Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อยากตกงาน อ่านเรื่องนี้ ติดต่อทีมงาน

เคยไหม ไปสัมภาษณ์งานด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม หอบโปรไฟล์หรูเลิศไปพรีเซนท์ แต่ต้องแห้วกลับมา สงสัยหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วคุณถูกปฏิเสธเพราะอะไร

         ใครจะเข้าใจหัวอกมนุษย์เงินเดือนได้เท่ากับมนุษย์เงินเดือนด้วยกัน ว่าทุกครั้งที่จะต้องไปสัมภาษณ์งานนั้นทั้งลุ้นทั้งตื่นเต้นขนาดไหน ก็โอกาสมีแค่ครั้งเดียว ตกแล้วตกเลย ยิ่งตำแหน่งงานหรู คู่แข่งมาก ก็ยิ่งชิลล์ไม่ออก

         แผนการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งานจึงถูกยกขึ้นมาดำเนินการถี่ยิบ ไหนจะต้องเขียนโปรไฟล์บรรยายประวัติการทำงานสุดเพอร์เฟคท์ ไหนจะซักซ้อมการพรีเซนท์ตัวเองให้โดดเด่น แล้วยังต้องเตรียมตอบคำถามชนิดห้ามพลาด

        ...แต่ไม่ว่าจะเตรียมพร้อมขนาดไหน ก็ยังมี "บางสิ่ง" ที่ถูกมองข้ามไป

         ในเมื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี คือ ทริคเบื้องต้นของการสมัครงานที่ใครๆ ก็รู้ แน่นอนว่าฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็รู้ดีในเรื่องนี้เช่นกัน แล้วจะให้มานั่งเชื่อใน "ฉากหน้า" ที่ผู้สมัครงานนำเสนอมาล้วนๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้

         ยุทธการค้นหา "ตัวตน" ที่แท้จริงของผู้สมัครงานจึงเริ่มขึ้น...

         เฟซบุ้ค.. สนุกจนเสียงาน

         "...ดีใจจัง วันนี้ชิ่งงานมาได้ก่อน 4 โมงเย็น ^^"

         "...เจ้านายกวน _ นสาดดด ไม่เคยฟังเลย"

         "ลูกค้าโค-ตะ-ระ งี่เง่า กินหญ้าหรือเปล่าเนี่ย??"

         ระวังตัวเอาไว้ สำหรับเจ้าของสเตตัสประเภทเผยความในใจชนิดไม่แคร์สื่อเช่นข้างบนนี้ เพราะวันดีคืนดีอาจมีฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทที่เรายื่นใบสมัครงานไว้เข้ามาเยี่ยมๆ มองๆ ก็เป็นได้

         ถึงไม่ได้ไปสมัครงานที่ไหนก็ต้องระวัง เพราะที่โดนไล่ออกเพราะสเตตัสบนเฟซบุ้คก็เคยปรากฏมาแล้วเช่นกัน

         อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต หรือ "โอม" กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ จำกัด ในเครืออินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ คือหนึ่งในผู้บริหารที่เคยไล่ลูกน้องออกด้วยข้อหาเมาท์ลูกค้าในเฟซบุ้คมาแล้ว นับประสาอะไรกับการมอนิเตอร์เฟซบุ้คของบรรดาคนที่มาสมัครงาน ซึ่งโอมบอกว่าช่วยได้มากในการสกรีนคนที่จะมาทำงานด้วย
 
       "ประเภทที่ว่า เล่นเฟซบุ้คเป็นงานประจำ ส่วนงานที่ทำเป็นงานอดิเรก ถามว่าเจ้านายที่ไหนจะอยากได้คนแบบนี้ไปเป็นลูกน้อง" โอมเริ่มต้นเล่าด้วยความอิน

         ด้วยความที่เป็นบริษัทที่ข้องแวะกับโลกออนไลน์เป็นหลัก ทำให้คนที่มาสมัครงานที่อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ ยินดีที่จะกรอกข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ตัวเองโลดแล่นอยู่ อย่างน้อยก็เพื่อจะบอกว่าเขาเหล่านั้นทันสมัยไม่ตกเทรนด์ แต่กลับลืมไปว่าสิ่งที่โพสท์ไว้ในนั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับ "สร้างภาพ"

         โอม เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของการเช็คเฟซบุ้คของคนที่มาสมัครงานว่า แรกเริ่มเลย คือ ตั้งต้นจากการทดลองดูเฟซบุ้คของพนักงานในบริษัทก่อน โดยดูว่าเขียนอะไรบนวอลล์ เล่นเกมอะไร เล่นเฟซบุ้คในเวลาไหน แล้วก็อาจจะวิเคราะห์ได้อย่างง่ายๆ ว่า พนักงานคนนั้นเป็นคนอย่างไร

         "บางคนในที่ประชุมไม่เคยพูดอะไรเลย แต่ไปดูในเฟซบุ้คสิ ประมาณว่า เยอะแยะมากมาย แต่เงียบเลยนะเวลาประชุม อย่างนี้สันนิษฐานได้เลยว่า เป็นพวกก่อหวอดนอกห้องประชุมแน่ๆ ซึ่งพอเราทดลองดูหลายๆ คนแล้วเอามาเทียบกับที่เขาเป็น มันก็เริ่มแบบ เฮ้ย ตรงเว้ย ตั้งแต่นั้นมา ก็เลยเอาวิธีนี้มาใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การเลือกคนเข้ามาทำงาน"

         สเตตัสประเภทบ่นเจ้านาย ด่าลูกค้าบนเฟซบุ้ค โอมจะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่า เก็บความลับไม่ได้แน่ๆ ใช่ไหม แยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวไม่ได้หรือเปล่า รู้จักกาละเทศะหรือไม่ หรือไม่ก็พวกบ่นเบื่องาน วันๆ คิดแต่เรื่องหนีเที่ยว

         หรืออย่างบางคนเขียนไว้ใบสมัครถึงเหตุผลในการลาออกจากที่เก่าว่า ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ เรียนรู้งาน
ใหม่ๆ แต่เมื่อเขาลองเข้าไปดูในเฟซบุ้ค กลับเป็นว่า ด่าเจ้านายเสียไม่เหลือซาก "แล้วยังไงล่ะ ถ้าเรารับมาแล้วเขาจะด่าเราอย่างนี้หรือเปล่าเนี่ย" โอมตั้งคำถาม

         "อย่างบางคนมาสัมภาษณ์แต่งตัวเรียบร้อยมาก แต่ลองไปเปิดดูพิคเจอร์ แกลเลอรี่ สิ ...โห โกยซะล้นเลย โพสท่ามืออาชีพสุดๆ ซึ่งเราค่อนข้างจะเชื่อว่า นั่นน่ะคือตัวตนของเขาจริงๆ มากกว่าที่เห็นอยู่ตรงหน้า เพราะคนเล่นที่เล่นเวบพวกนี้มากๆ ปลายนิ้วมักจะเร็วกว่าสมองสั่ง" โอมเล่า พร้อมยืนยันว่า เคยจับโกหกคนได้ ก็จากโซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อดังอย่างเฟซบุ้คนี่เอง

         "ผมเคยอ่านเจอรีเสิร์ชจากเมืองนอก เขาบอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ได้ใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงเยอะแล้ว คนเหล่านี้จะมีแอคทิวิตี้บนเฟซบุ้คน้อยมาก อย่างบริษัทเราทำงานด้านออนไลน์ แน่นอนว่าย่อมต้องการคนที่รู้จักโลกออนไลน์ แต่ต้องคิดดีๆ นะว่าเราอยากได้คนเล่นเฟซบุ้ค หรือ คนที่ถูกเฟซบุ้คเล่น อย่างประเภทเล่นจนติดงอมแงม ถลำอยู่ห้วงอเวจี จะเอาดีเหรอ เราต้องการคนใช้เทคโนโลยีเป็น ไม่ใช่คนที่ถูกเทคโนโลยีครอบงำ" ผู้บริหารอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ กล่าว

         ชีวิตจริง บนโลกเสมือน

         สำหรับคนรุ่นใหม่ที่แทบจะอุทิศชีวิตในหนึ่งวันให้กับโลกออนไลน์ไปเกือบหมดนั้น แน่นอนว่าทำให้การใช้ชีวิตของคนยุค 3.0 แยกออกได้ยากระหว่างโลกจริง กับ โลกเสมือน จนบางครั้งหากเราอยากจะรู้จักตัวตนของคนคนนั้นจริงๆ อาจต้องไปควานหาเอาเองในโลกออนไลน์ จึงจะได้เรื่องจริง ที่จริงมากกว่า

         เสาวคนธ์ ศิรกิดากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนเลจสตอร์ม คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทำงานวิจัย และ ศึกษางานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มาตลอดนั้น ก็ร่วมยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่า "คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เลือกที่จะแสดงตัวตนจริงๆ ในโลกเสมือน และ ใช้ชีวิตเสมือนในโลกการทำงานจริงๆ"

         เสาวคนธ์ อธิบายต่อว่า โดยพื้นฐานแล้วคนทุกคนจะมีสองชั้นเหมือนหัวหอม ชั้นนอกก็คือบุคลิกที่ผ่านการคัดกรองของสังคม แต่เมื่อปอกเปลือกออกจะเห็นชั้นใน ซึ่งเป็นตัวตนจริงๆ ซึ่งเปลือกชั้นนอกนั้นจะแสดงออกในเวลาที่รู้ตัว โดยจะแสดงออกมาเพื่อตอบโจทย์ของสังคม แต่เมื่อเวลาที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างเช่น เวลาเครียด เผลอ หรือ ดีใจ เราก็อาจจะได้เห็นตัวต้นที่แท้ของบุคคลนั้นโผล่ออกมา

         "การเช็คข้อมูลที่ผู้สมัครงานโพสท์ไว้บนเฟซบุ้คก็คือหนึ่งในวิธีที่เราจะได้รู้จักเขาเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น จะให้ดี ควรดูย้อนหลังไปสัก 1-2 เดือน โดยสเตตัสที่ถูกโพสท์ไว้จะสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติที่มีต่อเรื่องในเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ เรียล และ เพียว มาก ปราศจากการกรอง" ขณะที่ในเรซูเม่ของคนเหล่านั้นส่งมาสมัครงานก็จะทำไปเพื่อ "สร้างตัวเอง" โดยมีเป้าหมายคือ ตอบโจทย์เรื่องงานเป็นหลัก

         ไม่ใช่แค่สเตตัสเท่านั้นที่บ่งบอกตัวตน กระทั่งการเล่นเกมบนเฟซบุ้คนั้น ยิ่งชัดเข้าไปใหญ่ โดยไม่ได้สะท้อนแค่พฤติกรรมการอู้งานเท่านั้น เพราะหากวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาแล้ว มีอะไรซ่อนอยู่ในนั้นอีกมาก

         "เกมส์ที่เล่นกันในเฟซบุ้ค หากจะเอามาตีความทางจิตวิทยาก็มีทฤษฎีรองรับ โดยอาจบอกได้อย่างกว้างๆ เป็นต้นว่า ผู้เล่นกำลังขาดอะไร เช่น ถ้าเล่นฟาร์มวิลล์ ก็อาจแสดงว่าชีวิตจริงค่อนข้างจะเป็นคนเฉื่อยๆ นิ่งๆ ขาดความก้าวหน้า เพราะฟาร์มวิลล์เป็นเกมที่เล่นแล้วได้เห็นการเจริญเติบโต ที่สำคัญคือ ได้แลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนอื่น ซึ่งนั่นก็สะท้อนได้ว่า บุคคลนั้นมีความเหงาอยู่ลึกๆ หรืออย่างคนที่เล่นเกมมาเฟีย ก็อาจตีความได้ว่าเป็นคนที่ในชีวิตจริงถูกกดอยู่ ไม่ได้แสดงออกถึงตัวตนเต็มที่ เป็นต้น" กูรูเรื่องงานเอชอาร์เล่า

         ดร. ก็ไม่สน ถ้า "คน" ไม่ผ่าน

         คนไม่เล่นเฟซบุ้คอย่าเพิ่งดีใจไป อย่าคิดว่าแค่ไม่เปิดเผยแอคเคานท์ตัวเองในโลกออนไลน์แล้วจะรอดตัว เพราะแผนกเอชอาร์ ณปัจจุบัน ก็ยังให้ความสำคัญกระทั่งศาสตร์โบร่ำโบราณ อย่างการดูโหงวเฮ้ง

         โดยเฉพาะกับตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไปขององค์กรระดับร้อยล้านอัพนั้น "ซินแสชิงโจว" หรือ อ.ภูวสิษฏ์ ธนสารสมบัติกุล์ ฟันธงว่า องค์กรทันสมัยทั้งหลายที่เห็นๆ กันอยู่นั้น เบื้องหลังก็ใช้หลักนรลักษณ์ศาสตร์ หรือ โหงวเฮ้ง ประกอบการพิจารณารับพนักงานด้วยกันแทบจะทั้งสิ้น โดยหากนับเอาแค่พนักงานระดับสูงขององค์กรยักษ์ใหญ่ระดับพันล้าน หมื่นล้าน ที่ผ่านการคอนเฟิร์มจากซินแสชิงโจว นั้น ก็ปาเข้าไปกว่า 200 คนแล้ว

         ว่าแล้ว อ.ภูวสิษฏ์ ก็เริ่มต้นอธิบายถึงขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ "ซินแส" ของตนว่า ในห้องสัมภาษณ์งาน ตนเองก็จะนั่งอยู่ข้างหลัง ไม่ต้องพูด ไม่ต้องถามอะไร มีหน้าที่ "ดู" อย่างเดียวเท่านั้น

         ... ดู ตั้งแต่ผู้สมัครเดินเข้ามาในห้อง ดูการเดิน ดูท่านั่ง น้ำเสียง ลักษณะการพูดจา และที่สำคัญ คือ ดูโหงวเฮ้ง ก่อนจะให้คำตอบแก่ฝ่ายเอชอาร์ว่า ควรจะรับบุคคลนั้นหรือไม่

         อ.ภูวสิษฏ์ เล่าว่า หลักเกณฑ์ในการดูอย่างแรกตามศาสตร์จีนโบราณอย่างโหงวเฮ้งนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตามคติของปราชญ์โบราณบอกว่าคนเราจะประสบความสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสามอย่าง คือ ชะตาฟ้า ได้แก่ วันเดือนปีเกิด ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เกิดจากกรรมเก่าที่ทำมา ชะตามนุษย์ ซึ่งก็คือโหงวเฮ้ง เป็นลักษณะโครงสร้างใบหน้า ผิวพรรณ ซึ่งจะบ่งบอกว่าชะตาชีวิตเขาอยู่ได้ในระดับไหน และ ชะตาดิน อันได้แก่ ชัยภูมิ ทิศทางที่เราอยู่อาศัย หรือ ฮวงจุ้ย นั่นเอง

         "ชะตาฟ้า และ ชะตามนุษย์" คือสองสิ่งที่ ซินแสอย่าง อ.ภูวสิษฏ์ จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกรับหรือไม่รับใคร

         เริ่มต้นจาก การดูวันเดือนปีเกิด โดยเป้าหมายก็คือ เพื่อเช็คดวงของบุคคลนั้นๆ ว่า "ชง" กับหัวหน้างานที่จะมาทำงานด้วยหรือไม่ เพราะหากว่าชงกัน ต่อให้ทำงานดี หรือ เก่ง ขนาดไหน ถ้าทำแล้วมีแต่ความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ก็ควรจะเลือกคนอื่น หรือไม่ก็อาจจะหางานในแผนกอื่นให้ทำที่ดวงประสานกันกับหัวหน้างานแผนกนั้นๆ แทน

         "เรื่องของโหงวเฮ้งมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะจบปริญญามากี่ใบ จบตรีมาสามใบ หรือจบโทมาสองใบ หรือ จบด็อคเตอร์มา ถ้าหากโหงวเฮ้งไม่ได้ในเรื่องของชะตาฟ้าก็ดี ชะตามนุษย์ก็ดี ก็หมายถึงว่าโอกาสที่จะได้งานทำนั้นก็ยากแล้ว"

         และ เมื่อผู้สมัครผ่านด่านแรกแล้ว ด่านต่อมาที่จะต้องดู ก็คือ "โหงวเฮ้ง" ของบุคคลนั้นๆ ว่าเหมาะสมกันดีกับตำแหน่งงานที่มาสมัครหรือไม่

         อันดับแรก คือ ดูเรื่อง ความซื่อสัตย์ ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะต่อให้เก่งดีมาจากไหน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ไม่มีทางรับเป็นอันขาด

         "ขนคิ้วต้องไม่ย้อนกลับมาหาหัวคิ้ว หูต้องไม่ช้อนเกินไป แนวของสายตาต้องไม่ลอกแลก และ ต้องไม่เป็นสามเหลี่ยม ส่วนจมูกต้องเป็นสันตรง ขณะที่รูปปากต้องสวยงาม เวลาปิดปากไม่บิดเบี้ยว ต้องเป็นเส้นตรง" กรอบอย่างง่ายๆ ที่ อ.ภูวสิษฏ์ อธิบายถึงวิธีการดูเรื่องความซื่อสัตย์

         ถัดจากนั้นจึงจะดูเรื่องความเหมาะสมของเนื้องานที่ทำ เป็นต้นว่า

         นักการตลาด ต้องฉลาด และมีทักษะเรื่องการวางแผน ก็จะต้องเป็นคนที่มีหน้าผากสูงและกว้าง ยิ่งโหนกนูนยิ่งดี เพราะความสูงของหน้าผากหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ ส่วนรูปหูนั้น ใบหูวงนอกจะต้องมีขอบหูชัดเจนตั้งแต่ยอดจรดติ่งหู คิ้วของคนฉลาดจะต้อง สดใส ขนละเอียด ยาวสุดหางตา ส่วนตาจะต้องแวววาว สดใส มีพลัง ตาขาวและตาดำต้องตัดกันชัดเจน

         หากกำลังมองหา คนขยัน เพื่อทำงานในแผนกที่ลงมือปฏิบัติ ก็ต้องดูที่หูวงใน มีขอบชัดเจนโค้งสวยรับกับวงนอก กรามมีเนื้อหุ้มเต็ม คิ้วยาวเป็นระเบียบสุดหางตา ไหล่มีเนื้อหนา

        ถ้าต้องการคนที่มีความละเอียดรอบคอบ อย่าง นักบัญชี จะต้องพิจารณาคนที่มีใบหน้ารูปไข่ หูกางนิดหน่อย เส้นผมเล็กนุ่มสลวย คิ้วสดใสยาวเป็นระเบียบสุดหางตา ตาสดใสแวววาว

         ถัดจากการดูโหงวเฮ้งแล้ว อีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญว่าจะได้งานทำหรือไม่นั้น อยู่ที่ "หนี่เก็ง" หรือจุดเดินอายุ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมาก เพราะหนี่เก็ง บ่งบอกถึงชะตาของบุคคลนั้นๆ ว่ากำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง หรือ ตกต่ำ โดยหากเลือกได้ คงไม่มีองค์กรไหนอยากจะรับคน "ดวงซวย" เข้ามาร่วมงานด้วยอย่างแน่นอน

         อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สงสัยเหมือนกันไหมว่า ถ้าทุกอย่างดีพร้อมหมด แต่ถ้าซินแสไม่สนับสนุนให้รับ ควรจะเชื่อใครดี สิทธิขาดของซินแสมีมากแค่ไหน

         อ.ภูวสิษฏ์ ตอบสั้นๆ ว่า

         "จะรับหรือไม่ อยู่ที่ผมคนเดียว"

         อย่างนี้แล้ว ทำใจเสียเถิดว่า จะมัวปรุงแต่งใบสมัครอยู่ใย เป็นตัวของตัวเองเข้าไว้ น่าจะดีที่สุด

         ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก
เขียนเมื่อ : 4 ต.ค. 55 08:57:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com