ความคิดเห็นที่ 1
Balanced Scorecard
ความนำ การประเมินผลในอดีตที่ผ่านมานั้น องค์การส่วนใหญ่จะทำการประเมินผลโดยใช้ตัวชี้วัดทางด้านการเงิน (Financial Indicators) เป็นหลัก โดยเน้นให้องค์การทำกำไรมาก และพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไรให้มากที่สุด เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมพนักงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน การลงทุนด้านการค้นหาความต้องการของลูกค้า การลงทุนเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับปรุงความสามารถของกระบวนการต่าง ๆ ในองค์การ เป็นต้น เป็นเหตุให้องค์การต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร องค์การต่าง ๆ จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวคิดการประเมินผลแบบ Balanced Scorecard มากขึ้น Balance Scorecard เป็นมากกว่าเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผล แต่เป็นเครื่องมือทางด้านการบริหารจัดการที่ช่วยในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ (Strategic Implementation) โดยอาศัยการวัดหรือประเมิน (Measurement) ที่จะช่วยให้องค์การเกิดความสอดคล้อง และมุ่งเน้นในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การ (Aligment and Focus)(พสุ เดชะรินทร์,2544:11)
แนวคิดพื้นฐานของ Balanced Scorecard David P. Norton และ Robert S. Kaplan ได้ร่วมกันพัฒนาและเสนอแนวคิดใหม่ คือ (Balance Scorecard : BSC) เป็นเครื่องมือในการประเมินผลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อเพิ่มมุมมองในการกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานในมุมมองด้านอื่น ๆ บ้าง แทนที่จะใช้ตัวชี้วัดทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียวก็ควรเพิ่มมุมมองในการกำหนดตัวชี้วัดเป็น 4 มุมมอง เพื่อวัดผลการดำเนินงานขององค์การ โดยเน้นความสมดุลของตัววัดผลต่าง ได้แก่ มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจภายใน (Internal Perspective) และมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) แนวคิด BSC เกิดขึ้นเนื่องมาจากเกณฑ์ในการประเมินผลแบบเดิมนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการวัดผลการดำเนินงานในอดีต แต่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสามารถขององค์การและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ การใช้เทคนิคการวัดผลงานแบบ Balance Scorecard นี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ เนื่องจากให้ความสำคัญแก่การใช้ตัวแปรที่ไม่ใช่การเงินมากขึ้น เช่น การวัดความพึงพอใจของลูกค้า ที่อาจเกิดจากคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดี ราคาที่สมเหตุสมผล การให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เป็นต้น ทั้งนี้ องค์การจะต้องให้ความสำคัญแก่การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นการวัดผลการดำเนินงานสมัยใหม่ จะเน้นที่ความสมดุล ทั้งการวัดผลในระยะสั้น และระยะยาว ความสมดุลระหว่างปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก และความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านการเงิน และปัจจัยที่ไม่ใช่การเงิน โดยใช้วิธีการวัดผลให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์การมากขึ้น และให้ความสำคัญแก่บุคลากรในองค์การ และสภาพในการทำงาน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในการทำงานและให้ความร่วมมือในการพัฒนาองค์การ แต่หากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความพึงพอใจในการทำงานจะทำให้การปฏิบัติงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่ามุมมองทั้ง 4 นี้เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกธุรกิจ แม้กระทั่งองค์การของรัฐ ก็สามารถนำ BSC มาประยุกต์ใช้ได้โดยมุมมองด้านการเงินก็อาจเปลี่ยนจากกำไรมาเป็นประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เป็นต้น
จากคุณ :
rfu
- [
25 ต.ค. 50 16:56:55
]
|
|
|