Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คิดดังๆ เรื่อง “วัยต่างกัน...บริหารยังงัยดี”  

มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาเล่าว่า เขาเพิ่งได้งานใหม่ มีลูกทีมประมาณสิบกว่าคน ช่วงอายุแตกต่างกันมาก มีตั้งแต่วัยใกล้เกษียณ จนถึง เด็กจบใหม่  แต่ปัญหาที่น่าหนักใจ คือดูเหมือนว่าจะมีการเขม่นกันอยู่ภายในทีม เขาจึงอยากขอคำแนะนำไว้ก่อนว่า อะไรคือปัญหาของทีมลักษณะนี้ แล้วควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา ผมมองว่าทีมที่มีวัยที่แตกต่างกันมากแบบนี้ จะมีปัญหาหลักๆ ระหว่างคนในทีมด้วยกันอยู่ 4 ข้อ
         1. คือเรื่องของ “ความคิดที่แตกต่าง” ด้วยรุ่นและวัยที่แตกต่างกันทำให้ความคิดความเห็นก็แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่นในเรื่องของสถานที่และเวลาการทำงาน พนักงานที่อาวุโสหน่อยมองว่าการทำงานต้องทำที่สำนักงานในเวลา 8.30 - 17.00 เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลักษณะงานต่างๆ ก็ได้มีการเปลี่ยนไป ปัจจุบันงานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำในที่ทำงาน ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ มองว่าพวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ขอแค่ให้มีงานส่งทันตามกำหนดเวลาก็พอ ดังนั้นด้วยแนวความคิดที่แตกต่างกัน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ คนวัยหนึ่งอาจจะมองว่าคนอีกวัยไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มาทำงานตามเวลา ในขณะที่คนอีกวัย มองว่า ‘ก็ฉันทำงานจนดึกแล้ว ทำไมต้องให้มาทำงานแต่เช้าอีก ถึงอย่างไรก็ทำงานเสร็จเหมือนกัน’
         2. เป็นเรื่องของ “การสื่อสารระหว่างคนในทีม” คนรุ่นใหม่จะมองว่าการสื่อสารผ่านทางคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์หรือโปรแกรมสื่อสารต่างๆ เป็นอะไรที่สะดวกสบายและง่าย แถมใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ในขณะที่คนรุ่นอาวุโสจะไม่ค่อยชอบใช้โปรแกรมเหล่านี้เท่าไรนัก นานๆ จึงจะเข้าไปเช็คอีเมล์สักที
         ผมต้องบอกก่อนว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีการสื่อสาร แต่อยู่ที่การตีความหมายของกาสื่อสารคนรุ่นใหม่ส่วนมากต้องการ การโต้ตอบที่รวดเร็ว และจะหงุดหงิด หากไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ที่ติดต่อด้วย ในขณะที่คนรุ่นอาวุโสโดยส่วนมาก นอกจากจะไม่ค่อยชอบใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว เขายังรู้สึกว่าทำไมถึงไม่ให้เกียรติ ไม่มาพูดคุยกันต่อหน้า หรืออย่างน้อยสื่อสารผ่านเสียงก็ยังดี
         3. เรื่องของ “อารมณ์” คนรุ่นใหม่ไฟแรง ใจร้อน ทำอะไรต้องให้ได้เดี๋ยวนั้น คิดจะเจอกันก็โทรไปบอกแล้วก็ไปหาเลย หรือบางทีก็ไปเลยโดยไม่โทรบอก ในขณะที่คนรุ่นอาวุโสจะชอบให้มีการบอกล่วงหน้าสักระยะหนึ่ง มีการวางแผนก่อนว่าเจอกันเพื่ออะไร เจอกันเมื่อไร และทำไมถึงต้องเจอ
         4. สุดท้ายเป็นเรื่องของ “การหาข้อมูลหรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ” คนรุ่นอาวุโสโดยส่วนมากจะมองว่าการเรียนรู้คือการเข้าไปเรียนในห้องเรียน การอ่านคู่มือเรียนรู้และเก็บข้อมูลก่อนที่จะลงมือทำงานใหม่ ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะมองว่าทำไปก่อน เรียนรู้ ไปเรื่อยๆ ระหว่างทาง ถ้ายังหาข้อมูลไม่ได้ ก็ไปปรึกษาคนที่รู้ คนรุ่นใหม่จะเบื่อง่ายกับโครงการที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้นานก่อนที่จะได้ลงมือทำจริง ในขณะที่คนรุ่นอาวุโสก็จะหงุดหงิดคนรุ่นใหม่ว่าไม่มีความอดทนในการทำงานและการเรียนรู้
         สิ่งที่ผมแนะนำ ให้เขาทำเป็นอย่างแรกคือเรื่องของทัศนคติ ก่อนที่จะเข้าไปเป็นหัวหน้าทีม อย่าเพิ่งตั้งทัศนคติในแง่ลบกับคนกลุ่มใดทั้งสิ้น ลองดูก่อนว่าพวกเขามีปัญหาอะไรกัน จากนั้นจึงนำลูกทีมมาคุยกัน ช่วยทำให้ลูกทีมเข้าใจซึ่งกันและกันและชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในมุมมองของแต่ละคน จากนั้นวางแผนร่วมกันว่าจะสร้างบรรทัดฐานในการทำงานกันแบบไหน ยกตัวอย่างเช่นจะยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาและสถานที่ทำงานมากน้อยแค่ไหน จะใช้วิธีการสื่อสารกัน แบบใดเป็นหลัก เป็นต้น ทั้งนี้การตกลงร่วมกันของทีมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของคนส่วนใหญ่และลักษณะงานที่ทีมทำ...แค่นี้ก็ทำให้นักบริหารสามารถบริหารวัยที่ต่างกันได้ ไม่มากก็น้อยครับ

จากคุณ : คิดดัง
เขียนเมื่อ : 7 มิ.ย. 53 22:10:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com