Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
รวมธุรกิจในฝันขนาดย่อม อ่านไว้ก็ดีนะคะ คนอยากทำธุรกิจ ติดต่อทีมงาน

คุุณพลอย มัลลิกะมาส และ คุณชัชรพล เพ็ญโฉมเขียนไว้น่าอ่านดีนะคะ
วิเคราะห์ให้ด้วย มีแต่ร้านที่เราชอบๆทั้งนั้นเลย:)
คิดถึงบัานก็เพราะเมืองไทยมีร้านเก๋ๆแบบนี้เยอะไปหมด ชอบที่สุดดดดด


หลายปีมานี้ความต้องการอยากมี “ธุรกิจอิสระ” เป็นของตนเองในหมู่คนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว และมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการปลดแอกตัวเองจากพันธนาการของนายจ้างนั้นดูจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายต่อหลายคนฝันถึงกิจการเล็กๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ, ร้านเบเกอรี่, ร้านหนังสือ, ร้านนวด, ร้านอาหาร, เกสต์เฮ้าส์ไปจนถึงโรงแรมเก๋ๆ อาจเพราะรูปแบบวิถีชีวิตและพฤติกรรมการกินการอยู่ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปเยอะ มีคนนับแสนนับล้านที่เสพติดการเดินทางท่องเที่ยว ชอบทดลองของใหม่ และชอบใช้ชีวิตแฮงเอาท์อยู่นอกบ้านตั้งแต่เช้ายันค่ำ ทำให้ปริมาณร้านกาแฟ คาเฟ่ ร้านอาหาร ตลอดจนกิจการร้านค้าขนาดเล็กต่างๆ เพิ่มขึ้นราวกับดอกเห็ด
จากผลการสำรวจพบว่าความฝันของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่การได้เข้าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ชื่อเสียงโด่งดัง ร้อยละ 70 บอกว่าต้องการกลายร่างจากพนักงานกินเงินเดือนมาเป็น “ผู้ประกอบการพันธุ์เล็ก” และพร้อมจะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับการลงทุนเพื่อธุรกิจในฝันทันทีที่มีเงินทุน เพราะแม้ว่าสิ่งที่ฝันไว้จะไม่ใช่อาชีพที่ดีที่สุดหรือให้ผลตอบแทนด้านรายได้สูงสุด แต่หากมันเป็นอาชีพที่ทำให้เขามีความสุข และสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวได้อย่างดี พวกเขาก็พร้อมที่จะลองลุยกับมันดูสักตั้ง
นิยามของธุรกิจขนาดย่อม (SMEs)

ธุรกิจขนาดย่อม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ SMEs มีที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Small and Medium Enterprises หมายถึง ธุรกิจที่เป็นอิสระ เอกชนเป็นเจ้าของ ดำเนินกิจการโดยตัวเจ้าของเอง ไม่เป็นเครื่องมือของธุรกิจอื่นใด (ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลหรือธุรกิจอื่น) มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและมีพนักงานจำนวนไม่มาก ในประเทศไทยได้มีกฏหมายเกี่ยวกับธุรกิจ SME ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม พ.ศ. 2543” ซึ่งหมายรวมถึงวิสาหกิจ (Enterprises) ที่ครอบคลุม 3 กลุ่มกิจการ อันได้แก่
1. กิจการการผลิต (Product Sector) ครอบคลุมการผลิตในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเหมืองแร่
2. กิจการการค้า (Trading Sector) ครอบคลุมการค้าส่งและค้าปลีก
3. กิจการบริการ (Service Sector) ครอบคลุมธุรกิจบริการทั้งหมด
ความสำคัญของ SMEs ต่อระบบเศรษฐกิจ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาครัฐและหลายต่อหลายหน่วยงานต้องการผลักดันธุรกิจ SMEs ให้เติบโตก้าวหน้านั้น เป็นเพราะวิสาหกิจเล็กๆ เหล่านี้ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก มีความเหมาะสมและคล่องตัวที่จะปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งรองรับแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเมื่อหมดฤดูกาลเพาะปลูก ฯลฯ
เราอาจสรุปสาระสำคัญของ SMEs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจได้เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
1. ช่วยให้เกิดการสร้างงาน
2. ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าต่างๆ
3. สร้างเงินตราต่างประเทศ
4. ประหยัดการเสียดุลการค้าจากเงินตราต่างประเทศ โดยผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า
5. เป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุนตลอดจนช่วยสร้างสรรค์และเพิ่มพูนประสบการณ์ในการดำเนินการทำธุรกิจ
6. เชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่และภาคการผลิตอื่นๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม
7. เป็นแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นดี

อัตราการเติบโตของ SMEs  ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2553 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มมีแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ยอดรวมสินเชื่อ SMEs ของธนาคารกสิกรไทย (เจ้าของรางวัล Excellence in SME Banking Award จากนิตยสาร The Asian Banker ปี 2549 และรางวัล Best SMEs Bank in Thailand จากนิตยสาร Asset ปี 2553) ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 8% คิดเป็นมูลค่า 395,500 ล้านบาท โดยธ.กสิกรไทยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2554 นี้ ธนาคารจะมียอดสินเชื่อ SMEs เพิ่มขึ้นอีก 9% คิดเป็นมูลค่าถึง 425,100 ล้านบาทนั่นทีเดียว

เราสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ SMEs ในเบื้องต้นเป็นการเรียกน้ำย่อยแล้ว จากนี้ไป TCDCCONNECT จะพาคุณผู้อ่านไปเจาะลึกกับ 6 ประเภทกิจการในฝัน …ที่หนุ่มสาวยุคใหม่ “ฝัน” อยากเป็นเจ้าของ
เจาะลึก 6 ธุรกิจในฝันแห่งทศวรรษ
1. ร้านกาแฟและเบเกอรี่ – กรณีตัวอย่างจากอาฟเตอร์ ยู (After you) และ ไลบรารี่ (Library)
2. ร้านหนังสือขนาดเล็ก – กรณีตัวอย่างจากร้านหนังสือเดินทาง, ร้านสวนเงินมีมา และร้านก็องดิด
3. ร้านดอกไม้  – กรณีตัวอย่างจากร้านนภสร และ เรือนบุษบา
4. บูติกโฮเต็ล – กรณีตัวอย่างจากเดอะภูธร, เฟื่องนคร และ  พระนครนอนเล่น
5. โรงเรียนสอนทำอาหาร – กรณีตัวอย่างจาก เรียนร่วมโต๊ะ และ A little something
6. สปาและร้านนวด – กรณีตัวอย่างจาก DIVANA Spa & Clinic และ เรือนนวด

กลุ่มธุรกิจที่ 1 : ร้านกาแฟและเบเกอรี่

กรณีศึกษาที่ 1 – คาเฟ่ขนมหวาน “อาฟเตอร์ ยู” (Dessert Cafe – After You)
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในธุรกิจสุดฮอตที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ ณ นาทีนี้ก็คือ ร้านขนมหวานเก๋ๆ ที่เรียกตัวเองว่า Dessert Bar หรือ Dessert Cafe เซ็กเมนท์ใหม่ของธุรกิจร้านอาหารที่เข้ามาแย่งสัดส่วนทางการตลาดของร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ และร้านไอศกรีมไปได้อย่างงดงามในระยะสองสามปีที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของกระแสความนิยมที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “คนรักขนม” ในเมืองไทย คงจะเป็นร้านอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก “อาฟเตอร์ ยู” (After You) คาเฟ่ขนมหวานชื่อดังของ เม – กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ นักธุรกิจสาวเลือดใหม่ ผู้กำหนดนิยามคำว่า Dessert Cafe ให้กับกิจการร้านอาหารเมืองไทย (ถึงตอนนี้แม้แต่เจ้าตลาดแบรนด์ดังอย่างเกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ (Greyhound Cafe) ยังต้องกระโดดเข้ามาขอเป็นคู่ชกในเวทีนี้)

ความเป็นมา
สิ่งที่จุดประกายให้ “เม” กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ สนใจและอยากทำขนมเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอได้ดูรายการ Caprial Pence สมัยที่เรียนอยู่ชั้นป.5 นับแต่นั้นเป็นต้นมาเมก็ได้ลองผิดลองถูกและฝึกทำขนมด้วยตัวเองมาเรื่อยๆ โดยมีสูตรลับตำราเด็ดจากหลายต่อหลายแหล่ง (ทั้งจากตำราทำอาหาร รายการโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ไปจนถึงพี่ ป้า น้า อา และคนรู้จักของเธอ)
นอกจากการหมั่นฝึกฝนฝีมือด้วยตัวเองแล้ว เมยังชอบดัดแปลงพลิกแพลงสูตรต่างๆ จนกลายมาเป็น “ขนมของเม” ที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องรูปร่างหน้าตาและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ถึงวันนี้ เม กุลพัชร์ ตีพิมพ์ตำราทำขนมของตัวเอง (ชื่อว่า “May made”) ไปแล้วถึง 4 เล่ม, ทำหนังสือ May made ฉบับพิเศษ “Sweeter Tokyo” และที่สำคัญที่สุดเธอได้ให้กำเนิดกิจการร้าน “After You” คาเฟ่ขนมหวานสไตล์โฮมเมด ที่กำลังดังสุดโต่งอยู่ในขณะนี้
ปรากฏการณ์ “ร้าน After You” ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค “ขนม” ของคนเมืองในยามค่ำคืน และทำให้คนเมืองขี้หงุดหงิดทั้งหลายต้องยอมยืนรอต่อคิวนานๆ เพื่อจะได้ลิ้มรสชาติของ “ชิบุย่า ฮันนี่ โทสต์” หนึ่งในสามเมนูสุดฮิตที่เมคิดขึ้น

เอกลักษณ์ที่แตกต่าง
ด้วยจุดยืนที่ไม่เหมือนใครภายใต้คอนเซปท์ “There’s always room for desserts” ร้าน After You เปิดบริการขึ้นด้วยเมนูขนมหวานล้วนๆ แถมเปิดประตูต้อนรับชาวกรุงเทพฯ ถึงดึกดื่นเที่ยงคืน โดยเมบอกว่านี่คือคอนเซ็ปท์ที่เธอวางไว้ตั้งแต่แรกเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ซึ่งด้วยส่วนผสมอันลงตัวของคอนเซ็ปท์ ตัวโปรดักท์ และชั่วโมงการเปิดร้านนี้เอง ก็ทำให้ร้าน After You โด่งดังแบบฉุดไม่อยู่ภายในระยะเวลาไม่นาน และยังคงครองความนิยมมาได้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน (เข้าขวบปีที่ 4)
“โดยส่วนตัวเมคิดว่าถ้าจะเปิดร้านขายอะไรสักอย่าง อันดับแรกคือ ตัวโปรดักท์ต้องขายตัวเองได้ก่อน เมเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดในทุกธุรกิจก็คือ เรื่องของโปรดักท์และคอนเซปท์นี่แหละ ทีนี้ด้วยความที่เราวางคอนเซปท์ของ After You ให้เป็น Dessert Cafe เราก็ต้องขายแต่ขนมหวานถูกมั้ย …ถ้าคุณอยากกินขนมแบบนี้ คุณก็ต้องมาที่นี่ เราโด่งดังมาจากตรงนั้น”
“เคยมีคนถามเหมือนกันว่า ไม่คิดจะขายข้าวหน่อยเหรอ เพราะขายแต่ขนมกลัวจะไปไม่รอด บางคนก็ว่าอย่าเปิดดึกเลย ดึกๆ คนไม่กินขนมหรอก เขากลัวอ้วน แต่ถึงใครจะว่ายังไงเมก็เถียงนะ เพราะเราไม่อยากแข่งกับใคร ที่สำคัญเราคิดว่าคอนเซปท์มันต้องชัดตั้งแต่แรก และเราก็เชื่อมั่นว่ามันต้องมีคนที่ชอบเหมือนกับเราบ้างสิ”

โอกาสและความเป็นไปได้ทางการตลาด
ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน ร้าน After You คือธุรกิจแรกในชีวิตของสาวน้อยวัย 24 ปีที่เพิ่งออกจากรั้วมหา’ลัยได้ไม่นาน “ความปรารถนาอย่างแรงกล้า” ที่จะมีร้านขนมเป็นของตัวเองตั้งแต่สมัยเด็ก บวกกับความสนุกที่ได้คิดและสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ก็ทำให้คาเฟ่ขนมหวานแห่งนี้ก้าวเดินไปข้างหน้าและเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
“ข้อดีของการมีโอกาสได้เริ่มทำอะไรตั้งแต่ยังเด็ก ในช่วงที่เรายังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมากก็คือ …มันจะไม่ค่อยกลัวเจ็บค่ะ มันมีแต่ความกล้า มีแต่ความฝัน อยากทำโน่นทำนี่ จะล้มก็ได้ …ไม่กลัว”
“ที่สำคัญอีกอย่างคือ เมเป็นคนที่ไม่รอและไม่ปฏิเสธโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต สมัยที่ยังไม่เปิดร้านเคยมีคนเสนอให้ทำหนังสือ เมก็ลองทำดูทั้งที่ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลย ซึ่งนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพที่ทำอยู่ ณ ตอนนี้ หนังสือกลายเป็นตัวช่วยให้เรามีเครดิตไปต่อยอดทำอย่างอื่น”
“ทุกวันนี้มีคนมาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เยอะมากๆ ทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ โอกาสทางการตลาดแบบนี้ …ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้”

เคล็ดลับของร้าน “After You”
- นอกจากเรื่องของตัวสินค้าแล้ว “ทำเลที่ตั้ง” คือ ปัจจัยสำคัญอีกข้อของการทำธุรกิจคาเฟ่
“การได้มาเจอที่ตรงนี้ (เจ อเวนิว ทองหล่อ) เป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาสค่ะ เรารอที่ๆ ใช่มานาน 5 ปีเต็ม พอได้เจอปุ๊บ ก็ตกลงใจเปิดร้านทันที”
- ต้องมีใจรักในการประกอบธุรกิจ ถ้าไม่เป็นก็ต้องหา “พาร์ทเนอร์” ที่เก่งๆ มาช่วย
“ถ้าอยากมีร้านเป็นของตัวเอง อันดับแรกเลยคือคุณต้องเป็นคนชอบทำธุรกิจ เมเป็นคนชอบทำธุรกิจที่ทำขนมได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบทำขนมที่อยากมีธุรกิจ แต่คุณเองไม่ชอบทำธุรกิจ คุณก็จำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ที่ทำธุรกิจเป็น เพราะเรื่องของการทำขนมกินที่บ้านกับเปิดร้านขนม มันใช้หัวคิดคนละหัวกันเลยจริงๆ”

ข้อมูลธุรกิจ
เจ้าของร้าน : กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ (เม)
ปีที่เปิดให้บริการ : ปี 2550 งบประมาณเริ่มต้น : 3,500,000 บาท (ค่าเช่าสถานที่ ค่าตกแต่งร้าน และเงินทุนหมุนเวียน เฉพาะสาขาแรก)
จำนวนสาขา : 3 สาขา (เจ อเวนิว ทองหล่อ 13, ลา วิลล่า พหลโยธิน, ชั้น G สยามพารากอน) และกำลังจะเปิดอีก 2 สาขาใหม่ ที่คริสตัล พาร์ค และเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในเดือนกรกฎาคม 2554)
ระยะเวลาคืนทุน : ภายในหนึ่งปีครึ่ง
จำนวนพนักงานเมื่อเริ่มต้น : 7 คน  
จำนวนพนักงานในปัจจุบัน : 20 คน ต่อสาขา  โครงการในอนาคต : พิจารณาเรื่องความเป็นไปได้ของการขายแฟรนไชส์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศ

กรณีศึกษาที่ 2 – ‘ไล-บรา-รี่’ (Library) กรุ่นกลิ่นกาแฟใน “ห้องสมุด”
“อยากมีร้านกาแฟเล็กๆ น่ารักๆ…มีโฮมเมดเบเกอรี่…แล้วก็มีหนังสือดีๆ ให้อ่านเพลินๆ”
เชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้จากคนรอบข้างอย่างน้อยสัปดาห์ละ 7 ครั้ง (หรือบางทีคุณนั่นแหละที่เป็นคนคอยพร่ำพูดประโยคนี้เสียเอง) จะด้วย “วิถีการเพลิดเพลินกับกาแฟ” หรือจะด้วย “ค่านิยมในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่” ที่ไม่ใคร่อยากนั่งเป็นทาสทุนนิยมในออฟฟิศไปจนเกษียณก็สุดจะแล้วแต่ ทุกวันนี้ธุรกิจ “ร้านกาแฟน่ารักๆ” ก็ได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดกระจายไปทั่วมุมเมือง ซึ่งร้าน ‘ไล-บรา-รี่’ ที่ทีมนักเขียน TCDCCONNECT ไปนั่งประชุมกันเป็นประจำ …ก็คือหนึ่งในนั้น

ความเป็นมา
จากอาชีพสถาปนิก สู่นักการตลาด กับชีวิตการทำงานในออฟฟิศร่วมสิบปี ในที่สุด คุณเจี๊ยบ ปานใจ เภตรา เจ้าของคาเฟ่นาม ไล-บรา-รี่ ก็ตัดสินใจเดินทางออกตามความฝัน แม้แรกเริ่มเธอจะมี “ธุรกิจรีสอร์ท” เป็นจุดหมาย ทว่าความใหญ่โตของฝันนี้เกินเธอจะรับมือไหว เธอจึงขอลดไซส์ลงมาเป็น “ร้านอาหาร” แต่ถึงกระนั้นเมื่อทบทวนภาพฝันของตนเองจนชัดเจน เธอก็ได้พบว่า “ร้านกาแฟที่นั่งอ่านหนังสือได้ทั้งวี่ทั้งวัน” ต่างหาก คือ ปลายทางฝันที่แท้จริงของเธอ

เอกลักษณ์ที่แตกต่าง
ด้วยคอนเซ็ปท์ที่วางไว้ว่า ‘ไล-บรา-รี่’ จะไม่ใช่ร้านกาแฟ แต่เป็นห้องสมุดที่คนมานั่งจิบกาแฟเพลินๆ ได้ ร้านสาขาแรกที่ถนนพระรามเก้าจึงไม่มีแม้กระทั่งคำว่า “Coffee” ภายในร้านเน้นบรรยากาศเป็นกันเอง ลูกค้าจะหิ้วแล็ปท็อปมานั่งทำงาน หรือจะหอบหนังสือมานั่งอ่านชิลๆ ในชุดขาสั้นรองเท้าแตะก็ไม่มีใครว่า
การตกแต่งเน้นความเรียบง่ายแบบตะวันออก สาขาแรกนั้นมีความเป็น “ไทย” อยู่มาก ถึงขนาดป้ายและเมนูมีแต่ภาษาไทย (จนเกิดปัญหากับลูกค้าต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามา ภายหลังจึงต้องเพิ่มป้ายและเมนูภาษาอังกฤษเข้าไว้ด้วย) ส่วนสาขาสองที่ซอยสุขุมวิท 24 จะให้อารมณ์ความเป็น “ญี่ปุ่น” ชัดเจน ซึ่งตรงนี้คุณเจี๊ยบบอกว่า ตอนวางคอนเซ็ปท์ร้านเธอเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น เลยกำลัง “อิน” กับอารมณ์นี้ อีกทั้งทำเลก็เอื้อเพราะย่านสุขุมวิทมีครอบครัวคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่หนาแน่น ในที่สุด ‘ไล-บรา-รี่’ สาขาสุขุมวิทก็คลอดออกมาในลุคเรียบง่ายแต่อินเตอร์ฯ มีป้ายภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นครบตั้งแต่หน้าร้าน ทุกวันนี้บนชั้น 2 ของร้านจะเนืองแน่นไปด้วย “คุณแม่บ้านญี่ปุ่น” ที่มาร่วมวงสนทนากันอย่างออกรส (พร้อมลูกเล็กเด็กแดงอีกมากมาย)
“การทำร้านต้องมีคอนเซ็ปท์ชัดค่ะ เราต้องใส่คาแรคเตอร์ให้ร้านเพื่อให้เกิดเรื่องราว สามารถนำมาเล่าต่อได้จนกลายเป็น Corporate Identity ตรงนี้ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า”
“จากนั้น เมื่อประสบการณ์ที่ดีบวกกับรสชาติของกาแฟและโฮมเมดเบเกอรี่ที่ทำเองทุกวัน ก็จะทำให้ลูกค้ากลับมาที่ร้านเราอีก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะร้านกาแฟไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่ซื้อแล้วก็จบกันไป เราต้องอาศัยลูกค้าประจำ ดังนั้นการควบคุมคุณภาพสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างดี”
“เครื่องดื่มบางชนิดหากช็อตหนึ่งมีส่วนผสมเกินมานิดเดียวรสชาติจะเปลี่ยนทันที หรือนมหวานควรจะอุ่นร้อนที่อุณหภูมิ 50-60 องศาจึงจะกำลังดี บางทีการที่เราอยู่กับอะไรนานๆ ก็ทำให้เราชิน เมื่อเครื่องดื่มรสชาติเปลี่ยนเราก็อาจไม่รู้ตัว หรือถ้าเป็นเรื่องความสะอาด เราอยู่ร้านทุกวันเห็นบรรยากาศจนชิน เราอาจจะไม่รู้สึก แต่ลูกค้าที่ไปๆ มาๆ เขาจะรู้สึกได้ ตรงนี้จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ วิธีแก้คือเราต้องทำตัวเป็นลูกค้าเสียเอง ดิฉันจะลองนั่งเก้าอี้ทุกตัวดูว่ายังสบายมั้ย หากมุมไหนมีแดดลงมากไปทำให้นั่งนานไม่ได้ เราก็ต้องติดม่าน อะไรแบบนี้เป็นต้น”

โอกาสและความเป็นไปได้ทางการตลาด
พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ทั้งวัยเรียนและวัยทำงานมักชอบออกจากบ้าน มานั่งทำงาน คุยงาน คิดงานในร้านกาแฟ หลายคนออกมานั่งอ่านหนังสือ (ทั้งอ่านสอบและอ่านเล่น) บางคนแค่ออกมานั่งชิลๆ ฆ่าเวลา เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทางธุรกิจของบรรดาร้านกาแฟในยุคนี้
สำหรับ ‘ไล-บรา-รี่’ สาขาพระรามเก้า แน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าหลักคือนักศึกษาและคนทำงานในละแวกใกล้เคียง อีกทั้งยังเลยไปถึงชาวต่างชาติที่มีเวลาเหลือเฟือสำหรับนั่งชิลๆ ก่อนไปสนามบิน (ซึ่งคุณเจี๊ยบบอกว่า เป็นกลุ่มที่ไม่ได้คาดหวังไว้แต่แรก) ส่วนสาขาสุขุมวิทนอกจากจะเป็นห้องสมุดและที่ประชุมของใครหลายคนแล้ว ยังเป็นแหล่งสังสรรค์ของบรรดาคุณแม่บ้านญี่ปุ่นอีกด้วย

เคล็ดลับของร้าน ‘ไล-บรา-รี่’
- ให้ความสำคัญกับบรรยากาศและการตกแต่งร้าน คุณเจี๊ยบถึงกับบอกว่า “หากประหยัดหรือใช้ของไม่ดี ก็ต้องเตรียมทำใจว่าลูกค้าจะไม่มาร้านเรา!”
- บรรยากาศดี + โปรดักท์ดี + บริการดีเยี่ยม = ธุรกิจไปได้ดี แต่หากอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ดี เช่น บรรยากาศดี แต่อาหารเครื่องดื่มไม่อร่อย แถมบริการไม่ถึงกับดีเยี่ยม = จบ!
- เนื่องจากเจ้าของไม่ชำนาญเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงไม่เลือกวิธีกู้ธนาคาร แต่ใช้เงินเก็บของตัวเองบวกกับยืมจากทางบ้าน สำหรับต้นทุนในแต่ละเดือนจะมีค่าเช่าเป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 30-40% ของรายจ่ายทั้งหมด และคิดเป็นเกือบ 30% ของรายรับ ทั้งนี้ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน และต้นทุนสินค้าต่างๆ จะขึ้นราคาทุกๆ 3 ปี แต่ร้านไม่สามารถขึ้นราคาได้ (บ่อย) จึงต้องหากลยุทธ์ต่างๆ มาชดเชยรายรับที่ต้องจ่ายออกไปเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
- หากนำ “บ้านเก่า” มาตกแต่งใหม่เพื่อเปิดร้าน ต้องจำไว้ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของบ้านเก่าคือ “เรื่องท่อน้ำ” เนื่องจากน้ำทิ้งจากร้านกาแฟมีส่วนผสมของวิปครีม นม ฯลฯ (สิ่งปฏิกูลประเภทไขมัน) อีกทั้งท่อน้ำในบ้านเก่ามักจะมีระดับความสูงไม่ต่างจากถนนมาก อาจทำให้ระบบท่อ (น้ำเสีย) ตันได้ง่าย ดังนั้นเจ้าของร้านควรวางระบบการจัดการให้รองรับอุปสรรคตรงนี้แต่เนิ่นๆ นอกจากนั้น ในบ้านที่มีอายุมาก เจ้าของเดิมมักจะเคยซ่อมแซมหรือทำระบบใหม่กันมาหลายครั้ง ทำให้มีปัญหาท่อน้ำรั่วซึมบ่อย หากไม่ตรวจสอบแก้ไขกันตั้งแต่แรก อาจทำให้เสียค่าซ่อมเป็นหลักแสนบาทได้ทีเดียว
- การมี “บาริสต้า” ที่ไว้ใจได้ทั้งในเรื่องการชงเครื่องดื่มและการให้บริการเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัญหาที่พบบ่อยคือพนักงานเข้า-ออกจากงานง่าย (เป็นธรรมชาติของธุรกิจร้านกาแฟ) ดังนั้น จึงต้องมีการฝึกหัดพนักงานใหม่อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งคิดกลยุทธ์เพื่อให้พนักงาน (ที่ทำงานดี) พอใจและทำงานกับเรานานๆ (เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมากที่แวะมาเพราะคุ้นเคยกับบาริสต้า) คุณเจี๊ยบใช้วิธีให้พนักงานเลือกทำงานวันละ 12 ชั่วโมง 4 วัน/สัปดาห์ (จากเดิมวันละ 8 ชั่วโมง 6 วัน/สัปดาห์) เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาพักผ่อนหรือเหลือเวลาไปทำอย่างอื่นได้ ทั้งยังประหยัดค่าเดินทางอีกด้วย

ข้อมูลธุรกิจ
เจ้าของร้าน : ปานใจ เภตรา (เจี๊ยบ)
ปีที่เปิดให้บริการ : สาขาพระรามเก้า เดือนตุลาคม 2549 สาขาสุขุมวิท 24 เดือนกันยายน 2553 งบประมาณเริ่มต้น : สาขาสุขุมวิท 2 ล้านบาท (เฉพาะค่าปรับปรุงและซ่อมแซม ไม่รวมค่าเซ้งตึก)
จำนวนสาขา : 2 สาขา (ไล-บรา-รี่ สาขาพระรามเก้า เลขที่ 70 พระราม 9 ซอย 41, สาขาสุขุมวิท เลขที่ 2 ซ.เมธีนิเวศน์ สุขุมวิท 24)
ระยะเวลาคืนทุน : 5 ปี (สาขาพระรามเก้า)
จำนวนพนักงานเมื่อเริ่มต้น : 6 คน ต่อสาขา
จำนวนพนักงานในปัจจุบัน : เท่าเดิม โครงการในอนาคต : หาพื้นที่อื่นๆ เพื่อเปิดสาขาในอนาคต โดยรูปแบบของร้านจะขึ้นอยู่กับทำเล อาทิ หากได้ทำเลในอาคารสำนักงาน อาจเปิดเป็น kiosk ชื่อ “ไล” หรืออาจขยายสู่ธุรกิจท่องเที่ยวโดยเปิดเป็นรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ

 
 

จากคุณ : aggiegal
เขียนเมื่อ : 30 พ.ค. 54 20:22:18




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com