Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    "เลขาฯ ตัวแสบ!" ตอน.....พบทนายความเรื่อง "การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม" พร้อมกับการได้รับ "เงินชดเชย" เกือบแสนบาท!!!

    เมื่อฉันและน้องไปถึงสภาทนายความ    
    ก็เห็นห้องทำงานที่กั้นด้วย partition หรือแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ประมาณสัก 10 ห้อง  
    มีทนายความชาย-หญิง   บ้างก็อยู่ในวัยหนุ่มสาว  บ้างก็ค่อนข้างมีอายุแล้ว  
    พอเข้าไปรับ “บัตรคิว” แล้วก็นั่งคอยประมาณ “ครึ่งชั่วโมง”
    ก็ถึงคิวพบทนายความชายคนหนึ่งอายุประมาณ 50 ต้น ๆ  

    ฉันได้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทนายฟังโดยมีน้องสาวสองคนของฉันช่วยกันป้อนคำถามอยู่ข้าง ๆ  
    ข้อมูลและคำแนะนำที่ได้รับจากทนายก็ไม่ได้แตกต่างจากที่ฉันได้รับทางโทรศัพท์ตั้งแต่ต้น  
    นั่นก็คือฉันสามารถเรียกร้อง “ค่าชดเชยการบอกกล่าวล่วงหน้า”ได้หนึ่งเดือน
    ส่วนการฟ้องร้องเพื่อเรียก “ค่าเสียหาย” จากการ “ขาดโอกาสในการทำงาน” ไม่สามารถทำได้
    คุยได้ประมาณ 20 นาทีฉันและน้อง ๆ ก็ลากลับ….  

    เนื่องจากยังไม่ได้คำตอบหรือวิธีแก้ปัญหาตามที่ฉันต้องการ  
    ทำให้ฉันคิดว่าฉันควรไปพบ “ทนายความเอกชน” ที่อาจจะมีวิธีการหรือเทคนิคที่ “แตกต่าง” มากกว่า  
    ฉันคิดถึงทนายมืออาชีพคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นทนายที่ปรึกษาของอดีตนายจ้างคนหนึ่งของฉัน  
    ทนายคนนี้เป็นทนายความระดับ Inter เพราะมักจะว่าความให้กับบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

    ฉันได้โทรไปปรึกษาและก่อนที่จะเริ่มเล่ารายละเอียดให้กับทนายทางโทรศัพท์
    เขาขอให้ฉันเข้าไป “พบ” เพื่อคุยที่สำนักงานทนายความของเขาแทนการคุยทาง “โทรศัพท์”    
    ฉันกับน้องก็เลยรีบบึ่งรถไปสำนักงานของเขาทันที  

    ฉันเล่ารายละเอียดทั้งหมดให้ทนายฟังเหมือนกับที่เล่าให้กับทนายที่สภาทนายความ……….  
    และเหมือนกับที่เล่าให้น้องทั้งสองของฉันฟัง…………  
    เป็นการเล่า “เรื่องเดิม” ที่เกิดขึ้นกับฉันเป็นครั้งที่ 3 ในวันนี้!!!  
    นอกจากนี้หลังจากเรื่องการถูกเลิกจ้างงานของฉันถูกเปิดเผยแล้ว  
    ฉันคาดว่าจะต้องถูกซักถามจากเพื่อนฝูงญาติพี่น้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกตรึม!!
    ถ้ารู้แต่แรกว่าจะต้องเล่าเรื่องเดียวกันซ้ำ ๆ แบบนี้ฉันน่าจะ “อัดเทป” และเปิดให้ฟังซะก็ดี!  

    “ความแตกต่าง” ระหว่างทนายที่สภาทนายความกับทนายเอกชนก็คือ  
    “คนแรก” จะให้คำแนะนำแบบนักวิชาการหรือครูบาอาจารย์และให้เราไป “วิ่งเต้นดำเนินการเอง”  
    ส่วน “คนหลัง” จะ “Take Action” ด้วยการฟันธงเลยว่าให้ฉันส่งสำเนา “สัญญาจ้างงาน”  
    และตัวเลขเงินเดือนที่บริษัทจะต้องโอนเข้าบัญชีของฉันเพื่อเป็นข้อมูลในการร่างจดหมายให้ฉัน
    สำหรับส่งให้กับนายจ้างเพื่อเรียกร้องค่าจ้างและค่าบอกล่วงหน้า 1 เดือนตามกฏหมายแรงงาน

    เมื่อกลับถึงบ้านฉันรีบ Fax สัญญาว่าจ้างไปให้ทนายและได้เรียนรู้จากทนายว่า
    จากเนื้อหาในสัญญาจ้างงาน “เงินเดือน” ของฉันไม่ใช่ตัวเลขที่ฉันเคยเข้าใจตามที่สัญญาได้ระบุไว้  

    เนื่องจากในสัญญาว่าจ้างระบุว่าฉันจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเป็น “โบนัส” อีกปีละ 1 เดือนของเงินเดือนอีกด้วย  

    ดังนั้นตัวอย่างกรณีจริงของฉันจากข้อมูลในหนังสือสัญญาจ้างงานคือ
     
    **วันเริ่มทำงาน
       วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม  
    **วันบอกเลิกจ้าง    
       วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม
    **วันจ่ายเงินเดือน
       วันที่ 25 ของทุกเดือน  
       หากตรงกับเสาร์อาทิตย์  ให้จ่ายในวันทำการก่อนวันที่ 25
    **เงินเดือนระบุในสัญญา 60,000.- บาท
    **เงินโบนัส 1 เดือน 60,000.- บาท (ระบุในสัญญา)
    **เท่ากับรายได้ต่อปี           60,000x12=720,000.-    บวกด้วยโบนัสอีก 60,000.- เท่ากับ 780,000 หารด้วย 12 เดือนจึงเท่ากับว่ารายได้ต่อเดือนเท่ากับ 65,000.- บาท
    **คิดเป็นรายได้ต่อเดือน 65,000.- บาท

    ดังนั้นเงินที่ฉันจะได้รับคือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งเดือน (65,000 บาท) บวกรายได้คำนวณจากจำนวนวันที่ทำงานจากวันที่ 13-24 มี.ค.=12 วัน ๆ ละ 2,166.66 บาท =25,999.99  
    คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 65,000 + 25,999.99 =90,999.99 บาท

    ตอนแรกฉันคิดว่าจะฟ้องค่าเสียหายในเรื่องที่เขาเลิกจ้างฉันโดย ”ไม่เป็นธรรม”  
    เนื่องจากเขาตั้งใจเอาเพื่อนมาแทนฉัน  
    ทำให้ฉันต้อง “ตกงาน” และ “เสียโอกาสในการรับรายได้”  
    แต่ทนายบอกว่าถ้าจะฟ้องร้องในประเด็นนี้ก็สามารถทำได้แต่จะต้องมี “การพิสูจน์”
    และต้องมี “หลักฐาน” แน่ชัดว่าคนที่ภรรยานายฝรั่งจะรับเข้ามาทำงานด้วย “เป็นเพื่อน” กันจริง  
    ซึ่งการตรวจสอบจะต้องมีขั้นตอนที่ “ยุ่งยากซับซ้อน”  
    และที่สำคัญกฏหมายไทยไม่เหมือนของเมืองนอกเพราะจะให้ “ความคุ้มครองนายจ้าง” ค่อนข้างมากเช่นกัน  
    ดังนั้นหากฉันต้องการเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือจากที่มีกำหนดในกฏหมายแล้วก็คง “ยาก” เหมือนกัน  
    เมื่อได้รับทราบเช่นนั้นฉันก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยและปลง  
    ก็คงได้แต่ยอมเรียกร้องเท่าที่กฏหมายกำหนดตามที่ทนายแนะนำ  

    ก่อนออกจากสำนักงานทนายความฉันถามทนายเกี่ยวกับเรื่อง
    “ค่าใช้จ่าย” ว่าจะคิดกับฉันอย่างไร  
    ทนายบอก “ไม่เป็นไร” และจะรีบดำเนินเรื่องให้โดยเร็ว    
    ว่าแล้ววันรุ่งขึ้นเขาก็ร่าง “จดหมายเป็นภาษาอังกฤษ” และ Fax มาให้ฉันที่บ้าน
    และให้ฉัน “Fax” ต่อไปยังสำนักงานตัวแทนธนาคารต่างชาติที่เลิกจ้างฉัน
    เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 90,999.99 บาทตามที่ได้คำนวณไว้ข้างต้น

    หลังจากตรวจสอบข้อมูลในจดหมายของทนายเรียบร้อยแล้ว
    ฉันก็รีบ Fax จดหมายฉบับดังกล่าวในนาม “ส่วนตัว” ของฉันเอง  
    เนื่องจากทนายความแนะนำว่าจะออกจดหมายในนามของ “ทนายความ”
    ก็ต่อเมื่อนายจ้างได้รับจดหมายส่วนตัวของฉันก่อนแล้ว “ปฏิเสธ” การจ่ายตามข้อเรียกร้อง

    หลังจาก Fax จดหมายเรียกร้องค่าชดเชยไปได้ประมาณ 3 วัน  
    ฉันก็ได้รับโทรศัพท์จากบริษัททนายอีกแห่งหนึ่งซึ่งนายจ้างฝรั่งได้ว่าจ้าง
    นัดให้ฉันไปพบที่สำนักงานเพื่อรับเงินชดเชยตามที่ฉันเรียกร้อง    
    ฉันโทรไปแจ้งให้ทนายของฉันทราบเรื่องและได้รับคำแนะนำให้สามารถเดินทางไปรับเงินที่สำนักงานทนายของนายฝรั่งได้เลย

    เมื่อไปถึงฉันพบว่าตัวเลขในเช็คกับตัวเลขในจดหมายที่ทนายของฉันคำนวณให้ไม่ตรงกัน  
    เพราะขาดไป 4,000.- บาทซึ่งเป็นเพราะถูกหักวันทำงานเสาร์อาทิตย์ออกไป    
    ฉันโทรไปปรึกษาทนายของฉัน   และทนายทั้งคู่ได้คุยกันทางโทรศัพท์  
    ทนายของฉันแนะนำให้ฉันรับเช็คนั้นไปเพื่อตัดปัญหาไม่ให้ยืดเยื้อ    
    เพราะหากนายจ้างฝรั่งเกิด “อิดเอื้อน” และไม่ยอมเพิ่มให้อีก 4,000.- บาทที่ขาดไป  
    เรื่องก็จะไม่ยุติง่าย ๆ    

    เพื่อเป็นการ “ตัดปัญหา” และไม่อยาก “เสียเวลา” เดินทางกลับมาอีก
    ฉันตัดสินใจเซ็นรับเช็คจำนวนเงินเกือบเก้าหมื่นบาทพร้อมเซ็นชื่อในจดหมายที่รับรองว่า  
    เมื่อรับเงินชดเชยก้อนนี้แล้วฉันจะ “ไม่เรียกร้อง” อะไรเพิ่มเติมอีกไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น  
    เมื่อเซ็นเอกสารครบฉันก็กลับบ้าน…..

    ฉันโทรศัพท์ไปขอบคุณทนายความของฉันพร้อมถามถึงค่าบริการ  
    เขาก็ยังพูดคำเดิมว่า “ไม่เป็นไรครับ”  
    ฉันก็ไม่ลดละที่จะพูดด้วยความเกรงใจว่า  แล้วส่งบิลเรียกเก็บเงินมาตามที่อยู่ในนามบัตรที่ให้ไว้ก็แล้วกัน    
    สัปดาห์ต่อมาฉันก็ได้รับบิลเรียกเก็บเงินจากทนายสมใจ    
    แต่พอเห็นตัวเลขแล้วต้อง ”ขยี้ตา” อยู่นาน!  
    เพราะเงินที่ได้จากค่าเสียหายจากนายจ้างฝรั่งจะต้องถูกหักเป็นค่าทนายประมาณ 10%!  
    เป็นค่าเข้าไปปรึกษาในสำนักงานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง  
    ค่าให้คำแนะนำปรึกษาทางโทรศัพท์  และค่าเขียนจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายเป็นภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ    
    ค่อนข้างโหดเหมือนกัน!!

    แต่ถ้าคิดในเชิงธุรกิจ   เขาร่ำเรียนมาสูง  มีประสบการณ์มาก  มีค่าใช้จ่ายบริษัทสูง  
    ค่าวิชาชีพที่เรียกเก็บก็น่าจะสมเหตุสมผลหรือเหมาะสมดีแล้ว    
    แต่ถ้าทำตามคำแนะนำของศาลแรงงานหรือสภาทนายความและไปดำเนินการเองแต่แรก    
    ฉันคงจ่ายเฉพาะ “ค่าธรรมเนียม” ไม่กี่ร้อยบาท  
    แต่อาจจะใช้เวลานาน  ไม่ทันใจ
    และฉันคงจะ “อกแตก” ตายไปก่อนเพราะไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร  
    และที่สำคัญคงเสียเวลาวิ่งไปมาระหว่างบ้านฉันกับศาลแรงงานหลายตลบทีเดียว    
    ก็คิดเสียว่าเสียเงินซื้อ “ความสะดวกสบายและรวดเร็ว” ก็แล้วกัน  

    แต่ไม่ขอแนะนำให้ใช้ทนายความเอกชนเหมือนที่ฉันทำ
    สำหรับผู้ที่มีเวลาพอที่จะวิ่งเต้นติดต่อทนายภาครัฐด้วยตนเอง  
    เพราะท่านจะประหยัดเงินได้เป็นหมื่นเลยทีเดียว!

    งานนี้นอกจากตัวฉันที่เสียหายมากที่สุดทางด้าน “จิตใจ” จนถึงทุกวันนี้แล้ว….
    นายจ้างฝรั่งของฉันน่าจะ “โดนไปเต็ม ๆ” ไม่แพ้กัน!
    เนื่องจากเขาเป็น “Country Manager” ของสำนักงานตัวแทนธนาคารที่ขึ้นตรงต่อสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ
    เขาต้อง “รายงานค่าใช้จ่าย” ทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้กับสำนักงานใหญ่ทราบ
    ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากกรณีการเลิกจ้างฉันที่เขาต้องรายงานต่อสำนักงานใหญ่ประกอบด้วย

    1.  ค่าบริการที่จ่ายให้กับบริษัทจัดหางานที่ส่งฉันไปเป็นเงิน 60,000.- บาทหรือหนึ่งเท่าของเงินเดือน
    2.  ค่าเงินเดือนและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าจากการเลิกจ้างฉันเป็นเงิน 90,999.99 บาท
    3.  ค่าจ้างทนายของบริษัทฯ ในการดำเนินการเรื่องการเลิกจ้างและชำระเงินชดเชยให้กับฉันหลังจากฉันมีจดหมายเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน………….บาท   ฉันประเมินว่าจะต้องเป็นตัวเลขที่ไม่ต่ำกว่าค่าทนายที่ฉันจ่าย   สมมุติว่าเท่ากันคือประมาณ 9,000.- บาท
    4.  คิดเป็นเงินที่นายฝรั่งต้องจ่ายจากการจ้างงานและเลิกจ้างฉันเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 60,000+90,999.99+9,000=159,999.99 บาท

    งานนี้นายฝรั่งคงถูกเพ่งเล็งไม่มากก็น้อยว่าทำงานไร้ประสิทธิภาพ
    โดยเลือกคนผิด (อย่างฉัน) และทำให้บริษัทฯ เสียเวลาแถมเสียหายคิดเป็นเงินก้อนโตทีเดียว!!

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    โปรดติดตาม  “เลขาฯ ตัวแสบ!” ตอน..... (คิดไม่ออกว่าควรจะเล่าเหตุการณ์ไหนก่อนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องดี   เพื่อน ๆ ช่วยเลือกหน่อยนะ)
    ระหว่างข้อ 1 หรือ 2

    1)  วันสัมภาษณ์กับ 12 วันก่อนถูกเลิกจ้าง  
    2)  ฉันทำอย่างไรหลังจากตกงาน?

    แล้วเจอกันใหม่สุดสัปดาห์หน้า!!

    แก้ไขเมื่อ 05 ธ.ค. 50 02:05:57

    จากคุณ : Destinyhurtsme - [ วันพ่อแห่งชาติ 01:31:51 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom