|
----------------------------------------------------------- ตัวเลขการจ้างงานรวมของ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2558 จะเป็นจำนวน 1.54 ล้านคน ระดับปริญญาตรี มีความต้องการจ้างผู้จบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 27,591 คน โดย 80 % ต้องการสาขาอุตสาหการ เครื่องกล ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และแมคคาทรอนิกส์ ขณะที่สาขาอื่นๆ เช่น บัญชี การเงิน กฎหมาย และงานธุรการ ต้องการเพียง 20 %เท่านั้น ------------------------------------------------------------
แรงงานจบใหม่ ล้นตลาดหรือขาดแคลน
ฤดูจบการศึกษาของ นักเรียน นักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจจะเรียนต่อหรือทำงานในสายงานที่ตนเองถนัด หรือตรงกับที่ได้เรียนมา แต่จะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง
ผลสำรวจความต้องการทำงานของกรมการจัดหางาน ในปี 2553 พบว่า ผู้จบการศึกษาที่ตอบ แบบสำรวจ 370,623 คน ต้องการศึกษาต่อถึง 292,516 คน ส่วนผู้ต้องการทำงานมีเพียง 78,107 คน แบ่งเป็นปริญญาตรี 31,240 คน หรือ 40 % ส่วนใหญ่จบบริหารธุรกิจและวิทยาการจัดการ รองลงมาเป็นผู้ที่จบม.3 แล้วจะไปทำงาน จำนวน 15,767 คน หรือ 20.19 % ส่วนปวส.และอนุปริญญาที่จะไปทำงานมีจำนวน 14,637 คน หรือ 18.74 % ส่วนใหญ่จบจากด้านพาณิชยกรรม ผู้จบม.6 และต้องการทำงาน มีจำนวน 9,574 คน หรือ 12.26 % แต่น้อยที่สุด คือ ปวช. มีเพียง 6,889 คนหรือ 8.82 % เท่านั้นที่จะทำงานและส่วนใหญ่จะจบด้านพาณิชยกรรม
สวนทางกับตัวเลขความต้องการแรงงานใน 6 อุตสาหกรรมหลัก ของสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2554-2558) กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลโลหะการ และเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 248,862 คน หรือเพิ่ม 19.26% จากปี 2553 ซึ่งขณะนั้นมี 1.29 ล้านคน
ดังนั้น ตัวเลขการจ้างงานรวมของ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2558 จะเป็นจำนวน 1.54 ล้านคน แบ่งเป็นต้องการจ้างผู้จบม. 3 และ ม.6 จำนวน 131,628 คน หรือ 52.89 % ระดับ ปวช. จำนวน 37,829 คน หรือ 15.20 % ระดับ ปวส. จำนวน 51,813 คน หรือ 20.82 % และปริญญาตรี จำนวน 27,591 คน หรือ 11.09 %ในระดับ ปวช. และ ปวส. สาขาที่ต้องการมากที่สุด คือ ช่างกลโรงงาน จำนวน 49,813 คน คิดเป็น 55.57 % รองลงมาคือ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 17,885 คน คิดเป็น 19.95 % และช่างยนต์ จำนวน 10,356 คน คิดเป็น 11.55 % ระดับปริญญาตรี มีความต้องการจ้างผู้จบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 27,591 คน โดย 80 % ต้องการสาขาอุตสาหการ เครื่องกล ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และแมคคาทรอนิกส์ ขณะที่สาขาอื่นๆ เช่น บัญชี การเงิน กฎหมาย และงานธุรการ ต้องการเพียง 20 %เท่านั้น
นอกจากนี้ ส.อ.ท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม สำรวจค่าจ้างอาชีพต่าง ๆ ในปี 2553 พบว่า ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ระดับ ปวช.เฉลี่ยอยู่ที่ 6,590 บาทต่อเดือน ระดับ ปวส.เฉลี่ย 7,697 บาทต่อเดือน ปริญญาตรีเฉลี่ย 11,518 บาทต่อเดือน ปริญญาโทเฉลี่ย 16,868 บาทต่อเดือน และปริญญาเอกเฉลี่ย 24,961 บาทต่อเดือน โดยสาขาวิศวกรรมมีค่าจ้างสูงสุดเฉลี่ย 15,056 บาทต่อเดือน ขณะที่สาขาคหกรรมได้รับค่าจ้างต่ำสุดเฉลี่ย 10,133 บาทต่อเดือน ส่วนผู้มีประสบการณ์สาขาอาชีพที่มีค่าจ้างสูงสุด คือ กลุ่มผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทนมีค่าจ้างประมาณ 141,893 บาทต่อเดือน
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เห็นปัญหา คือ ไทยไม่มีการวางแผนผลิตกำลังคนร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ขาดแคลนสายวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่สายสังคมกลับมีการผลิตออกมาล้นตลาด
ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ ค่านิยมของเด็กไทยจะมุ่งเรียนต่อและเสาะหาใบปริญามากกว่าที่จะหางานทำเพื่อสร้างทักษะ ส่งผลให้ตลาดงานระดับอาชีวศึกษาที่เป็นตลาดใหญ่ขาดแคลนแรงงาน
ผมขอส่งท้ายด้วยข้อสังเกตุว่า ถ้าตลาดจะยังคงมีแต่ข้อมูลค่าจ้างตามวุฒิอย่างเดียวเช่นนี้ คงกระตุ้นให้คนสนใจเรียนอาชีวะเน้นฝีมือ (Skills) ได้ไม่มากนัก แต่ถ้าให้ค่าจ้างตามทักษะฝีมือไม่ใช่ตามวุฒิ คนเรียนจะฝึกและฝึก มากกว่าสอบและสอบ หรือติวแล้วสอบ ....
ดังนั้น มาช่วยกันสร้างสถาบันทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพกันครับ
นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 14 มีนาคม 2554 15:13 น. http://thaipublicpolicy.com/blog.asp?b_id=37
จากคุณ |
:
Sgt.Oat
|
เขียนเมื่อ |
:
28 ธ.ค. 54 10:00:56
|
|
|
|
|