 |
ขออนุญาต เจ้าของกระทู้แชร์ประสบการณ์ ให้เพื่อนๆ นะคะ ในฐานะ ที่เราก็เป็นคนค้าขาย และพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง เริ่มแรกเราก็ทำงาน บ.เอกชน ด้านส่งออกค่ะ เงินเดือนก็พออยู่พอกิน แต่ไม่มีเก็บค่ะ
เราก็เลยเริ่มด้วยการค้าขายเป็นรายได้เสริม ก็รับเงินสองทาง สนุกจริงๆ  เราเริ่มทำเมื่อปี พศ.2552 กลางปี (แต่ปัจจุบันลาออกมาทำเต็มตัวได้ปีกว่าแล้วค่ะ) โดยเริ่มแรกขายเสื้อเชิ๊ตมือสอง ช่วงแรกขายดีค่ะ กำไรต่อวันหลายพัน รับมาตัวละ 40 ขายตัว 199 กำไรเห็นๆ ธรรมดาของการขายของไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ถ้าเราขายดี ไม่นานก็ จะมีพวกขายตาม ขายตัดราคา เรื่องนี้ต้องทำใจค่ะ ปัจจุบันร้านเสื้อเลิกขายไปแล้วค่ะ พวกเล่นตัดราคากัน ขายตัวละ 50 ถามว่าอยู่ได้มั๊ย อยู่ได้ค่ะ ถ้าจะสู้ แต่ไม่เอาค่ะทำไปกำไรไม่เหลือ ไม่ทำให้เสียเวลา
ณ ตอนนี้เราเปิดร้านทำอย่างอื่นค่ะ เกี่ยวกับงานใช้ฝีมือ กำไรดีค่ะ นับรวมๆ ตั้งแต่ลาออกจากงานเมื่อต้นปี พศ.53 จนถึงปัจจุบัน ก็ประมาณ 1 ปี กับอีกเก้าเดือน เราสามารถมีเงินเก็บในบัญชีประมาณ สองแสนบาท นี่คือเงินเก็บนะคะ ไม่ใช่เงินหมุน และมีซื้อทองไว้อีก สองบาท และซื้อให้พ่อ กับแม่อีก คนละหนึ่งบาท
ไม่ได้อวดรวยนะคะ แค่เทียบรายได้ให้ดู เราทำงานออฟฟิศมาสิบกว่าปี ไม่มีเงินเก็บซักบาท แค่มีกินมีใช้ มีส่งเสียให้พ่อกับแม่
ถามเราว่าค้าขายดีมั๊ย ขอตอบค่ะ ว่าดีแน่นอน ดีกว่าเป็นลูกจ้างเค้าเป็นไหนๆ เป็นลูกจ้าง เดือนๆนึงคุณรับเงินแค่ครั้งเดียว หมื่น สองหมื่น สามหมื่นว่ากันไป แต่คุณไม่มีสิทธิ์ได้จับเงินแสนค่ะ แต่ถ้าค้าขาย คุณได้จับแน่ๆ เงินหมุนเวียนผ่านมือเกินแสนสบายๆ ส่วนเรื่องกำไร นั้นอีกเรื่อง ขึ้นอยู่กับสินค้าที่คุณขาย
ถ้าเพื่อนคนไหนสนใจจะเริ่ม เรามีข้อแนะนำนิดๆหน่อยๆค่ะ 1. คุณต้องมีเงินทุน และเงินสำรองเท่ากับสองเท่าของเงินทุนค่ะ เช่น ลงทุนขายตลาดนัด 20,000 คุณต้องมีสำรองในบัญชี หลังลงทุนแล้วอีกอย่างน้อย 40,000
เหตุผล เพราะ กันพลาดค่ะ เผื่อสินค้าที่นำมาขาย ขายไม่ดี หรือขายไม่ออก คุณจะได้มีเงินเพื่อหาตัวใหม่มาขาย ไม่ใช่ว่า ลงตู้มเดียว แล้วเลิก ถ้าคิดอย่างนี้ อย่าทำแต่แรกค่ะ เสียเวลาเปล่าๆ
2. สินค้าที่นำมาขาย ต้องดูให้ดีค่ะ กำไรต่อชิ้นต้องพออยู่ได้ ไม่ใช่คิดว่า ขายเอาจำนวนเยอะ กำไรต่อชิ้นน้อยหน่อยไม่เป็นไร ขายได้เยอะๆ ก็ได้กำไรเยอะๆ เองแหล่ะ คิดแบบนี้ฆ่าตัวตายชัดๆ เหตุผล อย่าลืมว่าเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ได้เฟื่องฟู ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โอกาสที่คุณจะขายได้มากๆ มีมั๊ย ก็มีค่ะ แต่สินค้าคุณต้องโดนจริงๆ แต่อย่าลืม ถ้าคุณขายดี ไม่เกินอาทิตย์จะมีคนขายตาม และ ตัดราคาทันที 3. การตั้งราคาสินค้า อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ เพื่อนๆคนไหนจะเห็น ต่างก็ไม่เป็นไร ปรกติ มาตรฐานที่พ่อค้าแม่ค้า เค้าตั้งราคาก็จะบวกเข้าไป 1.5 เท่า คือจะเน้นกำไรต่อชิ้นให้อยู่ได้อย่างที่บอกด้านบน แต่ไม่ใช่เอาเปรียบ ผู้ซื้อจนน่าเกลียด ที่บอกไว้ในข้อ 2 ว่าอย่าคิดว่าเน้นขายเยอะชิ้น กำไรต่อชิ้นน้อยหน่อยไม่เป็นไร ต้องคิดเผื่อค่ะ ถ้าเกิดขายไม่ได้ ถ้ากำไรนิดเดียว จะอยู่ได้อย่างไร
ยกตัวอย่างนะคะ สินค้าต้นทุนราคา 100 ถ้าคุณบวกกำไรแค่ 50 บาท ถ้าคุณขาย ได้แค่ 5 ตัว 5 x 150 = 750 หักต้นทุน 500 จะเหลือแค่ 250 ค่าที่ ค่าเดินทาง ค่าต้นทุนอื่นๆ ก็ไม่พอแล้วค่ะ คุณต้องขายให้ได้อย่างน้อย 20 ตัวขึ้นไป ถึงจะอยู่ได้ สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ขอบอกว่าหืดขึ้นคอค่ะ ขายปลีก ได้ 20 ตัวอัพ ถ้าช่วงต้นเงินเดือนออกก็มีหวังค่ะ แต่อย่าลืม เงินเดือนออก แค่เดือนละครั้ง โอกาสที่จะขายได้ ก็มีน้อย
แต่ถ้า คุณบวกกำไร ที่ 1.5 เท่าก็ = 100 x 1.5 = 250 ถ้ามองแล้วแพง ก็ใช้เทคนิคตั้งราคา 249 หรือ 239 ก็ว่ากันไป เผื่อต่อรอง เช่น สมมุติ คุณลดให้ลูกค้า เหลือตัวละ 200 คุณก็ยังเหลือกำไรต่อตัว 100 ขายแค่สิบตัว คุณก็พออยู่ได้ ลองนึกดูค่ะ ระหว่างขายสิบตัว กับยี่สิบตัว คุณว่าอันไหนมันง่ายกว่ากัน
4. เทคนิคการขาย ขอแนะนำนะคะ ว่าคุณต้องเรียกและ เชียร์ลูกค้าให้เป็น ต่อให้สินค้าเจ๋ง แค่ไหน ราคาถูกแค่ไหน ถ้าคุณมัวแต่นั่งอมน้ำลาย ไม่พูด ไม่เชียร์ โอกาสขายไม่ได้ก็มีสูงค่ะ อันนี้ประสบการณ์ตรง เราเองเป็นคนพูดเก่งเรียนจบการตลาด และทำงานด้านการขายมาตลอด ตอนนี้ลูกค้าติดเราเยอะค่ะ เพราะเราเรียกลูกค้าเข้าร้าน พรีเซนต์ และคุยให้เป็นกันเอง กับลูกค้า ถ้ามัวแต่หน้าเหวี่ยง ขายยากค่ะ ทุกวันนี้ลูกค้ามีตัวเลือกเยอะ ไม่จำเป็นต้องซื้อร้านเราก็ได้ ร้านอื่นก็มี
5. อย่าหลงระเริง ก็คือ ถ้าคุณเกิดขายดีแล้วมีเงินผ่านมือมาก อย่าใช้เงิน จนเพลิน อย่ารีบขยายร้าน เพราะการขายของมีขึ้นมีลง วันนี้ขายดี พรุ่งนี้คุณอาจจะขายไม่ได้ ทางที่ดี คือต้องเก็บเงินทุนสำรองไว้ให้มาก ที่สุด ถ้าพร้อมจริงๆ เงินทุนแน่น จะขยายร้าน นั่นก็อีกเรื่องนึง
เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ฝากเพื่อนๆไว้อ่านดูนะคะ ^___^ ถ้าใครสงสัย ต้องการคำปรึกษา เรายินดี นะคะ หลังไมค์มาได้
จากคุณ |
:
เกือบแล้วเชียว
|
เขียนเมื่อ |
:
26 ก.ย. 54 04:38:37
|
|
|
|
 |