ความคิดเห็นที่ 3
เรื่อง กฎหมายแรงงานว่าด้วยการเลิกจ้าง
โดยทั่วไปเมื่อนายจ้างไม่ประสงค์จะจ้างลูกจ้างต่อไป นายจ้างจะต้องบอกให้ลูกจ้างทราบว่าจะเลิกจ้างตั้งแต่เมื่อไหร่ การบอกเลิกจ้างนั้น นายจ้างจะกระทำด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้ไม่ว่าจะทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ เพียงแต่ขอให้มีสาระสำคัญของการบอกเลิกจ้างก็คือการแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่านายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใด
การบอกเลิกจ้างด้วยวาจา นายจ้างควรบอกเลิกจ้างต่อตัวลูกจ้างโดยตรง การบอกเลิกจ้างด้วยวาจาทางอื่น เช่น การโทรศัพท์ การบอกต่อบุคคลอื่นให้ไปบอกให้ลูกจ้างทราบ หากลูกจ้างเข้าใจและยอมรับว่ามีการบอกเลิกจ้างตามที่นายจ้างประสงค์ก็ย่อมมีผลทางกฎหมายเป็นการเลิกจ้าง อย่างไรก็ตามการบอกด้วยวาจาอาจมีปัญหาโต้แย้งกันในภายหลังได้ เช่น โต้แย้งว่ามีการบอกเลิกจ้างจริงหรือไม่ ถ้อยคำที่บอกเลิกจ้างเป็นอย่างไร การบอกเลิกจ้าง นายจ้างอาจมีการกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น จดหมายเปิดผนึกถึงลูกจ้างที่จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคล คำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างเป็นรายบุคคล คำสั่งเลิกจ้างพร้อมกันหลายคนในฉบับเดียวกัน สำหรับการแจ้งให้ลูกจ้างทราบนั้น อาจใช้วิธีเชิญลูกจ้างไปพบและมอบหนังสือดังกล่าวให้ หรือนำหนังสือนั้นไปมอบให้ลูกจ้างและให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบ หรืออาจใช้วิธีส่งหนังสือเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เนื่องจากการเลิกจ้างเป็นการแสดงเจตนาที่มีผลทำให้ “นิติสัมพันธ์” ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างยุติลง
การบอกเลิกจ้างจึงต้องทำให้มีความชัดแจ้งและมีข้อความที่สำคัญดังนี้ ก. มีคำว่า “เลิกจ้าง” หรือถ้อยคำอื่นที่มีความหมายเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นการเลิกจ้าง ข. วัน เดือน ปี ที่จะเลิกจ้าง ค. เหตุผลแห่งการเลิกจ้าง ถือเป็นข้อที่สำคัญที่นายจ้างจะต้องระบุเหตุผลไว้ในการบอกเลิกจ้างไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ เพราะหากนายจ้างไม่แจ้งเหตุหรือไม่ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้ด้วย ต่อไปนายจ้างก็จะไม่สามารถยกเหตุผลใดๆขึ้นใช้ยันลูกจ้างได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างฟ้องนายจ้างเพื่อเรียกค่าชดเชย ง. ประเภทของเงิน จำนวนเงิน หรือสิทธิประโยชน์อื่นที่นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งวันเดือนปีและสถานที่จ่ายเงินดังกล่าว จ. กำหนดเวลาการส่งมอบงานหรือการคืนทรัพย์สินของนายจ้าง
กรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้างเป็นหนังสือ ควรที่จะมีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจบอกเลิกจ้างด้วย แม้นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิจะเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวโดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่จำต้องตกลงหรือยินยอมด้วยก็ตาม แต่การเลิกจ้างจะมีผลต่อเมื่อฝ่ายที่ใช้สิทธิเลิกจ้างได้แสดงเจตนาหรือบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบก่อน และการเลิกจ้างย่อมมีผลทันทีนับแต่ฝ่ายนั้นได้ทราบการแสดงเจตนาหรือการบอกกล่าวนั้น
จากคุณ :
ผึ้งน้อยพเนจร
- [
11 ก.ค. 51 09:18:00
]
|
|
|