Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ถ้าคุณรู้จัก แล้วคุณจะรักและเข้าใจอาชีพ “รับราชการ” มากยิ่งขึ้นครับ ตอนที่ 2 ติดต่อทีมงาน

หลังจากพยายามเขียนตอนแรกเสร็จ ผมก็พยายามจะเขียนตอนที่สองต่อ แต่เนื่องจากว่า ความคิดเห็นในกระทู้ที่ผ่านมาบอกว่าเนื้อหามีความยาวมากเกินไป นั่นจึงทำให้ผมตัดสินใจที่จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 – 4 ตอน จากเดิมที่ตั้งใจจะเขียนบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ให้จบในตอนนี้ครับ


ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า จากการอ่านความคิดเห็นในกระทู้ที่แล้ว ซึ่งมีผลสะท้อนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเกิดขึ้น ผมคงไม่อาจโต้เถียงอะไร นอกจากยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบราชการของไทย


อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์โดยแท้จริงของบทความนี้ก็เพื่อสะท้อนอีกด้านหนึ่งในการประกอบอาชีพรับราชการ เพราะหากจะเปรียบไปแล้วการรับราชการหรืองานใดๆ ก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน


อาชีพรับราชการเผอิญอาจจะโชคไม่ดีเสียหน่อยตรงที่ว่า เวลาทอยเหรียญสักกี่ครั้ง เหรียญก็มักจะหงายขึ้นเพียงด้านเดียวซ้ำๆกันโดยตลอด ทำให้คนส่วนใหญ่ ตีความ รับรู้ และอาจเข้าใจผิดไปว่า อาชีพนี้มีแต่ด้านลบครับ


ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ไม่มีโอกาสจะได้เผยออกมาให้บุคคลภายนอกได้เห็นกันเสียเท่าไรนัก ดังนั้นบทความนี้จึงอาจทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่จะทำให้เห็นอีกด้านหนึ่งของอาชีพรับราชการมากขึ้นครับ


เงินเดือนน้อยและไม่เพียงพอ


นี่คืออีกนึ่งคำค่อนขอดที่คนส่วนใหญ่มักจะมองอาชีพรับราชการ ไม่เว้นแม้กระทั่งในวันที่ผมสัมภาษณ์เพื่อรับทุน ผู้แทนจากกระทรวงเปิดการสัมภาษณ์แก่ผมด้วยคำถามนี้ในทันทีเมื่อแรกเจอ


ผมยังจำได้ดีว่าตอนนั้นกรรมการสัมภาษณ์ยังคงถามผมย้ำๆ อยู่หลายรอบ ว่าพร้อมจะกลับมารับเงินเดือนในอัตรา 9,700 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่ผมได้รับในภาคเอกชนถึง 4 เท่า แถมเอกชนจ่ายผมราคานี้ในระดับปริญญาตรี แต่ราชการกำลังจ่ายให้ผมในอัตราปริญญาโทด้วยซ้ำไปครับ


อย่างที่เรียนครับว่า เงินทองกับผมไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะผมเคยผ่านช่วงเวลา และหลายๆ เหตุการณืในชีวิตที่ทำให้รู้สึกว่า ณ วินาทีนั้น ต่อให้มีเงินทองมากเพียงใดก็ไม่มีความสลักสำคัญเลย เพราะมันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่า และมากมายเกินกว่าที่เงินจะซื้อหาได้


อาชีพรับราชการก็เช่นกันครับ อาชีพนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มากกว่าการประกอบอาชีพในภาคเอกชน สิ่งๆ นั้นก็คือโอกาส แต่ไม่ใช่โอกาสเพื่อให้คนเข้ามาตักตวงหรือหยิบฉวย


แต่เป็นโอกาสที่จะได้แบ่งปันและทำประโยชน์ ให้แก่บุคคลอื่นๆ ได้ในวงกว้าง อรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกๆ ครั้งที่ทำงาน เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด จะต้องพิจารณาอรรถประโยชน์ของบุคคลอื่นๆ หรือสังคมมาประกอบเข้าด้วยกันครับ


นี่คือคำตอบสั้นๆ (หรือยาวๆ) ก็ไม่ทราบสำหรับการสัมภาษณ์ของผมในวันนั้น


ผมไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ สำหรับเรื่องเงินเดือนน้อยเลยครับ มันน้อยจริงๆ และถ้าคุณต้องมีภาระที่มากกว่า 1 ชีวิต โอกาสที่จะกันส่วนรายได้ไปเป็นเงินออมคงเป็นเรื่องยาก เพราะลำพังแค่ค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือนก็อาจจะแทบเอาตัวไม่รอดสำหรับข้าราชการบรรจุใหม่


อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจหลักคิดพื้นฐานในการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนดังกล่าวของ ก.พ. จากผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ว่าที่เงินเดือนเริ่มต้นไม่ได้สูงมากนัก เพราะราชการได้มอบสวัสดิการที่ทั้งอยู่และไม่อยู่ในรูปตัวเงิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเอาไว้ด้วยแล้ว


สิทธิต่างๆ ดังกล่าว คงได้แก่ สิทธิค่ารักษาพยาบาล ทั้งของตนเอง บิดามารดา ภรรยาและบุตร ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่เวลามีการพิจารณาลดทอนสิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะมีข้าราชการชั้นผู้น้อยจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหว และทฤษฎีโวยวายดังกล่าวก็ยังคงได้ผลเสมอ


ในขาหนึ่งผมก็เข้าใจภาครัฐในความพยายามที่จะอุดช่องโหว่ต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากการทุจริตในการเบิกจ่าย เข้าใจโรงพยาบาลและคุณหมอในความพยายามที่จะต้องเรียนรู้การบัญชีและการบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อจัดสรรเงินให้สอดคล้องกับรูปแบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของคนไทย ทั้งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการประกันสังคม และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของราชการ (CSMBS)


หากแต่ว่า ในอีกขาหนึ่งก็ต้องเข้าใจคนไข้ด้วยเช่นกัน ข้าราชการระดับสูงหรือที่มีฐานะเสียหน่อย คงไม่ลำบากใจกับการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐที่มีความพร้อม


แต่ยังมีข้าราชการอีกมากจริงๆ ครับ ที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพื่อควักจ่ายเองและหวังพึ่งพิงสวัสดิการดังกล่าว ยิ่งหลายๆ คนเป็นโรคเรื้อรังทั้งในยามบั้นกลางที่ถ้าอยู่เอกชนคงโดยเชิญแกมบังคับเพื่ออัปเปหิออกจากงานไปนานแล้ว หรือหากเกิดในยามบั้นปลายของชีวิตนี่ยิ่งน่าสงสารมาก


การจะไปตัดเล็กตัดน้อย เช่น จำกัดการรักษาโรคบางประเภท หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทยาในบัญชีที่สามารถเบิกได้ ก็ดูจะเป็นการโหดร้ายเกินไป บ่อยครั้งผมก็เคยตั้งคำถามในใจเหมือนกันว่า บรรดาท่านๆ ที่คิดเรื่องเหล่านั้น ถ้าวันหนึ่งต้องป่วยแล้วมาใช้ยาสามัญบางประเภทแทนยาต้นตำรับดูบ้างท่านจะรู้สึกอย่างไร


ดังนั้น การแก้ปัญหาภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าวที่ดีที่สุดก็ควรจะแก้ปัญหาโดยการเข้มงวดกวดขันและป้องกันการทุจริต มากกว่าการตัดสินใจลดทอนสิทธิประโยชน์แก่คนทั้งระบบ



สำหรับผมแล้วสิทธิประโยชน์ตรงนี้อาจจะไม่ใช่สาระสำคัญนัก เพราะผมก็มีโรงพยาบาลเอกชนที่ผูกโยงรักษากันมาประจำตั้งแต่แรกคลอดจนถึงปัจจุบัน ถ้าจะเห็นผลบ้างก็ในรายของคุณแม่ ในวันที่ผมยังไม่ได้รับราชการ คุณแม่ผมป่วยด้วยโรคที่เป็นกันได้ไม่ง่ายนักในเมืองไทย เรียกว่า 1 ในหมื่นหรือ 1 ในแสนถึงจะเจอกับโรคนี้ และก็ต้องไปรักษาในโรงเรียนแพทย์


ซึ่งแม้จะรู้จักกับหัวหน้าภาควิชาดังกล่าว แต่ตอนผมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้คุณแม่ แล้วสลิปที่ปรากฏตรงหน้าด้วยเลขหกหลักก็ทำเอาผมสะท้อนใจไม่ได้ว่า ถ้าเป็นข้าราชการทั่วๆ ไป แล้วไม่ได้รับสิทธิในส่วนนี้ เขาเหล่านั้นจะมีขวัญกำลังใจ (รวมไปถึงกำลังทรัพย์) ทำงานต่อหรือไม่


ภายหลังผมรับราชการ คุณแม่ก็ยังไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอยู่เรื่อยๆ ผมก็เลยได้ลองใช้สิทธิประโยชน์นี้ให้คุณแม่ดู ซึ่งก็พบว่ามีความทันสมัย และเบิกง่ายด้วยระบบจ่ายตรง แม้จะใช้สิทธิ์เพียงหนละ 50 บาท เพราะส่วนที่เหลือเป็นค่าธรรมเนียมของคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการที่เบิกไม่ได้ครับ



สิทธิประโยชน์อื่นๆ ก็เช่นในเรื่องของการศึกษาบุตร อันนี้ผมยังไม่มี ทั้งบุตรและแม่ของบุตรก็เลยไม่อาจตอบได้ แต่สิทธิประโยชน์ตรงนี้ก็ลดน้อยถอยลงไปตามกาลและเวลาตลอดจนนโยบายรเยนฟรีของรัฐ ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เบิกได้น้อยลง แต่อย่างน้อยก็เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ตัวข้าราชการได้บ้างครับ



เช่นเดียวกันกับในส่วนของเงินบำเหน็จบำนาญ และการออมผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ใครก็ตามที่บอกให้เฉือนตรงนี้ทิ้งไป ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักคิดพื้นฐานในเชิงสวัสดิการ

มองอย่างง่ายๆ ครับ ในองค์กรอื่นๆ ยังมีทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเกษียณขึ้นมารองรับสังคมลูกจ้างและพนักงาน



ข้าราชการก็เช่นกัน ในยุคก่อนๆ สำหรับคนที่เกษียณอายุเมื่อ 10 ปีที่แล้วขึ้นไป ในระดับซี 8 หรือ ซี 9 ได้รับบำนาญต่อเดือนในอัตราที่ผมฟังแล้วต้องหลับตาปี๋ ไม่เชื่อหู นั่นคือเดือนละหมื่นเศษๆ


ยิ่งถ้าคิดว่าเงินเฟ้อหรือข้าวของต่างๆ ขึ้นราคาเป็นก้าวกระโดด ยิ่งเกิดคำถามว่าการรับราชการโดยอุทิศตนแล้วในบั้นปลายท้ายที่สุด จะต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากก็เป็นเรื่องที่น่าสงสารไม่น้อยครับ

จากคุณ : buenos
เขียนเมื่อ : 29 พ.ค. 54 20:26:36




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com