Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    กลยุทธ์ในการ “อยู่รอด” ก่อนธุรกิจจะ “อยู่ตัว”{แตกประเด็นจาก B6572126}

    เช้านี้มีมีบทความดีๆ มาแนะนำครับ เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกๆคน    
    คิดเห็นกันยังไงลองมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ
    ----------------------------------------------------------------------------------------------------

         ขณะที่ธุรกิจเริ่มที่จะเติบโต คุณอาจจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีแหล่งรายได้อื่นมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยชีวิตธุรกิจคุณไว้ก่อน บทความนี้จะแนะนำกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ธุรกิจคุณอยู่รอดในช่วงเริ่มต้น ช่วยคุณคิดวางแผนการจัดการกำไรที่อาจเกิดขึ้น การบริหารจัดการด้านการเงิน หรือการลดค่าใช้จ่าย กลยุทธ์ที่ว่าประกอบด้วย

         1. คาดการณ์ความต้องการเงินใช้จ่ายส่วนตัว สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ การทำงบประมาณค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคุณตลอดทั้งปีเป็นรายเดือนในรายการต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าเช่า ค่าเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ และค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้จำนวนเงินที่จำเป็นต้องดึงออกมาจากธุรกิจของคุณ ค่าใช้จ่ายบางอย่างจำเป็นที่จะต้องจ่ายประจำ ทำให้คุณสามารถประมาณการได้แน่นอน ดังนั้น คุณควรให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ประจำ อาทิ การเดินทาง หรือการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งถ้าเป็นไปได้คุณควรประหยัดสิ่งเหล่านี้ เพื่อการอยู่รอดของธุรกิจคุณ

         2. จัดทำแผนธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงประมาณการผลกำไรและการไหลเวียนของเงินสดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทำได้โดย

    ประมาณการรายได้ทั้งหมดจากการขาย

    ประมาณการค่าใช้จ่าย

    วางกรอบเงินเดือนและเงินปันผล รวมทั้งภาษีที่ต้องจ่าย

    คำนวณความแตกต่างระหว่างจำนวนเงินที่ต้องการ และจำนวนเงินที่คิดว่าจะต้องเบิกจ่ายจากธุรกิจ


         มันอาจจะไม่ง่ายนักในการประมาณการตัวเลขเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในปีแรก ดังนั้น วิธีการที่แนะนำคือ เน้นไปที่เงินสดเป็นหลัก ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะสั้นโดยปราศจากยอดขายหรือกำไร แต่จะอยู่รอดไม่ได้ถ้าไม่มีเงินสำหรับหมุนเวียน หลายคนมักไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างเงินสดและกำไร เรามาลองทำความเข้าใจดูใหม่สักนิดหนึ่ง

         กำไร คือ ความแตกต่างระหว่างรายได้ของธุรกิจและต้นทุนที่ธุรกิจจะต้องจ่ายในช่วงปฏิทินทางการค้า ซึ่งโดยปกติคือ 1 ปี

         การไหลของเงินสด คือ ความสมดุลระหว่างการไหลเข้าของเงิน และการไหลออกของเงินในธุรกิจคุณ จะครอบคลุมเฉพาะการจ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง เงินสดจะใช้สำหรับการจ่ายใบเรียกเก็บเงิน ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ ความต้องการเงินสดจะสูงขึ้นเมื่อธุรกิจของคุณเติบโตและขยายขอบเขตการขายสินค้าเงินเชื่อให้กับลูกค้ามากขึ้น เงินสดที่ไหลออกส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าโสหุ้ยที่เกิดจากการสต็อกสินค้า การซื้อวัตถุดิบ และการใช้จ่ายสำหรับการลงทุนอื่นๆ ที่จำเป็น

         ถ้าคุณขายของเป็นเงินเชื่อ เงินสดที่ไหลเข้ามาจะต้องรอจนกว่าจะมีการชำระเงินจริง ดังนั้น การบริหารจัดการเงินเชื่อที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ธุรกิจที่ซื้อเป็นเงินเชื่อแต่ขายเป็นเงินสด ดังเช่น ธุรกิจค้าปลีก จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการไหลของเงินสดมากกว่าธุรกิจอื่น อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจหลายแห่งที่การไหลของเงินสดขึ้นอยู่กับการได้รับเงินเบิกล่วงหน้าจากธนาคาร และมักจะมีปัญหาขาดเงินที่ได้รับอนุมัติภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการไหลของเงินสดอย่างรอบคอบ และลดความจำเป็นที่จะพึ่งพิงเงินเบิกล่วงหน้าจากธนาคาร

         3. ประหยัด มีวิธีที่จะช่วยให้คุณสามารถประหยัดเงินในการซื้อสินค้าและบริการทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและในธุรกิจของคุณได้ ดังนี้

    ส่วนตัว คุณสามารถลดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายแต่ละเดือนลงได้โดยการรวมหนี้ไว้เป็นแหล่งเดียว การจ่ายเงินประจำในแต่ละเดือนยอดเดียวมักจะถูกกว่าการที่คุณต้องจ่ายหนี้หลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเครดิตการ์ด หรือหนี้ธนาคาร การทำจำนองใหม่ (Re-mortgaging) ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยคลายปมภาระเงินไหลออกจากธุรกิจได้บ้าง การเปลี่ยนแหล่งผู้ให้บริการสาธารณูปการต่างๆ โดยหันไปใช้บริการกับผู้ให้บริการที่มีข้อเสนอน่าสนใจ สามารถลดค่าใช้จ่ายของการใช้บริการได้ อาทิ โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ซึ่งกรณีนี้ใช้ได้ผลดีกับต่างประเทศที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในธุรกิจให้บริการสาธารณูปการ แต่ของประเทศไทยใช้ได้เพียงบริการโทรศัพท์เท่านั้น เนื่องจากผู้ให้บริการไฟฟ้า และประปามีเพียงรายเดียวที่เป็นของรัฐ นอกจากนั้น คุณอาจประหยัดการใช้จ่ายประจำวันลง เช่น เปลี่ยนรถที่มีราคาถูกลง หรือใช้การขนส่งสาธารณะแทน เป็นต้น

    ในธุรกิจ คุณควรมีระบบควบคุมค่าใช้จ่ายที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย เพื่อแจกแจงขอบเขตของการประหยัด คุณสามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนเกินหรือที่ไม่จำเป็นออกไป ตัวอย่างเช่น ปิดเครื่องปรับอากาศตอนกลางคืน หรือการหาแหล่งซื้อวัตถุดิบในราคาถูก การหาซื้อของที่ใช้แล้ว หรือการเช่าซื้อแทนการซื้อขาด รวมแม้กระทั่งความคิดที่จะใช้บ้านเป็นสถานที่ทำธุรกิจ

         4. หาแหล่งรายได้อื่น มีทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการหารายได้มาสนับสนุนในช่วงต้นของการทำธุรกิจ อาทิ

    เงินออม คุณต้องแน่ใจว่าคุณมีเงินทุนที่สามารถจะหยิบมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน อย่างน้อยสำหรับการใช้จ่ายภายในรอบระยะเวลา 3 เดือน

    ทรัพย์สินที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนมาใช้รถราคาถูกลง ขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้หรือต้องการ เป็นต้น

    กู้ยืมเงินจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง โดยทั่วไปการกู้ยืมเงินจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูงมักจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าท้องตลาด แต่คงต้องระวังถึงการเสียความรู้สึกระหว่างกันกรณีที่คุณไม่สามารถชำระเงินกู้คืนได้ตามที่ตกลงกันไว้

    รายได้ในอนาคต คุณสามารถกู้ยืมเงินโดยการนำเอาหนี้ค่าสินค้าที่ได้รับไปขายให้กับบุคคลที่สาม

    เบิกเงินล่วงหน้า (Overdraft) ซึ่งจะเป็นภาระที่คุณต้องจ่ายคืนในอัตราดอกเบี้ยสูง

    ส่วนแบ่งหุ้น หาการลงทุนจากแหล่งอื่นโดยการให้ผลตอบแทนในรูปของหุ้นทางธุรกิจ

    หางานพิเศษทำ เป็นแหล่งทุนที่มีประโยชน์ แต่ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการธุรกิจของคุณ

         5. จัดเตรียมแผนทางการเงิน เมื่อคุณรวบรวมข้อมูล ข่าวสารทางการเงิน เช่น การประมาณการรายรับ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้แล้ว คุณก็จะสามารถที่จะจัดทำแผนทางการเงิน โดยเริ่มจากการวางแผนงบประมาณ แผนสำหรับการใช้จ่ายและการออมเงินของคุณ ซึ่งคุณจะต้องยึดติดอยู่กับแผนงบประมาณนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะใช้จ่ายเกินกำลัง หรือหมดเงินก่อนที่จะสามารถจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ได้ หลักของการวางแผนงบประมาณที่ดี คือ การทำให้ง่ายแต่เน้นมีการบันทึกรายการที่ดี โดยเก็บหลักฐานแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ในการวางแผนงบประมาณคุณควรจะ

         จัดทำงบประมาณที่แสดงระดับของยอดขายและกำไรที่คาดหวังว่าจะได้รับ และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการมียอดขายและกำไรในระดับนั้น

         ประมาณการยอดขายทั้งหมด

         จัดทำการคาดการณ์การไหลของเงินสดเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน (ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของข้อมูล) มองไปข้างหน้า 1 ปี โดยค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าโสหุ้ย เช่น ค่าเช่า เป็นต้น ควรจะสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ

         สร้างความแน่ใจว่าจะมีเงินพอในแต่ละช่วงเวลาที่จะต้องมีการจ่ายเงิน

         6. ขอรับการสนับสนุน ในยุคปัจจุบัน ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือสำหรับการดำเนินธุรกิจในบางขั้นตอน มีแหล่งความช่วยเหลือหลายทางที่น่าจะคำนึงถึง ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะต้องจ่ายสำหรับความรู้และข้อแนะนำที่ดีในการทำธุรกิจจากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

         7. กรณีตัวอย่าง Carolyn Howe เปิดร้านขายรองเท้าเด็ก ชื่อ “Piggy’s” ในเมืองเล็กๆ ของประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2544 การวางแผนทางการเงินที่รัดกุม และรอบคอบของเธอช่วยให้ธุรกิจรอดพ้นจากช่วงเริ่มต้นและสามารถขยายธุรกิจให้ใหญ่โตมากขึ้นได้ โดยมีพนักงานทั้งหมด 6 คน ครอบคลุมการจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้าเด็กครบวงจร สิ่งที่เธอเล่าและให้ข้อแนะนำคือ

         มีการวางแผนไปข้างหน้า เธอได้วางแผนทางการเงินด้วยความช่วยเหลือจากพนักงานบัญชี รวมทั้งคาดการณ์งบประมาณและยอดขาย แผนนี้มีประโยชน์มากต่อการควบคุมเป้าหมายของยอดขาย และประมาณการความต้องการสต็อกสินค้าในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนั้น เธอยังมีการวางแผนสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งจำนวนเงินจะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนขึ้นอยู่กับสถานะของธุรกิจว่าจะสามารถรับภาระได้มากน้อยแค่ไหน
         เธอเองยอมรับว่าเป็นการยากในการประมาณการยอดขายรายเดือน สิ่งที่ช่วยเธอได้มากคือ การทำวิจัยตลาดภายในท้องถิ่น โดยการหาข้อมูลที่จำเป็น อาทิ จำนวนเด็กที่อยู่ในวัยเรียนในพื้นที่ กฎที่ดีที่สุดสำหรับการคาดการณ์ที่เธอแนะนำคือ การไม่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป และต้องมีการวางแผนเตรียมไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

         หาแหล่งสนับสนุนเงินทุน จากแผนด้านการเงินที่มีการจัดทำไว้ ทำให้เธอรู้ว่าจำเป็นต้องหาเงินทุนมาเพิ่มเติม โดยการกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การสต็อกสินค้า และค่าตกแต่งสถานที่ เป็นต้น เธอต่อรองเพื่อให้ได้ระยะเวลาของการชำระหนี้ที่ยาวนาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้แนะนำให้เธอรู้จักกับหน่วยงานของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือในการทำธุรกิจ SMEs ทำให้ได้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่ามาลงทุนเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายด้าน IT ถึงแม้จะมีมูลค่าไม่มากนักแต่อย่างน้อยก็ช่วยได้บ้าง

         ลดต้นทุนให้ต่ำลง การลดต้นทุนสามารถทำได้ง่ายๆ เช่น การหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน เช่าร้านที่เล็กที่สุดและค่อยๆ ขยับขยายต่อเมื่อสถานะของธุรกิจสามารถสนับสนุนได้ ซึ่งวิธีนี้เธอมองว่าเป็นวิธีที่ดีสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น การลดค่าใช้จ่ายที่บ้านเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน เรื่องง่ายๆ เช่น การตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยบางอย่างลง เพราะยิ่งคุณใช้เงินส่วนตัวจากธุรกิจน้อยเท่าไหร่ โอกาสที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้ในช่วงปีแรกจะมีมากขึ้น

         ทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างการไหลของเงินสดและกำไร ในช่วง 2-3 เดือนแรก ยอดขายสินค้าพุ่งขึ้นสูง ซึ่งเป็นการง่ายมากที่เธอจะจินตนาการถึงเงินที่ไหลเข้ามาพร้อมกับกำไรที่ธุรกิจทำได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ ธุรกิจไม่มีกำไร เธอจึงทำการควบคุมการไหลของเงินสดในแต่ละสัปดาห์และคอยจนกว่าสิ้นปีจึงจะสรุปยอดผลกำไรจากการทำธุรกิจ

         ยึดติดอยู่กับงบประมาณ ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ เธอมักจะจ่ายเงินมากกว่าที่ตั้งใจไว้เพื่อซื้อสินค้าเก็บไว้ในสต็อก แต่เดี๋ยวนี้ เธอรู้แล้วว่าควรยึดติดอยู่กับงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ ไม่ว่าคุณจะได้รับการจูงใจมากเพียงใดจากตัวแทนขายก็ตาม


    ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

    จากคุณ : ACM - [ 12 มิ.ย. 51 08:39:23 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom