บ่ายนี้ขออนุญาตอีก 1 กระทู้ก่อนลาพัก 2 วันนะครับ
วันนี้ได้รับข้อความเข้ามาถามเรื่องหนังสือผ่านงาน จากหลายๆท่าน ทั้งจากนายจ้างลูกจ้างถึงปัญหาดังกล่าว ดังนั้นบ่ายนี้ขออนุญาตชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้เข้าใจทั้งส่วนของนายจ้างลูกจ้างนะครับ
นายจ้างหลายท่านถามผมว่า พนักงานคนนี้ทุจริต ไม่อยากให้หนังสือผ่านงานเลย ทำได้ไหม? , เด็กคนนี้ลาออกไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ให้หนังสือผ่านงานได้ไหม?
ส่วนพนักงานหลายๆท่านก็ถามมาว่า บริษัทออกหนังสือผ่านงาน แต่มีข้อความไม่ค่อยดีเลย บริษัททำเช่นนี้ได้ด้วยหรือ? , หนังสือผ่านงาน บริษัทไม่ยอมออกให้ ทำอย่างไรดี?
คำตอบเรื่องดังกล่าวนี้ ในทางกฎหมายแล้วมีคำตอบเดียวคือ หนังสือผ่านงาน เป็นหน้าที่ที่นายจ้างต้องออกให้ลูกจ้างเมื่อการจ้างงงานนั้นสิ้นสุดลง...ไม่ให้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 ว่าด้วยการจ้างแรงงาน มาตรา 585 กล่าวเอาไว้ว่า เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร สั้นๆเพียงเท่านี้ครับ ที่ยืนยันได้ว่า นายจ้างต้องออกใบผ่านงานให้ ไม่ให้ไม่ได้
ดังนั้น นายจ้างก็บอกว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นนายจ้างออกใบผ่านงานให้ก็ได้ แต่เนื่องจากไม่ชอบลูกจ้างคนดังกล่าวนี้ หรือลูกจ้างคนนี้ได้กระทำความผิดจริง เช่นไปยักยอกทรัพย์สินนายจ้างจริง ดังนั้นในใบผ่านงานเลยลงข้อเท็จจริงเอาไว้ซะเลย ว่า ลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากกระทำความผิด เพราะเรื่องที่ลูกจ้างทำนั้นมันเรื่องจริง และก็ไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุเอาไว้เลยว่าห้ามเขียนข้อความดังกล่าว
ประเด็นดังกล่าวนี้ต้องบอกว่า นักกฎหมายและผู้พิพากษาหลายท่านจากฎีกาที่ออกมา เห็นตรงกันว่า กฎหมายให้ระบุเพียงถ้อยคำที่แสดงว่า ลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่ารไ และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร เท่านั้น หากจะไประบุสิ่งใดที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่กฎหมายระบุเอาไว้ คงเป็นได้แค่เพียงสิ่งที่เป็น คุณ ต่อลูกจ้างเท่านั้น สิ่งที่ ไม่เป็นคุณ เช่น การกระทำความผิด หรือนิสัยไม่ดีส่วนตัว เช่นนี้คงไม่สามารถระบุลงไปในหนังสือรับรองการทำงานได้
หากท่านเป็นนายจ้างก็ลองคิดดูเล่นๆนะครับว่า ถ้าหากกฎหมายอนุญาตให้เขียนลงไปได้ตามใจนายจ้างแล้วล่ะก็ ลูกจ้างที่เคยมีประวัติในทางลบ คงไม่ต้องหางานกันเลยทีเดียวเชียว เพราะคงไม่มีบริษัทไหนอยากจะรับ ลูกจ้างที่มีใบผ่านงานระบุว่า พนักงานบัญชีคนนี้ เคยยักยอกเงินในบรัษัทจำนวน 50,000 บาทแล้วถูกตัดสินไล่ออก หรือ พนักงานท่านนี้ มาทำงานสายเป็นประจำ จนบริษัทเชิญออก จริงไหมครับ
มาถึงจุดนี้ นายจ้างหลายท่านคงรู้สึกอึดอัดใจเพราะฝ่ายที่เป็นนายจ้างเดิมก็รู้สึกว่า แหม..ก็ลูกจ้างไม่ดีจริงๆ เอาคืนบ้างไม่ได้เลยหรือ และนายจ้างฝ่ายที่จะเป็นนายจ้างใหม่ก็บอกว่า แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า นายคนนี้เคยมีประวัติดีชั่วอย่างไร ส่วนลูกจ้างก็หลงดีใจเอาว่า ถ้าอย่างนั้นก็สบายละ ทำชั่วเอาไว้มากมายกับที่นี่ ก็จบลงที่นี่ ไปหากินที่อื่นต่อก็ไม่มีใครรู้ ผมต้องบอกว่าถ้าคิดกันอย่างนั้น ต้องอ่านบทความนี้ต่อครับ...
เพราะปัญหาดังกล่าวข้างต้น นายจ้างและฝ่ายบุคคลหลายๆท่าน จึงได้ว่างแนวทางการแก้ไขเรื่องดังกล่าวและใช้เป็นข้อสังเกตุกันมานานแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปหนังสือผ่านงานจะมีอยู่ทั้งสิ้น 3 ประเภทด้วยกันที่รู้จักกันในหมู่ผู้ที่ทำงานฝ่ายบุคคลคือ
1. ประเภทพนักงานระดับดีเยี่ยม ไม่อยากให้ลาออกเลย แต่รั้งเอาไว้ไม่ไหว หนังสือผ่านงานของคนประเภทนี้จะประกอบไปด้วยคำสรรเสริญเยินยอ ขยันอย่างโน้น ขยันอย่างนี้ รวมทั้งอวยกันด้วยว่า เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพนักงานท่านนี้จะเป็นกำลังสำคัญให้กับท่านในอนาคต...ก็ว่ากันไป
2. ประเภทปกติ ก็มีวันเริ่มงาน เข้างาน และข้อความมาตรฐานเช่น ขยันขันแข็งและมีความประพฤติดี
3. ประเภทมีปัญหา มีเพียงวันเริ่มงาน และสิ้นสุดงาน ห้วนๆ ปราศจากคำสรรเสริญเยินยอใดๆ สั้นๆ ห้วนๆ ได้ใจความ เป็นอันว่ารู้กันในหมู่ผู้สัมภาษณ์ว่า เจ้านี้มี something wrong แน่ๆ
หากฝ่ายบุคคลเห็นว่าหนังสือผ่านงานดังกล่าวนี้ น่าจะมีปัญหา ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการขุดคุ้ยค้นหาความจริงว่า แท้จริงแล้วไปทำอะไรมา จากการโทรไปสอบถามที่บริษัทเก่า หรือบุคคลที่อ้างอิงมา หรือหากตำแหน่งสำคัญมา อาจมีการสอบถามจากภายในวงการของงานหรือฝ่ายบุคคลเองซึ่งแวดวงนี้ฝ่ายบุคคลเค้ามีเครือข่ายกันอยู่
ท้ายที่สุดมาตรงนี้แล้ว นายจ้างหลายท่านคงสบายใจขึ้นนะครับว่า ไม่ต้องกังวลใจว่า ในข้อห้ามต่างๆที่ห้ามเขียนไปบนหนังสือผ่านงานนั้น พอมีทางออกในการจัดการบ้าง ส่วนลูกจ้างที่ชอบก่อปัญหาไว้ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ก็อย่าคิดว่าจะลอยนวลไปได้ตลอดไปนะครับ เป็นลูกจ้างที่ดี ทำงานเต็มความสามารถ ปลอดภัยไร้กังวลที่สุดครับ