Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    เงิน 750 บาท ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไปไหนบ้าง?

    ..............

    ได้อ่าน ไดอารี่ “คนตกงาน” โดย “เลขาฯ ตัวแสบ!”
    ตอนที่ 4: คนว่างงานกับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม
    จึงอยากเสริมเรื่องเงินออมที่สปส. เก็บสะสมไว้รอจ่ายเป็นบำเหน็จกับบำนาญยามชราภาพ
    ซึ่งก็รวบรวมโดยอาศัยการท่องเว็บแล้วนำมาบอกเล่าสู่กัน....

    หากเราจ่ายเงินสมทบจากฐานค่าจ้าง 15,000 บาท เงินสมทบส่วนนี้จัดสรรเช่นไร
    เพราะเงินที่จ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 จากฐานค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท
    (สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน) แต่เงินสะสมชราภาพนี้จึงมีถึงร้อยละ 6 คือ
    หากเราจ่าย 750 บาท เราจะมีเงินสะสมเดือนละ 900 บาท
    โดยเราจ่าย 750 บาท นายจ้างจ่ายให้ 750 บาท รัฐบาลก็จ่ายอีก 412.5 บาท

    ฉะนั้นส่วนที่เราจ่าย 750 บาท แบ่งออกเป็น 3 ก้อน ดังนี้…

    1.เงิน 225 บาท (เท่ากับ 1.5% ของ 15,000)
    เป็นเงินสมทบเพื่อความคุ้มครองเรื่องเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ และคลอดบุตร
    เงินจำนวนนี้เปรียบเสมือนเบี้ยประกันสุขภาพ ถ้าเราไม่ป่วย ไม่มีบุตร ก็จะยังไม่ได้รับประโยชน์
    เมื่อเราป่วย เสียชีวิต คลอดบุตร หรือทุพพลภาพ เราก็จะได้รับการดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเบื้องต้น
    ตามเงื่อนไขแห่งแต่ละสิทธิ เช่น จ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือนในระยะเวลา 15 เดือน
    เมื่อภรรยาของเรามีบุตรก็จะได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 12,000 บาท
    แต่หากเป็นผู้ประกันตนหญิงที่คลอดบุตร ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตร
    เหมาจ่ายอีก 90 วันของค่าจ้างเฉลี่ยที่จ่ายเงินสมทบ เป็นต้น

    2.เงิน 450 บาท (เท่ากับ 3% ของ 15,000)
    เป็นเงินออมของเราที่เก็บสะสมไว้รอจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเราเกษียณ (ชราภาพ)
    นอกจากเงินของเราจำนวน 450 บาทแล้ว ยังมีส่วนของนายจ้างช่วยสมทบอีก 450 บาท
    ในแต่ละเดือนเราจึงมีเงินออมกับกองทุนเป็นจำนวน 900 บาท
    ซึ่งเงินจำนวนนี้เราจะได้รับคืนในรูปของบำเหน็จหรือบำนาญแน่นอน
    แต่มีข้อแม้ว่าเราจะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แม้ว่าเราจะลาออกจากงานก่อนเกษียณ
    เราก็สามารถรอรับคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เช่นกัน
    ระหว่างนี้ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะนำเงินออมตรงนี้ไปลงทุนให้เรา (อืม)
    นอกจากนี้เรายังได้รับเงินสงเคราะห์บุตรด้วย แต่ในส่วนนี้เราไม่ได้เป็นคนจ่ายเงินสมทบ
    เพราะรัฐบาลเป็นผู้จ่าย ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระเราที่มีบุตร
    โดยบุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนครบ 6 ขวบ จะได้รับเดือนละ  350 บาท
    ซึ่งสิทธิที่จะได้ต้องครบเงื่อนไข คือ ท่านจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ขึ้นไป

    3.เงิน 75 บาท (เท่ากับ 0.5% ของ 15,000)
    เป็นเงินประกันการว่างงาน เราจะได้รับเงินชดเชยรายได้เมื่อลาออก หรือถูกไล่ออก
    จำนวนเงินที่ได้รับนั้นจะมากน้อยแล้วแต่กรณี

    จะเห็นได้ว่าเงินสมทบส่วนของเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร (ข้อ 1.)
    และว่างงาน (ข้อ 3.) นั้น รวมแล้วเท่ากับ 225 + 75 = 300 บาท
    จะได้รับก็ต่อเมื่อเราเจ็บป่วย หรือว่างงาน จึงจะได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์

    ส่วนเงินออมชราภาพ 450 บาท กับของนายจ้างอีก 450 บาทนั้น (ข้อ 2.)
    หากเราเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปีขึ้นไป แต่สมทบไม่ครบ 15 ปี
    เราจะได้คืนเป็นเงินก้อนบวกดอกผลจากการลงทุน คือ “เงินบำเหน็จชราภาพ”
    แต่หากเราส่งสมทบตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป ก็จะได้รับ “เงินบำนาญชราภาพ” รายเดือนตลอดชีวิต

    **เงินบำเหน็จชราภาพ** หมายถึง
    เงินก้อนจ่ายให้คราวเดียวสำหรับผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีชราภาพไม่ถึง 12 เดือน
    มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพในส่วนเงินสมทบที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมคืนทั้งหมด
    แต่ถ้าผู้ประกันตนมีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน
    มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพในส่วนเงินสมทบของลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม  
    พร้อมดอกผลตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศในแต่ละปี          
    สูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ มีดังนี้
    1) กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1-11 เดือน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ =
    จำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนฝ่ายเดียว
    2) กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12-179 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ =
    จำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตน + เงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทนตามประกาศสำนักงานประกันสังคม  

    **เงินบำนาญชราภาพ** หมายถึง
    เงินบำนาญจ่ายเป็นรายเดือนสำหรับผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป
    หรือ 15 ปี มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนไปตลอดชีวิต  
    สิทธิในกรณีชราภาพที่ สปส. เริ่มเก็บเงินสมทบมาตั้งแต่ปลายปี 2541 ถึง 2557
    ดังนั้นในปี 2557 จึงเป็นปีแรกที่จะเริ่มใช้สิทธิได้
    โดยจะจ่ายให้ผู้ประกันตนเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต ซึ่งจะได้รับเงินคืนเป็นก้อน
    ซึ่งเป็นเงินที่เราส่งสมทบเข้าประกันสังคม บวกกับเงินของนายจ้างที่ส่งสมทบให้
    รวมทั้งดอกเบี้ยที่เราจะต้องได้จากเงินที่คุณถูกหักทุกเดือนในแต่ละปีอีกด้วย  
    โดยคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณ 15% และเพิ่มปีละ 1%
    หากมีการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน (เกินจาก 180 เดือน)

    ส่วนกรณีที่ถ้าเราออกจากงาน เราจะได้รับ “เงินบำเหน็จชราภาพ”
    และถ้าเราต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อก็สามารถส่งเงินสมทบเองได้
    โดยใช้สิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และยังจะได้รับสิทธิเหมือนเดิม
    ยกเว้นกรณีว่างงาน และจะได้รับ “เงินบำเหน็จชราภาพ” ต่อเมื่อหยุดส่ง

    สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ต้องนำส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท
    ในจำนวนเงินดังกล่าวจะมียอดเงินสะสมกรณีชราภาพเดือนละ 288 บาททุกเดือน

    ฉะนั้นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายเงินเองในอัตราเดือนละ 432 บาท
    จะได้รับสิทธิความคุ้มครอง 6 กรณี ซึ่งคุณ "เลขาฯ ตัวแสบ!" ได้บอกไว้แล้ว  
    แต่ผมอยากเน้นตรงข้อ 6.
    6. กรณีชราภาพจะได้รับ “เงินบำเหน็จชราภาพ” หรือ “เงินบำนาญชราภาพ”
    ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน
    กฎหมายประกันสังคมกำหนดให้จัดเก็บเงินสมทบกรณีชราภาพ
    ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 โดยผู้ประกันตนจะได้รับคืนเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
    และต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

    กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนทั้งตามมาตรา 33 และ 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกันทุกประการ เมื่อ
    1. ผู้ประกันตนลาออกจากงานภายหลัง อายุครบ 55 ปี
    2. จะต้องนำส่งประกันสังคมอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย  9 เดือน
    ก่อนสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ภายในระยะเวลา 12 เดือน
    3. ต้องรีบยื่นคำขอภายใน 1 ปีนับแต่วันที่สิ้นสภาพ

    …………………………………………
    จะเงิน “เงินบำเหน็จชราภาพ” หรือ “เงินบำนาญชราภาพ”
    ก็เป็นสิทธิที่ผู้ประกันตนต้องยื่นเอกสาร ดังนี้
    1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส.2-01)
    2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
    3. สำเนาบัตรประกันสังคม
    4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)
    ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ / จังหวัด

    ฉะนั้น ผู้ประกันตนสามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
    โดยผู้ประกันตนที่มีสิทธิติดต่อขอรับเงินได้ที่ สปส.เขตพื้นที่/จังหวัดทั่วประเทศ
    แต่หากเสียชีวิตให้ทายาท คือ บิดามารดา สามี ภรรยา บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
    ยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ทันทีนับจากวันที่เสียชีวิต…
    ……………………….

    สำหรับผมคงได้สิทธิแค่ “เงินบำเหน็จชราภาพ”

    ขอให้ทุกท่านโชคดีและจงรักษาสิทธิตรงนี้ไว้......

    ส่วนใครมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ช่วยเสริมด้วยนะครับ
    ผมก็เก็บตกตรงนั้นนิดตรงโน้นหน่อย แล้วนำมาย่อยเท่าที่พอเข้าใจ...

    จากคุณ : ChatchaMan - [ วันรัฐธรรมนูญ 03:05:59 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com