Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วิธีการสร้างต้นทุนชีวิตอย่างง่ายๆหลังเรียนจบ ติดต่อทีมงาน

คำเตือน: คนเขียนจบปริญญาตรีได้แค่ 2 ปีและไม่มีประวัติการทำงานเป็นพนักงานประจำในบริษัทที่ไหนแต่อย่างใด ดังนั้นกระทู้นี้จึงเป็นเนื้อหาที่เขียนโดยคนที่ไม่เคยได้ทำงาน office อย่างจริงๆจังๆเลย ถ้าคุณคิดว่าคนประเภทนี้เขียนอะไรมาก็เอาไปใช้ไม่ได้อยู่ดีก็เชิญปิดได้เลยครับเพราะผมก็เขียนยาวและไม่อยากรบกวนเวลาอันมีค่าของผู้อ่าน แต่ถ้าคุณพิจารณาที่ตัวเนื้อหาเป็นหลักโดยไม่พุ่งสาระสำคัญที่ background ของคนเขียนมากนักก็หวังว่าจะเกิดประโยชน์ได้บ้างนะครับ




















ถ้าทำได้ใน 5 ปีแรก คุณจะมีเงินเก็บอย่างน้อยๆครึ่งล้านเลยล่ะครับ ก่อนอื่นมีสามอย่างที่คุณต้องเข้าใจก่อน

1. รายได้เรามักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปีและมักจะเพิ่มแบบทวีคูณตามประสบการณ์ชีวิต
2. ในทุกๆ 5-10 ปีจะมีปรากฎการณ์ over supply ของพวกบ้านและที่ดินคอนโดต่างๆทำให้ที่อยู่ที่เคยแสนแพงลดได้ถึง 30% เลยทีเดียวแม้ที่ดินมีแต่จะแพงขึ้นๆก็ตาม
3. หากให้เงินเดือนเฉลี่ยในช่วง 5 ปีแรกคือ 25k คุณสามารถหาเงินได้ถึง 1.5 ล้าน ออม 30% ก็เฉียดๆ 5 แสนได้สบายอยู่แล้ว


เมื่อเข้าใจละก็ลองคิดตามนี้ดูครับ

1. เช่าคอนโดอย่าเพิ่งรีบซื้อ ซื้อตอนทำงานใหม่ๆรายได้น้อย ผ่อนได้น้อยก็ได้คอนโดที่ต้องทนอยู่ในอนาคตรอวันขายทิ้ง สู้เช่าคอนโดใกล้ที่ทำงานประหยัดค่าคอนโดหรูและค่าเดินทาง รอช้อนซื้อช่วง 2-3 ปีหลังที่เงินเดือนสูงขึ้น option ผ่อนมากขึ้นและเลือกช้อนซื้อ condo ขายไม่ออกแบบต้นปีหน้านี้ดีกว่าถ้ามันประจวบเหมาะได้พอดีนะครับ หากจะซื้อคอนโดก็ให้ซื้อช่วงคุณปลักหลักชีวิตชัดเจนแล้วจะดีกว่า คุณอาจจะได้คอนโดหรือบ้านที่ดีกว่าเท่าตัวในเวลาเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าก็ได้ การเช่าคอนโดถูกๆใกล้ที่ทำงานประหยัดเงินได้อย่างน้อยเดือนละ 2 พัน ปีละ 2-3 หมื่น 5 ปีก็ได้แสนกว่าแล้ว ส่วนเงินเช่าไม่ต้องไปเสียดายมันหรอกครับ คอนโดเค้าตอนลดราคายังไงก็สูงกว่าเงินเช่าตลอด 5 ปีอยู่แล้ว ถึงตอนนั้นเงินไม่กี่แสน จิ๊บๆครับ ไม่เกินปีเดียวก็หาได้สบายๆ เผลอๆอาจเช่าไม่ถึงแสนถ้าจังหวะดี

2. ไม่ต้องทำบัตร credit แม้มันจะสะดวกกว่าก็จริงแต่มันทำให้วินัยในการบริหารเงินตกต่ำลงหากคุณไม่ได้เป็นเจ้่าแก่ที่เอาบัตรพวกนี้มารูดใช้หมุนเงินลงทุน การเริ่มจากใช้แต่เงินสดทำให้คุณลดรายจ่ายแฝงที่มองไม่เห็นได้อีกมากมาย อาทิเช่น ทีวี 3 หมื่น คุณอาจผ่อนเดือนละ 3 พัน มองว่าชิ้นนี้ผ่อน 3 พัน ผ่อน 2 ปีอาจเป็นพันปลายๆ ความรู้สึกมันต่างจากจ่ายเงินสดที่ต้องควักเงิน 3 หมื่นมาให้มากมายจริงๆครับ

นอกจากนี้ แทนที่รายได้หักค่าใช้จ่ายจำเป็นจะเหลือเป็นพันๆหมื่นๆ คุณต้องหักค่าบัตรเพิ่มจากของที่คุณซื้อล่วงหน้ามาเหลือเงินหมุนในแต่ละเดือนน้อยลงมากๆ การที่คนใช้บัตรพวกนี้และบอกว่าบริหารได้จะดีกว่านั้นในแง่เศรษฐศาสตร์ถือว่าไม่จริงครับเพราะสภาพคล่องโดนบีบลงมาอย่างหนัก การบริหารเงินที่เหลือ หมื่นกว่าว่าจะเก็บงบออมเท่าไหร่ งบใช้เท่าไหร่ ต่างจากเหลือไม่ถึงครึ่งเยอะมากถ้าคุณต้องมานั่งคิดทุกๆเดือนที่เงินเดือนออกแล้วมีมารผจญชื่อว่ารายจ่ายจรเข้ามา ซึ่งคนมีบัตรก็ว่าใช้บัตรช่วยได้ แต่ถ้าคุณรู้จักเก็บเงินก็ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ยังได้ถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ

ที่สำคัญการซื้อเงินสดช่วยชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยได้อีกเยอะ อย่างเมื่อปีก่อน TV 52 นิ้วราคาเกือบ 2 แสน เดียวนี้ขายกันไม่ถึงแสน notebook 5 หมื่นสามารถซื้อสมรรถนะใกล้เคียงได้ในราคา 3 หมื่น ขนาด iPhone 4 ยังถูกกว่า 3Gs มือหนึ่งเลย จะเห็นได้ว่าการทยอยซื้อช่วยให้คุณได้สินค้าที่ดีขึ้นถ้าซื้อในเวลาต่อมา แล้วจะรีบซื้อไอ้ที่ไม่จำเป็นจริงๆให้มานั่งช้ำใจตอนผ่อนเสร็จไปทำไมกัน ชิมิ ถ้าออมอย่างเดียวเดือนละ 5 พันแล้วเอาส่วนต่างเก็บไปใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆก็ได้เกือบ 3 แสนแล้ว ทนแค่ปีแรกๆก็มีเหลือใช้สบายได้ระดับหนึ่งแล้วโดยยังเก็บได้อยู่ 5 พัน

3. ลดการกินเที่ยวโดยไม่จำเป็น หลังเลิกงาน ถ้าไม่กินก็เที่ยว สักอย่างที่ไปแล้วสนิทกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น กระชับสัมพันธ์ดีขึ้น แต่ไปแต่ละครั้งก็หมดไปหลายร้อยอยู่ เดือนนึงถ้าไปถึง 5 ครั้งก็ไม่ต่ำกว่า 2 พันสำหรับค่าอาหารและค่าเดินทาง คิดดูว่าถ้าเราย้ายที่ทำงานปั๊บนี่ เพื่อนร่วมงานของเราจะกลายเป็นอะไร คนที่สนิทหน่อยอาจจะมีโทรหากันบ้าง บ้างก็ได้มิตรแท้ในที่ทำงานก็มี

แต่ขอโทษนะครับ ชีวิตจริงนี่จะหามิตรแท้ให้ได้ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อนดีกว่าครับ ยามลำบากขึ้นมา มิตรไม่แท้อาจจะกลายเป็นศัตรูที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้เพราะสนิทแบบไม่เป็นเรื่องแล้วชอบเก็บเรื่องไม่เป็นเรื่องไปทำให้เป็นเรื่องขึ้นมาทั้งเราและเขา เอาเงินส่วนนี้มาออมแล้วหามิตรแท้ในยามที่ตนพร้อมกว่านี้ดีกว่าครับ อย่างน้อยๆก็ลดโอกาสก่อเวรก่อกรรมต่อกันได้เยอะ ยังไงเสียปีแรกๆของการทำงานก็เป็นเรื่องของหนุ่มสาวไฟแรงที่ไม่ประสีประสาต่อโลกมาพบปะกัน รอค้นตัวเองเจอแล้วค่อยเจอมิตรที่พึงพอใจจะรักษามิตรภาพได้ดีกว่ากันเยอะ ดังนั้นเก็บเงินอีกเดือนละ 2-3 พัน (ซึ่งจริงมันคือเกือบทั้งหมดที่เหลือเก็บเหลือใช้เลย) มาเป็นต้นทุนชีวิตในอีก 5 ปีหน้าดีกว่า


จริงๆก็มีมากกว่านี้แต่จะยาวและซับซ้อนกว่าที่จะเขียนให้ดูง่ายได้ ลองเอา 3 ข้อแรกมารวมกันก็ได้เดือนละหมื่นแล้ว รายได้ปริญญาตรี start ที่ 15k ใช้จริงๆ 5 พันก็อยู่ได้แต่ต้องทนในช่วง 2 ปีแรกจนอัพไปได้ถึง 2-5 หมื่นตามสายงาน (ถ้าทำ 2 ปียังไม่เกิน 2 หมื่นผมว่าบริษัทคุณมันไม่แฟร์แล้วล่ะ แต่โดยส่วนใหญ่จะเริ่มที่ 18k แล้วได้ 25k ขึ้นหลัง 2 ปี) เก็บเดือนละหมื่นทำได้ยากและลำบากมากก็จริงแต่พ่อแม่เราก็ต้องทนลำบากมาจนส่งเสียเรามาจนจบตรียังได้เลย ทำไมเราจะทนเพื่อตัวเราเองบ้างไม่ได้ แค่ 2 ปีแรกเท่านั้นแหละ สู้ๆหน่อยก็มีกินมีใช้สบายขึ้นเยอะแล้ว เก็บเดือนละหมื่น 5 ปีได้ 6 แสนเลยนะ ยิ่งถ้าสายงานดีอาจเหลือเก็บเพิ่มจากผ่อนบ้านรถในปีต่อๆมาอีก

5 ปีต่อมาเงินเก็บเกิน 5 แสนพอที่จะแบ่งลงทุนกองทุนรวมทำ ซื้อหุ้น หรือลงทุน SME ก็ยังได้ หลังจากนั้นจะหาเพื่อนใหม่ หาคนรู้ใจ หรือหาสัจธรรมในชีวิตคุณก็พร้อมกว่าคนอื่นๆที่ยังตั้งหลักไม่ได้อีกเยอะเลยล่ะครับ

หมายเหตุ: มิตรภาพ เพื่อนฝูง ความรัก เป็นเรื่องทัศนคติส่วนบุคคล จะใช้จ่ายในประเด็นพวกนี้ยังไงก็ไม่มีถูกหรือผิดหรอก แต่ผมก็พูดตามประสบการณ์ของผมที่คิดว่าถ้าเลือกได้จะทำอย่างไรดีก็เท่านั้นเอง ผมเองก็เลือกผิดทำผิดมาเหมือนกันจนได้เป็นบทเรียนต่างๆนานา

ปล. เห็นหลายคนไม่เห็นด้วยกับเรื่อง credit card เยอะ จริงๆผมไม่ได้ห้ามให้ทำ credit card แบบเด็ดขาดไปเลยนะครับ ถ้าต้นทุนชีวิตคุณพร้อมทั้งกำลังทรัพย์และกำลังใจจะทำ credit card ก็ทำได้ครับเพราะของบางอย่างซื้อผ่าน credit card ยังถูกกว่าซื้อเงินสดอีก แต่ถ้าเพิ่งทำงานยังไม่พร้อมนักก็แนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบทำเหมือนซื้อบ้านซื้อคอนโดแหละครับ

แก้ไขเมื่อ 15 พ.ย. 53 00:13:00

จากคุณ : Windows X
เขียนเมื่อ : 7 พ.ย. 53 06:18:03




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com