Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ธุรกิจเงินล้าน จากเถาเป่ากับเงิน 150 หยวน ติดต่อทีมงาน

 กระทู้แนวแชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจมักจะได้รับการโหวตให้เป็นกระทู้ แนะนำในห้องสีลมเว็บพันทิปอยู่บ่อยๆ นะครับ คงเป็นเพราะชุมชนคนทำธุรกิจเห็นคุณค่าของประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานจริง ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยตนเอง และต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เรื่องราวทำนองนี้จึงมักจะเป็นเรื่อง "ขายดี" อยู่เสมอ

 แม้แต่สื่อเองก็ชอบที่จะเอาเรื่องการสร้างธุรกิจมานำเสนอเหมือนกัน


หนังสือพิมพ์ Chongqing Morning Post (重庆晨报) ได้ทำสกู๊ปเกี่ยวกับชีวิตนักธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงคนหนึ่งในท้องถิ่น และถูกนำมาเผยแพร่ต่อในเว็บข่าว Sina.com.cn บังเอิญผมเปิดมาอ่านเจอพอดี จึงอยากจะเล่าเรื่องที่ขายดีกับเขาบ้างนะครับ

เริ่มต้นด้วยเงินเพียง 150 หยวน (ประมาณ 750 บาท) ขายสินค้าครั้งแรกในปี 2005 จนถึงวันนี้ Liu Xun (刘迅) นักธุรกิจหนุ่มวัย 30 ต้นๆ สามารถผลิตสินค้าได้เป็น 10 ล้านหยวนต่อปี มีโรงงานขนาด 9000 ตารางเมตร (ประมาณ 5 ไร่ครึ่ง) มีตัวแทนจำหน่าย 4000 ราย มีคนงานนับร้อยคน เขาทำได้อย่างไร?

หลิวเกิดในตำบล Qingnian เขตชนบทของเมือง Chongqing (ฉงชิ่ง หรือ จุงกิง) และที่นี่ก็เป็นที่ตั้งของบริษัท Chongqing Qingyang Apparel จำกัด (重庆青羊服饰有限公司) ของเขาด้วย

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อเขาได้อ่านบทความเรื่องการขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพเสริม มันเป็นแรงกระตุ้นให้เขาคิดที่จะเปิดร้านค้าออนไลน์ วันรุ่งขึ้น เขาจ่ายเงิน 150 หยวนซื้อเสื้อพิมพ์ลายแนวคู่รักมา 5 ชุด แล้วลงขายในเว็บ Taobao ไม่นึกว่าจะขายได้เร็ว แต่ปรากฏว่าขายหมดภายใน 5 วัน และยังมีออเดอร์ค้างส่งอีก 10 ชุด เขาจึงซื้อมาขายอีกเรื่อยๆ ...

ผ่านไปหนึ่งเดือน ฟีดแบ็คของร้านได้แต้มถึงระดับ 1 เพชร และในเวลาไม่ถึงปีก็มีกำไรถึง 6 หมื่นหยวน (ประมาณ 3 แสนบาท)

แม้จะได้สั่งสมประสบการณ์ในการขายของออนไลน์มาบ้างแล้ว แต่หลิวก็ไม่ได้พอใจอยู่แค่นั้น เมื่อเห็นว่าการพิมพ์ลายบนเสื้อด้วยวิธี Heat-Transfer นั้นยังมีคุณภาพไม่ดีนัก เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปไกลถึงเมืองใหญ่ทางชายฝั่งตะวันออกซึ่งมีความเจริญ มากกว่า เพื่อเรียนเทคนิคการพิมพ์ลายบนผ้าแบบสกรีน ในขณะที่คู่แข่งกำลังก้มหน้าก้มตาขายสินค้า Heat-Transfer ที่มีกำไรดีกันอยู่นั้น เขากลับมองข้ามช็อตและคิดจะบุกเบิกแนวทางใหม่

"ในตอนนั้นมีร้านขายเสื้อคู่รักที่พิมพ์แบบ Heat-Transfer อยู่เจ้านึง ซึ่งมีฟีดแบ็คระดับ 4 เพชรแล้ว ในขณะที่ร้านผมมีแค่ 2 เพชร แต่เขาไม่ปรับปรุง ไม่คิดอะไรใหม่ๆ เลย ตอนหลังก็ค่อยๆ หายไปจากตลาด" หลิวบอก

การพิมพ์แบบสกรีนจะทนทานกว่าแบบ Heat-Treatment ต้นทุนก็ต่างกันไม่มาก ผู้บริโภคที่ฉลาดย่อมรู้ดีว่าควรเลือกซื้อสินค้าคุณภาพอย่างไร

มีหลายคนมองว่าเสื้อชุดคู่รักเป็นแค่เสื้อผ้าฉาบฉวยเอาไว้ใส่เล่นๆ เท่านั้น แต่หลิวคิดว่าไม่ถูกต้อง ในความเห็นของเขา เสื้อชุดคู่รัก เสื้อชุดพ่อแม่-ลูก ควรจะเรียกว่าเป็นเสื้อผ้าบอกความรู้สึกมากกว่า ซึ่งผู้บริโภคก็ต้องคำนึงถึงรูปแบบและการใช้งานได้จริงเหมือนเสื้อผ้าแนว อื่นๆ ดีไซน์ก็ต้องมีการพัฒนา

"แรกๆ ชุดคู่รักจะพิมพ์ลายเหมือนกันทั้งเสื้อผู้หญิงและผู้ชาย หรืออาจจะแตกต่างกันบ้างนิดหน่อย แต่ตอนนี้เราอาจจะออกแบบให้เป็นเสื้อ T-shirt สำหรับผู้ชาย คู่กับกระโปรงสำหรับผู้หญิงก็ได้ และเสื้อของเด็กในชุดครอบครัวพ่อแม่-ลูกก็อาจจะมีแบบที่มีลายน่ารักมากกว่า เสื้อของผู้ใหญ่ได้"

กิจการของเขาก็ขยับขยายเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2007 หลิวได้กลับมาที่บ้านเกิดแล้วสร้างโรงงานเล็กๆ ขนาด 2000 กว่าตารางเมตรขึ้น จดทะเบียนตั้งบริษัท และได้โฆษณาแบรนด์ Bailu (柏鹭) ของเขาบนอินเตอร์เน็ตด้วย

 


ช่วงวิกฤติ เกือบหมดตัว

ต้องยอมรับว่าหลิวเป็นคนกระดูกแข็ง ธาตุแกร่ง แรงฮึดเยอะคนนึง เขายอมรับว่าเคยเจอวิกฤติและตกต่ำเหมือนกัน

ในช่วงปี 2006 ตอนนั้นเขามีอายุ 26 ปี ยังไม่มีโรงงานของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะส่งงานให้โรงงานเสื้อผ้าในเมือง Chongqing ทำ โดยเขาเป็นคนออกแบบเอง หลังตรุษจีนปีนั้น เขาทำสัญญาสั่งทำสินค้ากับโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งได้เคยร่วมงานกันมานานพอสมควร แล้ว โดยได้จ่ายเงินค่าผ้าและค่าตัดเย็บไปล่วงหน้าทั้งหมด 6 หมื่นกว่าหยวน แต่เมื่อถึงตอนได้รับสินค้า หลิวถึงกับเอ๋อไปชั่วขณะ เพราะงานมันห่วยมาก เนื้อผ้าแย่ ไซส์ผิด งานไม่เหมือนแบบ ฯลฯ

เงิน 6 หมื่นหยวนในตอนนั้นแทบจะเป็นเงินทุนทั้งหมดที่เขามีอยู่ และในสัญญาจ้างผลิตก็ไม่มีเงื่อนไขบังคับคู่สัญญาให้รับผิดชอบอะไรเลย ยิ่งกว่านั้น ช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงเปิดฤดูกาลที่ร้านค้าต่างก็ต้องแข่งกันเสนอสินค้าแบบ ใหม่ๆ กัน หากพลาดจังหวะนั้นไปก็เท่ากับแพ้ไปแล้วครึ่งปี

เขาอึดอัดกลัดกลุ้มอยู่สองวัน แต่ก็ไม่ยอมล้ม หลิวตัดสินใจที่จะตั้งหลักใหม่ ในเดือนเมษายน เขาได้ใช้เงินที่เหลืออยู่ประมาณ 500 หยวนสั่งทำชุดคู่รักกับโรงงานอีกแห่งหนึ่ง แล้วใช้กลยุทธ์ขายราคาถูก ทำให้ขายหมดอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เอากำไรที่ได้ไปทำอย่างเดิมอีก ทำอยู่อย่างนั้นจนถึงปลายปี เขาสะสมเงินทุนได้ประมาณ 8 หมื่นหยวน จึงตัดสินใจซื้อจักรเย็บและอุปกรณ์สกรีนลายมาทำเอง เช่าห้องแถวเล็กๆ ทำเป็นโรงงานของตัวเอง

ช่วงเวลานี้ของปีจะเป็นช่วงเปิดตัวแบบใหม่ๆ ของสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์มากที่สุด ถือเป็นช่วงที่เครียดที่สุดของหลิวด้วย เขาบอกกับผู้สื่อข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่า ตอนนี้เขาขายเสื้อได้ปีละประมาณ 500,000 ตัว ในจำนวนนี้ 450,000 ตัวจะเป็นเสื้อผ้าในฤดูร้อน ธุรกิจจะกำไรหรือขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับยอดขายในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนนี้ เป็นสำคัญ นอกจากจะต้องเอาใจใส่เรื่องดีไซน์ เนื้อผ้า สี ลวดลายที่นิยมแล้ว รูปภาพก็สำคัญมาก หลิวบอกว่าปีนี้เขาได้นำทีมนางแบบนายแบบและช่างภาพไปถ่ายรูปกันที่เมือง Sanya ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลในมณฑล Hainan ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

ยี่ห้อ Bailu ได้กลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงแล้วบนเว็บ Taobao มีตัวแทนจำหน่าย 4000 ราย ในจำนวนนี้มี 200 กว่ารายที่ทำยอดขายได้ไม่เลวเลย สิริรวม 6 ปีที่ผ่านมา หลิวได้ขายเสื้อผ้าชุดคู่รักและชุดครอบครัวไปแล้วราว 1.2 ล้านตัว ยอดการผลิตปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านหยวน

มาถึงวันนี้ เขาได้เปิดร้านค้า (ออฟไลน์) ของแบรนด์ตัวเองแล้ว 3 ร้าน และมีแผนจะเปิดเพิ่มอีกในอนาคตอันใกล้



เสียงสะท้อนจากผู้อื่น

"Bailu คือความภูมิใจอย่างหนึ่งของตำบล Qingnian ไปแล้ว" หัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจประจำตำบลกล่าว เขาบอกว่าแต่เดิมนั้นเศรษฐกิจของที่นี่มาจากเหมืองถ่านหิน เครื่องจักรกล และผลพลอยได้จากผลิตผลทางการเกษตร แต่หลิวได้กลายเป็นผู้ประกอบการดาวเด่นที่กลับสู่บ้านเกิด บริษัทของเขาช่วยให้คนมีงานทำ 100 กว่าคน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อย่างมาก

นอกจากนี้ Bailu ยังเป็นแบบอย่างสำหรับการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ท้องถิ่นที่ดี ทำให้นักลงทุนต่างถิ่นสนใจจะมาตั้งโรงงานเสื้อผ้าที่นี่กันหลายคน "ตอนนี้ก็มีนักธุรกิจรายนึงจากเมือง Guizhou มาตั้งโรงงานทำชุดฟอร์ม ชุดทำงานที่เมืองนี้ ก็ไปได้ค่อนข้างดีเหมือนกัน"

การบุกเบิกของหลิวยังกระตุ้นให้ธุรกิจดั้งเดิมหันมาสนใจอินเตอร์เน็ตมาก ขึ้นด้วย "เมื่อก่อนทุกคนคิดว่าการซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่เมื่อเห็นความสำเร็จของหลิว ผู้ค้าผลิตภัณฑ์ของดีในท้องถิ่นเช่นใบชา เส้นบะหมี่ ก็เริ่มคิดที่จะ Go online เพื่อเพิ่มช่องทางการขายบ้าง" หัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจกล่าว

 

นายไม่เคยจ่ายเงินเดือนช้าเลยสักครั้ง

ต่ง อายุ 47 ปี เป็นคนงานคนหนึ่งในโรงงานของหลิว เติบโตขึ้นมาจากพนักงานเย็บจักร ตอนนี้เป็นหัวหน้าฝ่ายตัดเย็บแล้ว เธอบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ทำงานที่นี่มา 6 ปี เจ้านายไม่เคยจ่ายเงินเดือนคลาดเคลื่อนเลย "ไม่ว่าตอนเป็นพ่อค้าเล็กๆ ในเว็บ Taobao หรือเป็นเถ้าแก่ใหญ่ของ Qingyang ในตอนนี้ นายก็เอาใจใส่ลูกน้องดีมาตลอด แม้ในช่วงที่เงินหมุนไม่คล่องก็ยังคงคำนึงถึงความเป็นอยู่ของพนักงาน หอพักก็ติดแอร์ให้"

ต่งบอกว่าในโรงงานตอนนี้ พนักงานที่ทำงานมานานกว่า 3 ปีมีประมาณ 20-30 คน ทุกคนต่างยอมรับนับถือเถ้าแก่อายุน้อยคนนี้มาก



ผมแปลเรื่องนี้มาจากข่าวท้องถิ่นที่พูดถึงนักธุรกิจดาวรุ่งในท้องถิ่นเอง เรื่องอวยกันเองก็คงมีบ้างล่ะครับ แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าเขาสร้างธุรกิจขนาดนี้ขึ้นมาได้ภายในเวลาเพียง 6 ปี เรียกว่าไม่ธรรมดาแล้วล่ะครับ ก็หวังว่าเรื่องนี้พอจะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการใหม่ได้บ้างนะครับ

ที่มา - tech.sina.com.cn  

จากคุณ : PoojeeChunn
เขียนเมื่อ : 6 มี.ค. 55 08:39:47




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com