สถานการณ์สร้างวีระบุรุษ ... อยากรู้ผู้นำของจริงหรือเปล่า ดูตอนวิกฤต นี่แหละ
|
 |
น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาภาวะการนำ (Leadership) ของผู้นำหลาย ๆ คน ในระหว่างความสับสนที่กำลังเกิดขึ้น หากสังเกตุให้ดีก็จะเห็นได้ว่า ผู้นำบางคนนิ่งสงบแต่บางคนรนราน บางคนกล้าหาญแต่บางคนอาจหลบหนี บางคนใจเสียแต่บางคนแค่รู้สึกเสียใจ ดังนั้นหากอยากรู้ว่าผู้นำคนไหน ของจริง ให้ดูในช่วงวิกฤต ดั่งคำโบราณว่า สถานการณ์สร้างวีระบรุษ
หากวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเฉกเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ผู้นำควรรับมืออย่างไร วันนี้ผมมีข้อคิดมาฝาก
1) ใช้เวลาสักนิดคิดให้ตกผลึกว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งที่ได้มีโอกาสคุยด้วย เล่าให้ฟังว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงแรก เมื่อรู้ว่าน้ำกำลังมุ่งหน้ามาสู่โรงงาน ท่านก็รีบเรียกประชุมหัวหน้างานทุกระดับในทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสับสนอลหม่าน ต่างคนต่างพูด วิพากวิจารณ์ แสดงความคิดเห็นกันอย่างสุดชีวิต ปัญหาคือ มีแต่คนพูดไม่มีคนฟัง ส่ิงที่ผู้บริหารท่านนี้ทำคือยุติการประชุมและมอบหมายให้หัวหน้างานทุกคนกลับไปคิด กลับไปปรึกษาหารือกับลูกทีม แล้วมาคุยกันใหม่ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ปรากฏว่าหลังจากทุก ๆ คนได้มีเวลาสงบสติอารมณ์สักพัก ความคิดก็ตกผลึก ไอเดียเริ่มบรรเจิด การกลับมาครั้งใหม่ ใช้เวลาประชุมสั้นมากแต่กลับได้เนื้อหาสาระและแนวทางการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าเมื่อชั่วโมงก่อนหน้านั้น อย่างน่าอัศจรรย์
2) รีบเร่งแต่อย่าร้อนรนในการแก้ปัญหา สติเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์คับขัน การดำเนินการใด ๆ ต้องทำอย่างเร่งรีบ แต่ไม่ใช่ลุกลี้ลุกลนจนเกิดความผิดพลาดและตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อเร็ว ๆ นี้คือการประกาศเตือนภัยโดย ศปภ. ให้ประชาชนในพื้นที่บางเขตเร่งรีบอพยพเพราะน้ำกำลังมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คล้อยหลังเพียงไม่กี่ชั่วโมงออกมาประกาศว่าเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับ แบบนี้เรียกว่า รีบจนรน
3) บริหารความคาดหวังให้ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น หลายคนต้องการเห็นปัญหาทุกอย่างจบลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำในการชี้ให้เห็นถึงขอบเขตและขนาดของวิกฤตอย่างชัดเจนและเม่นยำ ต้องบอกส่ิงที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้คนเตรียมพร้อม ไม่ใช่พยายามมองโลกในแง่ดีและปลอบประโลมผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เอาอยู่ แต่สุดท้ายเหตุการณ์กลับตาลปัตร ทำให้ความสูญเสียใหญ่กว่าที่คาดไว้ เพียงเพราะประมาทคิดว่าทุกอย่างคงดีขึ้น ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีสถานการณ์วิกฤตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง
4) ผู้นำที่ดีต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น แม้ผู้นำจะไม่สามารถควบคุมแผ่นดินไหวได้ แต่เขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างน่ายกย่อง ประชาชนเข้าคิวรับของแจกกันอย่างเป็นระเบียบ การจลาจลไม่มีให้เห็นแม้แต่ครั้งเดียว บ้านเมืองสงบแม้ความเสียหายมหาศาล ซึ่งต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง
5) ชัดเจนแต่ยืดหยุ่น เมื่อเกิดวิกฤตทิศทางจากผู้นำต้องชัดเจน บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกกำหนดและแบ่งงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ สอดประสานกันโดยไม่สะดุด (Seamless) แต่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่กำหนดแบบนี้ก็จะทำแบบนี้โดยไม่ลืมหูลืมตา ต้องรับฟังข้อมูลใหม่ ๆ ปรึกษาหาคำแนะนำจากผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ไม่ดันทุรังจนเกินเหตุ
6) มองภาพรวมของสถานการณ์ แม้ว่าหลายครั้ง พนักงานอาจต้องการเห็นผู้บริหารเข้าไปมีส่วนช่วยในการทำงานในระดับล่างบ้าง เช่น การไปช่วยยกกระสอบทรายหรือก่อกำแพงป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง งานของผู้นำคือการให้แนวทางในการปฏิบัติ มองภาพรวมที่เกิดขึ้นเพื่อวางแผนและแนวทางอย่างรอบคอบ หากผู้นำทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติ ความสามารถในการมองภาพใหญ่ภาพรวมก็จะหายไป จบลงคงไม่ต่างอะไรกับฝูงชนที่รับมือกับวิกฤตแบบไร้ทิศทาง
จะเห็นได้ว่า ความยากของผู้นำอยู่ที่ความพอดี ซึ่งเป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้นำคนหนึ่ง ต่างจากผู้นำอีกคนหนึ่ง
จากคุณ |
:
คิดดัง
|
เขียนเมื่อ |
:
17 พ.ย. 54 20:52:21
|
|
|
|