พอดีไปเจอข้อความมาค่ะ เห็นว่ามีประโยชน์
เลยอยากจะแชร์ให้เพื่อนๆ ในห้องสีลมได้อ่าน
หวังว่าคงมีประโยชน์และมีสติในการใช้เงินนะค่ะ
CREDIT : คุณแสน หยดคุณ
มีเงิน...แล้วจะทำอย่างไร? โดย แสน หยดคุณ
ในหลักการทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนถึงการบริหารเงิน บริหารทรัพย์หรือบริหารเศรษฐศาสตร์การคลังไว้อย่างชัดเจน และถือว่าเป็นเศรษฐกิจแนวพุทธโดยแท้ ก็คือว่า เมื่อเรามีเงิน เราต้องแบ่งเงินออกเป็น 5 กอง ไม่จำเป็นต้องมีปริมาณเท่ากัน ไว้ ดังนี้ ฝากออมสิน ฝังดินไว้ ใช้หนี้เก่า ให้เขากู้ และทิ้งสู่เหว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ฝากออมสิน หมายถึง เอาเงินส่วนหนึ่งไปกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่น ซื้อหุ้นกู้ ซื้อสลากออมสิน เอาไปลงทุน เพื่อดูผลที่เป็นรายได้ในระยะยาว หรือเก็บไว้เพื่ออนาคตโดยฝากที่ธนาคารทั่วไป
ฝังดินไว้ หมายถึง แบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้ทำประโยชน์ต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ ในลักษณะของสาธารณประโยชน์ ตอบแทนบุญคุณต่อแผ่นดินเพื่อชาติบ้านเมือง สนับสนุนส่วนรวม สร้างสรรค์ให้โลกน่าอยู่ ช่วยด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล คนเจ็บคนป่วย องค์กรกุศล มูลนิธิ เอาไปเสียภาษีอากร ที่เขาจะเอาไปสร้างสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ในทางธรรมจะคิดในแนวทำวัตถุทรัพย์ไปเป็นบุญเพื่อผลในโลกนี้และในโลกหน้า ฝังดินไว้จึงเหมือนเอาไปให้คนอื่นใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นแผ่นดินที่มีบุญคุณต่อเรา ให้เราเหยียบอาศัยอยู่
ใช้หนี้เก่า หมายถึง แบ่งเงินส่วนหนึ่งเลี้ยงดูพ่อแม่ ตอบแทนบุญคุณที่พ่อแม่เลี้ยงเรามา หรือใครที่เป็นผู้ให้กำเนิดเรา หรือมีบุญคุณต่อเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชีวิต ต่ออาชีพ ต่อการเงินการงานของเรา เราต้องรู้คุณ และหาทางตอบแทนที่เรียกว่าใช้หนี้เก่าให้จงได้
ให้เขากู้ หมายถึง แบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงทายาท บุตรหลาน เป็นการลงทุนสร้างฐานสร้างทายาท เพื่อให้เขาพัฒนาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม แล้วเขาก็จะมาเลี้ยงพ่อแม่ยามพ่อแม่แก่เฒ่า นั่นคือเอาเงินไปให้เขาใช้ก่อน แล้วเขาจะใช้คืนในภายหลัง นั่นเอง
ทิ้งสู่เหว หมายถึง แบ่งเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้ไว้กินในชีวิตประจำวัน ให้กับตัวเองและครอบครัว การต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือน โดยเน้นคุณค่าแท้ไม่หลงต่อคุณค่าเทียม เน้นประโยชน์สูง ประหยัดสุด ตามหลักความพอเพียงความพอดี ไม่สุรุ่ยสุร่ายและไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งต้องจ่ายไปเรื่อยๆ เหมือนเหวที่ถมไม่รู้จักเต็ม เพราะคนเราต้องกินอยู่เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตอยู่แล้วซึ่งการบริหารเงินให้ได้ 5 ส่วนอย่างนี้ก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตแบบพอเพียง และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในการใช้จ่ายทรัพย์อีกด้วย นี่แหละเรียกว่าการใช้เงินที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ผลที่ตามมาก็คือความสุขนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า กระบวนการจัดสรรเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น พระพุทธศาสนาได้สอนได้แนะนำให้ประชาชนที่ศึกษาได้รู้วิธีปฏิบัติไว้อย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายตามมาจากการใช้จ่ายทรัพย์ที่ไม่ถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ รู้จักตนเอง รู้ญาติพี่น้อง รู้จักเสียสละ รู้จักฝึกฝนจิตใจให้มั่นคง และผ่องใส โดยเฉพาะคือจากการมีทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นนั่นเอง
จากคุณ |
:
PeBe-Love
|
เขียนเมื่อ |
:
19 พ.ย. 53 11:50:17
|
|
|
|