantity) หรือ EOQ ครับ เช่น
                     องค์กรผลิตแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลา 1 ปีนั้น จะสั่งซื้อวัตถุดิบปริมาณ 2000 กิโลกรัม เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บกิโลกรัมละ 10 บาท การสั่งซื้อแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่าย  100 บาท หากต้องการสั่งซื้อครั้งละ 100,200, 500 และ 1000 กิโลกรัม ปริมาณไหนจะทำให้ประหยัดในการสั่งซื้อมากที่สุด

               เราอาจใช้สมการต้นทุนรวมของการสั่งซื้อสินค้าได้จาก Total cost = QH/2 + DS/Q
      TC ในการสั่งซื้อ 100 กิโล = 10x100/2 + 100x2000/100 = 2500 บาท
          TC ในการสั่งซื้อ 200 กิโล = 10x200/2 + 100x2000/200 = 2000 บาท
          TC ในการสั่งซื้อ 500 กิโล = 10x500/2 + 100x2000/500 = 2900 บาท
       TC ในการสั่งซื้อ 1000 กิโล = 10x1000/2 + 100x2000/1000= 5200 บาท

               จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อครั้งละ 200 กิโลกรัมน้อยที่สุดนั้นเองครับคือ 2000 บาท
                หรือสามารถหาได้จากสมการปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดที่สุด (EOQ) ดังนี้คือ
                จาก Q = (2DS/H)^1/2  , ดังนั้น Q = (2(2000)(100)/10)^1/2
                                                                                          = 200 กิโลกรัม เช่นเดียวกันครับ
           ถ้าต้องการทราบว่าหน่วยผลิตจะต้องทำการสั่งซื้อทั้งหมดกี่ครั้ง  และระยะเวลาที่สั่งซื้อต่อครั้งห่างกันเท่าใด  
           สามารถคำนวณได้ดังนี้คือ

    จำนวนครั้งที่สั่งซื้อ    = 2000/200        = 10  ครั้ง/ปี
    ฉะนั้นระยะเวลาในการสั่งซื้อต่อครั้ง      = 365/10 = 36.5 วันต่อครั้ง
                   หากคิดโดยปัดเศษออกจะเท่ากับ             36       วัน/ครั้ง
                   สมมุติว่าระยะการนำส่ง (Lead Time) เท่ากับ 6 วัน ฉะนั้นจึงควรสั่งซื้อก่อนสินค้าหมดเป็นเวลาเท่ากับ 36-6 = 30 วันนั่นเองครับ

                    จากกราฟแสดงจุดสั่งซื้อสินค้าเมื่อมีระยะเวลานำส่งนั้น จะเห็นว่าเมื่อลากเส้นตรงขึ้นจากแกน X ซึ่งเป็นแกนเวลา ตรงจุดที่เป็น 30 วันนั้น ตัดกับเส้นเอียงที่เกิดจากการใช้สินค้าที่ค่อยๆหมดลงตั้งแต่ 200 กิโลกรัมจนถึง 0 นั้น แล้วลากเส้นแนวนอนไปตัดแกนY ซึ่งเป็นปริมาณสินค้า จะได้จุดที่ 33.33 หมายความว่าปริมาณที่เราควรสั่งซื้อสินค้าที่เหมาะสมที่สุดคือเมื่อสินค้าอยู่ที่ 33.33 กิโลกรัมนั้นเองครับ

    แก้ไขเมื่อ 09 ส.ค. 49 16:43:16

     
     

    จากคุณ : นายหรั่ง - [ 9 ส.ค. 49 16:39:39 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com