Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เฉลยข้อสอบสัมภาษณ์งาน ติดต่อทีมงาน

คอลัมน์ถอดรหัสธุรกิจ: พอใจ พุกกะคุปต์

         ดิฉันเพิ่งได้มีโอกาสจัดการฝึกอบรมให้กับเหล่ามืออาชีพยุคใหม่ซึ่งไม่เคยอยู่นิ่ง มองหาโอกาสและความท้าทายใหม่ๆในการทำงานอยู่อย่างไม่รู้เบื่อ
         เราคุยกันเกี่ยวกับทักษะหลากหลายที่คนทำงานต้องเติม เสริมความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การวางแผนงาน การบริหารเวลา การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม
         หัวข้อเสริมที่มืออาชีพกลุ่มนี้อยากได้ คือทักษะที่ต้องใช้ตอนถูกสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะการตอบคำถาม จะได้ดูดี น่าประทับใจ ไม่มั่ว ไม่ประหม่า จนเสียโอกาส พลาดงานดีๆ
         สัปดาห์นี้ ดิฉันจึงขอไล่เรียงบางคำถามยอดฮิตติดตลาดที่ผู้สัมภาษณ์มักชอบถาม มาเผื่อให้ท่านผู้อ่านลองเตรียมตัวตอบ  เป็นข้อสอบปากเปล่า ดังนี้

        1. เล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังหน่อยค่ะ
         คำถามนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะตอบอย่างฉาดฉาน มั่นใจ เพราะเตรียมไว้ได้ ไม่พลาด
         วิธีตอบแบบไม่สู้น่าประทับใจ
         "ผมจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย... ในปี2550 ตอนหางานครั้งแรกสนใจงานด้านการตลาดจึงไปเป็นพนักงานฝ่ายการตลาดที่บริษัท....อยู่ 1 ปี จากนั้น ในปี2551 มีโอกาสย้ายงานไปทำที่บริษัท...ในฝ่ายบริหารช่องทางการตลาด เมื่อต้นปี2553 ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท...อยู่แผนกการตลาด รับผิดชอบเรื่องการวางแผนการตลาดสำหรับลูกค้าภาครัฐครับ"
         แม้คำตอบข้างบนจะดูไม่เลว แต่พัฒนาให้น่าประทับใจขึ้นได้ โดยจัดหมวดหมู่การเล่าใหม่  แทนที่จะร่ายยาวตามเวลา เรามาเน้นตามเนื้องาน โดยเฉพาะเนื้อๆที่เกี่ยวข้องกับงานใหม่ที่กำลังสมัครได้ยิ่งดี
         คำตอบที่พัฒนาแล้ว น่าจะฟังได้อารมณ์ประมาณนี้
         "ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย...ด้านเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2550 ผมเริ่มทำงานด้านการตลาดที่บริษัท...เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม งานสำคัญที่ต้องดูแลคือการประมวลข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ
         จากนั้นผมได้มีโอกาสเพิ่มความรู้ในอีกแง่มุมของการตลาด คือด้านการบริหารช่องทางการตลาดที่บริษัท...โดยรับผิดชอบการวางแผนขยายช่องทางการตลาด ซึ่งมีส่วนทำให้ผลประกอบการของบริษัทสูงขึ้นกว่า 25% ในช่วง 2 ปีที่ผมอยู่ที่บริษัทนั้น
         ปัจจุบันผมทำงานที่บริษัท...รับผิดชอบด้านการตลาด ดูแลภาครัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทครับ"

         2. แล้วทำไหมถึงจะออกจากงานปัจจุบันคะ
         คำตอบที่ควรหลีกเลี่ยงสุดชีวิต
         "บริษัทที่ผมทำงานเป็นบริษัทเล็ก ผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ แถมไม่มีระบบการทำงานแบบใหม่ ใครต้องทำอะไรไม่เคยชัดเจน คนทำดีไม่ได้ดี..."
         ไม่ว่าข้อความจะจริงหรือไม่ กรุณาอย่าทำให้ผู้สัมภาษณ์หวั่นใจ ว่ายามที่เราต้องไปจากเขา เราจะเอาเขาไปนินทาว่าร้ายคล้ายๆเช่นนี้หรือไม่
         เอาใหม่ๆค่ะ
         "ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานในบริษัทปัจจุบันมาก  เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้ผมได้รับผิดชอบงานที่หลากหลาย  กระนั้นก็ดี ผมคิดว่าการได้มีโอกาสทำงานในองค์กรที่ใหญ่และมีชื่อเสียง เช่นบริษัทนี้ ผมจะสามารถใช้ความรู้ที่มี เสริมทีมงานของบริษัทได้ และจะมีโอกาสทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกเฉพาะด้านการตลาด เพื่อเป็นประโยชน์กับองค์กรมากขึ้นในอนาคต"
 
       3. ทำไมเราควรจ้างคุณคะ
         กรุณาอย่าเผลอแสดงความเหนียมอาย คละเคล้ากับความไม่มั่นใจในตัวเอง (แล้วจะให้ใครมั่นใจในตัวเรา)
         "เอ่อ...คือ...เพราะหนูเหมาะสม...ค่ะ"
         เตรียมชี้แจงว่าเรามีจุดแข็งที่แตกต่างและโดดเด่น ที่จะเสริมงานเขาได้ แต่ต้องไม่ฟังเหมือนโอ้อวด จนชวดโอกาส
         "ดิฉันได้ติดตามข่าวความก้าวหน้าของบริษัทตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงตระหนักดีว่าบริษัทมีนโยบายที่จะขยายตลาดกลุ่มภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ดิฉันได้มีโอกาสทำงานด้านนี้มาโดยเฉพาะ และได้สัมผัสกระบวนการบริหารงาน ตลอดจนนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีความแตกต่างจากลูกค้ากลุ่มอื่นๆ จึงมั่นใจว่าสามารถเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมงานการตลาดของบริษัทได้อย่างแน่นอนค่ะ"
 
      4. คาดว่าจะทำอะไรในอีก 5 ปีข้างหน้า
         กรุณาอย่าตอบแบบกว้าง เคว้งคว้าง เหมือนไม่เคยวางแผนชีวิต
         "ผมจะทำงานด้านการตลาดต่อไป"
         หรือตอบแบบจริงใจว่า "ดิฉันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองค่ะ" เพราะยังไม่จำเป็นที่จะให้เขาเห็นว่าเราจะไปจากเขาแน่นอนในอีก 5 ปี จนเขาคิดว่าจากกันตั้งแต่วันนี้น่าจะดีกว่ามั้ง
         เตรียมตอบอย่างมืออาชีพ เช่น
         "ดิฉันมุ่งมั่นที่จะเติบโตและรู้ลึกรู้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานการตลาด และหวังว่าจะมีโอกาสทำงานเป็นผู้บริหาร จะได้ร่วมพัฒนาทีมงานด้านการตลาด เพื่อตอบโจทย์ขององค์กรในอนาคต"
         ที่หมดพอดี ไว้สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อนะคะว่าคำถามอื่นๆที่ควรเตรียมตอบให้รอบคอบ ตอบอย่างไร
         สำหรับท่านที่กำลังเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งานไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน อย่าไว้วางใจใช้แต่พรสวรรค์ที่มี
         เพราะท่านที่มีพรแสวง สามารถแซงหน้าได้แบบไม่รู้ตัว
         เตรียมตัวมากๆ แบบผู้ไม่ประมาท  เป็นการเพิ่มโอกาสชีวิตค่ะ

         เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราช่วยกันเตรียมความพร้อมของท่านผู้อ่านที่สนใจไปสมัครงาน ว่าจะเตรียมการตอบคำถามอย่างไรให้มั่นใจ ได้ใจ...ได้งาน
         คำถามที่ฮอตฮิตติดปากผู้สัมภาษณ์งานที่เราคุยไว้ 4 ข้อได้แก่
         1. เล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังหน่อยค่ะ
         2. แล้วทำไหมถึงจะออกจากงานปัจจุบัน
         3. ทำไมเราควรจ้างคุณคะ
         4. คาดว่าจะทำอะไรในอีก 5 ปีข้างหน้า
         คำถามเหล่านี้ตอบแบบง่ายๆ พื้นๆก็ได้ แต่จะตอบ แบบ “เป็น” แบบได้ใจ ต้องใช้เวลาในการเรียบเรียง
         วันนี้มาไล่เรียงดูข้อสอบเพิ่ม จะได้ไม่รู้สึกว่าถูกขึ้นเขียง ยามถูกสัมภาษณ์เจาะใจ

         5. จุดอ่อนที่สำคัญของคุณคืออะไร
         นี่คือคำถามยอดนิยม เตรียมคำตอบคมๆไว้ได้เลยค่ะ
         สิ่งที่อาจหลีกเลี่ยง คือคำตอบแบบแสนใสซื่อ อาทิ
         "หนูเป็นคนที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดค่ะ"
         แนวทางการตอบ น่าจะคุยประเด็นเน้นจุดอ่อนที่เราเข้าไปแก้ไขได้แล้ว เช่น
         "ในอดีต ดิฉันมักประหม่าเวลาที่ต้องพูดและนำเสนอข้อมูลต่อหน้าคนจำนวนมาก จึงตั้งใจพัฒนาทักษะนี้ โดยได้เข้าเรียนเรื่องทักษะการนำเสนอ และหาโอกาสฝึกฝนมาโดยตลอด ปัจจุบันเชื่อว่าทำได้ดี แม้จะยังมีกังวลอยู่บ้างก็ตามค่ะ"
 
       6. คุณชอบทำงานแบบไหนคะ
         คำตอบที่ฟังเวิ้งว้าง ว่างเปล่า มีอาทิ
         "ชอบการทำงานแบบท้าทาย" "ชอบทำงานที่ได้พบปะผู้คน" "ชอบทำงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ"
         เตรียมคำตอบที่เฉพาะเจาะจง และถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงประเด็นที่โยงใยกับงานที่เราสนใจ น่าจะทำแต้มเพิ่มได้ไม่ยาก เช่น
         "ผมชอบทำงานเป็นทีม เพราะปัจจุบันการทำงานต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น การทำงานด้านการตลาด จำเป็นต้องเป็นทีมใกล้ชิดกับฝ่ายต่างๆ เช่นฝ่ายขาย  ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนฝ่ายวางแผน เป็นต้น"
 
       7. คุณไม่ชอบทำงานแบบไหนเอ่ย
         คำตอบที่มีความเสี่ยง มีอาทิ
         "ดิฉันไม่ชอบทำงานที่มีขั้นตอนมาก เพราะทำให้ช้า และประสิทธิภาพต่ำ"
         "ดิฉันไม่สบายใจที่ต้องทำงานในที่ๆ มี "การเมือง" มากมาย เพราะไม่โปร่งใส ไม่ได้วัดกันด้วยฝีมือ"
         คำตอบเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยงเพราะ ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ก็คงมี "ขั้นตอน" หรือ "การเมือง" บ้างไม่มากก็น้อย
         เมื่อบอกว่าเบื่อหน่าย ไม่ชอบเรื่องที่อาจมีในองค์กรเขาเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ถามจะเริ่มระแวงแคลงใจว่า เมื่อมาเจอเจ้า "ขั้นตอน" "การเมือง" หรือไม่ว่าสิ่งใดที่เราเลือกตอบ ในองค์กรของเขา เรามิถอดใจให้เขากลุ้มใจหรืออย่างไร
         ดังนั้นหากอยากได้งานใหม่นี้ อาจระมัดระวัง เลือกตอบ เลี่ยงใช้ประเด็นที่เห็นว่าไม่เสี่ยงมาก เช่น
         "ดิฉันชอบงานที่ทำปัจจุบัน แต่การที่เป็นองค์กรเล็ก รับผิดชอบงานหลายอย่าง ส่งผลให้ไม่สามารถมุ่งทุ่มเทให้เป็นผู้รู้จริงเฉพาะด้านได้ ประเด็นที่ไม่สบายใจ คือ การยังไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่"

        8. เพื่อนๆ คุณมักอธิบายว่าคุณเป็นคนอย่างไร
         คำตอบที่เสียดายโอกาส อาจเป็น
         "เพื่อนๆ มักเห็นว่าดิฉันเป็นคนมีความอดทนสูง"
         ที่น่าเสียดายคือ จังหวะนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะใช้คำตอบโน้มน้าว โยงใย ให้เห็นว่าเรามีจุดแข็ง ที่แซงโค้งคู่แข่งที่อยากแย่งงานนี้ไปจากเรา
         คำตอบที่เจ๋งกว่า น่าจะเป็น
         "คนที่รู้จักดิฉันดีมักมีความเห็นว่าดิฉันมีความมุ่งมั่น อดทน  อาทิ เพื่อนที่ทำงานให้สมญานามว่า "หญิงอึด" ตัวอย่างเช่น เคยต้องขอข้อมูลที่บริษัทต้องการด่วนจากหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ต้องใช้ความพยายามติดต่อ ขอร้อง จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ใจอ่อน ให้ความร่วมมือ จนบริษัทมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ"

         9. คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร
         เมื่อไปสัมภาษณ์งาน อย่างไรๆก็คงต้องเตรียมตอบคำถามนี้
         คำตอบแบบที่ควรหลีกเลี่ยง คือ
         "เอ่อ...คือ เท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่จะพิจารณาค่ะ"
         เพราะฟังดูอ่อนโยนติดอ่อนแอไปเล็กน้อย
         คนยุคใหม่ต้องทำตัว “สวยเลือกได้” แบบอ่อนนอก แข็งใน
         หากยังไม่ถึงเวลาต่อรองตัวเลขชัดเจน อาจมาในแนว
         "ดิฉันเชื่อว่าบริษัท...เป็นองค์กรชั้นนำระดับแนวหน้า คงมีระดับเงินเดือนที่เป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์
         เงินเดือนที่ได้อยู่ปัจจุบันคือ...บาท จึงคาดหวังว่าในความรับผิดชอบใหม่ จะได้เพิ่มประมาณ...เปอร์เซ็นต์"
         โดยเว้นที่ไว้เผื่อเจรจา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของการหางาน
         คำถามยังมีอีกมากมาย วิธีง่ายๆในการเตรียมตอบข้อสอบ คือ ตอบโดยเข้าไปนั่งในใจเขา แทนการนึกถึงแต่ตัวเราว่าต้องการอะไร
         ที่สำคัญ การตอบอย่างเข้าใจใส้พุงของผู้ถาม ด้วยศิลปะของผู้เชี่ยวชาญโดยทำการบ้านมาก่อน ต่างจากการหลอกเขา ซึ่งเท่ากับหลอกตัวเอง
         โกงข้อสอบ แม้ได้คะแนนดี แต่โลกนี้...ไม่มีความลับค่ะ

         เราเคยคุยกันเรื่องแนวทางการเตรียมตัวเตรียมใจให้คำตอบยามไปสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือท่านที่เห็นว่าได้เวลาต้องขยับขยาย ย้ายงาน ย้ายหน้าที่  โดยมีผู้อ่านหลายท่าน ได้สอบถามเพิ่มเติมถึงบางประเด็นอย่างเจาะจง ว่าจะหาที่ลงอย่างไร ขอให้ขยายความ
         สัปดาห์นี้จึงขออนุญาตเล่าเพิ่มเติมถึงหัวข้อหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านโดยรวมค่ะ
         "คุณอยากเป็นอะไรใน 5 ปีข้างหน้า”
         อูลาล่า! เตรียมหาคำตอบไว้ได้เลยค่ะ
         ก่อนอื่นใด ไม่ว่าใครจะมาถามเราเรื่องนี้หรือไม่ เราก็ควรตอบตัวเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาไล่เรียงเหมือนถูกขึ้นเขียง ได้แต่ตอบเสียงอ่อยๆ เพราะไม่ค่อยเคยใช้เวลา "ค้นหาตัวเอง”
         ใช่เลยค่ะ หัวใจคือ ต้องค้นหาตัวเองให้พบ จะได้ไม่เป็นมนุษย์สายพันธุ์ผักตบ ที่ลอยฟ่องล่องไป ไหลเอื่อยเรื่อยๆ ตามกระแสน้ำ ค่ำไหนนอนนั่น ทิ้งฝันไว้ที่ฝั่ง ฟากที่เหมือนแสนห่างไกล เพราะจำไม่ได้ว่าเคยคิดอยากเป็นอะไร
         ลองหาเวลาตั้งหลัก พักจากความวุ่นวาย ตอบตัวเองให้ได้ว่า
         เราให้ความสำคัญเรื่องอะไร เป้าหมายชีวิตคืออะไร
         เป้าหมายเรื่องงานที่จะสอดประสานกับเป้าหมายชีวิต และสิ่งที่เราให้ความสำคัญคืออะไร
         ต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เป้าหมายนั้น
         สำหรับมือใหม่ในการทำงาน หากตอบไม่ได้ทันที ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะคนทำงานรุ่นเก๋าจำนวนไม่น้อย ก็มิได้ค่อยเคยไล่เรียง หรือเลียบเคียงถามตนเองเช่นเดียวกัน
         แม้เราได้ถามตนเองอย่างตั้งอกตั้งใจ คำตอบก็ไม่ได้มาง่ายๆ ตลอดจนหากได้คำตอบแล้ว เมื่อกาลเวลาพ้นผ่าน คำตอบอาจเปลี่ยนไปตามสภาวะแห่งความเป็นจริง เพราะชีวิตไม่เคยนิ่ง
         เอาเป็นว่า เมื่อได้แนวทางแล้ว จะวางหมากอย่างไรดี เมื่อต้องตอบคำถามนี้ตอนที่ถูกสัมภาษณ์
         ประเด็นแรก คือ การตอบแบบหลอก กลอกกลิ้งไปมา เป็นวิธีที่อาจทำให้ได้ความสำเร็จระยะสั้น แต่ในระยะยาว ที่เราหลอกใครๆ ไว้ ไม่น่าจะปิดมิด ทั้งหลอกใครอาจหลอกไหว แต่หลอกตัวเองได้ไม่น่าสนุก
         แต่ ตอบอย่างไร้ศิลปะ กะว่าฉันแน่  ฉันเป็นของฉันเช่นนี้ ถามจริงตอบตรง พี่รับได้ก็ดี รับไม่ได้ ก็...ปัญหาของพี่ ก็ถือเป็นวิธีหนึ่งในการรับมือกับคำถาม เหมาะกับกรณีที่ไม่ง้องาน จึงไม่ต้องทำการบ้าน ไม่ต้องเตรียม ไม่ต้องไตร่ตรองให้เปลืองสมอง เพราะที่บ้านเลี้ยงผมได้จนแก่ครับ
         ดังนั้น ศิลปะของความ "พอดี" เป็นศิลปะที่คนทำงานต้องเรียนรู้ เพราะต้องใช้ศิลปะนี้อีกมากมายนักในชีวิต
         ความพอดีในการตอบคำถามนี้ มีข้อแนะนำคือ

         1. เข้าใจว่าผู้สัมภาษณ์ต้องการได้ข้อมูลใดจากการถามคำถามนี้
         ผู้ถาม คงอยากได้ข้อมูลหลายชั้น ที่กลั่นได้จากคำถามเดียว
         - คนนี้เห็นเราเป็นทางผ่านหรือไม่ จะต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจหาคนใหม่ในอนาคตอันใกล้หรือไม่  ฟังได้จากฝันอีก 5 ปี เช่น ตอบว่า พี่ขา หนูอยากมีกิจการเป็นของตนเองภายใน 5 ปี ผู้สัมภาษณ์คงฟันธงง่ายว่า ขอให้ไปที่ชอบๆ ขอบคุณครับ
         - ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ว่าสิ่งที่ผู้สมัครฝันใฝ่ ไปได้เหมาะไหมกับงานนี้
         อาทิ งานนี้เป็นงานวางแผน  งานวิเคราะห์ แต่น้องหนู "อยากทำงานกับคนหมู่มาก ได้พบปะผู้คน ได้ดูแลลูกค้า" ท่านคงแนะนำว่าหางานที่เหมาะกับแนวหนู ดูจะไปได้ไกลกว่า
         - ผู้สัมภาษณ์อยากเข้าใจพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ว่าวางแผนเป็นไหม มองไกลหรือไม่ มุ่งมั่นขนาดไหน
         การตอบอย่างหนักแน่น หรือเลื่อนลอย ฝอยฟุ้ง ล้วนสะท้อนตัวตนคนพูด
         ดังนั้น หากทำการบ้านและช่างสังเกตผู้ถาม เราน่าจะสามารถวางขอบเขตการตอบได้พอเหมาะ โดยทั้งเจาะใจผู้สัมภาษณ์ และไม่ต้องใช้ศาสตร์ของการด้นสด หรือโป้ปดหมดทุกข์
         ทำการบ้าน เช่น หากเป็นตำแหน่งการขาย หรือ ขยายธุรกิจ  ผู้ครองตำแหน่งคงต้องกล้าก้าว  กล้ารุก  กล้าบุกไปข้างหน้า กล้าฟันธง
         ยิ่งทำความเข้าใจบทบาทของผู้สัมภาษณ์ ยิ่งอ่านสถานการณ์ได้ขาด เช่น ท่านเป็นผู้รับผิดชอบเป้าหมายการขยายธุรกิจ ทั้งมีลีลาที่ดูรวดเร็ว มุ่งมั่น ตรงประเด็น เมื่อตอบ กรุณาอย่าพิรี้พิไร ไม่ต้องเลียบค่าย อ้อมคู
         "ผมหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัท โดยใช้ประสบการณ์ด้านการขายเป็นพื้นฐานของการเข้าใจลูกค้า ตลาด และคู่แข่ง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างรู้จริง"
         หากผู้ถามเป็นฝ่ายบุคคล ดูลีลาอารี ไม่รุกไล่ ใส่ใจความรู้สึก ผู้ตอบอาจเสริมประเด็นเรื่องคน ปนไปอย่างกลมกลืน อาทิ
         "ผมหวังว่าในอีก 5 ปี จะช่วยนำพาทีมพัฒนาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบที่จะรองรับการเติบโต จะได้สามารถขยายงานอย่างมีรากฐานที่มั่นคง และยืนยงในอนาคต"

         2. เน้นการเรียนรู้และพัฒนา
         ในโลกปัจจุบันของการทำงาน ทุกคนอยู่เฉยกับที่ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องความรู้ ความชำนาญ ตลอดจนวิชาการที่ไม่เคยอยู่นิ่ง วิ่งหนีเราตลอด
         ดังนั้น พลาดยาก หากตอบคำถามนี้ โดยเน้นประเด็นการพัฒนา อย่างไม่จำเป็นต้องฟันธงขาด แบบเทกระจาดว่า
         "ผมมองตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า” (โดยลืมนึกไปว่าผู้สัมภาษณ์อยู่ในตำแหน่งนี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เลื่อนไปที่ใดในอนาคตอันใกล้)
         โดยอาจตอบแบบแสดงความจริงใจว่า “ผมอาจไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดใน 5 ปี แต่ที่ตั้งใจอยากทำเต็มที่ คือเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในการขาย ตลอดจนการบริหารทีมขาย เพื่อในอนาคตจะได้มีโอกาสเป็นหัวหน้างานที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ทั้งด้านเนื้องานและการบริหารคน” เป็นต้น
         ย้ำอีกครั้งว่า ทั้งหมดที่เราคุยกัน มิได้เน้นการปดหรือปิดบัง แต่ฉลาดเลือกประเด็น ฉลาดพูด และฉลาดอารมณ์  เพื่อเข้าถึงผู้ฟัง ให้ได้ทั้งใจ และได้ทั้งงาน
         เพราะการแข่งขันวันนี้ เก่งงานและรู้ตัวของตนคนเดียว น่าจะเหี่ยวแห้งหัวโต
         ต้องเสริมความอ่อนนอก แต่แกร่งใน ทั้งเก่งคน เก่งโน้มน้าวจิตใจ...ไปไหนๆ วงไม่แตกค่ะ

         ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก
เขียนเมื่อ : 3 ต.ค. 55 15:19:48




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com