Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เทคนิคการหางานทำ - เมื่อต้องเข้าห้องสัมภาษณ์งาน

    เทคนิคการหางานทำ - เมื่อต้องเข้าห้องสัมภาษณ์งาน

    -----------------------------------------------------------

    เนื่องจากลุงแอ็ดติดภาระกิจที่ต่างจังหวัดในวันนี้
    เปิ้ลขออนุญาตทำหน้าที่โพสต์กระทู้
    "เทคนิคการหางานทำ"
    แทนลุงแอ็ด 1 วันนะคะ

    ----------------------------------------------------------

    หลายคนกลัวเหลือเกินกับห้องสัมภาษณ์งาน บางคนถึงกับ

    เรียกมันว่า “ห้องเย็น” ฟังดูน่ากลัวเกินจริงเสียนี่กระไร

    ไม่ต้องกลัวนะ ห้องนี้ก็เหมือนห้องอื่นๆ เมื่อคุณได้เคยเข้า

    มาแล้วครั้งหนึ่ง ดีกรีความตื่นเต้น ความกลัวของคุณจะลด

    ลงไปเรื่อยๆ ตามจำนวนครั้งที่เข้า  


    สำหรับคนที่เพิ่งเข้าเป็นครั้งแรก เป็นธรรมดาที่คุณจะรู้สึก

    กลัว ตื่นเต้น ประหม่า และอีกหลายๆ อาการขึ้นอยู่กับแต่

    ละคน ขอเพียงอย่างเดียวให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้ว

    นึกถึงหนทางที่คุณเดินผ่านมา


    คุณทำอะไรมาแล้วบ้าง ตั้งแต่การเข้ารับฟังคำแนะนำ

    เกี่ยวกับการสมัครงานจากบริษัทต่างๆ ในมหาวิทยาลัย

    การตระเวนหางานจากแหล่งงานต่างๆ การตั้งใจเขียน

    Resume ให้น่าสนใจทั้งเนื้อหาและรูปแบบ การนั่งสมัคร

    งานผ่านอินเตอร์เน็ตตอนดึกๆ โดยไม่ยอมหลับยอมนอน

    การค้นหาข้อมูลของบริษัทเพื่อนำมาประกอบการ

    สัมภาษณ์ในวันนี้ เห็นมั้ย คุณทำทุกอย่างดีมาตลอด

    และก็ตั้งใจทำมันด้วย


    เวลานี้ทุกอย่างที่คุณทำมากำลังจะสำเร็จแล้ว อีกนิดเดียว

    เท่านั้น เมื่อคุณตั้งใจและเตรียมพร้อมมาตลอด

    จะต้องกลัวอะไรล่ะ วันนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี…เชื่อฉันสิ


    ไม่ว่าคุณจะพบกับการสัมภาษณ์งานในรูปแบบไหน  

    ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าความกลัวที่คุณสร้างขึ้นเองหรอก

    คุณต้องเอาชนะและผ่านมันไปให้ได้



    มาเริ่มที่แบบคลาสสิคที่สุดกันก่อน “หนึ่งต่อหนึ่ง”

    ผู้สัมภาษณ์หนึ่งคนและผู้เข้าสัมภาษณ์หนึ่งคน

    การสัมภาษณ์แบบนี้นิยมใช้กันมากทั้งการสัมภาษณ์

    รอบแรกและรอบหลังๆ ความน่ากลัวไม่มากสักเท่าไหร่

    คนที่ถามคุณมีแค่หนึ่งคน คุณสามารถเป็นฝ่ายควบคุม

    สถานการณ์ขณะสัมภาษณ์ได้เองบ้าง ด้วยการกล้าถาม

    ผู้สัมภาษณ์กลับ เพื่อให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ต้องการรู้

    สามารถจับทัศนคติ ความรู้สึกของผู้สัมภาษณ์ได้ง่าย

    แต่ข้อเสียของแบบนี้คือ คนที่ตัดสินคุณว่าผ่านหรือไม่มี

    เพียงคนเดียว ซึ่งหมายถึงถ้าเขาชอบคุณก็สบายไป

    แต่ถ้าเขาไม่ชอบก็หมดสิทธิ์ทันที เหมือนกับการแข่งขัน

    มวยสากลสมัครเล่น ถ้ามีกรรมการเพียงคนเดียว

    แล้วเขาเกิดมองไม่เห็นหมัดที่คุณต่อยเข้าปลายคางคู่ต่อสู้

    อย่างจัง แม้เป็นหมัดที่สวยที่สุดในชีวิต แต่คุณก็ไม่ได้

    รับคะแนนอยู่ดี



    แบบที่สอง “สองต่อหนึ่ง” หรือ “สามต่อหนึ่ง” ผู้สัมภาษณ์

    สองหรือสามคนกับผู้เข้าสัมภาษณ์หนึ่งคน แบบนี้เป็นแบบ

    ที่ใครหลายคนกลัวขึ้นสมองเอามากๆ มักใช้กับการ

    สัมภาษณ์รอบหลังๆ แต่ก็มีหลายบริษัทที่เลือกใช้แบบนี้

    ในการสัมภาษณ์รอบแรก ด้วยเหตุผลที่ฉันบอกไว้คือ

    การตัดสินคนๆ หนึ่งจากมุมมองเดียวดูจะไม่ยุติธรรมเท่า

    ไหร่ เพื่อป้องกันปัญหาการดูคนพลาดจากผู้สัมภาษณ์

    คนเดียว หลายบริษัทจึงเลือกใช้วิธีนี้ ถ้าทั้งสามคนคิด

    ตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคิดไม่ตรงกันสามารถมานั่ง

    ถกกันก่อนการตัดสินใจได้ ฉันจึงไม่อยากให้คุณกลัว

    การสัมภาษณ์แบบนี้ มันส่งผลดีกับตัวคุณมากกว่าแบบแรก

    เสียอีก ถ้ามั่นใจว่าคุณมีดีให้เขาเห็นก็ไม่ต้องกลัว

    สองในสามต้องเห็นมันบ้างล่ะ หรือถ้าเห็นพร้อมกันทั้ง

    สามคนก็ดีไม่น้อย ถือว่าชนะแบบเอกฉันท์



    แบบที่สาม “สองต่อกลุ่ม” หรือ “สามต่อกลุ่ม” ผู้สัมภาษณ์

    สองหรือสามคนกับผู้เข้าสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม กลุ่มละ

    ประมาณ 6-8 คน มักใช้กับการสัมภาษณ์รอบแรก

    และเป็นตำแหน่งที่รับจำนวนมาก โดยเรียกผู้เข้าสัมภาษณ์

    มาในวันเดียวกันหลายๆ คน แล้วจัดแบ่งกลุ่มคละกัน

    อาจคละสถาบัน หากเป็นตำแหน่งที่ต้องการนักศึกษา

    จบใหม่อย่าง พนักงานธนาคารประจำสาขา


    ดูเหมือนการสัมภาษณ์แบบนี้จะทำให้ผู้เข้าสัมภาษณ์

    อุ่นใจ มีเพื่อนร่วมชะตากรรมเยอะ แต่อย่าประมาทไป

    แบบนี้แหละที่คุณต้องเค้นความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมด

    ในตัวออกมา สร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง ต่างกับ

    การเข้าสัมภาษณ์คนเดียว ที่คุณแค่แสดงความเป็นตัวคุณ

    ให้ผู้สัมภาษณ์เห็นเท่านั้น ไม่มีใครมาให้เปรียบเทียบ

    แต่แบบนี้คู่แข่งเพียบ ถ้าคุณไม่มีความสามารถอะไร

    โดดเด่นพอ หมดหวังแน่นอน


    ส่วนใหญ่การสัมภาษณ์แบบนี้คำถามไม่ลึกมาก

    เช่น ให้แนะนำตัวเองให้เพื่อนร่วมกลุ่มรู้จัก บอกจุดเด่น-

    จุดด้อยของตัวเอง อาจมีการยกกรณีศึกษามาถามบ้าง

    แล้วให้ตอบเป็นรายคน สิ่งที่ฉันเห็นบ่อยๆ ในการสัมภาษณ์

    แบบนี้คือ ความประหม่า สั่น พูดไม่ออก คงเป็นเพราะ

    มีสายตาหลายคู่ที่จับจ้องอยู่ ไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร

    กลัวว่าคำตอบของตัวเองจะไม่เข้าท่าเมื่อเทียบกับคนอื่น

    ยิ่งพอคนก่อนหน้าตอบได้ดีมาก อาการประหม่าก็ชัก

    รุนแรงขึ้น


    ไม่ต้องกลัว ลองคิดว่ากำลังพูดคุยอยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิท

    ของคุณสิ นึกถึงบรรยากาศแบบนั้นดู แล้วจะเห็นว่าคุณมี

    ความเป็นตัวของตัวเองที่สุด อยากพูดอยากบอกอะไร

    ก็ทำได้อย่างที่ใจคิด ในห้องสัมภาษณ์งานแบบนี้ก็ไม่

    ต่างกัน ทุกคนต้องมาแลกเปลี่ยนความคิดกันบนพื้นฐาน

    ความรู้ความเข้าใจที่แตกต่างกัน ไม่ต้องกังวลว่าใครจะคิด

    อย่างไรกับคำตอบที่ออกจากปากคุณ เพียงแค่มั่นใจว่า

    นั่นคือคำตอบที่ได้ผ่านกระบวนการคิด เรียบเรียงในสมอง

    ของคุณมาแล้วหนึ่งรอบก็พอ อย่าปล่อยให้คำพูดที่ไม่ได้

    ผ่านกระบวนการดังกล่าวหลุดออกมาเด็ดขาด นอกจาก

    จะไม่เข้าท่า ไม่รู้เรื่องแล้ว มันอาจทำให้คุณต้องเสียใจ

    เมื่อออกมาจากห้องสัมภาษณ์ก็ได้ ที่อยากบอกอีกอย่าง

    คือ ทุกคนเขาก็ประหม่าและกลัวเหมือนคุณนั่นแหละ

    ไม่มีใครดีกว่ากันหรอก มั่นใจในตัวเองให้มากๆ


    ข้อพึงระวังสำหรับการสัมภาษณ์แบบนี้อยู่ที่การนั่งรวมกัน

    ในห้องก่อนที่ผู้สัมภาษณ์จะเข้าไป สถานการณ์ตอนนั้น

    น่าสนใจมาก เมื่อคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนต้องมาอยู่รวมกัน

    ในห้องๆ หนึ่ง ใครเป็นคนเริ่มพูดกับคนอื่นก่อน ใครนั่ง

    เฉยๆ ไม่ยอมพูดจา ใครมีบุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่น ใครมี

    ความเป็นผู้นำ ใครไม่ชอบทำงานเป็นทีม และอะไรอีก

    หลายๆ อย่าง สามารถเห็นได้จากภาพในกล้องวงจรปิด


    ฉันไม่ขอการันตีว่ามีกล้องติดไว้ทุกบริษัท แต่ส่วนใหญ่

    เป็นอย่างนั้น เหตุผลหลักข้อหนึ่งสำหรับการสัมภาษณ์

    แบบนี้คือ ต้องการรู้พฤติกรรมในการอยู่รวมกลุ่มของผู้เข้า

    สัมภาษณ์ ซึ่งสามารถสะท้อนรูปแบบการทำงานของแต่

    ละคนออกมาให้เห็นได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ภาพที่

    เห็นนั้นมักไม่ค่อยผิดจากความจริงสักเท่าไหร่ นำมาอ้างอิง

    ได้สูงถึง 90 %เชียว


    รู้อย่างนี้แล้ว คุณคงรู้ว่าต้องทำอย่างไรในขณะนั้น

    ขอให้ทุกอย่างที่แสดงออกมาเป็นตัวคุณมากที่สุด

    อย่าแสแสร้งแกล้งทำให้เกินจริง มันดูกันออก สำหรับ

    ใครที่บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่ชอบพูด ก็ไม่เป็นไร

    แต่อย่าให้ถึงขนาดนั่งเฉยๆ ไม่สนใจใครก็แล้วกัน

    เพราะคนลักษณะแบบนี้ไม่ว่างานตำแหน่งอะไร ที่ไหน

    ไม่มีใครอยากได้ไปร่วมงานหรอก สู้อยู่บ้านเฉยๆ ยังดี

    เสียกว่า


    การสัมภาษณ์ทั้งสามแบบที่ยกมาให้เห็นเป็นแบบที่บริษัท

    ส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ถ้าวันหนึ่งคุณไปเจอที่ไม่ใช่สามแบบ

    นี้ ไม่ต้องตกใจ บางบริษัทอาจคิดรูปแบบการสัมภาษณ์

    ของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการ

    คัดคนในตำแหน่งพิเศษๆ อย่าง การสร้างสถานการณ์

    จำลองให้คุณรับโทรศัพท์ร้องเรียนจากลูกค้าสำหรับ

    ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า การจำลองสถานการณ์

    ว่าคุณกำลังว่าความอยู่ในศาลสำหรับตำแหน่งทนายความ


    ไม่ว่าคุณเจอการสัมภาษณ์รูปแบบไหน ธรรมดาหรือ

    พิสดาร สิ่งที่คุณต้องจำไว้ คือ เป็นตัวของตัวเองให้มาก

    ที่สุด อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ

    พฤติกรรมเดิมของคุณ แค่ให้ไปกันได้กับงานที่กำลัง

    สัมภาษณ์อยู่ คุณเปลี่ยนมันไม่ได้ตลอดไปหรอก

    บางคนเปลี่ยนได้แค่ในห้องสัมภาษณ์ขณะนั้น

    พอออกมาต้องกลับมาเป็นคนเดิม ไม่คุ้มหรอก

    ถ้าคุณได้งานนั้นมาด้วยความไม่เป็นตัวของตัวเอง

    คุณฝืนมันไปได้สักแค่ไหน หนึ่งวัน สองวัน หรือหนึ่ง

    สัปดาห์


    ไม่มีประโยชน์อะไรที่คุณได้งานๆ หนึ่งมา แล้วกลับพบว่า

    มันไม่ใช่งานที่คุณชอบ ที่คุณอยากทำในตอนหลัง

    ในเมื่อรู้ว่าคำตอบของคุณในห้องสัมภาษณ์มันฝืนความ

    เป็นตัวคุณมาก อย่าพยามเลย คุณไม่เหมาะกับงานนั้น

    ด้วยประการทั้งปวงตั้งแต่ยกแรกแล้ว ในขณะเดียวกัน

    ถ้าคุณมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดในขณะสัมภาษณ์

    ฉันรับรองได้ ผู้ที่สัมภาษณ์คุณอยู่ เขาก็รู้เช่นกันว่า

    คุณเหมาะกับงานนั้นหรือเปล่า ปล่อยให้เขาเป็นคนตัดสิน

    แต่ถ้าสิ่งที่คุณแสดงออกมา มันไม่เหมาะกับงาน แต่เขา

    ยังยืนยันรับคุณเข้าทำงานอยู่ นั่นอาจเป็นเพราะมีอะไร

    บางอย่างในตัวคุณที่แสดงให้เขาเห็นว่าคุณสามารถทำงาน

    นั้นได้ ถึงตอนนั้นคุณจะลองรับปากร่วมงาน ก็ไม่เสียหาย

    อะไร


    ไม่ว่าความกลัว ความประหม่า อาการสั่น ไม่มั่นใจ

    ไม่มีทางเกิดขึ้นกับคุณได้ หากคุณมีความเป็นตัวของตัว

    เอง จะกลัวอะไร ในเมื่อทุกอย่างที่แสดงออกมา

    มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ผ่านการประดิดประดอย

    แสแสร้งแกล้งทำแต่อย่างใด การสัมภาษณ์งานก็ไม่ต่าง

    กับการที่คุณเข้าไปคุยกับญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนคนหนึ่ง

    หรอกนะ…


    **********************************************




    ตอนต่อไป  :    ไม่ใช่งานเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกคุณ  
                        คุณเองก็มีสิทธิเลือกงาน…




    ***********************************************




    จาก....กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี  ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น  โดย

    ปนัฎดา  สังข์แก้ว




    amorntvm@anet.net.th




    http://lungadd.pantown.com/

    จากคุณ : แมงปอในไร่ส้ม - [ 20 ม.ค. 50 12:42:10 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom