เมื่อลูกค้าต้องการทำเว็บไซต์ขายของ มักจะแถม requirement มาด้วยว่าอยากให้ตัดเงินผ่านบัตรเคดิตได้
ซึ่งในมุมมองของคนไม่รู้ มันก็ดูดีนะ ไหน ๆ เสียเงินทำเว็บไซต์แล้วก็อยากให้มีช่องทางการจ่ายเงินที่ดี เวลาซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ต ก็เลยจะนึกถึงการจ่ายเงินทางนี้(บัตรเครดิต)
ขั้นตอนการขอเปิดบริการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต (Credit card payment gateway) จะว่าทำง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ที่แน่ ๆ มันวุ่นวายมาก โดยทั่วไปจะใช้ 2 วิธี
1.เปิด gateway กับทางธนาคารโดยตรง(ปัจจุบันนิยมอยู่ 2 ที่คือ ธ.กรุงเทพ และ ธ.กสิกร) โดยติดต่อไปที่ธนาคาร ซึ่งมักจะ require บางอย่างเช่น ต้องจดทะเบียน e-commerce กับกระทรวงพาณิชย์ก่อน ต้องซื้ือ SSL ที่มีชื่อเสียง ระดับนานาชาติยอมรับ ต้องมีโปรแกรมเมอร์ที่เขียนโปรแกรมผ่าน webservice เป็น ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องวางเงินค้ำประกัน(บางแห่ง) นั่นหมายถึง Cost ที่สูงขึ้น มีงบทำเว็บไซต์แค่ 1-3 หมื่น บอกได้เลยว่าไม่พอ
2.เปิด gateway แบบผ่านคนกลาง เช่น paysbuy,paypal ซึ่งปกติจะให้บริการ e-wallet และการจ่ายเงินตัดบัตรเครดิตโดยตรง ที่ paysbuy เีีรียกว่า directpay ผู้ที่ต้องการใช้บริการ ต้องมีความน่าเชื่อถือพอสมควร ซึ่งทางคนกลางจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่าสมควรจะเปิดให้ใช้หรือไม่ และไม่ต้องการ SSL เพราะเมื่อชำระเงินระบบจะลิ้งไปที่เว็บของ คนกลางเองซึ่งมีระบบ SSL อยู่แล้ว
จากตัวเลือกทั้งสองทางด้านบน มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป นั่นคือถ้าคุณเป็นองค์กรใหญ่ ทำเน้นทำธุรกรรมออนไลน์เป็นหลัก โดยมีทีมพัฒนาเว็บไซต์ที่เก่งกาจอยู่ในมือแล้ว ก็เชิญติดต่อธนาคารโดยตรงจะดีกว่า โดยเสียค่าบริการต่อ transaction ไม่สูงนัก 0.5-3 %
แต่หากว่าคุณไม่มั่นใจ และพึ่งเริ่มทำ e-commerce โดยอาจจะใช้ Freelance หรือ Outsource ทั่วไป ที่ค่าจ้างไม่สูงนัก และคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์สักเท่าไร ก็แนะนำให้ใช้บริการผ่านคนกลาง ซึ่งการเขียนโปรแกรมติดต่อ gateway ก็จะ API ซึ่งง่ายกว่าการใช้ Web service ของทางธนาคาร และคนกลางจะคอย monitor การจ่ายเงินตลอดเวลา เมื่อมี transaction แปลก ๆ ก็จะทำการตรวจสอบข้อมูล ก่อนหักเงินจริง ๆ เป็นการป้องกันอีกชั้นนึงให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่อง การโขมยใช้บัตรเครดิตคนอื่นมาซื้อสินค้า
แต่ เดี๋ยวก่อน ที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่าการมีเว็บไซต์ขายสินค้า แล้วมีระบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิตจะเป็นทางออกที่ดี
เนื่องจาก การใช้ credit card ของคนไทยจะมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย จากข่าวที่มีประจำเกี่ยวกับการโขมยข้อมูลบัตรเครดิต ทำให้หลาย ๆ ท่านหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต และกลุ่มคนที่จะจ่ายเงินผ่านวิธีนี้มักจะเป็นชาวต่างชาติ และจะเลือกจ่้ายเงินซื้อสินค้ากับเว็บที่ดูมีความน่าเชื่อถือเท่านั้น
ดังนั้นหากจะเปิด payment gateway ควรมองก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายของคุณคือคนไทยหรือต่างชาติ
ถ้าหากว่าเป็นคนไทย คงเป็นทางออกที่ไม่ดีนัก จากประสบการณ์ตรง คนไทยเหมาะที่สุดกับการชำระเงินแบบ Bank transfer (โอนผ่านบัญชีธนาคาร) , Mobile payment (จ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ เหมาะกับสินค้าที่เป็น micro payment คือราคาไม่สูงนัก อยู่ในช่วง 10-500 บาท และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสูง) และถ้าทุนคุณสูงพอ คุณมีทีมพัฒนาที่เก่งกาจ และมันจำเป็นต้องมีการตัดเงินผ่านบัตรเครดิต การมีไว้มันก็ดีกว่าไม่มีนี่ครับ
แต่ถ้าจะกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ อันนี้ต้องดูก่อนว่าคุณมี Process งานด้านนี้มาก่อน ถ้าคุณไม่เคยขายสินค้าใน internet เลย และอยากเริ่มทำแนะนำให้จ่ายเงินผ่านคนกลางที่น่าเชื่อถือหน่อย เช่น Paypal ก่อน จนคุณมีลูกค้าอยู่ในมือบ้าง และคิิดว่าพร้อมแล้วที่จะลุยเต็มตัว ค่อยลงทุนทำทีหลังก็ไม่เสียหาย แต่อย่าเอาระบบตัดเงินผ่านบัตรเครดิตมาใช้ในตอนต้น ถ้าไม่จำเป็น(ความจำเป็นขึ้นอยู่กับ Business Model ของคุณเอง) เพราะค่าใช้จ่ายที่สูง และถ้ามันไม่ work มันไม่มีคนใช้ มันจะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนนะครับ
*** SSL หรือ Secure Socket Layers เป็นโปรโตคอลในการส่งข้อมูลแบบเข้ารหัส ซึ่งวิธีเข้ารหัสจะแตกต่างกันไปในแต่ละเจ้าของ สังเกตุได้ง่าย ๆ เมื่อเข้าเว็บที่ต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงิน ระบบจะ alert ถาม yes/no และ http: จะเป็นเปลี่ยนเป็น https:
โดยแต่ละเจ้าจะมี Certificated ให้เมื่อคุณซื้อ SSL ของเค้า และบางเจ้าถึงกับแจ้งว่า ถ้าถอดรหัสได้ รับไปเลย $10,000,000 (-*-มั่นใจสุด ๆ )
*** Mobile payment ต้องเขียนโปรแกรมติดต่อ Webservice และต้องซื้อเบอร์จาก operator แต่ละเจ้า ซึ่งแพงและกำหนดเป็นต่อ Slot ตามราคา เช่น ถ้าคุณเปิดช่องราคา 9 บาท และ 20 บาท เวลาคุณจะตัดเงินจากลูกค้า ก็จะตัดได้แค่ 2 ราคานี้เท่านั้นและเมื่อได้รับชำระเงิน Service charge สูงถึง 40-50% ของราคาขายทีเดียว เหมาะกับสินค้าประเภท software / e-book / Digital media file หรือสินค้าที่ไม่มีต้นทุนต่อจำนวน (นึกภาพ เวลาโหลด mp3 ไฟล์ต้นฉบับยังอยู่ โหลดกี่ร้อย กี่พันครั้ง ก็ไม่ได้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น)
สุดท้ายก็ไม่อยากให้โฟกัสกันที่วิธีการมากนัก หากสินค้าคุณดีจริง ตัวเว็บมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ มีการจดทะเบียนถูกต้อง จนลูกค้ามั่นใจว่า จ่ายเงินไปแล้วจะได้สินค้าที่ตรงกับที่ระบุไว้ ต่อให้วิธีการจ่ายเงินยากยังไง เค้าก็จะพยายามหาทางติดต่อซื้อสินค้าจากคุณจนได้
payment gateway ช่องทางต่าง ๆ เป็นเพียงทางเลือก เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจจ่ายเงินเลยได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
(บางครั้งคิดจะซื้อ กะไว้ว่าตอนเช้าจะไปโอนเงิน แต่เกิดเปลี่ยนใจตอนตื่นนอน ก็เป็นไปได้ ถ้าลูกค้าตัดสินใจแล้วจ่ายเงินได้เลย ตื่นเช้ามาก็แค่รอสินค้า เพราะจ่ายเงินไปแล้ว ^__^)
แก้ไขเมื่อ 29 มิ.ย. 52 12:56:26