CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    การจัดการองค์กรเพลินๆกับนายหรั่ง :Benchmarking.

    Benchmarking

          ปกติการที่เราจะรู้ว่าตัวเราเองนั้นมีความสามารถมากหรือน้อยนั้น เราต้องหาตัวเปรียบเทียบให้ได้เสียก่อนจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถกล่าวได้ว่า ตัวเราเองมีความสามารถเก่งกว่าคนนั้น คนนี้ หรือ องค์กรเราใหญ่กว่า ดีกว่าองค์กรนั้น องค์กรนี้ ใช่หรือไม่ แน่นอนหากเราหาตัวเปรียบเทียบได้แล้ว เราจะสามารถเปรียบเทียบตัวเราเองกับคนที่เราเปรียบเทียบได้อย่างเต็มปาก การเปรียบเทียบนั้นต้องมีจุดประสงค์ด้วยนะครับ ส่วนใหญ่แล้วควรมีจุดประสงค์ไปในทางที่ดี คือเปรียบเทียบในสิ่งหรือแนวทางดีๆเท่านั้นครับ เพื่อจะได้แข่งทำในสิ่งที่ดีๆ และเมื่อเปรียบเทียบกันได้แล้ว หากเราเสียเปรียบ หรือ ด้อยกว่าคู่แข่งแล้ว ก็ควรทำการปรับปรุงแก้ไขในสิ่งนั้นเสียด้วย เพื่อจะได้ไม่เสียเปรียบอีกต่อไปนั้นเอง

                เรากำลังพูดถึงเรื่อง Benchmarking นั่นเองครับ Benchmarking ก็คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ(Best Practices) จากองค์กรอื่น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับองค์กรของเรา หากองค์กรอื่นดีกว่า เราจะศึกษาจากประสบการณ์ตรงขององค์กรอื่นแล้วนำมาประยุกต์ให้เหมาะสม จะช่วยประหยัดเวลาและลดการลองผิดลองถูก Benchmarking จึงเป็นเส้นทางลัดสู่ความเป็นเลิศนั้นเองครับ

                  วัตถุประสงค์ของการทำBenchmarking คือ การแสวงหาตัวอย่างวิธีการปฏิบัติงานที่ดีกว่าเดิม รวมถึงการทำความเข้าใจกับกระบวนการและวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่ผลักดันให้เกิดผลการปฏิบัติงานที่ดี ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ จะปรับปรุงผลการดำเนินงานของตนโดยเลือกสรรและนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศเหล่านี้ไปใช้ในกระบวนการทำงานซึ่งไม่ใช่เป็นการลอกเลียนแบบแต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ

                   การที่เรานำวิธีการที่ดีกว่ามาปฏิบัติเพื่อสู่ความเป็นเลิศนั้น ก็เพื่อสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้มีองค์กรต่างๆที่ผลิตสินค้าหรือบริการมากมาย และหลายสิ่งหลายอย่างก็ตรงกับสิ่งที่เราผลิตหรือบริการด้วย ดังนั้นหากเราต้องการมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขันได้นั้น เราต้องสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วยนั้นเอง ซึ่งความได้เปรียบดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับ กลยุทธ์ (Strategic) วิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจหลัก (Mission) และเป้าหมาย (Goal) ขององค์กรนั้นๆเป็นสำคัญ เช่น การก้าวสู่ความเป็นเลิศ หรือ เป็นผู้นำในด้านต่างๆ การมองการณ์ไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ กำหนดกรอบ ขอบเขตของการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม การกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องและเป็นจริงได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ภาคการปฎิบัติของคนในองค์กรนั้น แลนำเอาผลที่ได้จากการปฏิบัตินั้นมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน ก็จะสามารถนำองค์กรนั้นไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

                  ประโยชน์ของการ Benchmarking นั้น
    - ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น ลดค่าใช้จ่ายลง ลดระยะเวลาทำการผลิต ลดของเสีย
    - เพิ่มความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดี เช่น เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้าและบริการได้ ทันต่อความต้องการ และปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
    - สามารถเพิ่มความรู้ความสามารถของคนในองค์กรได้โดยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดี และเหมาะสม ทำให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้นด้วย

                  ขั้นตอนในการทำ Benchmarking นั้น
    - เริ่มจากการวางแผนด้วยการกำหนดเรื่องที่จะทำการเปรียบเทียบ กำหนดหน่วยงาน กำหนดวิธีการเก็บข้อมูลที่จะนำมาเปรียบเทียบ และรูปแบบที่จะใช้
    - หลังจากนั้นก็ทำการ Implement ระบบเพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นนำมาวิเคราะห์ โดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป้าหมายนั้นอาจเป็นสิ่งที่องค์กรนั้นทำได้แล้วในขณะนั้น (Base Line) หรือ สูงกว่าเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นรายงาน เพื่อเปรียบเทียบอย่างชัดเจนและอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นถึงแนวโน้ม และ Performance ของสิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์หาจุดอ่อน จุดแข็งของสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกัน หาสาเหตุ และวิธีการแก้ไข
    - หลังจากนั้นก็นำมาปฎิบัติเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยไม่ลืมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพไปเรื่อยๆ หรือ Adjustment อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความท้าทายและผลกำไรขององค์กรเป็นเป้าหมาย

                 ปัญหาของการทำ Benchmarking นั้นมีหลายรูปแบบ
                 
    - เริ่มตั้งแต่การนำสิ่งที่ไม่เหมาะสมมาเปรียบเทียบ เช่น นำเอาองค์กรที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ามาเปรียบเทียบ การใช้ตัววัดในการเปรียบเทียบผิดประเภท เช่น การเปรียบเทียบกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน หรือ เกี่ยวข้องกันน้อย
    - ขาดการสนับสนุนจากคนในองค์กรโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับสูง
    - ข้อมูลที่ได้มาไม่มีประโยชน์ หรือ มีประโยชน์น้อย ไม่คุ้มค่ากับการเปรียบเทียบ
    - มีตัววัดที่ใช้เปรียบเทียบมากเกินไป จนเป็นภาระที่เพิ่มเติมของคนในองค์กร ซึ่งอาจเกิดการปฏิเสธการทำงานได้
    - ข้อมูลที่ได้มาไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ของจริง หรือ ล้าสมัยเกินไป
    - สุดท้ายคือ การนำเอาสิ่งที่ได้จากการเปรียบเทียบทั้งในองค์กร และ นอกองค์กรไปปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง หรือ ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา

                 และที่สำคัญ การทำ Benchmarking นั้นต้องสื่อสารให้กับคนในองค์กรอย่างชัดเจนถึงจุดประสงค์ในการทำ โดยชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ได้ ความคุ้มค่าที่ได้รับ และประสิทธิภาพที่จะตามมาในรูปแบบต่างๆ มิเช่นนั้น คนในองค์กรอาจเข้าใจผิดว่าเป็นการจับผิดทั้งบุคลากรในองค์กร หรือ ขบวนวิธีในการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่ไว้ใจกันในองค์กร ไปสู่ความขัดแย้ง และขาดความร่วมมือกันที่ดีในการทำร่วมกันนั้นเองครับ สวัสดี

     
     

    จากคุณ : นายหรั่ง - [ 23 ส.ค. 49 16:52:51 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com