Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จตุจักร ตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใครได้ ใครเสีย? ติดต่อทีมงาน

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมเป็นผู้ค้าในตลาดนัดสวนจตุจักรอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ โดยเจ้าของล็อคเป็นชื่อของพ่อผมครับ
ผมก็ช่วยขายของมาตั้งแต่ยังเด็ก จนตอนนี้ผมก็มาขายของที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเต็มตัวแล้ว ผมเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดนัดแห่งนี้อย่างมากมายเลยครับ

วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่หลายคนที่เป็นคนนอก หรือสื่อไม่สามารถเข้าไปหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายในตลาดนัดได้
ให้ทุกคนได้ทราบกัน รวมถึงผลประโยชน์ ใครได้ใครเสีย หรือผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ (ทั้งหมดเป็นเพียงความคิด ความเห็นของผมเท่านั้น)

ข่าวคราวเกี่ยวกับการชุมนุมของผู้ค้าตลาดนัดสวนจตุจักร ที่เรียกร้องให้มีการลดหย่อนค่าเช่ารายเดือน รวมถึงการขยายสัญญาจากเดิมให้มากขึ้น
จนลุกลามบานปลายถึง การปิดถนนประท้วง ทำให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ต้องเดือดร้อนไปด้วย รวมถึงตัวผมเองก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน

กลุ่มผู้เกื่ยวข้อง ในปัญหานี้มีตั้งแต่ กลุ่มคนภายในเอง ลุกลามไปถึงหน่วยงานของรัฐ ผู้บริโภค และผลประโยชน์ของประเทศ
โดยผมแบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดออกเป็น 4 พวก คือ

1. กลุ่มเจ้าของล็อค (แผงเช่า)
2. กลุ่มผู้เช่า หรือผู้เช่าช่วง
3. การรถไฟ
4. ผู้บริโภค, นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ, ประเทศชาติ


1. กลุ่มเจ้าของล็อค (แผงเช่า)
สำหรับกลุ่มเจ้าของล็อค มีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น เจ้าของแผงค้า, กลุ่มนายทุน หรือผู้มีอิทธิพล ซึ่งทั้งหมดจะถูกเรียกเหมารวมกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารจากเดิมที่เป็นกรุงเทพมหานคร เป็น การรถไฟ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงค่าเช่าและสัญญาเช่าของผู้ค้าเดิม

ปัญหาที่เกิดขึ้น
1. กลุ่มเจ้าของล็อคที่มีล็อคให้เช่าจำนวนมาก กลุ่มเจ้าของล็อคพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วมีล็อคให้เช่าไม่ต่ำกว่า 20 ล็อค (อย่างต่ำ)
กลุ่มคนพวกนี้จะมีเงินทุนจำนวนมาก ในการลงทุน (ซึ่งการลงทุนเซ้งล็อคในจตุจักร ก็เหมือนกับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของเขาล่ะครับ)
พอมีเงินเพิ่ม ก็เซ้งล็อคเพิ่ม เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นจากเดิม
ดังนั้น เมื่อการรถไฟปรับราคาค่าเช่า ปัญหาจากการเพิ่มค่าเช่าจึงทำให้รายได้ที่ควรจะได้จากเดิมลดลง

ผมจะคำนวณให้ดูเฉพาะส่วนต่างรายได้ที่ลดลงนะครับ
จากเดิม เจ้าของล็อคเช่าจากกรุงเทพเดิม 700 บาทต่อล็อค (ราคานี้ไม่เท่ากันในแต่ละล็อค อันนี้ผมสมมติราคาเฉลี่ย)
เปลี่ยนมาเป็น 3500 บาท (ค่าประมาณ เพื่อให้เลขคิดง่ายๆ)
ส่วนต่างที่เกิดขึ้นคือ 2800 บาท/ล็อค
หากเจ้าของล็อคที่มีแผงค้าให้เช่าจำนวน 20 ล็อค เท่ากับรายได้ที่หายไป 56,000 บาทครับ (ไม่น้อยทีเดียว)
คำนวณราคาต่อปี 672,000 บาท

นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงมีการปิดถนนเรียกร้องกับการรถไฟเพื่อให้มีการลดราคาค่าเช่าลง จากสามพันกว่าบาท

2. กลุ่มเจ้าของล็อคที่มีล็อคไม่มาก ตั้งแต่ 5 - 10 ล็อค โดยผู้ค้าเหล่านี้เป็นผู้ค้าที่ค้าขายอยู่เดิมจากสนามหลวง
และได้ย้ายที่ค้าขายมาที่ตลาดนัดสวนจตุจักร หลังจากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตามาขายตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มคนพวกนี้ อาศัยกำไรจากการค้าขายต่ออาทิตย์ เป็นรายได้หลักในการใช้ชีวิต
ดังนั้นการเพิ่มค่าเช่าของการรถไฟ จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อ รายได้หลักของเขา
จากที่คำนวณข้างต้น เท่ากับว่า ผู้ค้าเหล่านี้ต้องจ่ายเงิน เพิ่มอีก 2800 บาทต่อล็อค คูณด้วยจำนวนล็อคที่พวกเขาเป็นเจ้าของ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเพิ่มราคาค่าเช่าของการรถไฟ เป็นการเพิ่มต้นทุนทางการผลิตของเขาให้สูงขึ้นนั่นเอง
ซึ่งกลุ่มคนส่วนนี้ ยอมรับในราคาค่าเช่าใหม่ที่การรถไฟกำหนด เพราะพวกเขาสามารถไปเรียกเงินส่วนนี้กลับคืน
ด้วยการตั้งราคาสินค้าให้สูงขึ้้น หรือลดต้นทุนการผลิตให้ลดลง

3. กลุ่มเจ้าของล็อคที่มีล็อคเป็นของตัวเองเพียงเล็กน้อย 1 - 4 ล็อค
กลุ่มคนกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากบรรดากลุ่มที่กล่าวมา
เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของล็อคได้ จากการเซ้ง ซึ่งบ้างก็เซ้งมาแล้ว 10 กว่าปี บ้างก็ต่ำกว่า 5 ปี หรือบ้างก็เพิ่งเซ็งมา 1 - 2 ปี
กลุ่มที่น่าสงสารที่สุดคือ กลุ่มที่เพิ่งจะเซ้งล็อคมาได้ 1 - 2 ปี เพราะราคาล็อคที่เซ้งต่อๆกัน มีราคาตั้งแต่ 500,000 - 2,000,000 บาท
ซึ่งอาศัยเวลา 1 - 2 ปี บ้างเจ้าอาจจะยังไม่คืนทุนกลับมา

จากกลุ่มคนที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น จึงทำให้มีกลุ่มคนจากบางกลุ่มใน 3 กลุ่มนี้ไม่พอใจ จึงไปรวมตัวกันเพื่อประท้วงของลดหย่อนราคาค่าเช่า
และมีการปิดถนนเกิดขึ้น ตามข่าวที่ท่านได้ทราบกัน ซึ่งตัวผมเองขอย้ำว่า ไม่ใช่กลุ่มคนทั้งหมดที่ไปประท้วงเรียกร้อง
ผมขอร้องให้หลายๆ ท่านได้โปรดอย่าเหมารวมกันทั้งหมด เพราะหากเป็นผู้ค้าทั้งหมดไปประท้วงจริง 8,000 กว่าโครงการ, แผงค้า, หาบเร่ แผงลอย
คงจะรวมตัวได้มากกว่านี้อีกเป็นหลายเท่า

แต่ผมมีมุมมองจากคนที่ผมรู้จัก มาเล่าให้หลายๆท่านได้ฟังกันครับ

มีผู้ใหญ่อายุประมาณ 60 กว่าๆ ที่ผมรู้จัก ท่านเล่าว่า ท่านทำมาหากินโดยสุจริต ค้าขายสินค้ามาตลอดชีวิตของท่าน จากเดิมที่ขายของอยู่ที่สนามหลวง
เมื่อ 30 กว่าปีก่อน จนรัฐบาลขอเคลียร์พื้นที่ตรงนั้น ให้ท่านย้ายมาที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟ ที่เป็นพื้นที่ว่าง ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์
โดยรัฐบาลมอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล จัดการพื้นที่ตรงนั้น

พื้นที่แต่เดิมของตลาด เป็นเพืยงทรายแดงๆ และเพิงหมาแหงน ที่แต่ละคนต้องมาตั้งแผงขายกันเอง
ช่วง 5 - 10 ปีแรกที่ท่านขาย ต้องบอกว่าบางสัปดาห์ก็ได้กำไร บางสัปดาห์ก็ขาดทุน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็พอประทังชีวิตได้
ก็เลยทนขายต่อไป จนตอนหลังๆ เริ่มมีผู้ขายเยอะขึ้น ผู้ซื้อก็สามารถมาจับจ่ายสินค้าได้ง่ายขึ้น ตลาดก็เริ่มบูมช่วงนั้น
ท่านก็เริ่มขายของจนมีเงินมากขึ้น ซึ่งพอท่านอายุย่างเข้า 60 ปี
ปัญหาจากการทำงานหนัก ก็เริ่มมารุมเร้าสุขภาพท่าน ทำให้ท่านต้องหยุดขาย และเริ่มให้คนอื่นที่สนใจมาเช่าที่ของท่านต่อ
ท่านก็ใช้เงินจากการที่ให้เช่าล็อค 1 - 2 ล็อค อาศัยอยู่กัน เพราะท่านตัวคนเดียว ไม่มีลูก

ผมถามว่า แล้วที่การรถไฟเพิ่มค่าเช่า ท่านจะทำอย่างไร
ท่านก็บอกว่า ก็คงทำอะไรไม่ได้ ท่านก็แก่แล้ว จะให้ไปตะโกนแหกปากเรียกร้องก็คงไม่ไหว คงต้องยอมรับในชะตากรรม
ต่อไปก็ต้องลดค่าใช้จ่าย ให้เพียงพอ คนแก่ตัวคนเดียว มันก็ไม่มีอะไรให้ใช้ฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว


ผมขอจบกลุ่มเจ้าของล็อคไว้เพียงเท่านี้ ให้แต่ละท่านทราบถึงหลายๆมุม ที่หลายๆคนอาจจะยังมองให้เห็นกัน
แล้วเดี๋ยวจะมีกลุ่มอื่นๆ อีกตามมานะครับ รับรองดุ เด็ด เผ็ด มันส์ แน่นอน

จากคุณ : จตุจักรอลเวง
เขียนเมื่อ : 5 มี.ค. 55 11:55:06 A:110.168.214.84 X: TicketID:271436




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com