 |
พยายามจะส่งข้อความให้คุณ phahurat แต่ส่งไม่ได้ค่ะ ที่จริงไม่อยากพูดถึงชื่อหนังสือหรือสำนักพิมพ์ในนี้เลย เพราะเกรงจะเป็นการโฆษณา
แต่มานึกๆ ดู คำแนะนำของเราจะน่าเชื่อถือหรือเปล่า ควรทำตามมั้ย บางทีผลงานของเราก็อาจมีผลด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ การทำแบบนั้นยังเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะเปิดเผยชื่อล็อกอินกับชื่อจริง ซึ่งเราไม่อยากทำอย่างนั้นเลย แต่เมื่อนึกถึง "ลุงแอ็ด" ที่ให้วิทยาทานแก่ชุมชนแห่งนี้มาโดยตลอด โดยที่ใครๆ ก็รู้ว่าตัวจริงของลุงแอ็ดคือใคร เราจึงคิดว่า อืม... คงไม่เป็นไรมั้ง
เอาเป็นว่า เรายกบทความวิจารณ์ของคอลัมนิสต์ท่านหนึ่งมาก็แล้วกัน คือบทความของคุณสุรศักดิ์ ธรรโม ลงในโพสต์ทูเดย์ เมื่อปีที่แล้ว เราไม่เห็นตอนที่ลงโพสต์ทูเดย์หรอกนะคะ ถ้าสนใจอาจลองไปหาดู แต่เรามาเห็นตอนที่ลงใน FB ของคุณสุรศักดิ์ เมื่อตอนช่วงปีใหม่น่ะค่ะ
หนังสือที่เราแปลเป็น 1 ใน 2 เล่มข้างล่างนี้ที่เธอพูดถึง
ถ้าเห็นว่าเป็นการโฆษณาก็ลบ คคห. นี้ทิ้งไปก็ได้ค่ะ
+++++++++++++++
เมื่อ "อาทิตย์ โกวิทวรางกูร" ถามผมเรื่องหนังสือที่ดีของปีที่ผ่านมาในสัปดาห์เกือบสิ้นปี 2553
จนกระทั่งเช้านี้ ผมถึงว่างพอที่จะนึกหาคำตอบได้
ในรอบปีที่ผ่านมา ผมอ่านเยอะมากแต่ส่วนใหญ่จะเป็น Papers งานวิจัยเพื่อการลงทุนของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก อาทิเช่น Goldman Sachs,Bofa-Merrill,Citi,UBS รวมทั้งหน่วยงานวิจัยเช่น IMF ,Economist Intelligence Unit (EIU) ,Mckinsey Global Institute (MGI) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผมยังตามอ่านนักวิเคราะห์ที่ผมเป็น fanclub อย่างยาวนานเช่น Mohamed A. El-Erian,Richard Koo, Andy Xia, Marc Faber,Jim O'Neill และนักเขียนคอลัมน์เศรษฐกิจอย่าง Martin Wolf เป็นต้น
แต่ทั้งหมดที่อ่านมาในปี 2553 ก็งั้นๆ ไม่เหมือนปี 2552 ที่ผมอ่าน New Normal ของ El-Erian ในกลางปี 2552 แล้วผมประเมินนี่จะเป็นแนวคิดหลักของการลงทุนในอนาคต ซึ่งก็ใช่จริงๆ มีการใช้คำนี้กันเกร่อในปีที่แล้วจนถึงปีนี้ 2554
นอกจากนี้ ผมยังอ่านหนังสือเป็นเล่มจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก เพราะเวลาจัดสรรไปอ่านพวก Papers เป็นหลักแต่ในจำนวนที่ผมอ่านมาทั้งหมดแล้วให้คิดว่าเล่มไหนหรือ Papers ไหนที่ดีที่สุดในปีที่แล้วในความคิดผม
ผมนึกถึงแค่หนังสือสองเล่มนี้เท่านั้น ซึ่งยอดเยี่ยมทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ถอดความออกมา
เล่มแรก มีชื่อว่า "Animal Spirits: How Human Psychology Drives the Economy, and Why It Matters for Global Capitalism" ซึ่งในภาษาไทยใช้ชื่อว่า เศรษฐศาสตร์สัญชาตญาณสัตว์ (ANIMAL SPIRITS)
เล่มที่สองมีชื่อว่า "The Soros Lectures: At the Central European University" ซึ่งในภาษาไทยใช้ชื่อว่า "โซรอสเลกเชอร์ The Soros Lectures"
ทั้งนี้ ผมได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ Post Today ในวันที 10 กันยายน 2553 เพื่อแนะนำหนังสือสองเล่มนี้ จึงจะขอยกมาอีกครั้ง
หนังสือเศรษฐศาสตร์และการเงินน่าอ่านในสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์ใน Post Today วันที่ 10 กันยายน 2553
เมื่อเร็วๆนี้ มีหนังสือเศรษฐศาสตร์และการเงินชั้นเลิศที่ถูกถอดความเป็นภาษาไทยที่ดีมาก 2 เล่ม เล่มแรกมีชื่อว่า “Animal Spirits” เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ 2 ท่าน ท่านแรกชื่อว่า George A. Akerlof ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 2544 และอีกท่าน คือ Robert J. Shiller ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล
หนังสือเล่มนี้มีชื่อไทยว่า “เศรษฐศาสตร์ สัญชาติญาณสัตว์” แปลโดย คุณแอลสิทธิ์ เวอร์การา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
อีกเล่มคือ “The Soros Lectures” เป็นการรวมคำบรรยายของ George Soros ที่มหาวิทยาลัย Central European ในฮังการี เล่มนี้มีชื่อไทยว่า “โซรอส เลกเชอร์” แปลโดย คุณ xxxxxxxxxxxxxxxxx พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ โพสต์บุ๊ค
ในฐานะที่เคยอ่านทั้ง 2 เล่มและเคยฟังการบรรยายของโซรอสในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษในเวป Financial Times มาก่อน ผมคิดว่าทั้งสองเล่มนี้ เป็นการถอดความจากภาษาอังกฤษที่ดีมาก
สำหรับท่านที่สนใจต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้น “Animal Spirits” ยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านคิโนะคูนิยะ สยามพารากอน
และ “The Soros Lectures” ยังหาซื้อได้ที่ร้านเอเชียบุ๊คที่สาขา เซ็นทรัล บางนาและ สาขาแจ้งวัฒนะและสยามพารากอน หรือสามารถเข้าอ่านและรับฟังคลิปวีดีโอการบรรยายซึ่งอยู่ในเวปไซต์ของหนังสือ Financial Times ได้ที่ http://www.ft.com/indepth/soros-lectures
ความสำคัญของหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้คือเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2550 และเขียนโดยนักวิชาการชั้นนำของโลกในเล่มของ “เศรษฐศาสตร์ สัญชาตญาณสัตว์” และผู้ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นในวงการเงินและการลงทุนในเล่มของ “โซรอส เลกเชอร์”
ทั้ง 2 เล่มนี้เขียนถึงความบกพร่องขั้นรากฐานของหลักการทางวิชาการสำคัญๆ 2 ข้อที่มีชื่อว่า “สมมติฐานความมีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient Market Hypothesis : EMH)” ซึ่งใช้ในวงวิชาการด้านการเงินและการลงทุนรวมทั้งการบริหารความเสี่ยงและ “หลักการคาดคะเนเชิงเหตุผล (Rational Expectations)” ที่ใช้ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์มหภาคสมัยใหม่
ทั้งนี้ ทั้ง 2 แนวความคิดนี้มาจากสำนักชิคาโก (University of Chicago ) ซึ่งเป็นเสาหลักของวงวิชาการในการสนับสนุนกลไกตลาดให้ทำงานอย่างเต็มที่โดย ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ
ความบกพร่องของกลไกตลาดในมุมมอง หนังสือ 2 เล่มมีจุดร่วมเหมือนกันคือ ประเมินว่า “มนุษย์” นั้น ไม่ได้มีเหตุผล และไม่ได้มีความสามารถในการคิดถึงผลลัพธ์และความเป็นไปได้ทั้งหมดของทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ของการลงทุน
ในกรณีนี้ โซรอสระบุว่าตัวของมนุษย์เองซึ่งมีผลประโยชน์ในการหวังผลตอบแทนจากการลงทุน จะมีส่วนผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เบี่ยงเบนไปจากราคาพื้นฐาน และผลจากการเบี่ยงเบนจากราคาพื้นฐานนั้นจะสะท้อนกลับมายังการตัดสินใจและความคิดของมนุษย์อีกทีหนึ่งและวนเวียนกันไปเป็นวงจรกลับไปกลับมา (Feedback loop) และเมื่อ “มนุษย์” มีมุมมองในเชิงบวก (Positive Feedback) ต่อสิ่งที่ลงทุนจะส่งผลผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มมากจากราคาพื้นฐานขึ้นไปทุกขณะ และเมื่อเริ่มมีความคิดว่าราคานั้นไม่น่าจะยั่งยืน มนุษย์จะป้อนความคิดเชิงลบเข้าไปต่อราคาสินทรัพย์นั้นและผลที่ตามมาคือวงจร จะเริ่มทำงานในเชิงกลับกัน (Negative Feedback) และในที่สุดราคาสินทรัพย์จะปรับลงมาอย่างรวดเร็วและต่ำกว่าราคาพื้นฐานมาก นอกจากนี้ ในส่วนของการตัดสินใจ โซรอสเห็นว่า ในเวลาวิกฤติหรือห้วงเวลาที่ต้องตัดสินใจอย่างทันทีทันใด ผู้ตัดสินใจจะพบกับเงื่อนไขข้อจำกัดด้านเวลาทำให้ไม่สามารถหาสารสนเทศหรือข้อมูลอย่างสมบูรณ์ในการตัดสินใจต่างจากทฤษฎี“หลักการคาดคะเนเชิงเหตุผล” ที่เชื่อว่ามนุษย์ตัดสินใจบนพื้นฐานของสารสนเทศหรือข้อมูลอย่างสมบูรณ์และมีลักษณะคาดการณ์อนาคตอย่างแม่นยำ “perfect foresight”
หนังสือ ทั้ง 2 เล่มนี้ให้ข้อคิดและคำวิจารณ์และข้อเสนอที่ดีมากสำหรับวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ การเงินและผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจทั้งหลายรวมทั้งนักลงทุนเพื่อความเข้าใจวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและแนวโน้มในอนาคต
+++++++ แก้ไข: ลบชื่อสักหน่อยค่ะ แหะๆ
แก้ไขเมื่อ 26 มี.ค. 54 16:18:10
จากคุณ |
:
สาวน้อยร้อยแปด
|
เขียนเมื่อ |
:
26 มี.ค. 54 16:12:12
|
|
|
|
 |